ไลฟ์สไตล์

'สร้างคนให้เป็นคนด้วยวัตถุมงคล'พระมหาพิทยา

'สร้างคนให้เป็นคนด้วยวัตถุมงคล'พระมหาพิทยา

14 มิ.ย. 2559

'สร้างคนให้เป็นคนด้วยวัตถุมงคล'พระมหาพิทยา ปริญญาโณ วัดห้วยจระเข้ จ.นครปฐม :  เรื่องไตรเทพ ไกรงู ภาพ กฤชนันท์ ธรรมไชย

           “วัดห้วยจระเข้” ตั้งอยู่เลขที่ ๔๔๗ ถ.พิพิธประสาท ด้านหน้าวัดใกล้คลองเจดีย์บูชา ต.พระปฐมเจดีย์ อ.เมือง จ.นครปฐม เดิมมีชื่อวัดว่า วัดนาคโชติการาม ต่อมาเปลี่ยนเป็นวัดใหม่ห้วยจระเข้ ปัจจุบันได้ชื่อเป็นทางการว่า วัดห้วยจระเข้ เจ้าอาวาสรูปแรกของวัด คือ หลวงปู่นาค โชติโก (พระครูปัจฉิมทิศบริหาร) ท่านเป็นผู้สร้างวัดนี้ให้เป็นวัดบริวารขององค์พระปฐมเจดีย์ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔

           ในการสร้างวัดนั้นหลวงปู่นาคนำญาติโยมที่มีจิตศรัทธาทั้งหลายร่วมกันสร้างวัดห้วยจระเข้ขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๑ และปกครองบริหารวัดห้วยจระเข้ให้เจริญรุ่งเรืองตลอดมาเป็นเวลา ๑๑ ปี ท่านมรณภาพเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๒ จากนั้นพระครูอุตรการบดี (หลวงปู่สุข) เป็นเจ้าอาวาสลำดับที่ ๒ เป็นเวลา ๔๑ ปี ถึงแก่มรณภาพเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๓ พระครูอุตรการบดี (หลวงปู่ล้ง) เป็นเจ้าอาวาสลำดับที่ ๓ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๖ ถึง พ.ศ.๒๕๒๗ เป็นเวลา ๓๑ ปี จากนั้นเป็นต้นมาพระครูทักษิณานุกิจ หรือหลวงพ่อเสงี่ยม เป็นเจ้าอาวาสมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยวัยอันล่วงเลยกว่า ๙๐ ปี และสุขภาพไม่เอื้ออำนวยในการบริหารวัด หน้าที่ทั้งหมดจึงอยู่ในความรับผิดชอบของพระมหาพิทยา ปริญญาโณ (ป.ธ.๖) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดห้วยจระเข้

           พระมหาพิทยาขึ้นชื่อว่าเป็นพระนักการศึกษา พระนักเผยแผ่ และพระนักพัฒนา มีการลงทำวัตรเช้า–เย็น ทุกวันตลอดปี มีการลงอุโบสถทำสังฆกรรมสวดพระปาฏิโมกข์ทุกกึ่งเดือน มีศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ส่วนงานการศึกษา พ.ศ.๒๕๓๓–ปัจจุบัน เป็นครูสอนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม สำนักศาสนศึกษาวัดห้วยจระเข้ พ.ศ.๒๕๕๒–ปัจจุบัน เป็นกรรมการตรวจนักธรรม สนามหลวง พ.ศ.๒๕๕๓–ปัจจุบัน ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้แทนแม่กรองธรรม สนามหลวงนำข้อสอบไปเปิดสอบที่วัดพระธาตุห้าดวง อ.ลี้ จ.ลำพูน พ.ศ. ๒๕๕๖–ปัจจุบัน เป็นครูสอนพระปริยัติธรรมแผนกบาลีสนามหลวง เป็นต้น

           พระมหาพิทยา บอกว่า โครงการที่วัดจัดทำไม่ว่าจะสร้างศาสนสถาน เปิดอบรมปฏิบัติธรรม ล้วนแต่ต้องใช้ปัจจัยทั้งสิ้น แม้กระทั่งค่าน้ำไฟวัดก็ไม่ได้รับการยกเว้น ครั้นจะไปบอกบุญญาติโยมเพียงอย่างเดียวโครงการต่างๆ คงเสร็จและดำเนินไปด้วยความยากลำบาก ยิ่งเป็นโครงการหลักล้านหากเป็นวัดเล็กๆ คงเป็นเรื่องยาก ดังนั้นการสร้างวัตถุมงคลเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้โครงการต่างๆ ดำเนินไปอย่างรวดเร็ว

           อย่างไรก็ตามภาพภายนอกคนทั่วๆ ไปมักจะมองว่าพระและวัดมุ่งเน้นแต่การสร้างวัตถุมงคล แต่ความจริงแล้วพระสร้างสร้างคน ดึงคนเข้ามาปฏิบัติธรรมนั้นมีอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี เพียงแต่สื่อนำเสนอน้อยกว่าการสร้างวัตถุมงคลหรือไม่นำเสนอข่าวเลย ซึ่งจะโทษสื่อไม่ได้เพราะเขาต้องนำเสนอเรื่องที่คนสนใจ และต้องยอมรับว่าในยุคสมัยนี้คนสนใจพระเครื่องมากกว่าพระธรรม

           ทั้งนี้ พระมหาพิทยา พูดทิ้งท้ายไว้อย่างน่าคิดว่า “การสร้างพระเครื่องและวัตถุมงคลนั้นมีพิธีกรรมที่เป็นสูตรสำเร็จซึ่งเป็นเรื่องง่ายมาก แต่การสร้างคนนั้นไม่มีสูตรสำเร็จใดๆ เพราะคนมีความแตกต่างกันทุกด้าน ที่พระพุทธเจ้าเปรียบได้กับบัว ๔ เหล่า ถึงจะอยากเพียงใดพระก็ต้องทำเพราะเป็นหน้าที่ การเช่าบูชาวัตถุมงคลไม่วัดหนึ่งวัดใดล้วนเป็นการสนับสนุนให้พระและวัดมีปัจจัยในการทำหน้าที่เผยแผ่ธรรมได้สะดวกยิ่งขึ้น”

สร้างพระเอาปัจจัยไปสร้างคน

           พระมหาพิทยา บอกว่า มีคนจำนวนไม่น้อยมองว่าการสร้างพระเป็นพุทธพาณิชย์ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ววัดแต่ละแห่งต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด ค่าน้ำ ค่าไฟ รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด โดยไม่มีเงินสนับสนุนจากภาครัฐ ดังนั้นวัดจึงต้องสร้างวัตถุมงคลขึ้นมาเพื่อให้ญาติโยมได้เช่าบูชาเป็นที่ระลึก ปัจจัยที่ได้ไม่ได้ไปไหนหากถูกนำมาใช้ฝึกอบรมปฏิบัติธรรม อุปสมบทพระและบรรพชาสามเณร รวมทั้งสร้างศาสนสถานเพื่ออำนวยความสะดวกให้ญาติโยมได้ใช้ในวาระและโอกาสต่างๆ

           นอกจากนี้ยังถูกนำไปใช้ในโครงการต่างๆ เช่น โครงการบรรพชาสามเณรหมู่ภาคฤดูร้อน ที่วัดดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องกว่า ๒๐ ปี เพื่อสร้างคนดีคืนสู่สังคม พัฒนาคุณภาพเด็กและเยาวชนของชาติให้เป็นผู้มีระเบียบ วินัย มีความรู้ความสามัคคี มีความประพฤติสุภาพเรียบร้อย และมีคุณธรรมประจำใจ เพื่ออนาคตที่ดีและเพื่อความมั่นคงของประเทศชาติสืบไป

           “สามเณรภาคฤดูร้อน จะได้รับการศึกษาอบรมเบญจศีล-เบญจธรรม พุทธประวัติ-ศาสนพิธี ธรรมวิภาค-คิหิปฏิบัติ การทำวัตรสวดมนต์แปล-การเจริญสมาธิภาวนา ส่วนวิทยากรผู้ให้การอบรม ครูสอนพระปริยัติธรรมจากวัดห้วยจระเข้ทั้งหมดให้การศึกษาอบรม-เลี้ยงดูประมาณ ๑ เดือน เพื่อเป็นการปูพื้นฐานในชีวิตที่ดีแก่เด็กและเยาวชน เพื่อจะได้เป็นผู้ใหญ่ที่ดีในสังคมและประเทศชาติต่อไป” พระมหาพิทยา กล่าว

           ในส่วนของการพัฒนาศาสนสถานภายในวัดนั้น ได้ก่อสร้างอาคารปฏิบัติธรรมเฉลิมพระเกียรติ อาคารสำนักงานพระพุทธศาสนาประจำจังหวัดนครปฐม การบูรณะวิหารเก่า สร้างสมัย ร.๕ รวมทั้งปรับปรุงกำแพงแก้ว เป็นต้น


พระปิดตาตามตำราของหลวงปู่นาค

           พระมหาพิทยา บอกว่า การสร้างพระปิดตาตามตำราของหลวงปู่นาคนั้น ของวัดจะสร้างเฉพาะวาระพิเศษเท่านั้น โดยเมื่อ พ.ศ.๒๕๕๐ วัดได้จัดสร้างในโอกาสการตั้งวัดอายุครบ ๑๑๑ ปี คณะกรรมการวัดจึงจัดสร้างพระเครื่องพระปิดตาเนื้อเมฆพัด รุ่น “ขุมสมบัติ ๑๑๑ ปี” ขึ้นมา ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่สร้างพิมพ์สะดือจุ่น เพื่อหาปัจจัยในการก่อสร้างอาคารปฏิบัติธรรมเฉลิมพระเกียรติ อาคารสำนักงานพระพุทธศาสนาประจำจังหวัดนครปฐม

           อย่างไรก็ตามใน พ.ศ.๒๕๕๙ เพื่อรำลึกถึงหลวงปู่นาค ที่ท่านสร้างวัดห้วยจระเข้มาครบรอบ ๑๑๙ ปี จึงจัดสร้างพระปิดตาตามตำรับเดิมหลวงปู่นาค ใช้ชื่อว่า “รุ่นทรัพย์เศรษฐี ๑๑๙ ปี” เพื่อสมทบทุนสร้างศาลาบำเพ็ญกุศลและบูรณะถาวรวัตถุ

           ประกอบพิธีมหาพุทธาภิเษก ๒ วาระ วาระที่ ๑ วันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๕๙ วาระที่ ๒ วันจันทร์ที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ มี พระเกจิอาจารย์ชื่อดังร่วมนั่งปรกอธิษฐานจิต เช่น หลวงพ่อทองคำ วัดพะเนียงแตก ดับเทียนชัย หลวงพ่อพระมหาสุรศักดิ์ วัดประดู่ หลวงปู่บุญ วัดทุ่งเหียง หลวงพ่อนะ วัดหนองกระโดน เป็นต้น

           พระปิดตาพิมพ์พุงป่อง มีการจัดสร้างดังนี้ ๑.เนื้อทองคำ ตามจำนวนจอง ๒.เนื้อเงิน ๓.เนื้อเมฆพัด เททองหล่อโบราณจารอักขระพระมหายันต์ ด้วยมือแบบโบราณ ๔.พระปิดตา ชุดกรรมการ (เนื้อเมฆสิทธิ์และเนื้อแร่จ้าวน้ำเงิน) ๕.ชุดพระปิดตาเนื้อผง และ ๖.พระปิดตาพิมพ์พุงป่อง เนื้อทองแดง ให้บูชาองค์ละ ๑๐๐ บาท

           ผู้มีจิตศรัทธาร่วมบุญสมทบทุนสร้างศาลาบำเพ็ญกุศลและบูรณะถาวรวัตถุได้ที่วัดห้วยจระเข้ หรือสอบถามได้ที่สำนักงานเลขานุการวัดห้วยจระเข้ โทร.๐-๓๔๒๕-๙๔๖๘, ๐-๓๔๒๕๙-๙๔๖๘ และ ๐๘-๕๐๗๖-๐๙๗๔