ไลฟ์สไตล์

พิจารณากาย ...บรรลุธรรม!

พิจารณากาย ...บรรลุธรรม!

04 มิ.ย. 2559

พิจารณากาย ...บรรลุธรรม ! : วิปัสสนาบนหน้าข่าว โดยพิสุทธิ์ เกรียงบูรพา

            ต้องขออนุโมทนากับงานคีตธรรม เอ็มวี “ตราบลมหายใจสุดท้าย” ที่มี

            พระปกรณ์วินณ์ ฐิตวํโส ประชาสัมพันธ์ วัดปทุมวนาราม ราชวรวิหาร โครงการปทุมมามหาสิกขาลัย เป็นผู้แต่งเพลงคุณ “ปาน” ธนพร แวกประยูร เป็นผู้ถ่ายทอด และแสดงเป็นนางเอกมิวสิกเสียเอง ซึ่งถือเป็นนางเอกมิวสิกที่น่าเกลียด (อสุภะ) ที่สุดในโลก สำหรับหลายๆ คนทีเดียว

            ครั้งแรกที่ผู้เขียนได้ชม พระอาจารย์อาท (พระพี่เลี้ยงสมัยผมบวชอยู่ที่วดมาบจันทร์) ท่านได้เมตตาส่งมาให้พิจารณา แม้ว่าผมจะจิตแข็งยังไงก็ดี ขณะที่ดูแล้วก็ยังรู้สึกทึ่ง จนขนลุกซู่ ในฉากที่คุณปาน ถูกแปลงให้ค่อยๆ ดำเป็นศพ เน่า บวม เบ่ง น้ำเหลืองไหล จนถูกฝูงหนอนไชในที่สุดนั้น ทำได้เหมือน ตามที่ได้เคยศึกษาเรื่องเกี่ยวกับพิจารณาศพมาบ้าง จริงๆ

            แล้วเป้าประสงค์ของคนทำงานชิ้นนี้ออกมาเพื่ออะไรล่ะครับ?

              การเห็นของไม่สวยไม่งาม (อสุภะ) หรือการแค่พิจารณากาย สามารถส่งให้บรรลุธรรมได้ จริงหรือ?

              เรื่องเหล่านี้บรรดาผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายใคร่รู้นัก  บางท่านก็ประมาท มองข้ามการพิจารณาสังขารร่างกาย คิดว่าเอาแต่เฝ้าดูจิต เพียงอย่างเดียวก็เพียงพอ บางท่านเข้าใจผิดมากกว่านั้น ถึงขั้นจะทิ้งสมถกรรมฐาน ทิ้งพุทโธกันเลยทีเดียว ฯลฯ ... ประเด็นนี้ เกจิครูบาอาจารย์หลายท่านกล่าวไว้ชัดเจนครับ เมื่อได้กำลังสมาธิ (จิตตานุภาพ) แล้ว ให้น้อมเอาไปพิจารณาร่างกาย โดยหลักของไตรลักษณ์ (อนิจจัง-ทุกขัง-อนัตตา) เช่น หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ท่านว่า รากไม้ทั่วไปจะหยั่งลอยๆ ในอากาศก็หาไม่ ล้วนแต่ต้องหยั่งลงในดิน  ด้วยร่างกายนั้น เป็นเครื่องมือที่ติดตัวเราอยู่เสมอ พึงใช้ร่างกายนี้แหละ เป็นเครื่องพิจารณาไตรลักษณ์ ฯลฯ

              ความตอนหนึ่งจากเทศนา พระอาจารย์มั่นฯ เล่าโดยหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ศิษย์ผู้ใกล้ชิดว่า ... “หลวงปู่มั่นฯ ได้เร่งความเพียรหนักขึ้นได้เปลี่ยน วิธีการคือพอจิตดำเนินถึงขั้นสงบนิ่งแล้วแต่ไม่หยุดที่ความสงบนิ่งเหมือนแต่ ก่อน ยกกายขึ้นพิจารณาเรียกว่ากายคตาสติ โดยกำหนดจิตเข้าสู่กายทุกส่วนทั้งยืน เดิน นั่ง นอน ให้จิตจดจ่อที่กายตลอดเวลาพิจารณาให้เป็นอสุภะจนเกิดความเบื่อหน่าย (นิพพิทาญาณ) บางครั้ง ขณะเดินจงกรมอยู่ปรากฏเดินลุยอยู่ข้างศพก็มี  เหตุการณ์เช่นนี้ปรากฏขึ้นเป็นเดือน ท่านว่าปรากฏปัญญาขึ้นมาบ้าง ไม่เหมือนทำจิตให้สงบอยู่อย่างเดียวเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งได้แต่ความสุข ความอิ่มใจเฉยๆ ยิ่งกว่านั้นยังเกิดความหวั่นไหวไปตามกิเลสอยู่ แต่การปฏิบัติในคราวหลังนี้ความรู้สึกหวั่นไหวได้ชะงักลง จึงปลงใจว่าน่าจะไปถูกทาง ฯลฯ ”

              และการพิจารณาสังขารร่างกายที่ถูกวิธีนั้น สำหรับผู้ที่มีกำลังจิตถึง ทำแล้วย่อมเห็น กายในกาย เห็นกายย่อยในกายใหญ่ จำแนกแจกแจงแยกส่วนเห็นเป็น ๓๒ อาการ ก็ได้ โดยเริ่มจากผม-ขน-เล็บ-ฟัน-หนัง กรรมฐานแรกๆ ที่ผู้เข้าบวช จะต้องได้รับจากพระอุปัชฌาย์ หรือ จะเห็นร่างกายที่เคยสวยงามตามปกติ ค่อยๆ เสื่อม สลาย กลายสภาพ เป็นแก่ชราลง จนเห็นตนเองเป็นศพ เน่า อืด พุพอง หนอนกิน แร้งทึ้ง คล้ายๆ กับในงานเอ็มวี ชิ้นนี้นั่นเอง

            อานิสงส์ของพระพุทธเจ้า พ่อแม่ครูบาอาจารย์ และพระสงฆ์รุ่นใหม่ กับแรงใจจากจิตอาสากลุ่มบัวลอย ที่หวังจะเป็นบัวพ้นน้ำ คือพ้นทุกข์ เมื่อตีโจทย์จากการภาวนาแตก ก็มาผสานกับช่างแต่งหน้า สไตล์ลิส นักออกแบบ นายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องความเปลี่ยนแปลงของร่างกายหลังความตาย ผสมผสานกับคอมพิวเตอร์กราฟิกสมัยนี้ จึงมีส่วนช่วยให้ผู้คนที่ยังอ่อนกำลังสมาธิ ไม่เคยได้เห็นภาพไม่โสภาเหล่านี้ ได้จินตนาการตามภาพที่เห็นนั้น ซ้ำไปซ้ำมาเรื่อยๆ แล้วย้อนกลับมาพิจารณากายในกายของตน ตามแนวทางกายคตาสติ ที่พระพุทธองค์ทรงวางไว้ ก็จะช่วยให้ปลง เห็นตามความเป็นจริง (ยถาภูตญาณทัสสนะ) จนเกิดความเบื่อหน่ายคลายอยาก (นิพพิทา) อำนาจแห่งกาม มิอาจเคลือบย้อมจิตได้อีกต่อไป (วิราคะ) เสริมกำลังไปจนถึงขั้นหลุดพ้น (วิมุตติ) จิตบริสุทธิ์ (วิสุทธิ) ส่งจนไปถึงกระแสแห่งพระนิพพาน (นิพพาน) ได้โดยปริยาย ในที่สุดครับ

            หากจะอ้างถึง “มิลินทปัญหา “บทอุปาทาน บทปุจฉา-วิสัชชนา บาหนึ่งก็กล่าวถึงในทำนองนี้ ว่า ....

            “พระคุณเจ้านาคเสน ร่างกายเป็นที่รักของเหล่าบรรพชิต เช่นท่านหรือ?”

            “หามิได้ มหาบพิตร”

            “ถ้าเช่นนั้น เหตุใดท่านจึงบำรุงและใส่ใจ ดูแลร่างกาย”

            “พวกเราบำรุงและดูแลร่างกาย ดังที่ใครๆ ก็ต้องดูแลบาดแผล ไม่ใช่เพราะบาดแผลเป็นที่รัก แต่เพื่อให้เนื้อสมาน ดังพระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า ...

            กาย ...อันมีกลิ่นเหม็น ไม่สะอาด

            เป็นซากศพ เสมอเหมือนหลุมคูต

            เป็นกายอันหมู่บัณฑิตผู้มีดวงตา ครหากันแล้ว

              แต่เป็นสิ่งอันพาลชน ชมชอบยิ่งนัก

              กายอันใด ซึ่งห่อหุ้ม ไว้ด้วยหนังสด

              มีแผลขนาดใหญ่ คือช่องทวารทั้ง ๙ แห่ง

              สิ่งโสโครก กลิ่นเหม็นบูด ไหลออกอยู่รอบด้าน

              ถ้าจะพึงพลิกเอาภายในของร่างกายอันนี้ ออกมาไว้ข้างนอก

              คนเราจะพึงถือไม้ ไว้คอยไล่ฝูงกาและหมู่สุนัข อย่างแน่นอน”

            ด้วยเหตุนี้และเหตุนี้ ... พวกเราทุกคนมีร่างกาย เป็นอุปกรณ์ทางธรรม (เฉกเช่น อาจารย์กำพล ทองบุญนุ่ม พิจารณาเช่นนี้เสมอๆ) อยู่กับตัวเองแล้วนะ อย่าให้สูญเปล่า ในทุกขณะที่ดวงจิต ยังอิงอาศัยสังขารร่างกายนี้อยู่ ก็พึงใช้เป็นเครื่องพิจารณาธรรม พิจารณาอสุภกรรมฐาน พิจารณาเพื่ออกจากกาม (เนกขัมมะ) อย่าปล่อยเวลล่วงเลยไป ล่วงเลยไป แล้วไม่ทำอะไร ให้ภูมิจิตภูมิธรรม ก้าวหน้าเลย ก็ไม่ต่างอะไรกับการรอวันตาย และเมื่อวันนั้นมาถึง (ทุกคนกำลังเดินทางไปสู่ความตาย–ทุกคนต้องตายเป็นที่แน่นอน) ร่างกายที่ปราศจากจิตวิญญาณ ที่เขาอุ้มร่าง มัดตรงสังข์รอบรรจุโลง เพื่อเผานั้น คงไม่มีประโยชน์อะไร ให้เจ้าของร่างได้ใช้อีกต่อไป แมลงวันตอมก็ไม่คัน ไม่รู้สึกถึงความหนาวร้อน ไม่บ่นไม่ด่า แม้ว่าเขาจะจับยัดใส่โลงอันคับแคบ ไม่โวยวายสักแอะเดียว แม้กระทั่ง เมื่อถูกโยนเข้ากองไฟ

            โปรดใช้การพิจารณากายอย่างเป็นสัมมาสติเถิด บรรลุธรรมได้ทุกคนครับ

            กาย ที่ว่าสวย สวยนั้น ตั้งอยู่นานแค่ไหน

            กาย ที่เสื่อมสลาย (ชรา, อาพาธ, มรณัง) ท่านเห็นไหม ใยไม่พิจารณา

            การเห็นตรงตามความจริง คือบาทฐานแห่งปัญญา

            พอกันทีเถิดหนา ทะเลกาม กว้างใหญ่ไพศาล

              การทำเพียร จิตภาวนา จนเกิดจิตตานุภาพ

              ก็เพื่อกำราบกาม โดยพิจารณาในสังขาร

              กายที่เห็นนี้ เสื่อมทุกวัน มิได้ตั้งอยู่นาน

              ทั้งไม่สวยไม่งาม รอวันพังพาบ ราบเป็นหน้ากลอง

              สนใจดูเถิดหนา ผู้แก่ชรา เหี่ยวแห้งทั้งหลาย

              มองดูศพ ยามถูกเผาไฟ มีสิ่งใด ให้ผยอง

              กายคตานุสติ มรณสติ คือสิ่งควรให้ไตร่ตรอง

              จิตท่านจะเข้าสู่คลอง ลอยละล่อง สู่พระนิพพานเอยฯ