
หลวงพ่อคูณวัดบัลลังก์พระเกจิวิปัสสนาจารย์แห่งเมืองโคราช
หลวงพ่อคูณวัดบัลลังก์พระเกจิวิปัสสนาจารย์แห่งเมืองโคราช : เรื่องไตรเทพ ไกรงู ภาพ กฤชนันท์ ธรรมไชย
หลวงพ่อคูณ วรปญฺโญ หรือพระครูประโชติปัญญากรวัดบัลลังก์ ศิษย์กรรมฐานสายครูบาพรหมมา จ.ลำพูน หลวงปู่โง่น จ.พิจิตร หลวงพ่อฤาษีลิงดำ ฯลฯ หนึ่งในพระวิปัสสนาจารย์มีความเชี่ยวชาญเป็นที่เลื่องลือจนได้รับการยกย่องว่าเป็นพระเกจิอาจารย์ระดับแนวหน้าแห่งเมืองโคราช
“ปรีชา จินากูล” เป็นชื่อและนามสกุลเดิมของท่าน เกิดที่บ้านบัลลังก์ เลขที่ ๙ หมู่ ๑๑ ต.บัลลังก์ อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา วันพุธที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๙๔ โยมบิดาชื่อ “พงษ์” โยมมารดาชื่อ “จรัส” เป็นบุตรคนที่ ๒ ในจำนวนพี่น้องร่วมมารดาบิดาเดียวกัน ๙ คน
หลังจากจบประถมปีที่ ๔ ไม่มีโอกาสที่จะเรียนต่อเพราะครอบครัวในเวลานั้นยากจนมาก ประกอบกับบิดามาเสียชีวิต แม่ก็ต้องทำงานหนักขึ้นไปอีกเพื่อเลี้ยงดูน้องๆ ที่ยังอยู่ในวัยที่ยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ในฐานะที่เป็นลูกชายคนโตจึงต้องรับภาระเป็นหัวหน้าครอบครัว เพราะน้องๆ ก็หลายคน ต้องทำไร่ไถนาอยู่หลายปี เมื่อน้องๆ โตพอที่จะช่วยเหลือตัวเองได้แล้ว จึงเดินทางเข้าหางานทำในกรุงเทพฯ ในเวลานั้นไม่เลือกงาน ไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างขายกาแฟ ขายก๋วยเตี๋ยว ต่อมาไปเป็นช่างเงินช่างทอง โดยทำงานที่กรุงเทพฯ ระหว่าง พ.ศ.๒๕๑๐-๒๕๒๑ เพื่อนำเงินส่งให้ผู้เป็นมารดาไว้ใช้เลี้ยงดูน้อง
ในที่สุดจึงตัดสินใจลาออกจากงานที่ทำอยู่ เดินทางกลับบ้านที่จ.นครราชสีมา เพื่อบวชในพระพุทธศาสนา เมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ.๒๕๒๑ ณ อุโบสถวัดหนองกระธาตุ ต.โคกสะอาด อ.หนองแซง จ.สระบุรี มีพระครูผาสุกิจโสภณ เจ้าคณะอำเภอหนองแซง เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการขันธ์ อินฺทโชโต เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับฉายาว่า “วรปญฺโญ” จำพรรษาแรกที่วัดหนองกระธาตุ ก็พยายามท่องหนังสือสวดมนต์จนจบแล้วเกิดสนใจใคร่จะท่องหนังสือพระปาฏิโมกข์ดูบ้าง เขาว่าเป็นหนังสือที่ท่องยากที่สุด จึงอธิษฐานจิตขอท่องดู ใช้เวลาท่องอยู่สี่เดือนจึงท่องได้จบ
ด้านการศึกษาพระธรรมวินัยและภาคปฏิบัติภาวนา และธุดงค์พรรษาที่ ๑ สอบนักธรรมตรีได้ที่วัดหนองกระธาตุ จ.สระบุรี พรรษาที่ ๒ ไม่ได้สอบนักธรรม หันไปปฏิบัติพระกรรมฐาน (จำพรรษาที่วัดสุวรรณประสิทธิ์) พรรษาที่ ๓ สอบนักธรรมชั้นโทได้ที่วัดสุวรรณประสิทธิ์ เขตบึงกุ่ม กรุงเทพฯ พ.ศ.๒๕๒๓ พรรษาที่ ๔ สอบนักธรรมชั้นเอกได้ที่วัดเกาะสีคิ้ว อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา พ.ศ.๒๕๒๔
หลังออกพรรษาที่สองแล้ว เข้าอบรมเป็นพระวิปัสสนาจารย์ประจำศูนย์วิปัสสนาเคลื่อนที่แห่งประเทศไทย (รุ่นที่ ๘) เมื่ออบรมแล้วถูกส่งไปเผยแผ่ที่วัดสำโรงพลัน อ.ไพรบึง จ.ศรีสะเกษ และคราวออกพรรษาที่ ๔ ก็ไปสอนวิปัสสนาที่วัดป่าเขาเหิบ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา เมื่อมีเวลาก็ออกธุดงค์ไปในที่ต่างๆ เพื่อออกป่าหาความวิเวกพร้อมทั้งแสวงหาพระอาจารย์ที่ทรงคุณธรรมที่สูงขึ้นไป
เส้นทางเดินธุดงค์ ภาคตะวันออก ตั้งแต่จันทบุรี ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี นครนายกมาทาง อ.ปากพลี ขึ้นเขาใหญ่ ทะลุออกมา อ.ปากช่อง โดยถือธุดงควัตรคืออยู่โคนไม้ ถือผ้าสามผืน ฉันมื้อเดียว ฉันรวมในบาตร และบิณฑบาตเป็นวัตร ทางภาคเหนือ ตั้งแต่เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง ลงมาจนถึงเพชรบูรณ์ และชัยภูมิ ทางภาคใต้ถึง จ.นครศรีธรรมราช ระหว่าง พ.ศ.๒๕๒๒-๒๕๒๓ แถว อ.ร่อนพิบูล อ.นาสาร จ.สุราษฎร์ธานี
เหตุที่หลวงพ่อคูณมาจำพรรษาที่วัดนี้ก็ด้วยเวลานั้นเดินธุดงค์จาก จ.บุรีรัมย์กับเพื่อนภิกษุผ่านมาทาง อ.โนนไทย ซึ่งเป็นถิ่นเกิด จากกันมานานไม่เคยมาเยี่ยมญาติโยมเลย เมื่อญาติโยมเห็นก็ดีใจและนิมนต์ให้อยู่ช่วยพัฒนาวัดที่ใกล้จะร้าง มีเพียงพระหลวงตาอยู่เฝ้าวัดไปวันๆ องค์หรือสององค์เท่านั้น เป็นวัดเก่าแก่ สร้างมานานแต่ไม่มีใครคิดจะพัฒนาจึงตัดสินใจรับนิมนต์อยู่เพื่อพัฒนาวัดบัลลังก์ตั้งแต่กลางปี ๒๕๒๕
หลวงพ่อคูณนำศรัทธาญาติโยมเริ่มปรับปรุงศาลาการเปรียญ สร้างกุฏิสงฆ์ ซื้อที่ขยายวัด ขุดลอกสระวัดเพื่อให้มีน้ำใช้ได้ตลอดปี สร้างกำแพงวัด สร้างซุ้มประตูวัด สร้างพระพุทธรูป สร้างพิพิธภัณฑ์เก็บของโบราณที่ขุดพบได้บริเวณวัดและที่ต่างๆ จนกลายเป็นวัดที่สมบูรณ์ด้วนศาสนาสถาน และศาสนทายาท
บุญหล่อสมเด็จองค์ปฐม
สมเด็จองค์ปฐม ท่านเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์แรกของโลก ทรงพระนามสมเด็จพระพุทธสิกขี เนื่องจากพระพุทธเจ้า ตรัสรู้แล้วมากมายนับได้แสนองค์ ฉะนั้นพระนามของพระองค์จึงซ้ำกัน โดยเฉพาะพระนามสมเด็จพระพุทธสิกขี มีด้วยกัน ๕ พระองค์ จึงได้ขนานนามของสมเด็จองค์ปฐมว่า สมเด็จพระพุทธสิกขีที่ ๑ จึงนับได้ว่าพระพุทธองค์ ทรงเป็นสมเด็จองค์ปฐมบรมครูอย่างแท้จริง
สมัยที่พระพุทธองค์ทรงอุบัติในโลกมนุษย์ ซึ่งขณะนั้นคนมีอายุขัยประมาณ ๘ หมื่นปี พระพุทธองค์ทรงผนวชออกมหาภิเนษกรมณ์ เมื่อพระชนมายุได้ ๔ หมื่นปี หลังจากผนวชได้ ๒ หมื่นปี จึงบรรลุอภิเษกสัมมาสัมโพธิญาณตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์แรกของโลก พระพุทธองค์ทรงโปรดเวไนยสัตว์ ประมาณ 2 หมื่นปี จึงเสด็จดับขันธปรินิพพาน
พระพุทธองค์ทรงใช้เวลาอันยาวนานถึง ๔๐ อสงไขยกัปเศษ ในการบำเพ็ญพระบารมี เพื่อแสวงหาพระโพธิญาณ ด้วยพระองค์เองทรงใช้เวลาอันยาวนานในการบำเพ็ญพระบารมี เนื่องจากพระพุทธองค์เป็นพระพุทธเจ้าพระองค์แรก จึงไม่มีแบบอย่างที่จะให้พระพุทธองค์ได้ศึกษาเป็นแนวทางในการปฏิบัติเพื่อบรรลุพระโพธิญาณ ระยะเวลาที่บำเพ็ญพระบารมีจึงใช้ถึง ๔๐ อสงไขยกัปเศษ
การพบสมเด็จองค์ปฐมครั้งแรกของหลวงพ่อพระราชพรหมยาน หรือหลวงพ่อฤาษี ลิงดำ ที่วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี เมื่อประมาณ พ.ศ.๒๕๑๑ คืนหนึ่ง พระเดชพระคุณหลวงพ่อกำลังสอนพระกรรมฐาน และเมื่อเสร็จจากการแนะนำก็ทำสมาธิ ก็เกิดสิ่งที่ไม่คาดคิดมาก่อน ปรากฏขึ้น คือเห็นพระพุทธเจ้าในปางพระนิพพานทรงยืน สองแถวยาวเหยียดไปข้างหน้าแล้วก็พนมมือ พระเดชพระคุณหลวงพ่อมีความรู้สึกในใจว่า บางทีอาจจะเป็นอุปาทาน เพราะว่าพระพุทธเจ้าไม่เคยก้มศีรษะให้ใคร แม้แต่บ้านเรือนเล็กๆ หลังคาตํ่าๆ หากพระพุทธองค์เสด็จเข้าไป หลังคาก็จะสูงขึ้นเอง แต่เวลานี้เห็นพระพุทธเจ้ายืนพนมมือ
อย่างไรก็ตามด้วยเหตุที่เป็นหนึ่งในลูกศิษย์ของหลวงพ่อฤาษีลิงดำ ในวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๕๙ วัดบัลลังก์ จะเทปูนหล่อพระสมเด็จองค์ปฐม ขนาดหน้าตัก ๑๒ ศอก
แจกฟรีเหรียญแสตมป์หลักเมืองกระบี่
พ.ศ.๒๕๒๕ หลวงพ่อคูณได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดบัลลังก์ พ.ศ.๒๕๒๗ รักษาการเจ้าคณะตำบลบัลลังก์ พ.ศ.๒๕๒๘ เป็นเจ้าคณะตำบลบัลลังก์ พ.ศ.๒๕๓๒ เป็นพระอุปัชฌาย์
ส่วนสมณศักดิ์นั้น พ.ศ.๒๕๒๖ เป็นพระใบฎีกา ฐานา เจ้าคณะอำเภอโนนไทย พ.ศ.๒๕๓๐ ได้รับแต่งตั้งเป็นพระครูสัญญาบัตรที่ พระครูประโชติปัญญากร เจ้าคณะตำบลชั้นตรี พ.ศ.๒๕๔๐ ได้รับพระราชทานเลื่อนเป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโท พ.ศ.๒๕๔๗ ได้รับพระราชทานเลื่อนเป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอก
ก่อนที่หลวงพ่อคูณจะคิดสร้างพระเครื่องนั้น ท่านไปฝึกสมาธิที่ก่อนที่จะคิดสร้างพระ ไปฝึกสมาธิกับหลวงพ่อฤๅษีลิงดำ ถึง ๒ หน ท่านสอนได้ครบกรรมฐานทั้งสี่แบบ ทั้งสุกขวิปัสสโก เตวิชโช ฉฬภิญโญ และปฏิสัมภิทัปปัตโต ที่ชอบมากคือ มโนมยิทธิ ที่ท่านสอน จึงนำแนวทางนั้นมาปฏิบัติจนถึงทุกวันนี้ โดยในวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๕๙ จะมีพิธีพุทธาภิเษกวัตถุมงคลรูปหล่อลอยองค์ รุ่นอรหังสตางค์มา (รุ่นแรก) และปลุกเสกเหรียญแสตมป์หลักเมืองกระบี่ รุ่นแพ้ไม่เป็น
วันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๙ ขอเชิญศิษยานุศิษย์ร่วมพิธีมุตทิตาจิต (วันเกิดหลวงพ่อคูณ วรปัญโญ) ได้รับแจกเหรียญแสตมป์หลักเมืองกระบี่ รุ่นแพ้ไม่เป็น ทุกท่านที่ร่วมพิธี สอบถามข้อมูลได้ที่ โทร.๐๘-๙๙๖๓-๐๓๓๖, ๐๘-๔๘๓๐-๙๑๒๙ และ ๐๘-๑๘๐๘-๗๑๙๘