Lifestyle

‘พระร่วงยืนทรงเกราะ’เนื้อชินเขียวกรุสวรรคโลก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

‘พระร่วงยืนทรงเกราะ’เนื้อชินเขียวกรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ สวรรคโลก : ปกิณกะพระเครื่อง โดยตาล ตันหยง

             เมื่อประมาณ พ.ศ.๒๔๘๕ ช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่องค์พระปรางค์ด้านทิศใต้ของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย ได้มีการขุดค้นพบ พระร่วงพิมพ์ยืน ที่สร้างขึ้นยุคหลัง โดยช่างสกุลฝีมือชาวบ้าน เป็นพระที่สร้างด้วย เนื้อชินเขียว ล้วนๆ มีมากแบบ มากพิมพ์ ทั้งหลังร่อง หลังยันต์ หลังเรียบ หลังลายผ้า หลังรางปืน หลังกากบาท (X) และพิมพ์พิเศษ ๒ หน้า เท่าที่ขุดพบมีจำนวนกว่าสิบพิมพ์ ในวงการพระเครื่องเรียกพระพิมพ์นี้ว่า “พระร่วงยืนทรงเกราะ” มี ๓ พิมพ์ทรง คือ พิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลาง และพิมพ์เล็ก

             ขณะเดียวกัน ในกรุนี้ยังขุดพบ พระพิมพ์นั่ง เนื้อชินเขียว อีกด้วย เรียกชื่อว่า “พระร่วงนั่งทรงเกราะ”

             พุทธศิลป์ของพระร่วงยืน เป็นพระปางประทับยืน สวมหมวกจีโบ (ชีโบ) ศิลปะขอม ยก ๒ พระหัตถ์เสมอพระอุระ ปางประทานธรรม มีอักขระยันต์ขอม ลักษณะเป็นเส้นนูน อยู่บนองค์พระ

             องค์พระมีลักษณะทรวดทรงคล้ายกับ “นักรบสวมเกราะ” ในสมัยโบราณ จึงเป็นที่มาของชื่อ “พระร่วงยืนทรงเกราะ” บางพิมพ์มีลักษณะคล้าย “มัมมี่” ในสมัยอียิปต์โบราณจึงมีการเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า พระร่วงยืน “พิมพ์มัมมี่” เป็นเนื้อโลหะผสม ระหว่าง ดีบุก ตะกั่ว สังกะสี พลวง เหล็ก ปรอท และเงิน มารวมกัน เนื้อพระจะมีความแข็ง คงทน ไม่สึกง่าย และจะไม่มีรอยระเบิด หรือรอยรานแตกร้าวปรากฏให้เห็น วงการพระเรียกเนื้อพระลักษณะนี้ว่า “ชินเขียว”

             พระเนื้อชินเขียวนี้ จะมีสนิมไขมันใสเป็นเม็ด คล้ายไข่แมงดา เรียกว่า สนิมไข่แมงดา เกาะติดฝังลึกแน่น จากในเนื้อองค์พระออกมา พร้อมมีฝ้าสีเหลืองอ่อน ปกคลุมทั่วองค์พระ และมีสนิมปานดำ หรือ “กระ” ที่มีสีเข้มเป็นจุดดำเกิดขึ้นเป็นจุดๆ เป็นปื้นกินลึกเข้าไปในเนื้อโลหะ ซึ่งไม่สามารถขัดถูออกได้ ถือเป็นจุดตายในการพิจารณาเนื้อพระเนื้อชินเขียวได้ในระดับหนึ่ง

             พระเนื้อชินเขียว มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ชินอุทุมพร คำว่า อุทุมพร แปลว่า มะเดื่อ ซึ่งไม่น่าจะเกี่ยวกับเนื้อหาของพระเนื้อชินเขียวนี้เลย

             แต่เดิมมาในวงการพระเครื่อง มีเรื่องเก่าเล่าขานว่า “อุทุมพร” น่าจะเป็นพระนามของอดีตพระมหากษัตริย์ไทย ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ก่อนที่จะเสียกรุงครั้งที่ ๒ ทรงเป็นกษัตริย์ที่มีฝีมือในเชิงรบเป็นเลิศ จนยากที่จะหาผู้ใดมาราวี เป็นกษัตริย์ยอดนักรบในสมัยนั้น ท้ายสุด พระองค์ทรงสละราชสมบัติ และออกผนวช จึงมีการเรียกขานนามพระเนื้อชินเขียวว่า ชินอุทุมพร เพื่อเป็นอนุสติ และทรงไว้ซึ่งพระนาม ของขลัง ในหัวใจของคนไทยยุคต่อมา

             ด้านหลังของพระร่วงพิมพ์นี้ บางพิมพ์ตันเรียบ บางพิมพ์มีเป็นร่องเว้าลึกลงไปเต็มสุด ตามความยาวขององค์พระ ภายในพื้นผิวร่อง จะมีลวดลายปรากฏในลักษณะสัญลักษณ์แตกต่างกันไป มีเครื่องหมายกากบาท (X) หมายถึง การไขว้ อันเป็นเครื่องหมายของการป้องกันสิ่งอัปมงคล และความชั่วร้ายต่างๆ หรือเป็นสัญลักษณ์ของการปิด ห้ามสิ่งอัปมงคลทั้งหลายทั้งปวงเข้ามากล้ำกราย

             พิมพ์ที่นิยมสุด คือ พิมพ์หลังร่อง (มี ๒ กากบาท) เป็นพิมพ์ที่มีพุทธลักษณะเหมือน “มัมมี่” ของอียิปต์โบราณมาก

             ด้านหลังองค์พระ มีร่องที่ยาวเต็มองค์พระ พร้อมมีเครื่องหมายกากบาท ๒ เครื่องหมาย วางอยู่ในขีดคั่นตรง ๒ ขีด

             พระร่วงยืน ของกรุนี้ องค์พระมีขนาดเล็กกะทัดรัด เท่ากับนิ้วก้อย เหมาะสำหรับสุภาพสตรี สามารถบูชาติดตัวได้เพราะมีน้ำหนักเบา ขนาดองค์พระ กว้าง ๑.๕ ซม. สูง ๕.๑ ซม.

             ส่วน พิมพ์ใหญ่ ซึ่งเป็นพิมพ์นิยมรองลงมา ด้านหลังมีร่องยาวเพียง ๒ ใน ๓ ส่วน จากด้านล่าง ร่องยาวไม่เต็มองค์ พร้อมมีเครื่องหมาย ๒ กากบาท อยู่ในขีดคั่นตรงเช่นกัน องค์พระมีขนาดใกล้เคียงกันมาก คือ กว้าง ๑.๖ ซม. สูง๕.๒ ซม.

             พระร่วงทรงเกราะ เนื้อชินเขียว พิมพ์ยืน แม้ศิลปะในองค์พระไม่ประณีตนัก แลดูหย่อนความงามไปบ้างเพราะเป็นการสร้างโดยฝีมือช่างชาวบ้านธรรมดา แต่ในปัจจุบัน กลับได้รับการยกย่อง จัดอันดับอยู่ใน ชุดพระยอดขุนพล เนื้อชินยอดนิยม ในงานประกวดพระเสมอมา

             ในวงการพระเครื่อง ตั้งแต่สมัยรุ่นคุณปู่ ยอมรับว่า พระเนื้อชินเขียว ที่เป็นนิยมกันนั้น มีเพียง ๒ หัวเมืองเท่านั้นคือ พระยอดอัฏฐารส เมืองพิษณุโลก และ พระร่วงยืนทรงเกราะ เมืองสุโขทัย ยืนยันกันว่าพระ ๒ กรุนี้ มีราคาแพงที่สุดในยุคนั้น

             ด้านพุทธคุณ เยี่ยมสุดยอดทางแคล้วคลาด มหาอุด และคงกระพันชาตรี เทียบชั้น“จิ๋วแต่แจ๋ว” กับพระแพงตัวจริงต้นตำรับได้อย่างสบาย ด้านทุนทรัพย์ในราคาเบาๆ โดย พระร่วงยืนทรงเกราะ พิมพ์ใหญ่ ราคาทั่วไปเล่นหากันอยู่ที่หลักหมื่นกลาง ถึงหมื่นปลาย ขึ้นอยู่กับสภาพความสวย และพิมพ์ทรง ถ้าเป็น พิมพ์นิยม หลังร่อง (๒ กากบาท) สภาพพระพักตร์สวย เครื่องหมายกากบาทเทติดลึก คมชัดเจน สนนราคาจะอยู่ที่หลักแสนต้น แต่ก็หาเช่าพระแท้ไม่ค่อยได้ เพราะพระพิมพ์นี้ขุดพบน้อยมาก แทบจะนับจำนวนผู้ครอบครองได้เลย

             ขอขอบพระคุณ ข้อมูลและภาพจากคุณชาติ วิศิษฏ์สรอรรถ ผู้ชำนาญพระเนื้อชินทุกประเภท

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ