
ค้านตัด!เชิญบวชต้นยางนามวล.
18 พ.ค. 2559
ค้านตัด ! เชิญบวชต้นยางนา 16.00 น. วันที่ 18 พ.ค. ณ ทางเข้าศูนย์การแพทย์ มวล. รักษาการอธิการบดี แจงขั้นตอนล้อมย้าย พิจารณาอย่างรอบคอบ
จากกรณีที่โลกโซเชียลแชร์ข้อมูลการเคลื่อนไหวของนักอนุรักษ์ที่คัดค้านมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กรณีเตรียมโค่นต้นยางกว่า 200 ต้น ภายในมหาวิทยาลัย เพื่อตัดถนนเข้าไปสู่ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งกำลังเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ทั้งนักอนุรักษ์ บุคลากร และนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ที่มองว่าต้นไม้ยืนต้นเป็นทรัพยากรที่ทรงคุณค่า ใช้เวลาปลูกเป็นเวลานาน รวมทั้งเสนอแนะว่าการออกแบบถนนที่จะเข้าไปยังศูนย์การแพทย์ควรมีการศึกษาแผนผังเดิมของมหาวิทยาลัย เนื่องจากพื้นที่ที่มีต้นยางนาอยู่กว่า 200 ต้น ควรจะใช้เป็นสวนป่าเพื่อรักษาพันธุ์ไม้ และสร้างความร่มรื่นให้แก่มหาวิทยาลัย ผู้รับเหมาโครงการ หรือผู้บริหารจึงควรตระหนัก และหาวิธีหลีกเลี่ยงได้หรือไม่

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ชี้แจงเรื่องการล้อมย้ายต้นไม้ เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2559 โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัลลา ตันตโยทัย รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้ชี้แจงว่า โครงการก่อสร้างอาคารศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในขั้นตอนการออกแบบได้มีการสำรวจสภาพพื้นที่จริง ศึกษาความเหมาะสมตลอดจนศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ จึงสามารถกำหนดเป็นรูปแบบสำหรับการก่อสร้าง ซึ่งถนนทางเข้าอาคารศูนย์การแพทย์ตามรูปแบบมีต้นยางนาอยู่ตลอดแนวถนน ในรายการประกอบแบบงานสาธารณูปโภคภายนอกจึงได้กำหนดว่า “ต้นไม้ที่เป็นไม้สงวนตามกฎหมาย หรือไม้อนุรักษ์ไว้ ผู้รับจ้างจะต้องจัดหาผู้ที่มีประสบการณ์และเชี่ยวชาญมาโอบล้อม และนำไปปลูกในพื้นที่ใหม่ตามที่ผู้ว่าจ้างกำหนดโดยไม่เกิดความเสียหาย และมีการบำรุงรักษาจนกลับสู่สภาพเดิม”
การดำเนินการในขั้นตอนการก่อสร้าง สภาพพื้นที่จริงมีต้นยางนาอยู่ในแนวก่อสร้างถนนตลอดแนว เพื่อลดผลกระทบข้างต้น จึงได้ดำเนินการปรับเลื่อนแนวถนนจากแบบเดิมร่นไปด้านหลังอีก 5.50 เมตร เพื่อให้การล้อมย้ายต้นไม้มีจำนวนน้อยที่สุด อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีจำนวนต้นยางนาและต้นไม้อื่นๆ ที่ต้องล้อมย้ายอีกประมาณ 200 ต้นเศษ เพื่อให้การล้อมย้ายต้นไม้มีความเรียบร้อยเป็นไปตามข้อกำหนดสัญญา จึงได้กำหนดแนวทางการปฏิบัติดังนี้

1. ผู้รับจ้าง จะต้องเสนอแบบแสดงจำนวนต้นไม้ที่ขอล้อมย้าย ให้พิจารณาก่อนดำเนินการ
2. ผู้ดำเนินการล้อมย้าย จะต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญ มีผลงานการล้อมย้ายต้นไม้ในลักษณะเดียวกันกับโครงการ โดยผู้รับจ้างจะต้องเสนอรายละเอียดผู้ดำเนินการล้อมย้ายให้พิจารณาก่อนดำเนินการ
3. ผู้รับจ้างจะต้องเสนอแผนและขั้นตอนการดำเนินการล้อมย้ายโดยละเอียด ให้พิจารณาก่อนดำเนินการ

ขณะนี้ผู้รับจ้างเสนอแบบแสดงจำนวนต้นไม้ที่ขอล้อมย้าย ตามขั้นตอนที่ 1 แต่ในการดำเนินการ ขั้นตอนที่ 2 และ 3 ยังไม่ดำเนินการใดๆ ทั้งสิ้น
ขณะที่ทางบุคลากร นักศึกษา และนักอนุรักษ์ ได้โพสต์รูปภาพพร้อมเชิญชวนภาคประชาชนร่วมกันเคลื่อนไหวคัดค้านการโค่นย้ายต้องยางนาในมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในวันที่ 18 พ.ค.นี้ เวลา 16.00 น.
อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เคยถูกวิพากวิจารณ์ และประเด็นพูดคุยถกเถียงกันมานานนับปี เกิดกรณีตัดต้นไม้ดั้งเดิมในมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ สืบเนื่องจากการตัดต้นไม้พื้นถิ่นภายในมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มีจำนวนมากกินเนื้อที่นับร้อยไร่ และการตัดต้นไม้ดังกล่าว ตัดเพียงเพื่อปลูกแตงโม เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2557