
เครื่องมือเก็บยางก้อนถ้วย
เรื่องของยางพารามีมากมายที่นำมาเล่าได้ไม่หมด วันนี้อยากจะแนะนำยางรูปแบบหนึ่งที่เรียกว่ายางก้อนถ้วย ซึ่งเป็นรูปแบบของการแปรรูปยางพาราอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะว่าโรงงานยางแท่งมีความต้องการสูง และอยากได้มากกว่าขี้ยาง เพราะว่ายางก้อนถ้วยจะสะอาดกว่า วิธีการท
นอกจากนี้ทางสถาบันวิจัยยาง ของกรมวิชาการเกษตร ก็ได้กำหนดมาตรฐานการผลิตยางก้อนถ้วยและใช้เป็นแนวทางให้เกษตรกรปฏิบัติ โดยมีข้อกำหนดหลักๆ คือ ยางก้อนถ้วยที่ดีจะต้องเป็นยางที่กรีดแล้วปล่อยให้น้ำยางจับตัวในถ้วยโดยใช้น้ำกรดหรือปล่อยให้จับตัวตามธรรมชาติ กรดที่ใช้เป็นกรดฟอร์มิกหรือกรดอะซิติก
ฉะนั้นยางก้อนถ้วยที่ผลิตได้ต้องสะอาด ไม่มีสิ่งปลอมปนหรือสิ่งสกปรกอื่นๆ เช่น เปลือกไม้ เศษหิน ดิน ทราย และอื่นๆ รวมทั้งต้องมีสีตามธรรมชาติ และมีน้ำหนักประมาณ 80-500 กรัม มีเนื้อยางแห้งประมาณ 60%
ยางก้อนถ้วยที่เหมาะต่อการซื้อขายควรมีอายุไม่เกิน 4 วัน มีความชื้นประมาณ 40% ซึ่งหากเกษตรกรสามารถผลิตยางก้อนถ้วยให้ได้มาตรฐานที่แนะนำนี้ จะทำให้เกษตรกรขายได้ในราคาสูง และมีผลดีต่อการผลิตยางแท่งเพื่อการส่งออกด้วย เพราะว่าจะทำให้คุณภาพยางแท่งสูงขึ้น
วิธีการแคะยางออกจากถ้วยในกระบวนการทำยางก้อนถ้วยนั้น ก็ทำได้โดยการใช้มือแกะ แต่ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือวิธีการนี้จะทำให้ผิวหนังสัมผัสกับกรดโดยตรงด้วย ดังนั้น ถ้าเราสามารถสร้างอุปกรณ์เก็บยางก้อนถ้วยโดยไม่ต้องใช้มือสัมผัสก็น่าจะเป็นประโยชน์ ซึ่งแนวคิดเช่นนี้ได้เกิดขึ้นโดยกลุ่มเด็กนักเรียนมัธยมศึกษา 3 คนจากโรงเรียนขุนหาญวิทยาสรรค์ จ.ศรีสะเกษ ภายใต้โครงการที่ สกว. สนับสนุนที่เรียกว่า โครงการยุววิจัยยางพารา หมายความว่าเป็นโครงการที่สนับสนุนให้เด็กนักเรียนได้เริ่มเรียนรู้ที่จะเป็นนักวิจัย
เครื่องมือที่นักเรียนกลุ่มนี้สร้างขึ้น เรียกได้ว่าเป็นผลงานวิจัยชิ้นหนึ่ง ไม่ใช่เพียงแค่สิ่งประดิษฐ์ เพราะว่ามีการนำความรู้ทางทฤษฎีมาประยุกต์ใช้ แล้วสร้างเครื่องมือขึ้นมาก่อนที่จะนำไปทดลองให้ชาวสวนยางได้ใช้ประโยชน์จริง แล้วมีการใช้กระบวนการทางการวิจัยในการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ ในที่สุดก็ได้ชิ้นงานออกมาคือเครื่องมือเก็บยางก้อนถ้วยที่สามารถถือได้ด้วยมือเดียว มีขนาดเล็กเหมือนคีม หรือกรรไกรตัดแต่งกิ่งไม้ทั่วไป แต่สามารถใช้เก็บยางก้อนถ้วยได้เร็วกว่าเดิม และสามารถทำได้สะดวกขึ้นมาก ที่สำคัญคือ มือไม่ต้องสัมผัสกับตัวก้อนยาง จึงไม่ต้องสัมผัสกับกรดที่ยังตกค้างอยู่ในถ้วย
เครื่องมือที่ว่านี้มีประโยชน์อย่างมาก และเป็นที่สนใจของเอกชนที่จะนำไปผลิตขาย ขณะนี้ได้ยื่นขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ไปเรียบร้อยแล้ว และพร้อมที่จะเจรจากับภาคเอกชนในการนำไปผลิตขายต่อไป
จะเห็นได้ว่างานวิจัยหลายอย่าง ไม่จำเป็นต้องใช้นักวิจัยมืออาชีพตามมหาวิทยาลัย นี่ขนาดเด็กนักเรียนมัธยม ยังสามารถสร้างสิ่งที่เป็นความรู้ใหม่และเป็นประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนำมาใช้ในการแก้ปัญหาใกล้ตัวอย่างเช่นเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี ก็คงต้องให้ผู้ใหญ่ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ให้ความสำคัญกับกระบวนการสร้างความรู้ในหมู่เด็กและเยาวชนของเราต่อไปอย่างจริงจัง
สำหรับเด็กนักเรียนทั้งสามคนที่ร่วมกันพัฒนาเครื่องมือเก็บยางก้อนถ้วยนี้ก็ได้แก่ นายนัฐพล สุขพันธ์ น.ส.สุพัตรา อ่ำศรี และน.ส.จุฑามาศ นพเก้า โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษา 2 ท่านคือ อาจารย์ดวงแข ปัญญา และอาจารย์ไสว อุ่นแก้ว ซึ่งควรได้รับการยกย่องและให้เกียรติว่าเป็นผู้ที่พยายามพัฒนาเครื่องมือช่วยอุตสาหกรรมยางดังกล่าว ซึ่งจะส่งผลดีต่อวงการอุตสาหกรรมยางพาราของประเทศได้ในอนาคต
คาดว่าอีกไม่นานน่าจะมีการนำความรู้ที่ได้จากงานชิ้นนี้ไปผลิตออกมาเป็นเครื่องมือที่ใช้กันทั่วไปในราคาที่หาซื้อได้ และที่สำคัญคือริเริ่มมาจากฝีมือเด็กไทยครับ
รศ.ดร.พีรเดช ทองอำไพ