
พระครูอมรสังวรกิจพระผู้ทรงวิทยาคมแห่งเชียงราย
พระครูอมรสังวรกิจพระผู้ทรงวิทยาคมแห่งเชียงราย : เรื่องไตรเทพ ไกรงู ภาพ มาโนช ธรรมไชย
พระครูอมรสังวรกิจ หรือพระอาจารย์วิรุต ญาณสํวโร เจ้าอาวาสวัดสันมะเหม้า ต.ม่วงคำ อ.พาน จ.เชียงราย เป็นพระหนุ่มที่มีความมุ่งมั่นต่อหน้าที่ทางพระพุทธศาสนา แม้จะเป็นพระภิกษุวัยเพียง ๓๙ ปี พรรษาที่ ๑๘ แต่ท่านก็มีความศรัทธาตั้งมั่นในพระรัตนตรัยอย่างสุดชีวิต จากชีวิตร่มกาสาวพัสตร์ที่ผ่านมา ท่านดำรงตนในสมณเพศอย่างไม่ด่างพร้อย ท่านเป็นพระที่ชอบใฝ่รู้ใฝ่ศึกษาและเรียนรู้เกือบทุกแขนงทั้งทางโลกและทางธรรม
แม้กระทั่งศาสตร์ต่างๆ ก็เช่นกัน ท่านศึกษาจนเข้าใจ ไม่ว่าจะเป็นพุทธศาสตร์ โหราศาสตร์ ไสยศาสตร์ ไสยเวทต่างๆ ที่มีมาแต่โบราณ ท่านตั้งใจว่าจะนำวิชาความรู้เหล่านี้เพื่อสงเคราะห์และอนุเคราะห์แก่พุทธศาสนิกชนทั่วไปให้เข้าใจหลักธรรมคำสอน โดยอาศัยสิ่งเหล่านี้เป็นสะพานเชื่อมต่อระหว่างศรัทธานำไปสู่ความเข้าใจในพระพุทธศาสนา
มีหลายคนตั้งคำถามกับอาจารย์ว่า “ทำไมต้องสักยันต์” พระอาจารย์วิรุต ตอบคำถามไว้อย่างน่าคิดว่า “การที่ทำให้คนเกิดศรัทธาต่อพระพุทธศาสนานั้น มันก็อยู่ที่วิธีการที่หลากหลายรูปแบบ อยู่ที่ว่าเราจะใช้ศาสตร์ไหนดึงคนเหล่านั้นให้เกิดความศรัทธา เมื่อคนศรัทธาก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จำให้เขาเข้าใจธรรม”
พร้อมกันนี้ พระอาจารย์วิรุต ยังบอกด้วยว่า คนที่มาสักยันต์ส่วนใหญ่ร้อยละ ๘๐ เป็นคนไม่ค่อยได้เข้าวัดทำบุญ แต่ชอบในเรื่องไสยศาสตร์ แต่เมื่อมาฝากตัวเป็นศิษย์อาจารย์แล้ว จากที่เขาไม่มีหลักของใจ เราสักยันต์ไปแล้ว มีข้อห้ามและข้อปฏิบัติ คือ
๑.เขาต้องเป็นคนกตัญญูต่อพ่อแม่ ครูบาอาจารย์และผู้มีพระคุณ ๒.เขาต้องรักษาสัจจะ มีความซื่อสัตย์ จริงใจกับคนทั่วไป ๓.วันพระเขาต้องถือศีล ๕ ให้บริสุทธิ์ และให้สวดมนต์ นั่งสมาธิตามโอกาส ดังนั้นก็จะเห็นได้ว่าอาจารย์สักยันต์สอนให้ลูกศิษย์ไม่ได้ออกนอกแถว และไม่ได้ส่งเสริมให้คนลุ่มหลงแต่กับเป็นสิ่งที่ดีที่สอนให้คนมีคุณธรรมเสียด้วยซ้ำไป
“ศาสตร์ทุกศาสตร์มันมีประโยชน์หมด มันอยู่ที่เราว่าจะนำไปประยุกต์และสอดแทรกหลักธรรมในทางพระพุทธศาสนาอย่างไร จริตและอุปนิสัยคนเรามีไม่เท่ากัน ถ้าคนเรามีบารมีเท่ากันก็คงสำเร็จเป็นพระอรหันต์หมด นั่นเพราะว่าการทำความดีของคนเราต้องค่อยเป็นค่อยไป อย่างน้อยคนที่สักยันต์ก็ต้องมีความดีระดับหนึ่ง คือไม่ดูหมิ่นผู้มีพระคุณ เคารพพ่อแม่ครูบาอาจารย์ และหมั่นรักษาศีล สวดมนต์ นั่งสมาธิ” พระอาจารย์วิรุต กล่าว
วัตถุมงคลอีกหลายรุ่นที่วัดจัดสร้าง และลูกศิษย์สร้างถวายเพื่อหาปัจจัยรายได้สร้างสถานปฏิบัติธรรมให้สำเร็จตามความประสงค์ เช่น เหรียญพ่อแก่รุ่นนำโชค เหรียญหนุมาน รุ่นเพชรสยาม อนุญาตจัดสร้างโดย มหาบัณฑิตพระเครื่อง พ่อแก่ฤาษีเดินดงทรงฤทธิ์ รุ่น โชคดี มั่งมี ทวีทรัพย์ อนุญาตจัดสร้างโดยท่าน ช.ชัยวัฒน์ ประธานชมรมพระภาคเหนือมืออาชีพ
สำหรับปีนี้ถือเป็นปีมหามงคลที่พระอาจารย์วิรุต ได้รับแต่งตั้งสมณศักดิ์ ท่านจึงจัดสร้างเหรียญรุ่นแรกของท่าน ชื่อรุ่นเสริมบารมี โดยเฉพาะด้านหลังเป็นรูปพญาครุฑ ถือว่าเป็นสัตว์เทพที่ศักดิ์สิทธิ์
สร้างวัดให้เป็นคันถธุระ และวิปัสสนาธุระ
ในการสร้างวัดนั้น พระอาจารย์วิรุต ญาณสํวโร ทำควบคู่กันคือ ท่านมีแนวคิดสร้างวัดให้เป็นทั้งคันถธุระ และวิปัสสนาธุระ ทำวัดเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม และตอนนี้ก็เริ่มดำเนินการก่อสร้าง แต่ยังไม่แล้วเสร็จ ยังขาดปัจจัยอีกจำนวนมาก และสร้างพระประธานองค์ใหญ่ หน้าตักขนาด ๕ เมตร
ที่ผ่านมาทางวัดได้วางศิลาฤกษ์พระประธานไว้เกือบจะ ๒ ปี แล้ว แต่ยังไม่มีงบประมาณในการดำเนินการก่อสร้าง ทางวัดจึงจัดสร้างวัตถุมงคลขึ้นในรุ่นต่างๆ เพื่อหาทุนทรัพย์ให้เพื่อดำเนินการก่อสร้างในอนาคต ดังนั้นพระอาจารย์จึงแจ้งข่าวบอกบุญกับผู้มีจิตศรัทธาได้ร่วมบริจาคตามจิตศรัทธาเพื่อสร้างพระประธานองค์ใหญ่หน้าตัก ๕ เมตร งบประมาณ ประมาณ ๑ ล้านบาท
สำหรับท่านไหนที่เป็นคหบดีเศรษฐีใจบุญ สามารถติดต่อสอบถามทำบุญทางวัดได้ โดยติดต่อพระอาจารย์ ทางวัดจะดำเนินการจัดสร้างให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี เพราะว่าการสร้างพระพุทธรูปถือว่ามีอานิสงส์ที่ยิ่งใหญ่ ถือเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้า บุญกุศลย่อมทำให้ผู้ร่วมบุญประสบแต่ความสุขความเจริญ ทั้งมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ และนิพพานสมบัติ ร่วมบุญได้ที่พระอาจารย์วิรุต โทร.๐๘-๙๕๕๘-๓๒๙๙ หรือร่วมบุญได้ที่ธนาคารกสิกรไทย สาขาพาน เลขบัญชี ๖๖๙-๒-๐๒๖๗๑-๑ ชื่อบัญชี พระวิรุต ญาณสํวโร เจ้าอาวาสวัดสันมะเหม้า
มอบกาย-ใจ ถวายให้พระพุทธศาสนา
“๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๒๐” เป็นวันเกิดของพระอาจารย์วิรุต หลังเรียจบ ป.๖ ขณะอายุ ๑๓ ปี ท่านตัดสินใจไปสมัครบวชภาคฤดูร้อนและได้บรรพชาเป็นสามเณร ในวันที่ ๙ เมษายน พ.ศ.๒๕๓๓ ณ วัดกลางเวียง อ.เวียงชัย จ.เชียงราย โดยมีพระอุดมปัญญาภรณ์ หรือปัจจุบันคือหลวงพ่อพระธรรมราชานุวัตร เจ้าคณะภาค ๖ เจ้าอาวาสวัดพระแก้ว (พระอารามหลวง) จ.เชียงราย เป็นพระอุปัชฌาย์ ระหว่างบวชได้ไปจำพรรษาอยู่ที่วัดราษฎร์เจริญ ต.เวียงเหนือ อ.เวียงชัย จ.เชียงราย ท่านศึกษาเรียนรู้อักขระล้านนาและสามารถอ่านออกเขียนได้ภายในไม่ถึงเดือน และได้เรียนนักธรรมชั้นตรี จนสามารถสอบได้ในปีนั้นเอง ด้วยจริตนิสัยชอบเรียนรู้เรื่องคาถาอาคม ขณะเป็นสามเณรก็ได้ไปขอเรียนคาถากับพ่อหนานปั๋น ถือได้ว่าท่านเป็นผู้ที่เคยบวชเรียนและมีวิชาอาคม จำได้ว่าไปขอเรียนกับท่าน ต้องเสียค่าครู ๒๙ บาท ท่านจึงยอมสอนคาถาให้ เช่น คาถาเป่ารักษาโรคภัยต่างๆ คาถาห้ามเลือด คาถาป้องกันภัย ฯลฯ
พ.ศ.๒๕๓๔ ย้ายมาจำพรรษาอยู่วัดป่าซาง ต.เมืองพาน อ.พาน จ.เชียงราย เพื่อมาเรียนหนังสือตามความต้องการของญาติเพื่อวันข้างหน้าจะได้มีความรู้และไม่ต้องลำบากเหมือนกับครอบครัวอย่างทุกวันนี้ จากนั้น พ.ศ.๒๕๓๕ ย้ายมาจำพรรษา ณ วัดสันมะเหม้า ต.ม่วงคำ อ.พาน จ.เชียงราย โดยมีหลวงพ่อพระครูอินทวรรณวิวัฒน์ (ครูบาจันทร์ตา สุวณฺโณ) เป็นเจ้าอาวาสในขณะนั้น สามเณรวิรุต ชอบศึกษาเรียนรู้วิชาไสยศาสตร์ คาถาอาคมต่างๆ จากปั๊มกระดาษสา หรือคัมภีร์ต่างๆ ที่จารึกอักษรเป็นภาษาล้านนา เช่น การเขียนยันต์ ตะกรุด หรือคาถาอาคมต่างๆ
เมื่ออายุครบ ๒๑ ปี ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ในวันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔๑ โดยมีพระครูชยาภิวัฒนคุณ เจ้าคณะอำเภอพาน เจ้าอาวาสวัดป่าซาง เป็นพระอุปัชฌาย์ โดยได้ฉายาว่า ญาณสํวโรภิกขุ ในขณะที่เป็นพระภิกษุก็ตั้งใจเรียนรู้ทั้งทางโลกและทางธรรมและชอบปฏิบัติกรรมฐานอยู่เป็นประจำสม่ำเสมอ
อย่างไรก็ตามก่อนวันอุปสมบทหนึ่งคืน คือวันที่ ๕ พฤษภาคม มีนิมิตเห็นเทวดาท่านหนึ่งใส่ชุดเต็มยศสีขาวระยิบระยับ มีหมวกแหลมๆ ท่านเหาะจากบนฟ้าลงมาตรงเจดีย์ในวัด อยู่เบื้องหน้าสามเณรวิรุต ในความฝันนั้น เทวดาได้อุ้มพระสิงห์ ๑ องค์ ขนาดหน้าตัก ๙ นิ้ว นำมามอบให้ท่าน พร้อมบอกว่าฝากไว้ด้วย พอตื่นขึ้นเกิดปีติอย่างแรงกล้า ตื่นเช้าขึ้นมาได้ไปไหว้หน้าเจดีย์พร้อมดอกไม้ไปอธิษฐานว่า “วันนี้ผมจะอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ขอสัจจะอธิษฐานว่า ข้าพเจ้าจะขอบวชตลอดชีวิต มอบกาย มอบใจ ถวายให้พระพุทธศาสนา"