
เหรียญสมเด็จพระนเรศวร ยอดนิยมเหรียญสมเด็จพระนเรศวรรุ่นตองโข่
เหรียญสมเด็จพระนเรศวร ยอดนิยมเหรียญสมเด็จพระนเรศวร รุ่น ตองโข่ พ.ศ.๒๕๐๓ : เรื่องและภาพ ไตรเทพ ไกรงู
สมเด็จพระนเรศวรมหาราช หรือสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๒ มีพระนามเดิมว่า พระนเรศวร หรือ “พระองค์ดำ” เสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๑๓๓ สิริรวมการครองราชสมบัติ ๑๕ ปี เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน พ.ศ.๒๑๔๘ รวมพระชนมพรรษา ๕๐ พรรษา ปัจจุบันทุกวันที่ ๒๕ เมษายน ของทุกปี เป็น “วันสมเด็จพระนเรศวรมหาราช”
สำหรับเหรียญที่เกี่ยวกับสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นเหรียญแรกนั้น นายศราวุฒิ วรพัทธ์ทวีโชติ หรือ “คุณเจมส์” เจ้าของกิจการ ร้าน Siam Coin & Antiques “ร้านกษาปณ์เมืองสยาม” หรือ “ร้าน Siamcoin” และเลขานุการสมาคมเหรียญที่ระลึกไทย ให้ข้อมูลว่า เหรียญสมเด็จพระนเรศวรมหาราชยอดนิยมของไทย มีดังนี้ ๑. เหรียญสมเด็จพระนเรศวร รุ่น ตองโข่ พ.ศ.๒๕๐๓ โดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ร่วมกับ “หนุ่มศึกหาญ” ผู้นำกองทัพเมืองไต (เจ้าฟ้าไทยใหญ่) จัดสร้างเหรียญขึ้นจำนวนหนึ่งราวสองพันถึงสามพันเหรียญ แล้วแบ่งกันฝ่ายครึ่งเพื่อคุ้มครองภัยในการปฏิบัติภารกิจหน้าที่ และเกิดประสบการณ์เป็นที่เลื่องลืออย่างมากในยุคนั้น
เหรียญสมเด็จพระนเรศวรตองโข่ รุ่นแรก ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่ ด้านหน้าเป็นพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราชครึ่งพระองค์ผินพระพักต์เบื้องซ้ายล้อมด้วยตัวอักษรไทยใหญ่ ด้านบนอ่านได้ว่า “เจ้าฟ้า นเรโสน มหาหร่าจ่า” แปลว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราชา ข้างล่างเป็นปีที่ประสูติถึงปีที่สวรรคต (พ.ศ.๒๐๙๘-๒๑๔๘) ด้านหลังวางตัวอักษรไทยใหญ่ทั้งหมดเป็นอักษรโบราณ ข้างบนอ่านว่า “เจ้าฟ้า นเรโสน มหาหร่าจ่า” แปลว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราชา ตรงกลางเหรียญอ่านว่า “ไหล้ ปื๋น อ่า หน่า กู้ จ้าด” “ตี้ ปาง กิง เมิง หาง” (มุงคิง) แปลว่า ได้เผยอาชญากู้ชาติ ที่ปางกงเมืองหาง ขอพลานุภาพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช คุ้มครอง ข้างล่างเป็นปีที่พระองค์ทรงประกาศอิสรภาพ (พ.ศ.๒๑๒๗)
เหรียญนี้ผ่านพิธีมหาพุทธาภิเษกถึง ๒ วาระ โดยพระเกจิคณาจารย์ชื่อดังมากมาย ที่เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาในยุคนั้น วาระแรก ที่วัดราชบพิธสถิตสีมาราม กรุงเทพฯ วาระที่ ๒ ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.พิษณุโลก นอกจากนี้ยังประกอบพิธีบวงสรวงดวงพระวิญญาณสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ณ พระราชวังจันทน์ ซึ่งเป็นสถานที่ประสูติอีกด้วย เหรียญสมเด็จพระนเรศวรตองโข่ รุ่นแรก นับเป็นเหรียญยอดนิยม หายาก และเป็นเหรียญที่มีพุทธคุณสูง เป็นที่ประจักษ์ในทุกด้าน โดยเฉพาะด้านคงกระพันชาตรี
๒.เหรียญสมเด็จพระนเรศวรรุ่นเผด็จศึก ปี ๒๕๐๗ เป็นเหรียญที่ปลุกเสกในพิธีเดียวกันกับพระกริ่งนเรศวรรุ่นแรก เมื่อวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๐๗ เป็นเหรียญทรงกลมมีหูด้านบน ด้านหน้าของเหรียญ เป็นรูปขณะสมเด็จพระนเรศวรเข้ากระทำยุทธหัตถี มีข้อความ “สมเด็จพระนเรศวร เผด็จศึก” ด้านหลังเป็นตรา “อกเลา” รูปหนุมานแบกบุษบก ล้อมรอบด้วยเส้นรัศมี ด้านล่างระบุปี ๒๕๐๗ เหรียญรุ่นนี้มีพบทั้งเนื้อทองแดง และเนื้ออัลปาก้า
๓.เหรียญสมเด็จพระนเรศวรเมืองงาย สร้างโดยวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๕๑๒ จำนวนการจัดสร้างหนึ่งแสนเหรียญ เป็นเหรียญทรงกลมมีหูด้านบนในตัว ด้านหน้าเป็นพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวร มีข้อความว่า “สมเด็จพระนเรศวรมหาราช” ระบุพ.ศ.๒๕๑๒ ด้านหลังเป็นรูปพระสถูปเจดีย์ และอักษรล้านนาโดยรอบ เป็นเหรียญที่นิยมกันในภาคเหนือ สร้างพร้อมกับพระกริ่งนเรศวรเมืองงาย และพระบูชาพระพุทธสิหิงค์ หลายขนาดตามการสั่งจอง มีเนื้อทองแดงรมดำ ทองแดงผิวไฟ และมีเนื้อทองคำด้วยจำนวนเล็กน้อย
๔.เหรียญยุทธหัตถีดอนเจดีย์ พ.ศ.๒๕๑๓ เหรียญสมเด็จพระนเรศวรมหาราช หลังยุทธหัตถี พุทธาภิเษกเมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ.๒๕๑๓ (ตรงกับวันกองทัพไทยในยุคนั้น) เป็นเหรียญทองแดง ทรงกลมมีหูด้านบน ด้านหน้าเป็นพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวร มีข้อความโดยรอบว่า “๒๕ มกราคม ๒๕๑๓ อักษรบาลี วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร” เบื้องล่าง “สมเด็จพระนเรศวรมหาราช” ด้านหลังเป็นภาพ ขณะทำยุทธหัตถี อักษรระบุวันที่กระทำยุทธหัตถี เบื้องล่าง “ยุทธหัตถี ณ ดอนเจดีย์” เหรียญรุ่นนี้สร้างมาจำนวนมาก มีหลายแม่พิมพ์ จึงเป็นพระดีที่ราคาไม่แพงในปัจจุบัน
เหรียญพิธีจักรพรรดิ ปี ๒๕๑๕
เหรียญพระพุทธชินราช พิธีจักรพรรดิ พ.ศ.๒๕๑๕ เป็นเหรียญทรงกลม ด้านหน้าเป็นรูปพระพุทธชินราช ด้านหลังสมเด็จพระนเรศวรมหาราชหลั่งน้ำสิโนทก มีข้อความ “สมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระผู้ทรงกอบกู้เอกราชของชาติไทย” พิธีจักรพรรดิ เป็นพิธีมหาพุทธาภิเษกที่ยิ่งใหญ่ จัดขึ้นโดยพุทธสมาคมจังหวัดพิษณุโลก เมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๑๕ ณ วิหารหลวงพ่อพระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.พิษณุโลก เพื่อนำวัตถุมงคลที่จัดสร้างขึ้นมาเข้าพิธีปลุกเสก วัตถุมงคลรุ่นนี้มีพระพุทธชินราชจำลอง พระชัยวัฒน์ พระกริ่งนเรศวรวังจันทน์ พระพิมพ์และเหรียญชินราชมหาจักรพรรดิ ฯลฯ
พิธีมหาจักรพรรดิพุทธาภิเษก เป็นพิธีที่ใหญ่มาก ตามประวัติในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พิธี “จักรพรรดิมหาพุทธาภิเษกนี้ ครั้งแรกนั้นได้กระทำพิธีในสมัยรัชการที่ ๑ หลังจากนั้นไม่มีการกระทำพิธีแบบนี้อีกเลย พิธีกรรมเริ่มจากคณะกรรมการนำแผ่นเงิน แผ่นทอง เข้านมัสการขอบารมีพระคุณเจ้าผู้ทรงวิทยาคุณทั่วประเทศรวม ๑๐๙ ให้ท่าน ลงอักขระเลขยันต์ คาถา และอธิษฐานจิตปลุกเสกแผ่นทองเงิน
หลังจากนั้นคณะกรรมการนำแผ่นทองเงินที่พระคณาจารย์ ๑๐๙ รูปลงและปลุกเสกแล้ว ขึ้นกราบทูลสมเด็จพระสังฆราช ทรงเจิม และประทานพรแห่งความสำเร็จในการสร้างโดยมีพระอาจารย์ผ่อง (จินดา) วัดจักรวรรดิราชาวาสพระนคร และอาจารย์เทพย์ สาริกบุตร ซึ่งเป็นเจ้าพิธี กำหนดและควบคุมการดำเนินการกระทำพิธี ครบถ้วนตามแบบฉบับของโบราณพิธีทุกประการ นับเป็นเหรียญสมเด็จพระนเรศวร ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในปัจจุบันนี้
เหรียญสมเด็จพระนเรศวรมหาราชรุ่น“สู้”
เหรียญสมเด็จพระนเรศวรมหาราชรุ่น “สู้” เป็นรุ่นที่นิยมกันมาก โดยมีการจัดสร้างทั้งหมด ๓ ชนิด คือ ๑.เหรียญทองคำ จำนวน ๓,๙๙๙ เหรียญ น้ำหนักประมาณ ๑.๕ บาท บริจาค ๒๕,๐๐๐ บาท ๒.เหรียญเงิน จำนวน ๙,๙๙๙ เหรียญบริจาค ๑,๐๐๐ บาท และ ๓.เหรียญทองแดงบริสุทธิ์ จำนวน ๙๙๙,๙๙๙ เหรียญ บริจาค ๑๐๐ บาท
ทั้งนี้สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มีพระราชเสาวนีย์ให้ พล.อ.ณพล บุญทับ รองสมุหราชองครักษ์ จัดสร้างเหรียญสมเด็จพระนเรศวรมหาราช รุ่น “สู้” เพื่อนำไปพระราชทานทหาร ตำรวจ ราษฎร อาสาสมัครรักษาหมู่บ้านในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศล ทูลเกล้าฯ ถวายนำไปทรงช่วยใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้
โดยพระภาวนาจารย์ ๑๐๘ รูปพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ ๒,๕๔๙ รูป ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามในพระบรมมหาราชวัง วันอาทิตย์ที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๔๘ ความหมายของคำว่า “สู้” ดังนี้
๑.สู้เพื่อปกป้องรักษาประเทศชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ด้วยศักดิ์ศรีของความเป็นคนไทยเหมือนดังเช่นบรรพบุรุษไทยได้เสียสละชีวิต เลือดเนื้อ เพื่อปกป้องรักษาแผ่นดินไทยให้เป็นมรดกตกทอดมาถึงลูกหลานไทยตราบเท่าทุกวันนี้
๒.สู้เพื่อให้ประชาชนมีความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน โดยช่วยกันรักษากฎหมายของบ้านเมืองให้มีความศักดิ์สิทธิ์ ป้องกันมิให้ผู้ไม่หวังดีต่อประเทศชาติมาทำร้ายคนบริสุทธิ์
๓.สู้เพื่อช่วยเหลือประชาชนให้พ้นจากความทุกข์ยาก เช่น การช่วยขจัดปัญหาความยากจน การว่างงานและความไม่เป็นธรรมในสังคม
ท่านสามารถติดตามสาระเรื่องเหรียญกษาปณ์ เหรียญที่ระลึกและบทความได้จากเพจ siamcoin.com สอบถามข้อมูลได้ทาง LINE ID :@siamcoin (อย่าลืมใส่@ข้างหน้าด้วยนะครับ) หรือ โทรศัพท์หมายเลข ๐๘-๔๔๕๙-๐๙๖๕