
สอศ.พิมพ์นวนิยายเด็กอาชีวะ2เรื่องแจก1.5หมื่นเล่ม
20 เม.ย. 2559
สอศ.จัดพิมพ์นวนิยาย2เล่มใต้ปีกรัก-วางหัวใจไว้บนก้อนดินชูเด็กอาชีวะเป็นตัวเอกหวังกระตุ้นให้เด็กเข้าใจและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้อาชีวศึกษาจัดพิมพ์1.5หมื่นเล่มแจก
เมื่อวันที่ 20 เม.ย. 59 พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้จัดพิมพ์นวนิยายจำนวน 2 เล่ม ได้แก่ “ใต้ปีกรัก” เขียนโดย คณิตยา และ “วางหัวใจไว้บนก้อนดิน” เขียนโดย พิมพิสุธญ์ ซึ่งเป็นนิยายรักแต่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับเด็กอาชีวศึกษา โดยในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (19 เม.ย.) ตนก็ได้นำเสนอเรื่องดังกล่าวให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีรับทราบ โดยนายกฯบอกว่าจะลองกลับไปอ่าน และส่วนตัวได้อ่านเบื้องต้นก็เห็นว่าพล็อตเรื่องน่าสนใจ
"อย่างไรก็ตาม วัตถุประสงค์ที่ สอศ.จัดพิมพ์นวนิยายนี้ ถือส่วนหนึ่งในการส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนมีทัศนคติที่ดีต่อการเรียนการอาชีวศึกษา ที่สำคัญเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีด้วย ซึ่งเรื่องการสร้างภาพลักษณ์นั้นเป็นสิ่งที่ต้องทำต่อเนื่องและต้องทำในหลากหลายรูปแบบ"พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าว
ด้าน ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (เลขาธิการ กอศ.) กล่าวว่า เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายของอาชีวศึกษาคือ เด็กในระดับมัธยมศึกษา เป็นกลุ่มวัยรุ่น ซึ่งเด็กวัยนี้มีความสนใจและชื่นชอบเรื่องของละครและนวนิยาย เพราะฉะนั้น จึงได้หารือและเห็นร่วมกันว่าจะจัดนวนิยายที่เกี่ยวกับอาชีวศึกษาขึ้นมา เพื่อทำให้เด็กเกิดความเข้าใจและเกิดความรู้สึกชอบ โดยสอศ.ได้ขอให้นักเขียนที่เป็นที่นิยมในกลุ่มวัยรุ่นและมีประสบการณ์ในการเขียนมาเขียนให้จนได้นวนิยาย 2 เรื่องเบื้องต้นถ่ายทอดเนื้อหาใน 2 สาขา คือ สาขาเกษตรกรรม ผ่านเรื่อง “วางหัวใจไว้บนก้อนดิน” ซึ่งถือเป็นสาขาที่จำเป็นของประเทศแต่มีผู้เรียนน้อยมากจึงต้องการสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญ และสาขาอุตสาหกรรม ผ่านเรื่อง “ใต้ปีกรัก” จะเป็นเกี่ยวกับเรื่องอากาศยานไร้คนขับ เน้นการสร้างแรงบันดาลใจ
“ในการเขียนนั้นได้วางพล็อตว่าเด็กที่อ่านจะต้องได้รับทั้งสาระความรู้และความสนุกในเรื่องนั้น ๆ ซึ่งทั้ง 2 เล่มนี้ออกแบบและพิมพ์ โดยแผนกวิชาการพิมพ์ วิทยาลัยเทคนิคมีนบุรี จัดพิมพ์ 15,000 เล่มโดยไม่ได้จำหน่าย แต่จะส่งมอบให้กับวิทยาลัยอาชีวศึกษาในสังกัด สอศ.และวิทยาลัยอาชีวศึกษาเอกชนทั่วประเทศ ประมาณ 900 เล่ม โรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่เปิดสอนระดับมัธยมศึกษา โรงเรียนขยายโอกาส และเปิดสอนระดับม.ปลาย ประมาณ 8-9 พันแห่ง และห้องสมุดประชาชน ของสำนักบริหารงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) 911 แห่ง รวมถึงภาคเอกชนที่ร่วมมือในโครงการประชารัฐ”ดร.ชัยพฤกษ์ กล่าว