
'ปลาส้มไร้ก้าง'เม็ดอินบางปลาม้าต่อยอดความรู้สู่เมนูความอร่อย
'ปลาส้มไร้ก้าง'เม็ดอินบางปลาม้า ต่อยอดความรู้สู่เมนูความอร่อย : โต๊ะข่าวเกษตร
หลังจากที่กลุ่มเกษตรกรและผู้ประกอบการ เข้าอบรมความรู้ด้านการแปรรูปสัตว์น้ำกับกรมประมง ทำให้หลายกลุ่มเริ่มลงมือกันแล้ว โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ จาก อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี สามารถนำความรู้ไปแปรรูปปลาจากบ่อมาเป็น “ปลาส้มไร้ก้าง” ที่สามารถเพิ่มมูลค่าให้ผลผลิตได้เป็นอย่างดี
ดร.จูอะดี พงศ์มณีรัตน์ รองอธิบดีกรมประมง บอกว่า ตามที่กองวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ กรมประมง จัดฝึกอบรม “เทคนิคการแปรรูปสัตว์น้ำเบื้องต้นเพื่อการส่งออกตลาดอาเซียน” ให้แก่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและผู้ประกอบการแปรรูปมา 2 รุ่น จำนวน 84 คน ระหว่างวันที่ 23-25 กุมภาพันธ์ และระหว่างวันที่ 1-3 มีนาคม ณ ศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการแปรรูปสัตว์น้ำ จ.สมุทรปราการนั้น หลังจากผ่านการอบรมเกษตรกรในแต่ละพื้นที่ ได้รวมกลุ่มและแสดงความประสงค์ที่จะนำไปต่อยอดพัฒนาการแปรรูปผลผลิตให้มีมูลค่าสูงขึ้นกว่าขายเป็นปลาปากบ่อกันแล้ว โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี
สำหรับการอบรมเกษตรกรและผู้ประกอบการ มีทั้งเรียนหลักทฤษฎีและลงมือปฏิบัติจริง ทำให้มีความรู้ความเข้าใจในกระบวนการต่างๆ ตั้งแต่การจัดการหลังการจับสัตว์น้ำ เทคนิคการแปรรูปสัตว์น้ำเบื้องต้น เครื่องขอดเกล็ดปลา การแล่ปลาให้มีคุณภาพ การบรรจุหีบห่อและแนวทางในการเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการแปรรูปสัตว์น้ำที่จะผลิตผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำเพื่อยกระดับให้สินค้าสามารถเข้าไปสู่การแข่งขันในตลาดอาเซียน รวมถึงการไปดูกระบวนการแปรรูปผลิตปลานิลแช่เยือกแข็งในโรงงานด้วย
ด้านสมลักษณ์ จันทร์ตรี เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ อ.บางปลาม้า บอกว่า หลังจากที่เข้าอบรมกับกรมประมงแล้วทำให้มีความรู้ด้านเทคนิคการแปรรูปปลานิล นำมาทำเป็นเมนูปลาส้มไร้ก้าง รสชาติดี อร่อย คิดว่าจะนำไปทำขายกัน เชื่อว่ารายได้จะดีกว่าเดิมที่เคยจับขายกันแบบเป็นปลาสด ชนิดที่เรียกว่าชั่งกิโลจากปากบ่อ ซึ่งได้ราคาน้อยและไม่คุ้มต้นทุนการผลิต อีกทั้งราคาก็ไม่แน่นอนด้วย คิดว่าเมื่อได้แปรรูปเป็นอาหารแล้วราคาน่าจะดีขึ้น และหากผลิตภัณฑ์ติดตลาดก็จะพัฒนาคุณภาพให้ได้มาตรฐานที่จะสามารถส่งออกได้ด้วย
ขณะที่ กรกช ไทรแก้ว เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ อ.เชียงใหญ่ จ.สุราษฎร์ธานี อีกหนึ่งในผู้ที่เข้าอบรม เล่าว่า กลุ่มของพวกเขาสนใจ เครื่องขอดเกล็ดปลา ซึ่งเป็นนวัตรกรรมของกรมประมงที่สามารถลดต้นทุน ลดแรง ลดเวลา ซึ่งเขาจะนำแบบแปลนไปดัดแปลงให้เข้ากับการใช้งานของกลุ่ม ก็เชื่อว่าจะสามารถช่วยให้กระบวนการผลิตสัตว์น้ำเร็วขึ้น ประหยัดต้นทุนได้มาก โดยไม่ต้องจ้างแรงงานคน นำไปทำเชิงพาณิชย์ได้
นับเป็นอีกหนึ่งโครงการของกรมที่มีความประสงค์ให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันเพื่อสร้างความเข้มแข็งและอำนาจต่อรองทางการค้าได้ในอนาคต หากกลุ่มเกษตรกรที่สนใจจะเข้าอบรมในรุ่นต่อๆ ไป สามารถติดต่อสอบถามได้กองวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ กรมประมง โทร.0-2940-6130-45 ต่อ 80 หรือ 0-2561-1143