
ซัมเมอร์วิถีพุทธ ณ วัดบำเพ็ญเหนือ๒ทศวรรษแห่งบุญบรรพชาสามเณร
ซัมเมอร์วิถีพุทธ ณ วัดบำเพ็ญเหนือ๒ทศวรรษแห่งบุญบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน : เรื่องและภาพ ไตรเทพ ไกรงู
พิธีบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อนของวัดบำเพ็ญเหนือ เขตมีนบุรี กทม. ซึ่งมีพระครูอุดมจารุวรรณ เป็นเจ้าอาวาส ได้ทำติดต่อกันมา เป็นปีที่ ๒๑ แล้ว และเนื่องใน พ.ศ.๒๕๕๙ นี้ เป็นปีที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๖๑ พรรษา ในวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๕๖ คณะสงฆ์จึงจัดเป็นโครงการเฉลิมพรเกียรติ ถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยมีระยะเวลาบวช ๒๐ วัน ระหว่างวันที่ ๑-๒๐ เมษายน ๒๕๕๙
ในส่วนของพิธีกรรมนั้น เริ่มตั้งแต่คืนวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๙ หลังโกนผมเสร็จ ซ้อมขานนาคเณร คือ คำกล่าวขอบวชแล้วก็เปลี่ยนเป็นชุดนาคเณรในตอนเย็น รอทำพิธีบายศรีสู่ขวัญแล้วแม่ก็ให้อภัย-ยกโทษให้ลูก ด้วยการผูกสายสิญจน์รับขวัญนาคเณร ก็กราบขอขมาพ่อแม่ผู้ปกครอง กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม อันใดที่ได้ล่วงเกิน คุณพ่อคุณแม่มาโดยตลอด ลูกขอกราบขมา ขออโหสิลูกจะบวชเป็นการทดแทนคุณ
เมื่อถึงวันนี้ ๑ เมษายน เป็นวันทำพิธีบวชสามเณรภาคฤดูร้อน ๒๕๕๙ เริ่มจากพ่อแม่นาคเณร ถวายสังฆทานผ้าไตรจีวรให้ โดยท่านเจ้าอาวาสเป็นผู้รับแทน เมื่อประธานในพิธีกล่าวเปิดงานแล้ว จากนั้น ท่านผู้มีเกียรติ เช่น คณาจารย์จาก มจร., อดีต รมช.และครูอาจารย์ในเขต ร่วมกันมอบผ้าไตรจีวร ให้แก่พ่อแม่ของนาคเณร ทั้งนาคเณรและพ่อแม่ ยกขบวนแห่ผ้าไตรจีวร ไปเดินทักษิณารอบพระอุโบสถ เพื่อสักการะ มีการโปรยทานเหมือนการบวชพระ
พระครูอุดมจารุวรรณ บอกว่า หลักสูตรและแนวการฝึกอบรม มี ๓ ส่วน คือ ๑.ภาควิชาการ ประกอบด้วย วิชาพระธรรมวินัย วิชาศาสนพิธี และวิชาพุทธประวัติ เบื้องต้น ๒.ภาคปฏิบัติ ประกอบด้วย การทำวัตรสวดมนต์ การฝึกสมาธิ แผ่เมตตา รวมทั้งฝึกมารยาทไทย และ ๓.ภาคกิจกรรม ประกอบด้วย กิจกรรมจุดเทียนชัยถวายพระพร กิจกรรมรักชาติ กิจกรรมกฎแห่กรรม กิจกรรปัญหาสังคม กิจกรรมพุทธศิลป์อกิจกรรมเพื่อนและนันทการ รวมทั้งกิจกรรมทางเสื่อของวัยรุ่น
อย่างไรก็ตามเพื่อให้กิจกรรมดำเนินไปอย่างราบรื่น วัดได้บอกบุญเป็นเจ้าภาพในการบวชเณร มีอานิสงส์มาก นอกจากเป็นการส่งเสริมพระพุทธศาสนาให้ดำรงอยู่ต่อไปแล้ว ยังมีอานิสงส์จากการให้ทานเป็นธรรมทานแก่บุตรหลาน และในทางโลกก็ได้ช่วยสังคมในขณะที่เด็กนักเรียนปิดเทอม พ่อแม่ ต้องประกอบอาชีพอยู่ เด็กนักเรียนตัวเล็กๆ จะได้มีกิจกรรมและการดูแลที่ถูกต้อง
“การบวชเณรภาคฤดูร้อนว่าไปแล้วเหมือนส่งเด็กไปเรียนซัมเมอร์ โดยมีวัดเป็นที่พัก มีพระสงฆ์คอยดูแล มีญาติโยมให้การสนับสนุนเรื่องทุน เด็กที่มาบวชได้เรียนรู้ทุกอย่าง เพราะที่วัดถือว่าเป็นศูนย์รวมของพิธีกรรมหลายอย่างตั้งแต่เกิดจนตาย เด็กที่มาบวชในวันนี้อาจจะถือว่าเป็นครั้งหนึ่งของชีวิตลูกผู้ชาย เพราะหลังจากบวชเณรไปแล้วไม่รู้ว่าเมื่อไร่จะได้ห่มผ้าเหลืองได้ใกล้ชิดศาสนาอีก เพราะการบวชพระเมื่ออายุครบ ๒๐ ปี นั้น ทุกวันนี้เกือบจะกลายเป็นตำนานไปแล้ว ยิ่งการบวชเพื่อเอาพรรษานั้นไม่ต้องพูดถึง” พระครูอุดมจารุวรรณ กล่าว
อย่างไรก็ตามนอกจัดโครงการบรรพชาสามเณรฤดูร้อนแล้ว พระครูอุดมจารุวรรณ ยังอบรมผู้ต้องขังเรือนจำพิเศษมีนบุรี แขวงมีนบุรี เขตมีนบุรี กทม. เดือนละ ๑ ครั้ง ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๓๗ จนถึงปัจจุบันอบรมศีลธรรมแก่นักเรียนชั้นประถมปีที่ ๑-๒ โรงเรียนคันนายาว อบรมศีลธรรมแก่นักเรียนชั้นประถมปีที่ ๑-๒ โรงเรียนวัดใหม่ลำนกแขวก และตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๘-ปัจจุบัน ได้รับพิจารณาให้เป็นครูสอนศีลธรรมของกระทรวงวัฒนธรรม เป็นวิทยากรอบรมศีลธรรมแก่นักเรียน โรงเรียนทรงวิทย์ศึกษา โรงเรียนหลวงแพ่ง (บำรุงรัฐกิจ) โรงเรียนวัดพิชัย โรงเรียนมีนประสาทวิทยา เป็นต้น จากผลงานดังกล่าวทำให้ได้รับพระราชทานรางวัลเสาเสมาธรรมจักร ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา สาขาการเผยแผ่พระพุทธศาสนาภายในประเทศ เมื่อ พ.ศ.๒๕๕๓
ได้ทั้งวิชาการและประสบการณ์
การบรรพชา หรือบวชสามเณรภาคฤดูร้อน เป็นโครงการที่วัดต่างๆ จัดขึ้นในช่วงปิดเทอมใหญ่ คือระหว่างปลายเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนพฤษภาคม ส่วนใหญ่มีวัตถุประสงค์หลักๆ คือ เพื่อปลูกฝังให้เยาวชนไทยเกิดความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ เพื่อให้เยาวชนไทยได้ศึกษาวิชาการทางพระพุทธศาสนา ทั้งภาควิชาการและภาคปฏิบัติ รวมทั้งเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์อื่นๆ
น.ส.กาญจนา ศิศาวิกรณ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ปกครองที่มีลูกบวชในโครงการดังกล่าว บอก เมื่อได้ยินลูกขอบวชเองถึงกับไม่เชื่อหูตัวเองว่าเด็ก ป.๒ จะมีความคิดที่จะบวชเณร แรกๆ คิดว่าลูกอยากบวชตามเพื่อนมากกว่าเพราะเห็นว่าเพื่อนเยอะ แต่เมื่อถึงวันบวชจริงเพื่อนบ้านที่นัดจะไปบวชกลับบ้านต่างจังหวัดหมด สุดท้ายลูกชายก็บวชร่วมกับเพื่อนๆ โรงเรียนเดียวกัน
ครั้งแรกก็มีความวิตกกังวลอยู่ไม่น้อยว่าลูกบวชอยู่วัดได้อย่างไร เพราะเวลานานถึง ๒๐ วัน แต่เมื่อเห็นกิจกรรมที่วัดจัดขึ้นก็สบายใจเพราะมีกิจกรรมที่หลากหลาย ไม่น่าจะทำให้ลูกเบื่อและคิดถึงบ้าน เมื่อผ่าน ๓ วัน แรกไปทุกอย่างที่เคยกังวลก็หมดไป ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ลูกบวชอยู่นั้นทำให้มีโอกาสเข้าวัดมากขึ้น
ทั้งนี้ น.ส.กาญจนา พูดไว้อย่างน่าคิดว่า “ถ้าจะเลือกให้ส่งลูกไปเรียนพิเศษติวเข้มเพื่อเตรียมตัวในเทอมหน้า กับการส่งลูกมาบวชเณรภาคฤดูร้อน ขอเลือกให้ลูกมาบวชเณรมากกว่า โดยส่วนตัวแล้วให้ความสำคัญกับประสบการณ์ชีวิตมากกว่าวิชาการ การบวชเณรทำให้ลูกได้เรียนรู้หลักธรรม เรียนรู้พระพุทธศาสนา ประเพณี รวมทั้งการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคนอื่น ในใจคิดว่าก่อนจบ ป.๖ จะให้ลูกบวชสามเณรฤดูร้อนอีก ๒ ครั้ง แต่ขอเป็นวัดที่ไกลขึ้น”
“หลวงตาโส” ผู้ให้กำเนิดโครงการสามเณรภาคฤดูร้อน
ความเป็นมาของโครงการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน เป็นโครงการที่หลวงตาโสบิน โสปาโกโพธิ (โสบิน ส.นามโท) เจ้าอาวาสวัดพุทธเมตตาสว่างรังษี (วังปลาโด) อ.บรบือ จ.มหาสารคาม ริเริ่มโครงการนี้ขึ้นช่วงปลาย พ.ศ.๒๕๑๐ จากปัญหาเด็กเกเร โดยเฉพาะลูกนายเหมืองแร่ เป็นปัญหาใหญ่ของ จ.ภูเก็ต
การบวชครั้งแรกจัดให้มีการบวชเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๒ ระยะเวลา ๔๕ วัน มีสามเณร ๔๐ รูปเท่านั้น ได้นิมนต์สมเด็จพระวันรัต (ปุ่น ปุณฺณสิริมหาเถร) หรือสมเด็จป๋า วัดพระเชตุพนฯ ไปเป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อบวชแล้วก็จัดสามเณรออกเป็น ๖ กลุ่ม ตามสีของธงฉัพพรรณรังสี ซึ่งมี ๖ สี โดยจะเลือกเอาเด็กที่เกเรมาอยู่กลุ่มเดียวกัน และใช้หัวหน้ากลุ่มดูแลกันเอง โดยมีพระพี่เลี้ยง ครู รวมทั้งผู้ปกครอง ร่วมดูแลอีกชั้นหนึ่ง ส่วนที่พัก ให้กางกลดเป็นกลุ่มๆ คล้ายๆ กับการเข้าค่ายลูกเสือ
สำหรับกิจวัตรประจำวันนั้น เริ่มจากออกบิณฑบาตในตอนเช้า สวดมนต์ วิปัสสนากรรมฐาน ทั้งนี้ จะให้อยู่สำนักเพียง ๓ วันเท่านั้น หลังจากนั้นก็ออกเดินธุดงค์ไปพักตามวัด ตามป่าช้า ตามโรงเรียนต่างๆ รวมทั้งบริเวณใกล้เคียง เมื่อไปถึงที่ใดก็จะพัฒนาสถานที่นั้นๆ โดยเฉพาะเรื่องความสะอาด ในที่สุดก็ได้ชื่อว่าสามเณรพัฒนา
ทั้งนี้ หลวงตาโสบิน พูดถึงการจัดโครงการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อนไว้อย่างน่าคิดว่า “การบวชเณรฤดูร้อนส่วนใหญ่วัดทำได้ดี แต่ก็มีวัดจำนวนไม่น้อยจัดโครงการตามแฟชั่นสมัยนิยม บวชเพื่อเอางบประมาณ บวชเพื่อเอาทุน บวชเพื่อเอาผลงาน มากกว่าที่จะบวชเพื่อจะอบรมและสร้างเด็กให้มีคุณภาพ ซึ่งอาจจะพูดได้ว่าบวชเอาปริมาณ มากกว่าบวชเพื่อเน้นคุณภาพ โดยเฉพาะโครงการบวช ๗-๑๐ วัน เด็กเกือบจะไม่ได้อะไรเลย ถ้าจะให้ดีควรจะจัดโครงการอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า ๓๐ วัน ถึงจะขึ้นชื่อว่าได้เรียนรู้พุทธศาสนาและศีลธรรมครบรอบด้าน”