ไลฟ์สไตล์

'ล้ง ท่าพระจันทร์'ตำนานเซียนพระกริ่งที่ถูกปิด'ตาย!'

'ล้ง ท่าพระจันทร์'ตำนานเซียนพระกริ่งที่ถูกปิด'ตาย!'

16 เม.ย. 2559

ล้ง ท่าพระจันทร์ ตำนานเซียนพระกริ่งที่ถูกปิด “ตาย!” : คอลัมน์ พระเครื่องคนดัง เรื่อง-ภาพ... ไตรเทพ ไกรงู

 
          นายศุภกร จิรยิ่งเจริญ (ล้ง ซาจั๊บ) หรือ ล้ง ท่าพระจันทร์ ผู้ชำนาญพระกริ่งสายวัดสุทัศนฯ และพระกริ่งทั่วไป ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมงานถ่ายภาพพระเครื่องในงานประกวดพระเครื่อง กลายเป็นอีกหนึ่งตำนานเซียนพระกริ่งที่ถูกปิด “ตาย!” โดยได้เสียชีวิตแล้ว ด้วยโรคหัวใจล้มเหลว ณ รพ.พญาไท ๓ เมื่อวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๕๙ และฌาปนกิจไปแล้ว เมื่อวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๕๙ ณ เมรุ วัดชัยฉิมพลี กทม.
 
          ในฐานะผู้ชำนาญพระกริ่งสายวัดสุทัศนฯ และพระกริ่งทั่วไป ล้ง ท่าพระจันทร์ ได้เคยเล่าถึงตำนานความเป็นมาของการสร้างพระกริ่งให้ฟังว่า พระกริ่งเป็นพระพุทธเจ้าปางมาช่วยโปรดสัตว์โลก หรือเรียกกันว่า “พระไภสัชคุรุ” เป็นพระพุทธเจ้าปางหนึ่งของลัทธิมหายาน ซึ่งหมายความว่า ทรงเป็นครูในด้านเภสัช คือ การรักษาพยาบาลการสร้าง “พระกริ่ง” มีมาแต่โบราณ เริ่มขึ้นที่ทิเบต และจีน จึงเรียกติดปากว่า พระกริ่งทิเบต และพระกริ่งหนองแสง พระกริ่งต่อมาได้แพร่หลายมาก นิยมสร้างในเขมร เรียกว่า พระกริ่งอุบาเก็ง หรือ พระกริ่งพนมบาเก็ง และพระกริ่งพระปทุมสุริยวงศ์
 
          ส่วนคำกล่าวที่ว่าตำราสร้างพระกริ่งในยุคกรุงรัตนโกสินทร์นี้ เดิมเป็นตำราของสมเด็จพระวันรัต วัดป่าแก้ว สำนักอรัญญิกาวาส สมถธุระวิปัสสนาธุระแห่งกรุงศรีอยุธยา และมาอยู่ที่สมเด็จกรมพระยาปรมานุชิตชิโนรส ศรีสุคตขัติยวงศ์ วัดพระเชตุพนฯ จากนั้น พระมงคลทิพย์มุนี (มา) วัดจักรวรรดิราชาวาส ก่อนที่จะมาตกอยู่ที่ สมเด็จพระสังฆราช (แพ) เมื่อครั้งยังทรงสมณศักดิ์เป็นพระเทพโมลี
 
          สำหรับมูลเหตุที่สมเด็จพระสังฆราช (แพ) ทรงสร้างพระกริ่งและพระชัยวัฒน์นั้น มีดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ ทรงเล่าว่าเมื่อพระองค์ดำรงสมณศักดิ์เป็นพระศรีสมโพธิ ครั้งนั้น สมเด็จพระวันรัต (แดง) อาพาธเป็นอหิวาตกโรค สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ครั้งยังทรงเป็นกรมหมื่นเสด็จมาเยี่ยม
 
          เมื่อรับสั่งถามถึงอาการของโรคเป็นที่เข้าพระทัยแล้ว รับสั่งว่า เคยเห็นกรมพระยาปวเรศฯ เสด็จพระอุปัชฌาย์ของพระองค์อาราธนาพระกริ่งแช่น้ำอธิษฐาน ขอน้ำพระพุทธมนต์แล้วให้คนไข้เป็นอหิวาตกโรคกินหายเป็นปกติ พระองค์จึงรับสั่งให้มหาดเล็กที่ตามเสด็จ ไปนำพระกริ่งที่วัดบวรนิเวศ แต่สมเด็จฯ ทูลว่า พระกริ่งที่กุฏิมี สมเด็จพระมหาสมณเจ้าจึงรับสั่งให้นำมา แล้วอาราธนาพระกริ่งแช่น้ำอธิษฐานขอน้ำพระพุทธมนต์ แล้วนำไปถวายสมเด็จพระวันรัต (แดง) เมื่อท่านฉันน้ำพระพุทธมนต์แล้ว โรคอหิวาต์ก็บรรเทาหายเป็นปกติ ส่วนจะเป็นพระกริ่งสมัยไหน พระองค์ท่านรับสั่งว่า จำไม่ได้
 
          สำหรับความแตกต่างของพุทธคุณพระกริ่ง ที่มีการจัดสร้างในอดีตกับปัจจุบัน ล้ง ท่าพระจันทร์ เคยพูดไว้อย่างน่าคิดว่า “พุทธคุณของพระกริ่งนั้น ส่วนใหญ่จะมีพุทธคุณดีทุกด้าน ในกรณีของพระกริ่งเขมรนั้น จะมีพุทธคุณเด่นด้านคงกระพันชาตรี ทั้งนี้จะแตกต่างกับพระกริ่งจีน จะมีพุทธคุณโดดเด่นทางด้านการรักษาโรค เช่นเดียวกับพระกริ่งที่สร้างในเมืองไทย และพระกริ่งที่มีพุทธคุณเด่นด้านรักษาโรคนั้น ต้องยกให้พระกริ่งของสมเด็จพระสังฆราช (แพ) แห่งวัดสุทัศนฯ ด้วยมวลสารพิธีกรรม และฤกษ์ ทำให้พระกริ่งที่สร้างในยุคก่อนมีความเข้มขลัง สามารถแช่น้ำทำน้ำมนต์มาดื่มกันรักษาโรคได้ แต่การสร้างพระกริ่งยุคหลัง ส่วนใหญ่จะเป็นการรวบรัด แม้ว่าจะเป็นเนื้อนวโลหะครบตามสูตร แต่การจารยันต์ และฤกษ์การเทนั้น ไม่เป็นตามตำรา พระกริ่งยุคหลังจึงนำมาแช่น้ำทำน้ำมนต์มาดื่มกินรักษาโรคไม่ได้ดีเท่าในอดีต”
 
          อย่างไรก็ตามในฐานะที่เป็นช่างถ่ายภาพในงานประกวดพระ “ล้ง ท่าพระจันทร์” เคยบอกไว้ว่า กรณีพระหลักโดยเฉพาะพระชุดเบญจภาคี และพระยอดนิยม ซึ่งเป็นพระมีราคาหลักแสนขึ้นไป จะต้องเป็นผู้ถ่ายภาพเองนอกจากเพื่อป้องกันพระหายกลางอากาศแล้ว ยังเป็นป้องการพระชำรุด จากความไม่ระมัดระวังของช่างภาพ หากพระตกแตกชำรุด ราคาพระแต่ละองค์ล้วนอยู่ในหลักล้านบาท ก็จะเหลือเพียงหลักแสนบาท
 
          “ช่างภาพและเจ้าของงานต้องร่วมกันรับใช้ ชนิดที่เรียกว่าปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่ากรรมการชุดเบญจภาคีมีความรับผิดชอบดีกว่าชุดอื่นๆ คือ ตั้งแต่รับพระในช่วงเช้าจนถึงคืนพระหลังการประกวด จะคอยคืนพระด้วยตนเอง ทำให้การส่งพระชุดเบญจภาคีไม่มีปัญหาเลยสักครั้งเดียว” ล้ง ท่าพระจันทร์ กล่าวทิ้งท้าย
 
 
ฝากไว้ให้ “พระหายได้ทุกขั้นตอน”
          พระหายในงานประกวดพระ ถือว่าเป็นเรื่องเสื่อมเสียไปทั้งวงการ ทั้งคนจัดงาน สมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย ผู้ประสานงาน รวมทั้งผู้รับงานถ่ายภาพ ยิ่งมีรายการประกวดจำนวนมากๆ ยิ่งต้องระวัง โดยเฉาะพระชุดหลักๆ และพระยอดนิยม ไม่ถึงกับต้องหาย เพียงแค่ชำรุดก็ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ของงานประกวดเลยทีเดียว
 
          ล้ง ท่าพระจันทร์ เคยบอกไว้ว่า เพื่อป้องกันพระหายกลางอากาศ ซึ่งมีสิทธิ์หายได้ทุกขั้นตอน ตั้งแต่รับพระ เอาพระลงตู้ ถ่ายรูปพระ รวมทั้งคืนพระ และมาตรการหนึ่งที่จะป้องกันได้อย่างดี คือ การทำทะเบียนรับพระในส่วนของขั้นตอนต่างๆ อย่างรัดกุม โดยที่ผ่านมานั้น มีการพัฒนาการมาตลอด ทำให้สามารถป้องกันพระหายกลางอากาศได้ระดับหนึ่ง แต่คนขโมยจ้องขโมยอยู่ตลอดเวลา วิธีป้องกันอีกอย่างหนึ่ง คือ ต้องอาศัยความซื่อสัตย์ของคณะกรรมการ
“ในกรณีพระหลัก โดยเฉพาะพระชุดเบญจภาคี และพระยอดนิยม ซึ่งเป็นพระมีราคาหลักแสนขึ้นไป ผมจะต้องเป็นผู้ถ่ายภาพเอง นอกจากเพื่อป้องกันพระหายกลางอากาศแล้ว ยังเป็นป้องการพระชำรุดจากความไม่ระมัดระวังของช่างภาพ หากพระตกแตกชำรุด ราคาพระแต่ละองค์ล้วนอยู่ในหลักล้านบาท ก็จะเหลือเพียงหลักแสนบาท ช่างภาพและเจ้าของงานต้องร่วมกันรับใช้ ชนิดที่เรียกว่าปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ ” ล้ง ท่าพระจันทร์ กล่าว
 
\'ล้ง ท่าพระจันทร์\'ตำนานเซียนพระกริ่งที่ถูกปิด\'ตาย!\'
 
สร้างและเททอง “พระกริ่งเทพวิทยาคม”
          เมื่อ พ.ศ.๒๕๕๔ คณะกรรมการวัดบ้านไร่ มีดำริที่จะจัดสร้าง “พระกริ่ง-พระชัยวัฒน์ เทพวิทยาคม” เพื่อเป็นการหาทุนในการก่อสร้างวิหารเทพวิทยาคม เบื้องต้น โดยมีหนังสือมอบหมายอนุญาต “พระเทพวิทยาคม” หรือ “หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ” วัดบ้านไร่ ต.กุดพิมาน อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ให้มีการจัดสร้างพระกริ่ง-พระชัยวัฒน์ เทพวิทยาคม เพื่อให้เป็นไปตามประสงค์ของหลวงพ่อคูณ
 
         การจัดสร้างพระกริ่งรุ่นดังกล่าว รวบรวมแผ่นยันต์ แผ่นจาร โลหะธาตุที่เป็นมงคล ทองคำ นาก เงิน สำริดโบราณ ได้จากสถานที่กรุต่างๆ พระเกจิอาจารย์ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน ชนวนพระกริ่งวัดต่างๆ ทั่วประเทศ นำมาเททองหล่อหลอมเป็นพระกริ่งเทพวิทยาคม และพระชัยวัฒน์ ทั้งนี้หลวงพ่อคูณ ตั้งใจที่จะสร้างถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นพระรุ่นสุดท้าย ที่หลวงพ่อคูณจะสร้างในวัดบ้านไร่ ประกอบพิธีเททองแบบโบราณและพุทธาภิเษก ร่วมกับบรรดาพระเกจิอาจารย์ชั้นผู้ใหญ่ จากสายพระป่าภาคอีสาน, ภาคเหนือ, ภาคใต้, ภาคกลาง และภาคตะวันออก เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๕๔ (วันเสาร์ ๕) เวลา ๑๕.๐๙ น.
 
          ล้ง ท่าพระจันทร์ ในฐานะผู้ประสานงานจัดสร้างและเททองหล่อ ได้เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า พระกริ่งรุ่นนี้ได้ออกแบบอย่างงดงามเป็นพิเศษ ละเอียดประณีตทุกซอกมุม ขนาดองค์ พระกริ่ง กว้าง ๒.๕ ซม. สูง ๓.๘ ซม. สร้างด้วยเนื้อทองคำ ๙๖.๒% (หนักกว่า ๔๕.๖ กรัม) จำนวนสร้าง ๙๙๙ องค์ เนื้อนวโลหะชั้นดี (เต็มสูตร) จำนวนสร้าง ๙,๙๙๙ องค์ ขนาดองค์ พระชัยวัฒน์ กว้าง ๑.๓ ซม. สูง ๑.๙ ซม. สร้างด้วยเนื้อทองคำ ๙๖.๒% (หนักกว่า ๗ กรัม) จำนวนสร้าง ๙๙๙ องค์ เนื้อนวโลหะชั้นดี (เต็มสูตร) จำนวนสร้าง ๙,๙๙๙ องค์ พระทุกองค์ตอกโค้ด และมีหมายเลขกำกับ พร้อมด้วยบัตรสลักชื่อเจ้าของพระ บรรจุอยู่ในกล่องไม้อย่างดี
 
\'ล้ง ท่าพระจันทร์\'ตำนานเซียนพระกริ่งที่ถูกปิด\'ตาย!\'
 
\'ล้ง ท่าพระจันทร์\'ตำนานเซียนพระกริ่งที่ถูกปิด\'ตาย!\'
พระกริ่งเทพวิทยาคม