ไลฟ์สไตล์

ซ่อมพระนอนสมัยสมเด็จพระนเรศวร

ซ่อมพระนอนสมัยสมเด็จพระนเรศวร

15 เม.ย. 2559

ซ่อมพระนอนสมัยสมเด็จพระนเรศวร ๖๐๐ ปีที่รอพลังบุญพลังศรัทธาจากพุทธศาสนิกชน : เรื่อง/ภาพ ไตรเทพ ไกรงู

 
     วัดพระนอน ต.คลองสวนพลู อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นโบราณสถานที่ทางกรมศิลปากร ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน และประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว โดยจากการสำรวจของสำนักศิลปากรที่ ๓ พบว่าวัดพระนอนแม้ไม่ปรากฏหลักฐานในพระราชพงศาวดาร หรือหลักฐานอื่นใด สำนักศิลปากรที่ ๓ จึงกำหนดอายุจากหลักฐานโบราณวัตถุที่ปรากฏ ซึ่งในที่นี้จะดูลักษณะทางศิลปะขององค์พระนอน ที่มีเค้าของวงพระพักตร์แบบพระพุทธรูปสมัยอู่ทองรุ่นที่ ๓ อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ระหว่าง พ.ศ.๑๙๐๐-๒๐๐๐ อายุประมาณ ๖๐๐ ปี กล่าวได้ว่า มีการสร้างขึ้นในกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ต่อเนื่องมาหลายสมัยจนถึงสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
 
     นอกจากพระนอนแล้วภายในโบราณสถานดังกล่าวยังพบหลักฐานทางสถาปัตยกรรม แบ่งเป็นส่วนสำคัญ ดังนี้ วิหารพระนอน เจดีย์ราย กลุ่มอาคาร และกลุ่มหลุมฝังศพ ซึ่งวัดดังกล่าวถือว่ามีความสำคัญ เนื่องจากอยู่ใกล้กับวัดใหญ่ชัยมงคล อยู่ระหว่างโบราณสถานวัดชุมพล และโบราณสถานวัดประโดก
 
     ทั้งนี้หลังจากที่มีการขุดค้นพบพระนอน พบว่าบริเวณส่วนองค์พระนอนแตกเกือบทั้งหมดคงเหลือไว้เพียงพระพักตร์ครึ่งเดียว โดยสำนักศิลปากรที่ ๓ ได้สำรวจองค์พระ พบอีกว่าเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นกว้าง ๒ เมตร ยาว ๑๒ เมตร เป็นประติมากรรมนูนสูง พระเศียรหันไปทางทิศตะวันตก หันพระพักตร์มาทางทิศใต้ นายเอนก สีหามาตย์ รองอธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า วัดโคกพระนอนแห่งนี้อายุกว่า ๖๐๐ ปี มีเนื้อที่ ๒ ไร่ สร้างในสมัยอยุธยาตอนกลาง ช่วง พ.ศ.๑๙๐๐ ถึง พ.ศ.๒๐๐๐ ต่อเนื่องหลายสมัยอยู่ในช่วงสมเด็จพระนเรศวรกับสมเด็จพระเอกาทศรถ ยังไม่ชัดเจนว่าพระองค์ใดเป็นผู้สร้าง
 
     จากการสำรวจเบื้องต้นที่เคยทำประวัติไว้ โดยภายในวัดจะมีวิหารขนาดใหญ่คลุมองค์พระนอนองค์ใหญ่ ลักษณะปูนปั้น มีความยาวประมาณ ๘ เมตร เป็นพระนอนที่มีความงดงามองค์หนึ่งในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีลักษณะคล้ายกับพระนอนวัดธรรมิกราช จ.พระนครศรีอยุธยา พระนอนภายในวัดพระนอนจักรศรี จ.สิงห์บุรี และนอนในวัดขุนอินทรประมูล จ.อ่างทอง และวัดโคกพระนอนแห่งนี้ จัดอยู่ในกลุ่มโบราณทางทิศตะวันออก หรือกลุ่มโบราณสถานอโยธยา ซึ่งโบราณที่สำคัญได้แก่วัดใหญ่ชัยมงคล วัดสามปลื้ม วัดอโยธยา
 
     สำหรับแผนงานในการบูรณะนั้นเดิมทีกำหนดงบประมาณไว้ไม่น่าจะเกิน ๖ ล้านบาท โดยใช้เวลาไม่เกิน ๖ เดือน แต่เมื่อเริ่มดำเนินงานปรากฏว่า พระพุทธรูปมีความเสียหายมาก มีชิ้นส่วนแตกสลายเป็นหลายร้อยชิ้น ทั้งนี้ก่อนจะนำชิ้นส่วนมาประกอบเป็นองค์พระอีกครั้งนั้นต้องใช้การวิเคราะห์เป็นเวลานาน ทำให้งบประมาณและเวลาในการบูรณะซ่อมแซมเพิ่มขึ้น
 
 
เจ้าคุณเณรนำศรัทธาซ่อมบูรณะ
 
     พระเทพประสิทธิมนต์ (โกศล มหาวีโร) เจ้าอาวาสวัดศรีสุดาราม หรือ “เจ้าคุณเณร” เปิดเผยว่า วัดดังกล่าวถูกปล่อยร้างมานานมากมีวัชพืชขึ้นปกคลุมเป็นจำนวนมาก เมื่อได้ไปพบเห็นแล้วเกิดความสะเทือนใจ ซึ่งที่ผ่านมาได้นำคณะศรัทธาญาติโยมสร้างพระพุทธขนาดต่างๆ มากมาย แต่ยังไม่เคยซ่อมพระพุทธรูปขนาดใหญ่สักครั้ง ตามประวัติพระนอนองค์ดังกล่าวสร้างไว้เมื่อ ๖๐๐ ปีก่อน มาวันนี้ถือว่าเป็นบุญที่มีส่วนในการซ่อมพระองค์ดังกล่าว
 
     ดังนั้นจึงร่วมกับกรมศิลปากร ดำเนินการบูรณะโบราณสถานวัดพระนอนทั้งหมด โดยให้องค์พระกลับมามีความสมบูรณ์ดังเดิมตามพุทธลักษณะ เพื่ออนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมที่มีความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์โบราณคดีของชาติ ที่สำคัญส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวทางพระพุทธศาสนาแห่งใหม่ที่มีความสำคัญใจกลางพื้นที่พระนครศรีอยุธยา
 
     “พระนอนวัดดังกล่าวถูกปล่อยร้างมานานกว่า ๖๐๐ ปี มีวัชพืชขึ้นปกคลุมเป็นจำนวนมาก เมื่อได้ไปพบเห็นแล้วเกิดความสะเทือนใจ ซึ่งคนไทย พุทธศาสนิกชน เชื่อว่าในบ้านเมืองมีพระพุทธรูปขนาดใหญ่ที่แตกหักอยู่กลางเมืองจะนำมาซึ่งความไม่เป็นมงคล ดังนั้นอาตมาจึงร่วมกับกรมศิลปากร ดำเนินการบูรณะโบราณสถานวัดพระนอนทั้งหมด โดยให้องค์พระกลับมามีความสมบูรณ์ดังเดิมตามพุทธลักษณะ เพื่ออนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมที่มีความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์โบราณคดีของชาติ" หลวงพ่อเณรกล่าว
 
     อย่างไรก็ตามหากชาวพุทธจะมาร่วมบูรณะสามารถสมทบทุนได้ที่วัดศรีสุดาราม โดยการบูรณะครั้งนี้ร่วมทั้งสร้างวิหารครอบจะใช้งบประมาณทั้งหมดเกือบ ๑๐ ล้านบาท ใช้ระยะเวลาบูรณะในส่วนองค์พระพุทธณูป ๖ เดือน ส่วนการสร้างวิหารครอบใช้เวลาประมาณ ๑ ปี ผู้มีจิตศัทธาร่วมบูรณะพระนอนกับพระเทพประสิทธิมนต์ สอบถามรายละเอียดได้ที่วัดศรสุดาราม โทร.๐๘-๑๕๒๗-๖๕๒๔
 
 
ที่มาและความหมายแห่ง “พระนอน”
 
     ปางพระพุทธรูป คือ ลักษณะของรูปสมมุติของพระพุทธเจ้าในอิริยาบถต่างๆ ซึ่งสร้างขึ้นตามความเชื่อในพุทธประวัติ โดยช่างสมัยโยนก (คันธารราฐ) ราชวงศ์คุปตะ (พ.ศ.๘๖๓-๑๐๒๓) เป็นชาวกรีก ช่วงแรกที่กำหนดรูปแบบปางพระพุทธรูป ต่อมาช่างชาวอินเดียฝ่ายใต้ ซึ่งเป็นชาวกลิงคราฐข้างฝ่ายใต้ รวมทั้งในยุคสมัยต่างๆ ในภายหลังได้คิดปางพระพุทธรูปเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก
 
     สำหรับพระพุทธไสยาสน์ หรือพระพุทธรูปนอน หรือ “พระนอน” เป็นชื่อเรียกของพระพุทธรูปลักษณะบรรทม (นอน) ตะแคงเบื้องขวา หลับพระเนตร พระเศียรหนุนพระเขนย (หมอน) พระหัตถ์ซ้ายทอดทาบไปตามพระวรกาย พระหัตถ์ขวาวางหงายอยู่ข้างพระเขนย พระบาทซ้ายทับซ้อนพระบาทขวา (เรียกโดยทั่วไปว่าพระนอน หรือพระไสยาสน์) เช่นเดียวกับปางโปรดอสุรินทราหู และปางทรงพระสุบินหรือเรียกโดยทั่วไปว่าพระปางไสยาสน์
 
     ส่วนคติความเชื่อที่ว่า พระพุทธไสยาสน์จึงเป็นพระพุทธรูปประจำวันเกิดของคนเกิดวันอังคาร ก็เพราะตามพุทธประวัติกล่าวว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประทับสีหไสยาสน์ เสด็จดับขันธปรินิพพานในวันอังคาร จึงถือเอาพระพุทธไสยาสน์เป็นพระประจำวันอังคาร
 
     อย่างไรก็ตามอีกทั้งในความคุ้นเคยของผู้คนเมื่อได้เห็นพระพุทธไสยาสน์ มักจะเข้าใจว่าเป็นปางปรินิพพานเสียทั้งหมด แต่แท้จริงแล้ว ตามพุทธประวัติมีพระพุทธไสยาสน์ทั้งหมด ๙ ปาง เฉพาะในประเทศไทยนั้นนิยมสร้างปางโปรดอสุรินทราหูและปางเสด็จขันธปรินิพพาน ส่วนปางอื่นๆ นั้นมักปรากฏเป็นเพียงภาพวาด
 
     อานิสงส์การสร้างพระพุทธรูปนำมาจากหนังสือ “หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม ฉบับพิเศษ เล่ม ๑” โดยพระราชพรหมยาน วัดจันทาราม (ท่าซุง) อ.เมือง จ.อุทัยธานี จัดทำโดยเจ้าหน้าที่ธัมมวิโมกข์ การสร้างพระพุทธรูปจัดว่าเป็นพุทธบูชา ถ้าในกรรมฐานจัดว่าเป็นพุทธานุสสติกรรมฐาน (การระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์) ถ้าตายจากคนไปเกิดเป็นเทวดา มีรัศมีกายสว่างไสวมาก
 
     การสร้างพระถวายด้วยอำนาจพุทธบูชาทำให้มีรัศมีกายมากเป็นคนสวย ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “พุทธะปูชา มะหาเตชะวันโต” แปลว่า “การบูชาพระพุทธเจ้ามีเดชอำนาจมาก”
 
     การสร้างพระพุทธรูปนี่เป็นพุทธบูชาเป็นพุทธานุสสติในกรรมฐาน ๔๐ กอง ท่านบอกว่ากำลังของพุทธานุสสติเป็นเหตุให้เข้าถึงนิพพานได้ง่ายที่สุด ง่ายกว่ากองอื่นก็เห็นจะจริง เพราะว่าพระพุทธเจ้าท่านอยู่ที่นิพพานนี่ และท่านก็เป็นต้นตระกูลของพระนิพพาน ทีนี้เมื่อเราต้องการสร้างพระพุทธรูปให้สวยตามที่เราชอบเห็นแล้วก็ทำให้จิตใจสดชื่น จิตมันก็นึกถึงพระอยู่เสมอ ถ้าจิตนึกถึงพระพุทธรูปองค์นั้นอยู่เสมอก็จัดเป็นพุทธานุสสติกรรมฐาน ถ้าใจเราเกาะพระพุทธเจ้าเป็นปกติ ตายแล้วลงนรกไม่เป็น ฉะนั้นถ้าเราชอบพระแบบไหนปางไหน ก็ให้สร้างอย่างที่เราชอบจิตจะได้เกิดศรัทธา