
กลิ่นตัวกลิ่นเต่า...ปัญหากวนใจที่แก้ไขได้
07 เม.ย. 2559
กลิ่นตัวกลิ่นเต่า...ปัญหากวนใจที่แก้ไขได้ : คอลัมน์ ดูแลสุขภาพ
กลิ่นตัวหรือกลิ่นเต่าเป็นปัญหากวนใจใครหลายคนทั้งคนไข้และคนที่ต้องอยู่รอบข้าง ทำให้เกิดความไม่มั่นใจเสียบุคลิกภาพและอาจเป็นสาเหตุปัญหาความสัมพันธ์และการร่วมงาน ปัญหากลิ่นตัวพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง โดยเริ่มมีปัญหาเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น โดยสาเหตุของกลิ่นตัวส่วนใหญ่เกิดจากการทำปฏิกิริยาของแบคทีเรียบนผิวหนังกับเหงื่อไขมันและชั้นขี้ไคล เหงื่อสร้างมาจากต่อมเหงื่อ (eccrine gland) ซึ่งอยู่ในชั้นผิวหนังและเปิดทางออกเหงื่อที่ชั้นผิวหนัง ซึ่งกระจายอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ บนผิวหนังมีมากถึง 30,000-40,000 ต่อม
โดยบริเวณที่มีต่อมเหงื่อหนาแน่น ได้แก่ ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ศีรษะ โดยธรรมชาติเหงื่อมีหน้าที่ระบายความร้อนจากร่างกายเมื่ออุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น เหงื่อมีลักษณะใส ไม่มีสีไม่มีกลิ่น แต่การกินอาหารที่กลิ่นฉุน, ยาบางชนิด หรือความเจ็บป่วยด้วยโรคเบาหวาน โรคพันธุกรรมเมตาบอลิกบางชนิดอาจทำให้เหงื่อมีกลิ่นเฉพาะได้ ความอับชื้นจากเหงื่อทำให้แบคทีเรียเพิ่มจำนวนได้ดีรวมกับชั้นขี้ไคลที่สะสมเป็นสาเหตุของกลิ่น โดยเฉพาะที่รักแร้และเท้า
นอกจากต่อมเหงื่อ ร่างกายมีต่อมที่คล้ายต่อมเหงื่อ เรียกว่า ต่อมกลิ่น (apocrine gland) หลั่งสารที่มีลักษณะขุ่น มัน ไม่มีกลิ่น แต่เมื่อถูกย่อยโดยแบคทีเรียบนผิวหนัง โดยเฉพาะแบคทีเรีย Corynebacterium ทำให้เกิดแอมโมเนียและกรดไขมันชนิดสั้น ซึ่งแม้ไม่เป็นพิษแต่มีกลิ่นเหม็นโชย ต่อมกลิ่นพบมากที่รักแร้ รูหู หัวนม ขาหนีบ รอบอวัยวะเพศ และทวาร โดยการหลั่งต่อมกลิ่นสัมพันธ์กับความเครียด ความกังวล ความกลัว ความเจ็บปวด หรือการกระตุ้นทางเพศ พบว่าคนที่มีปัญหากลิ่นตัวมีจำนวนต่อมกลิ่นมาก ขนาดใหญ่และทำงานมากกว่าคนทั่วไป
๐ วิธีเบื้องต้นในการป้องกันกลิ่นตัว คือ
1.เลี่ยงอาหารที่ทำให้เหงื่อมีกลิ่น ได้แก่ ผงกะหรี่ พืชตระกูลกระเทียม หัวหอม เครื่องเทศและสมุนไพรที่มีกลิ่นฉุน รวมถึงอาหารที่ทำให้เหงื่อออกมากขึ้น เช่น อาหารเผ็ดร้อน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
2.ลดการสะสมแบคทีเรีย โดยการทำความสะอาดร่างกายด้วยการอาบน้ำด้วยสบู่ลดแบคทีเรียอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง และซับให้แห้ง
3.ระหว่างวันเมื่อมีเหงื่อออกควรรีบซับให้แห้งและทำความสะอาดด้วยผ้าชุบน้ำหรือสบู่อ่อน
4.ใช้สารลดเหงื่อ (anti-perspirant) หรือสารระงับกลิ่น (deodorant) เช่น สารส้ม สารละลายเกลืออะลูมิเนียมคลอไรด์ โรลออน หรือสเปรย์ระงับกลิ่น ส่วนผสมที่เป็นน้ำหอมช่วยอำพรางกลิ่น
5.เลือกใส่เสื้อผ้าและถุงเท้าที่ระบายความร้อนและเหงื่อได้ดี เลี่ยงเสื้อผ้าที่รัด หากเหงื่ออกมาก เช่น หลังเล่นกีฬาควรเปลี่ยนชุดทันทีและรีบนำไปซักหรือทำให้แห้ง เพื่อป้องกันความอับชื้นบนผิวหนังซึ่งทำให้แบคทีเรียเติบโตได้ดี
6.การควบคุมน้ำหนักตัวให้ไม่มีน้ำหนักเกิน
7.ควรเลี่ยงสถานการณ์ที่ทำให้เกิดความเครียดทางอารมณ์ ซึ่งทำให้ต่อมกลิ่นทำงานหนัก
8.กำจัดขนบริเวณที่มีกลิ่น เพื่อลดแหล่งสะสมของเหงื่อ ไคลและแบคทีเรีย
หากการดูแลเบื้องต้นไม่สามารถขจัดปัญหาได้ อาจปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจเพิ่มเติมถึงสาเหตุร่วม เช่น ผิวหนังอักเสบ หรือการติดเชื้อที่ผิวหนัง โรคเบาหวาน โรคพันธุกรรมเมตาบอลิก การรักษาทางการแพทย์ทำได้หลายวิธี ได้แก่ การใช้ยาลดเหงื่อชนิดทา คือสารละลายเกลืออะลูมิเนียมคลอไรด์ 20% ออกฤทธิ์ลดการสร้างเหงื่อโดยเข้าไปหยุดการสร้างที่ต่อมเหงื่อโดยตรง ใช้ทาตอนที่ผิวหนังแห้งในเวลากลางคืนและล้างออกตอนเช้า เหมาะกับผู้ที่มีปัญหาเหงื่อออกมากเฉพาะที่ เช่น ฝ่ามือ ฝ่าเท้า รักแร้ แต่อาจทำให้เกิดการระคายเคืองของผิวหนังได้และออกฤทธิ์เพียงชั่วคราว การใช้ยาลดเหงื่อชนิดกิน เหมาะกับคนที่มีปัญหาเหงื่อเยอะในหลายๆ ตำแหน่ง แต่อาจมีผลข้างเคียงได้มาก ยาปฏิชีวนะชนิดทาอาจใช้ร่วมกับสบู่ลดแบคทีเรียเพื่อลดจำนวนและชะลอการแบ่งตัวของแบคทีเรียที่ผิวหนัง การใช้เลเซอร์เพื่อกำจัดขน นอกจากมีประสิทธิภาพในการทำลายขนแล้ว พลังงานที่เกิดขึ้นยังทำลายต่อมกลิ่นและต่อมไขมันที่อยู่รอบๆ ขนได้อีกด้วย
การผ่าตัดทำลายต่อมกลิ่นและต่อมเหงื่อ รวมถึงการดูดไขมันชั้นตื้น (superficial liposuction) ในบริเวณที่มีต่อมกลิ่นและต่อมเหงื่อ ได้ผลในการรักษาดีประมาณ 70% อาจใช้คลื่นวิทยุหรืออัลตราซาวนด์ร่วมด้วยในการผ่าตัด ทั้งนี้มีความเสี่ยงต่อการเกิดแผลเป็นและกลับเป็นซ้ำได้ นอกจากนี้ยังมีการผ่าตัดเส้นประสาทอัตโนมัติ (thoracic sympathectomy) ที่ใช้ทำลายเส้นประสาทอัตโนมัติ ซึ่งควบคุมการไหลของเหงื่อ อย่างไรก็ดี วิธีนี้มีความเสี่ยงทำลายเส้นประสาทและเส้นเลือดในบริเวณใกล้เคียงได้ จึงควรปรึกษาแพทย์ให้แน่ใจก่อน
การฉีดสารโบทูลินัมทอกซิน (Botulinum toxin) หรือที่เรียกกันว่า “โบท็อกซ์” ในบริเวณต่างๆ สามารถลดการหลั่งของเหงื่ออย่างได้ผล เหมาะกับการรักษาที่รักแร้ มือ เท้า ออกฤทธิ์โดยการระงับสารสื่อประสาทที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเหงื่อในบริเวณที่ทำการรักษา ใช้เวลาในการรักษาประมาณ 30 นาที สามารถลดหรือระงับการหลั่งของเหงื่อได้นาน 6-12 เดือน หลังจากนั้นสามารถฉีดซ้ำได้เมื่อประสิทธิภาพลดลง
ปัญหากลิ่นตัวแม้ไม่ใช่โรคอันตรายร้ายแรง แต่มักมีผลกระทบต่อชีวิตในหลายด้าน การรักษาทำได้หลายวิธี ขึ้นกับสาเหตุและความรุนแรงของโรค
ดร.พญ.พลินี รัตนศิริวิไล
ศูนย์ผิวหนังและความงาม
รพ.พญาไท 1