ไลฟ์สไตล์

หลวงปู่พริ้งวัดซับชมพู่ทายาทธรรมหลวงพ่อเดิม-หลวงพ่อทบ'

หลวงปู่พริ้งวัดซับชมพู่ทายาทธรรมหลวงพ่อเดิม-หลวงพ่อทบ'

04 เม.ย. 2559

หลวงปู่พริ้ง ขันติพโลวัดซับชมพู่ทายาทธรรม'หลวงพ่อเดิม-หลวงพ่อทบ' : เรื่องและภาพ ไตรเทพ ไกรงู

             หลวงปู่พริ้ง ขันติพโล หรือหลวงปู่พ่อเฒ่าพริ้ง ฉายา “เทวดาหลังเขา” เกจิอาจารย์ดังแห่งวัดซับชมพู่ อ.หนองไผ่ จ.เพชรบูรณ์ เป็นศิษย์พุทธาคมสายตรงของหลวงพ่อเดิม พุทธสโร วัดหนองโพ จ.นครสวรรค์ และหลวงพ่อทบ ธัมมปัญโญ วัดช้างเผือก จ.เพชรบูรณ์

หลวงปู่พริ้งวัดซับชมพู่ทายาทธรรมหลวงพ่อเดิม-หลวงพ่อทบ\'

             ปัจจุบันท่านอายุ ๘๘ ปี เป็นคนนครสรรค์โดยกำเนิด บ้านเกิดคือ บ้านสามัคคีธรรม หมู่ ๑๐ ต.ห้วยร่วม อ.หนองบัว จ.นครสวรรค์ ซึ่งอยู่ติดกับวัดหลวงพ่อเดิม (วัดหนองโพ) และหลวงพ่อเดิมเป็นผู้ตั้งชื่อให้ครอบครัวท่าน ๓ คน คือ ๑.พริ้ง ศรสุรินทร์ ๒.กิ่ง ศรสุรินทร์ ๓.เจริญ ศรสุรินทร์ บิดาของท่านชื่อ “แบน ศรสุรินทร์” เป็นกำนันตำบลห้วยร่วม

             หลวงปู่พริ้งบวชเป็นสามเณรกับหลวงพ่อเดิม และอยู่ปรนนิบัติรับใช้ พร้อมกับได้ศึกษาธรรมะและเรียนทางโลกไปด้วย ทั้งนี้ หลวงพ่อเดิมเคยพูดฝากไว้ว่า “...คุณพริ้ง ฉันบวชให้แล้วอย่าสึกนะ ถ้าจะสึก ก็ให้กลับมาบวชใหม่ ตอนมีแรง ให้ทำความเพียรไว้ให้มากๆ ท่านต้องช่วยคนตอนแก่นะ ข้างบนเขากำหนดไว้อย่างนั้น..”

             หลังจบชั้นป.๔ ท่านได้ไปเรียนต่อที่โรงเรียนประจำจังหวัดนครสวรรค์ (ชาย) จนจบชั้น ม.ศ.๕ ก็ถูกทางราชการเรียกตัวไปเป็นครูสอนหนังสือเพราะท่านเรียนเก่งมาก เนื่องจากสมัยนั้นประเทศขาดแคลนครูเป็นอย่างมาก ท่านได้ปฏิบัติหน้าที่รับใช้ประเทศชาติอยู่นานหลายปี แต่มีความเบื่อหน่ายทางโลก เพราะทางธรรมฝังอยู่ในสายเลือดแล้ว จึงได้กลับมาบวชใหม่อยู่ในร่มกาสาวพัสตร์ โดยมีหลวงพ่ออ๋อย สุวรรณโณ (พระครูนิกรปทุมรักษ์) วัดหนองกลับ (วัดหนองบัว) อ.หนองบัว จ.นครสวรรค์ เป็นพระอุปัชฌาย์ หลังบวชแล้วได้เดินธุดงค์แสวงหาความสงบวิเวกไปเรื่อย ได้พบพระอริยสงฆ์ พระอาจารย์หลายองค์ โดยได้อยู่ศึกษาธรรมและศึกษาพุทธาคมพระคาถาอาคม พร้อมกัน จนในที่สุดท้ายคือ หลวงพ่อทบ วัดช้างเผือก (วัดชนแดน) และหลวงพ่อเขียน วัดสำนักขุนเณร โดยมีหลวงปู่ขุ้ย วัดซับตะเคียน เป็นสหายธรรม

             หลวงปู่พริ้ง ได้ออกธุดงค์จนพบสถานที่เงียบสงบวิเวกจริงๆ (บริเวณที่เป็นวัดในปัจจุบัน) จึงอธิษฐานจิตปักกลดถาวร ว่า “หากบุญบารมีที่ได้สะสมไว้มีจริง ขอให้สร้างสถานที่นี้เป็นวัดได้สำเร็จ” หลังจากนั้นท่านได้เริ่มปรับปรุงพื้นที่ จากกลดก็สร้างเป็นกระต็อบเล็กๆ จนมีข่าวแพร่กระจายไปทั่วพื้นที่ว่า มีพระธุดงค์กำลังสร้างวัดขึ้น ชาวบ้านจึงเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในปฏิปทาความตั้งใจของหลวงปู่พริ้ง จึงร่วมแรงร่วมใจกับท่านช่วยกันปรับปรุงพื้นที่จนสร้างเป็นวัดสำเร็จอย่างรวดเร็ว โดยตั้งชื่อว่า “วัดซับชมพู่”

             ทั้งนี้หลวงพ่อพริ้ง พูดถึงหลวงพ่อเดิม ยอดพระอาจารย์เหนือหัวว่า "ฉันเห็นกับตานะ หลวงพ่อเดิมท่านนี่ เอาเท้าจุ่มน้ำคราม วางบนกองผ้าขาวหลายพับหลายผืน ท่านหลับตาเอามือตบเข่าฉาดเดียว !!! ผ้าทุกผืน มีรอยเท้าท่านติดชัดหมด ยอมท่านเลยล่ะ”

             “ส่วนหลวงพ่อทบนี่ ฉันไปหาท่านตั้งแต่ท่านยังไม่ดัง ไม่มีคนรู้จัก ตอนตาท่านเสีย ท่านให้ตำหมากให้เป็นประจำ ท่านถามฉันว่า กล้ากินขี้หมากที่ท่านคายออกจากปากไหม ฉันบอกกล้าซีคุณพ่อ ท่านหัวเราะชอบใจ คายให้กินเดี๋ยวนั้น พอฉันกินหน้าตาเฉย ท่านบอกว่า คุณรู้ไหม ชานหมากผมนี่ วิชาทั้งนั้นเลยนะ นอนภาวนามาทั้งคืน นึกอธิษฐานเอาว่า จะให้ใครดีวิชานี้ ก็มาจำเพาะได้ที่คุณ กินขี้หมากผมให้ได้สัก ๓ วัน ๗ วัน ร่างจะเป็นทิพย์ จิตจะเป็นแก้ว เก่งไม่แพ้ใครแล้ว”

             หลวงปู่พริ้ง ท่านชอบเลี้ยงเด็ก มีเด็กลูกหลานชาวบ้านที่ยากจนที่ท่านส่งเสียเลี้ยงดูให้การศึกษาอยู่เกือบ ๔๐ คน บางคนได้เป็นใหญ่เป็นโต มีอาชีพการงานที่มั่นคง เป็นคนดีของสังคมไปก็มาก ความข้อนี้ทราบถึงสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โปรดให้หลวงปู่พริ้งเข้าเฝ้าฯ และประทานพระราชทรัพย์ช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการดูแลเด็กๆ เหล่านี้

ที่มาฉายา “เทวดาหลังเขา”

             แม้ปัจจุบันหลวงปู่พริ้งมีอายุมากถึง ๘๘ ปี แต่ยังคงปฏิบัติธุดงควัตรอยู่ตลอดไม่มีเว้น ดำรงตนสมถะ ออกรับญาติโยมที่เดินทางมาขอพรอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ทั้งนี้ มีเรื่องเล่าจากแม่ย่าบ้านท่าด้วงถึงที่มาฉายา “เทวดาหลังเขา” ว่า เมื่อครั้งที่ชาวบ้านเดือดร้อนเกิดวิกฤติ ฝนไม่ตก ภัยแล้ง ดำเนินทุกวิถีทางทั้งราชการและพิธีกรรมก็ไม่เป็นผล ยังประสบภัยแล้งอยู่ ชาวบ้านทราบเรื่องมีพระอภิญญาสูงมาปักกลดอยู่หลังเขาบ้านซับชมพู่ จึงพากันมาขอพึ่งบารมีพระธุดงค์หลังเขา หลังจากมากราบบอกเรื่องราวแก่พระธุดงค์ แล้วท่านก็พูดขึ้นว่า “เออจริงๆ ด้วยวะ ฝนแล้ง แล้วก็ร้อนด้วย ลมก็ไม่พัดเลย เทวดาจ๋า ขอฝนหน่อยซิ น้ำอาบจะหมดตุ่มแล้ว พระเจ้าไม่มีน้ำอาบ น้ำฉันเลย”

             ตกกลางคืนคืนนั้นเอง เกิดลมพัดแรง เมฆฝนตั้งเค้าไม่นานฝนตกมากลางดึก ถึงเกือบตี ๓ รุ่งเช้า ชาวไร่ ชาวนา หน้าบาน มีน้ำพอสูบเข้านาเข้าไร่ เรื่องนี้ มีคนไปกราบท่านตอนหลัง แล้วเรียนถามท่านว่า หลวงปู่เก่งจัง เรียกฝนให้ตกได้ด้วย ท่านตอบว่า “ฉันจะไปเรียกฝนได้ไง ฉันไม่ใช่เทวดานิ ที่ฝนตกมานี่สงสัยเทวดาสงสารพระแก่ จะไม่มีน้ำอาบละม้างนะ” นี่คือที่มา “เทวดาหลังเขา”

             หลวงปู่ขุ้ย วัดซับตะเคียน เคยบอกกับลูกศิษย์ว่า “หากปู่ไม่อยู่แล้ว ให้ไปเป็นศิษย์เรียนกับตาเฒ่าพริ้งเขานะ เขามีบารมีมาก มีเทวดาเป็นพวกเยอะ วิชาอาคม เขาก็ได้สารพัด อีกหน่อย เพชรบูรณ์บ้านเรา ก็จะมีตาเฒ่าพริ้งนี้แหละ เป็นเสาหลัก”

             ทุกวันนี้หลวงปู่พริ้งยังเป็นที่พึ่งของชาวบ้าน เดือนร้อนอะไร ก็มาขอให้ช่วยสารพัดจะขอ ท่านก็ทำให้ได้สารพัดเหมือนกัน สมดังคำหลวงพ่อเดิม พูดฝากไว้ว่า

             “..คุณพริ้ง ฉันบวชให้แล้วอย่าสึกนะ ถ้าจะสึก ก็ให้กลับมาบวชใหม่ ตอนมีแรง ให้ทำความเพียรไว้ให้มากๆ ท่านต้องช่วยคนตอนแก่นะ ข้างบนเขากำหนดไว้อย่างนั้น..”

เหรียญห่วงเชื่อมรุ่นแรกเพื่อซ่อมศาลา

             ปัจจุบัน ชื่อเสียงหลวงปู่พริ้ง แห่งวัดซับชมพู่ เป็นที่ร่ำลือไปทั่วว่า เป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีวิชาแกร่งกล้า อยู่ในระดับแนวหน้า ของจริง โดยได้รับอาราธนาไปเป็นประธานในพิธีพุทธาภิเษกพระเครื่องรุ่นดังๆ พิธีใหญ่มากมาย ที่สำคัญ วัตถุมงคลของท่านไม่เป็นสองรองใครในสายเกจิเมืองเพชรบูรณ์

             วัดซับชมพู่เป็นวัดเล็กๆ ที่ยังไม่สมบูรณ์แบบ ยังขาดแคลนและต้องซ่อมแซมเสนาสนะสงฆ์ต่างๆ เช่น ศาลาการเปรียญ ที่เก็บน้ำ และอื่นๆ อีกมาก ดังนั้น หลวงปู่พริ้งจึงอนุญาตให้จัดสร้างวัตถุมงคลขึ้นเพื่อนำรายได้เป็นทุนทรัพย์ในการพัฒนาวัด ล่าสุดท่านอนุญาตให้สร้างเหรียญรูปเหมือน “ห่วงเชื่อม” รุ่นแรก วัตถุประสงค์เพื่อซ่อมแซมบูรณะศาลาการเปรียญหลังเก่า โดยให้ความหมายว่า “เป็นการเชื่อมโชคลาภ เชื่อมทรัพย์ เชื่อมยศ ให้เชื่อมทุกอย่าง ดีขึ้น”

             รายการจัดสร้างประกอบด้วย ๑.ชุดกรรมการใหญ่ ๒๙๙ ชุด มี ๕ เนื้อคือ เงินลงยาราชาวดีนวะ หน้ากากเงินอัลปาก้า หน้ากากเงินฝาบาตร หน้ากากเงินทองแดง หน้ากากเงิน ๒.ชุดกรรมการเล็ก ๓๙๙ ชุด มี ๔ เนื้อคือ เงินอัลปาก้า ลงยาเหลืองฝาบาตร ลงยาเขียวทองแดง ลงยาขาว ๓.ชุดทองคำ ๓๙ ชุด มีเนื้อทองคำ ๑ เหรียญเนื้อฝาบาตร ขัดซาติน ๑๐ เหรียญ ๔.ชุดเงินหน้าทองคำ ๙๙ ชุด มีเนื้อเงิน หน้าทองคำ ห่วงทองคำ 1เหรียญเนื้อทองแดง ขัดซาติน ๑๐ เหรียญ

             เนื้อนวะ ๕๕๕ เหรียญ เนื้ออัลปาก้า ๙๙๙ เหรียญ เนื้อฝาบาตร ๑,๙๙๙ เหรียญ เนื้อทองแดง ผิวไฟ ๒,๙๙๙ เหรียญ เนื้อทองแดง รมดำ ไม่เชื่อมห่วง แจกผ้าป่า ๑๕,๐๐๐ เหรียญ มีหมายเลขและโค้ดกำกับทุกองค์ กำหนดพิธีพุทธาภิเษกในวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๕๙ ณ มณฑลพิธีวัดซับชมพู่ ผู้มีจิตศรัทธาร่วมบุญสอบถามฝ่ายประชาสัมพันธ์วัดซับชมพู่ โทร.๐๘-๑๖๓๒-๑๓๐๔