
ถูกทวงหนี้นอกระบบ ปรึกษาศูนย์ดำรงธรรม
31 มี.ค. 2559
เปิดซองส่องไทย : ถูกทวงหนี้นอกระบบ ปรึกษาศูนย์ดำรงธรรม
มีเรื่องรบกวนลุงแจ่ม ผมเป็นหนี้นอกระบบ เป็นหนี้เก็บรายวัน ตอนแรกไม่มีปัญหาอะไร จ่ายได้จ่ายไหว ก็จ่ายมาตลอด แต่ตอนนี้งานที่ทำอยู่มีปัญหา และมีภาระต้องใช้จ่ายเพิ่มขึ้น หมุนเงินไม่ทัน ทำให้เครียดมาก เพราะเจ้าหนี้มาตามทวงเงินทุกวัน อยากจ่ายเขาเพราะเอาเงินเขามาแล้ว แต่จ่ายไม่ไหวจริงๆ ตอนนี้เป็นหนี้รวมๆ แล้วทั้งหมดเกือบ 5 หมื่นบาท เฉพาะส่งดอกเบี้ยอย่างเดียวต้องจ่ายวันละ 1,500 บาท
ตอนนี้อยากหนีมากๆ อยากคุยอยากเคลียร์กับเจ้าหนี้ ผมไม่มีเจตนาจะโกง ก่อนหน้านี้ก็ส่งไหว จ่ายมาได้เรื่อยๆ แต่ตอนนี้หมดหนทาง ไม่มีเงิน เคยขอผ่อนผัน แต่เจ้าหนี้ไม่ยอม พูดจาไม่ดี คุยกันไม่รู้เรื่อง และขู่จะทำร้าย จนผมต้องย้ายหนี ตอนนี้ย้ายออกมาจากที่เดิมที่เคยอยู่ เพราะเจ้าหนี้มาตามทุกวัน พูดจาข่มขู่ต่างๆ นานา ผมกลัวถูกทำร้าย แต่มาอยู่ที่ใหม่ก็ไม่มีความสุข กลัวเจ้าหนี้จะตามเจอ
ขอร้องลุงแจ่มช่วยแนะนำผมด้วย ผมควรทำอย่างไรดี และถ้าผมไม่จ่ายหนี้ตัวนี้ เจ้าหนี้จะฟ้องศาลไหม เพราะผมทำสัญญาเงินกู้กับเจ้าหนี้ไว้ด้วย ถ้าคิดจริงๆ แล้วผมส่งเงินรายวันไปจนเกินเงินต้นแล้ว แต่เงินต้นยังอยู่เท่าเดิม เงินที่่จ่ายไปเป็นดอกเบี้ยทั้งนั้นเลย
พรชัย
ตอบ
ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย แนะนำว่า กรณีประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากเจ้าหนี้เงินกู้นอกระบบ ทั้งในเรื่องการถูกติดตามทวงถามหนี้อย่างไม่เป็นธรรม หรือต้องการเจรจากับเจ้าหนี้ โดยมีเจ้าหน้าที่เป็นผู้ไกล่เกลี่ย ประชาชนสามารถติดต่อศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย เพื่อขอความช่วยเหลือได้ ซึ่งศูนย์ดำรงธรรมจะมีเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาและแนะนำแนวทางในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบเป็นการเฉพาะ
กรณีผู้ร้องเรียนมีความกังวลเรื่องเจ้าหนี้นอกระบบจะฟ้องศาล เนื่องจากเจ้าหนี้เงินกู้นอกระบบมักให้กู้เงินโดยคิดดอกเบี้ยทั้งแบบรายวันและรายเดือนในอัตราที่สูงมาก ซึ่งการให้กู้เงินโดยเรียกดอกเบี้ยในอัตราสูงเกินกว่ากฎหมายกำหนดนั้นมีความผิด จึงมีความเป็นไปได้น้อยมากที่เจ้าหนี้จะนำเรื่องฟ้องศาล เพราะตัวเจ้าหนี้เองจะเดือดร้อนไปด้วย อย่างไรก็ตามเจ้าหนี้อาจใช้วิธีติดตามทวงถามหนี้ด้วยวิธีการหลากหลายรูปแบบ จนทำให้ลูกหนี้ไม่อาจใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข ดังนั้นการย้ายที่อยู่หรือการหนีหนี้จึงไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกต้อง
แนะนำผู้ร้องเรียนติดต่อร้องเรียน/ร้องทุกข์ที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดที่ผู้ร้องเรียนอาศัยอยู่ เพื่อขอคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ หรือสอบถามช่องทางและแนวทางการร้องเรียนที่ สายด่วน ศูนย์ดำรงธรรม โทร.1567