
เรือนจำแห่งแรกสู่พิพิธภัณฑ์ทวารวดีเชื่อมต่อประวัติศาสตร์
เรือนจำแห่งแรกสู่พิพิธภัณฑ์ทวารวดีเชื่อมต่อประวัติศาสตร์สองยุคสมัย : สุพินดา ณ มหาไชย
ประตูเรือนจำกลางจังหวัดนครปฐมถูกปิดตายมากว่า 2 ปี ปิดฉากหน้าประวัติศาสตร์เรือนจำแห่งแรกของสยามประเทศที่มีอายุรวมกว่าร้อยปี รั้วลวดหนามบนกำแพงสูงถูกปล่อยผุพังไปตามวันเวลาเพราะไม่ต้องทำหน้าที่กักขังใครอีก อาคารนอนของนักโทษ ห้องหับต่างๆ ยืนสงบอยู่ท่ามกลางวัชพืชที่แผ่ลามไปทั่วพื้นที่กว่า 33 ไร่ แต่ในอนาคตอันใกล้ สถานที่แห่งนี้กำลังจะเปลี่ยนบทบาทไป จากที่คุมขังนักโทษในช่วงปลายรัชสมัยรัชกาลที่ 5 ได้รับการวางตัวใหม่เป็นสถานที่จัดแสดงสมบัติล้ำค่าของแผ่นดิน เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติแห่งใหม่ของนครปฐม จังหวัดที่อาจเป็นศูนย์กลางแหล่งอารยธรรมทวารวดีอันยิ่งใหญ่ในอดีต
“เรือนจำกลางจังหวัดนครปฐมแห่งนี้ สร้างขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.2441 ปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ด้วยมีพระราชประสงค์ให้ย้ายเมืองนครไชยศรี จาก ต.ท่านา มาที่ ต.พระปฐมเจดีย์ หรือตัวเมืองนครปฐมในปัจจุบัน โดยใช้แรงงานนักโทษจากมณฑลนครไชยศรีในการสร้างเมือง ตัดถนนตัดเข้าสู่ตัวเมืองนครปฐม ขุดคลอง พร้อมทั้งบูรณะองค์พระปฐมเจดีย์ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เสด็จฯ มาพบระหว่างธุดงค์ จึงมีพระราชดำรัสให้สร้างเรือนจำไว้ที่นี่ แล้วย้ายนักโทษจากมณฑลนครไชยศรีมา ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 ก็ได้ใช้แรงงานนักโทษในการก่อตั้งพระราชวังสนามจันทร์ด้วย” เกียรติศักดิ์ เวชวงศ์วาน ผู้บัญชาการเรือนจำกลางจังหวัดนครปฐม ให้ข้อมูล
จากคำบอกเล่าข้างต้นถือได้ว่า สถานที่นี้เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ช่วง สร้างบ้านสร้างเมืองของนครปฐรม แต่เรือนจำแห่งนี้ยังมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ในฐานะที่เป็นเรือนจำในระบบแห่งแรกของสยามประเทศด้วย เกียรติศักดิ์ เล่าต่อว่า ก่อนหน้าจะมีเรือนจำ เรามีแต่ตารางไว้คุมขังนักโทษ โดยดัดแปลงสร้างตารางไว้ในอาคารต่างๆ อย่างตารางของมณฑลนครไชยศรีก็อยู่ในตึกหลังจวนผู้ว่าฯ นานๆ ไปก็คับแคบ ไม่สามารถรองรับนักโทษได้หมด จนรัชกาลที่ 5 โปรดให้สร้างเรือนจำที่จังหวัดนครปฐม จึงได้ย้ายนักโทษมาคุมขังในสถานที่แห่งใหม่แทน หลังจากนั้นประมาณ 10 กว่าปี กรมราชทัณฑ์ก็ถือกำเนิดขึ้นใน พ.ศ.2458 โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติจัดตั้งกรมราชทัณฑ์ขึ้น โดยมีพระยาชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา (ขำ ณ ป้อมเพชร์) เป็นอธิบดีกรมราชทัณฑ์คนแรก
ปัจจุบัน เรือนจำกลางนครปฐมย้ายไปอยู่นอกเมืองที่ ต.วังตะกู ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีปี 2526 ให้ย้ายเรือนจำที่อยู่ในเมืองออกไปนอกเมือง เพื่อความสะดวกในการพัฒนาพฤตินิสัยของนักโทษ และเพื่อประสิทธิภาพในการดูแลรักษาความปลอดภัย รวมถึงเพื่อแก้ปัญหาความแออัดของเรือนจำได้ เกียรติศักดิ์ บอกว่า เรือนจำกลางเดิมสร้างไว้รองรับนักโทษได้เพียง 1,500 คน แต่เนื่องจากเรือนจำแห่งนี้ต้องรองรับนักโทษทุกประเภท ในอดีตนักโทษจากหัวเมืองภาคกลางลงไปถึงหัวเมืองทางใต้จะถูกนำตัวมาคุมขังรวมไว้ที่นี่ เมื่อครั้งยุบเรือนจำตะรุเตาก็นำนักโทษมาไว้เช่นกันในปี 2511 เคยมีนักโทษสูงถึง 3,500 คน จึงต้องย้ายไปสร้างเรือนจำกลางแห่งใหม่บนพื้นที่ 38 ไร่นอกเมืองแทน ปิดฉากเรือนจำอายุ 117 ปี
อย่างไรก็ดี ด้วยทำเลยอดเยี่ยม อยู่ใจกลางเมือง เพียง 500 เมตรจากองค์พระปฐมเจดีย์ มองจากประตูเรือนจำไป สามารถเห็นองค์พระปฐมเจดีย์ได้ชัดเจน กระทรวงวัฒนธรรม จึงได้ขอใช้พื้นที่นำมาจัดสร้างเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (พช.) จ.นครปฐม แห่งใหม่ เพื่อแก้ปัญหาความคับแคบของพิพิธภัณฑ์หลังเก่าเช่นกัน
โดยข้อเท็จจริงแล้ว พช.นครปฐม อยู่ร่วมสมัยกับเรือนจำกลาง เพราะมีประวัติแรกตัดจัดตั้งไล่เลี่ยกัน ราว พ.ศ.2444 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ให้รวบรวมโบราณวัตถุต่างๆ ที่ขุดค้นพบใน จ.นครปฐม มาจัดแสดงไว้ที่เดียวกัน แรกเริ่มเก็บไว้ตามรอบระเบียงคดองค์พระปฐมเจดีย์ ต่อมา กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงให้ย้ายมาเก็บไว้ในวิหารตรงข้ามพระอุโบสถ และประทานชื่อวิหารว่า “พระปฐมเจดีย์ พิพิธภัณฑสถาน " ซึ่งจัดตั้งเป็น พช.นครปฐม ในเวลาต่อมา ส่วนอาคารจัดแสดงหลังปัจจุบัน เปิดใช้เมื่อ พ.ศ.2514 อย่างไรก็ตาม พช.นครปฐม แห่งนี้มีพื้นที่จัดแสดงเพียง 410 ตารางเมตร การจัดแสดงโบราณวัตถุ นิทรรศการต่างๆ จึงทำได้อย่างจำกัด ทั้งๆ ที่ นครปฐม อาจเป็นศูนย์กลางของแหล่งอารยธรรมทวารวดี ซึ่งกระจายอยู่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ขณะที่การขยับขยายก็ดำเนินการได้ยาก เพราะตัว พช.นครปฐรมตั้งอยู่ในพื้นที่ของวัดพระปฐมเจดีย์
อนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร บอกว่า มีโบราณวัตถุ สมัยทวารดี ขุดค้นเจอในนครปฐมจำนวนมาก โดยเฉพาะศาสนวัตถุที่ทำให้เราได้รู้ว่า พุทธศาสนาได้เจริญรุ่งเรืองในดินแดนแห่งนี้มากว่า 1,300 ปีแล้ว ในอดีต ทะเลกินอาณาเขตมาเกือบถึงนครปฐม พื้นที่ซึ่งอยู่ใกล้ปากแม่น้ำท่าจีนจึงเป็นศูนย์การเผยแผ่พุทธศาสนาที่รับมาจากอินเดีย
“มีโบราณวัตถุขุดค้นเจอทั้งสิ้น 1,873 รายการ จัดแสดงเพียง 251 รายการ เหลืออีก 1,622 รายการ ต้องเก็บไว้ในคลังซึ่งอยู่ชั้นบนของอาคารจัดแสดง อย่างไรก็ตาม พช.นครปฐรมแห่งใหม่ จะขอใช้พื้นที่ของเรือนจำเก่าจำนวน 6 ไร่ จากพื้นที่ทั้งหมด 33 ไร่ และได้เขียนแบบอาคารจัดแสดงให้มีพื้นที่จัดแสดงถึง 1,300 ตารางเมตร โดยจะใช้งบประมาณปี 2561 การก่อสร้างคาดใช้เวลาก่อสร้าง 3-4 ปี" อนันต์ กล่าว
เทศบาลเมืองนครปฐม ยังขอพื้นที่ส่วนที่เหลือมาสร้างเป็นสวนสาธารณะด้วย เพื่อให้เป็นปอดแห่งแรกของคนนครปฐม เพราะปัจจุบันในตัวเมืองยังไม่มีสวนสาธารณะอย่างเป็นทางการ แต่ในส่วนของการเปลี่ยนแปลงจากเรือนจำไปสู่พิพิธภัณฑ์แล้ว ต้องถือว่าเรือนจำเก่าแห่งนี้ เป็นหน้าประวัติศาสตร์เชื่อมต่อประวัติศาสตร์ 2 ยุคสมัย ถ่ายทอดเรื่องราวสมัยรัตนโกสินทร์ ย้อนไปถึงการจัดแสดงโบราณวัตถุ เรื่องราวในอารยธรรมมื่อกว่าพันปีที่ผ่านมา