ไลฟ์สไตล์

พระหลวงพ่อทวดหลังหนังสือพิมพ์เล็กมีตัว‘ท’ปี๒๕๐๕

พระหลวงพ่อทวดหลังหนังสือพิมพ์เล็กมีตัว‘ท’ปี๒๕๐๕

06 มี.ค. 2559

พระหลวงพ่อทวดหลังหนังสือพิมพ์เล็กมีตัว‘ท’ปี๒๕๐๕ : ปกิณกะพระเครื่อง โดยตาล ตันหยง

           พระหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ หลังหนังสือ พิมพ์เล็ก ปี ๒๕๐๕ แบ่งออกได้ ๔ พิมพ์หลัก คือ พิมพ์เล็ก มีตัว “ท”, พิมพ์เล็ก “ว” จุด, พิมพ์เล็ก วงเดือน และพิมพ์เล็กธรรมดา

           แต่ละพิมพ์หลักยังแบ่งออกเป็นพิมพ์ย่อยๆ อีกหลายพิมพ์ โดยแบ่งตามลักษณะโครงหน้าของหลวงพ่อทวด และลักษณะตัวหนังสือที่แตกต่างกันในรายละเอียด

           วันนี้จะนำเสนอ พระหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ หลังหนังสือ พิมพ์เล็ก มีตัว “ท” ปี ๒๕๐๕ และพิมพ์ที่เกี่ยวข้อง นั่นคือ พิมพ์ใหญ่ มีตัว “ท” และ พิมพ์เล็ก “ว” จุด โดยได้รับเกียรติจาก ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช นักสะสมพระสายหลวงพ่อทวด ระดับแถวหน้าคนหนึ่งของวงการพระในทุกวันนี้...ได้มอบภาพพระสุดหวงเพื่อโชว์เป็นวิทยาทาน

พระหลวงพ่อทวดหลังหนังสือพิมพ์เล็กมีตัว‘ท’ปี๒๕๐๕

           พระหลวงพ่อทวด พิมพ์เล็ก มีตัว “ท” ที่ว่านี้มี ๓ องค์ (องค์ที่ ๑ ถึง ๓) พร้อมทั้ง พิมพ์ใหญ่ มีตัว “ท” (องค์ที่ ๔) และ พิมพ์เล็ก “ว” จุด (องค์ที่ ๕) พระโชว์ทั้งหมดนี้ถือเป็นหนึ่งในพระแชมป์ของวงการ เคยได้รับรางวัลจากงานประกวดพระรายการใหญ่ของประเทศ ที่สมาคมผู้นิยมพระเครื่องให้การรับรองมาแล้วกว่า ๑๐ ครั้ง

           ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช ให้ข้อสังเกตในพระพิมพ์นี้ว่า เป็นพิมพ์ที่หาชมได้ยากมากพิมพ์หนึ่งในตระกูล พระหลวงพ่อทวด ทั้งหมด ที่ทันยุค พระอาจารย์ทิม ปลุกเสก ด้วยเหตุผลของการสร้างยาก โดยเฉพาะการมีคุณลักษณะเฉพาะที่มีตัว “ท” (และมีจุดหนึ่งจุดข้างตัว “ท” นี้) ที่ปรากฏใต้หน้าแข้งที่ไขว้กัน หรือบริเวณเหนือฐานบัว ซึ่งเป็นตัวปั๊มติดมาในแม่พิมพ์ สันนิษฐานว่าในกระบวนการสร้างเมื่อปั๊มพระไปเรื่อยๆ แม่พิมพ์โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณที่ก่อให้เกิดตัว “ท” อาจจะสึก หรือชำรุดง่าย ทำให้ปั๊มออกมาแล้วตัว “ท” ที่ว่านี้ไม่ติดคมชัดเหมือนตอนปั๊มในองค์แรกๆ ทำให้ช่างเลิกการผลิตกลางคันจึงได้จำนวนพระมาน้อย

           เช่นเดียวกับที่ปรากฏใน พิมพ์ใหญ่มีตัว “ท” ปี ๒๕๐๕ แต่ไม่มีจุดข้างตัว “ท” (องค์ที่ ๔) จากภาพที่โชว์นี้ หากสังเกตให้ดีจะพบว่าพระหลวงพ่อทวด พิมพ์เล็ก มีตัว “ท” จะมีลักษณะเค้าโครงหน้าที่แตกต่างจากพระพิมพ์เล็กอื่นๆ อย่างชัดเจน เช่นเทียบกับ พิมพ์เล็ก “ว” จุด (องค์ที่ ๕) จุดสังเกตที่เห็นได้ชัดคือ สันจมูกของ พิมพ์เล็กมีตัว “ท” มักจะเป็นลักษณะยอดตัด-แบนราบ ไม่เป็นสันคมเหมือนพิมพ์เล็กอื่นๆ และมักปรากฏกลุ่มเม็ดผดที่พื้นบริเวณเหนือบ่าและไหล่ซ้ายขององค์พระ เป็นต้น

           จุดสังเกตอีกจุดหนึ่งคือ ตรง ขอบตัด ด้านขวาขององค์พระ จะเกิดรอยขยักของปื้นเนื้อที่บริเวณขอบล่าง อันเนื่องจากการปั๊มตัด ซึ่งเกิดขึ้นเฉพาะในพิมพ์นี้เท่านั้น การพิจารณา ขอบตัด นี้สามารถใช้เป็น “จุดตาย” ในการชี้ขาด “เหรียญแท้” และ “เหรียญเก๊” ได้อย่างที่รู้กันในปัจจุบัน

           พระพิมพ์เล็ก มีตัว “ท” นี้ ด้านหลังโดยพื้นฐานเป็นพิมพ์เดียวกับ พระพิมพ์เล็ก “ว” จุด (องค์ที่ ๕) กล่าวคือ จะมีตุ่มเล็กๆ ที่ปลายหัวตัว “ว” และมี แพของเส้นเสี้ยน กระจายในแนวรัศมีตรงบริเวณนี้

           อย่างไรก็ตาม พระพิมพ์เล็ก มีตัว “ท” นี้ แม้ว่าโดยพื้นฐานด้านหลังจะเหมือนกับ พิมพ์เล็ก “ว” จุด แต่สามารถแบ่งด้านหลังออกเป็น ๒ แบบพิมพ์ คือ แบบพิมพ์ หลัง “ว” จุด ธรรมดา (องค์ที่ ๑ และ ๒) และ แบบพิมพ์ หลัง “ว” จุด-หลังกลึง (องค์ที่ ๓)

           โดยในองค์ที่ ๒ นี้ จะเห็นรอยลักษณะเหมือน กลึงปาดบนตัวหนังสือ อย่างชัดเจน ซึ่ง แบบพิมพ์หลัง “ว” จุด-หลังกลึง นี้พบเห็นได้น้อยมาก

           พระองค์โชว์ทั้งหมดนี้ถือว่าเป็นพระที่ยังคงสภาพเดิมไว้เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะรมดำยังอยู่ครบสมบูรณ์ และมีผิวปรอทแซมปีกแมลงทับคลุมทั้งองค์ เพราะแทบไม่ผ่านการสัมผัสมาก่อน

           ขอขอบพระคุณ ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต ผู้ชำนาญการ พระสายหลวงพ่อทวด และเป็นผู้ครอบครอง พระหลวงพ่อทวด พิมพ์เล็กมี ตัว “ท” ร่วม ๑๕ องค์ ซึ่งเป็นผู้มอบภาพและข้อมูลประกอบบทความนี้