ไลฟ์สไตล์

ส่องเส้นทาง‘หลวงพี่น้ำฝน’สู่เจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม

ส่องเส้นทาง‘หลวงพี่น้ำฝน’สู่เจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม

02 มี.ค. 2559

ส่องเส้นทาง‘หลวงพี่น้ำฝน’สู่เจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม : ไตรเทพ ไกรงูรายงาน

             คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าตั้งแต่เริ่มพุทธศักราช 2559 มากว่า 2 เดือน “วงการสงฆ์ไทย” เกิดความวุ่นวายขึ้นมากมาย พระชั้นผู้ใหญ่หลายรูปเจองานเข้าจนแทบจะรับมือไม่ไหว โดยเฉพาะ พระครูปลัดสิทธิวัฒน์ หรือ หลวงพี่น้ำฝน เจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม พระชื่อดังที่กำลังถูกดีเอสไอตรวจสอบถึงความไม่ชอบมาพากลในการครอบครองรถหรูอยู่ในขณะนี้

             พระครูปลัดสิทธิวัฒน์ หรือที่ชาวบ้านทั่วไปเรียกจนติดปากว่า “หลวงพี่น้ำฝน” นามนี้ รู้จักทั่วบ้านทั่วเมือง ตั้งแต่เด็กเล็กจนถึงผู้ใหญ่ คนเฒ่าคนแก่ เรียกขาน จนคุ้นชิน

             แม้ว่า “หลวงพี่น้ำฝน” จะมีผลงานมากมาย ทั้งทางโลกและทางธรรม รวมไปถึงความสามารถในการสร้างวัตถุมงคล และการอธิษฐานจิตปลุกเสกวัตถุมงคล ที่ร่ำเรียนมาจาก พระมงคลสิทธิการ หรือ “หลวงพ่อพูล อัตตะรักโข” พระอมตเถราจารย์ วัดไผ่ล้อม จ.นครปฐม

             ยังมีเรื่องที่เป็นวีรกรรมสะท้านวงการสงฆ์หลายครั้ง โดยเมื่อคราวที่เกิดปัญหาว่าด้วยตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดโสธรวราราม หรือวัดหลวงพ่อโสธร จ.ฉะเชิงเทรา โดยคราวนั้นพระสงฆ์วัดโสธรและพุทธศาสนิกชนแตกกันเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งหนุน ฝ่ายหนึ่งต่อต้านการแต่งตั้งเจ้าอาวาส แต่ก็สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีด้วยฝีมือ “หลวงพี่น้ำฝน”

             “หลวงพี่น้ำฝน” ได้ใช้ตำแหน่ง หัวหน้าคณะพระวินยาธิการ หรือตำรวจพระแห่งจังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ได้รับการแต่งตั้งจาก “พระราชรัตนมุนี” วัดพระปฐมเจดีย์ เจ้าคณะจังหวัดนครปฐม เข้าไปที่วัดอ้อน้อย(ธรรมอิสระ) อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม ซึ่งมี หลวงปู่พุทธะอิสระ หรือ พระสุวิทย์ ธีรธัมโม จำพรรษาอยู่ที่นั่น เพื่อให้พระ 46 รูป ในวัดอ้อน้อยตรวจปัสสาวะเพื่อหาสารเสพติด ซึ่งทางวัดอ้อน้อยไม่ยินยอม จนปรากฏตามสื่อต่างๆ ในทุกแขนง

             ในครั้งนั้นมีโพสต์ข้อความภาพวิดีโอลงในเฟซบุ๊ก ประจานการทำงานของหลวงพี่น้ำฝน ในฐานะเป็นหัวหน้าพระวินยาธิการ (ตำรวจพระ) จ.นครปฐม ซึ่งเข้าไปขอตรวจปัสสาวะพระเณรที่วัด และกล่าววาจาไม่สุภาพ โดยมีคนนอกที่ไม่ใช่พระหรือเป็นข้าราชการร่วมดำเนินการด้วย จนมีการโต้เถียงกัน สุดท้ายไม่อนุญาตให้ตรวจ ทำให้ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนา จ.นครปฐม ตัวแทนจากสาธารณสุขจังหวัด และพระชั้นผู้ใหญ่ อ.กำแพงแสน ต้องเดินทางกลับ แต่กลับกลายเป็นเรื่องโด่งดังเมื่อมีการส่งภาพเสียงผ่านทางยูทูบและเฟซบุ๊กจนเป็นที่ฮือฮา

             เพื่อยุติปัญหา คณะสงฆ์นครปฐมถกปมข้อพิพาท “หลวงปู่พุทธะอิสระ-หลวงพี่น้ำฝน” เปิดศึกพระตรวจฉี่ ที่ประชุมสงฆ์ถกกันนาน 3 ชม. ชี้การดำเนินการตรวจไม่ผิดขั้นตอน เพียงแต่ตักเตือนพร้อมมีมติไม่ถอดถอนพระน้ำฝน ให้ดำรงตำแหน่งพระวินยาธิการ ต่อ

             การที่หลวงพี่น้ำฝนรับบทเช่นนี้ ไม่ใช่เป็นเพราะได้รับแต่งตั้งจากเจ้าคณะจังหวัดนครปฐมอย่างเป็นทางการเท่านั้น หากแต่สาเหตุที่หลวงพี่น้ำฝน “แอ็กอาร์ต” ก็เพราะเส้นทางความเป็นมาของหลวงพี่คนดังนั้นไม่ธรรมดา โดยศัพท์ในยุทธจักรดงขมิ้นรู้จักกันดีกับคำว่า “ดวง” เนื่องจากถือเป็นคัมภีร์แห่งความก้าวหน้าเลยก็ว่าได้

             ต้องไม่ลืมว่า ก่อนหน้าที่หลวงพี่น้ำฝนจะอุปสมบทเป็นพระ และมาฝากตัวเป็นลูกศิษย์เกจิอาจารย์ชื่อดังอย่าง “หลวงพ่อพูล วัดไผ่ล้อม” และกลายเป็นเจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม นั้น เขาเคยอยู่กับนักการเมืองแห่งจังหวัดนครปฐมมาก่อน ซึ่งแม้หลวงพี่น้ำฝนจะก้าวสู่ร่มกาสาวพัสตร แต่สายสัมพันธ์ที่มีอยู่ระหว่างกันก็มิได้จางหายไป

             “คมน์กฤตย์ สุนทรสุวรรณ” เป็นชื่อและนามสกุลเดิมของ “หลวงพี่น้ำฝน” เกิดเมื่อวันจันทร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2515 โยมบิดาชื่อนายแสง โยมมารดาชื่อนางบุญส่ง นามสกุล สุนทรสุวรรณ

             ในวัยเยาว์หลวงพี่เป็นเด็กที่มีความขยันขันแข็ง เพราะบ้านยากจน โยมพ่อเสียชีวิตตั้งแต่ยังเด็ก เหลือเพียงแม่ที่ต้องทำงานหาเช้ากินค่ำ เลี้ยงลูกทั้ง 7 คน ด้วยความยากลำบาก

             ต่อมาวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2536 หลวงพี่น้ำฝนได้เข้าสู่พัทธสีมาที่วัดไผ่ล้อม ต.พระปฐมเจดีย์ อ.เมือง จ.นครปฐม โดยมี พระพิพัฒน์วิริยาภรณ์ (หลวงพ่อผูก) วัดพระปฐมเจดีย์ เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า “กิตติจิตโต” แปลว่า “ผู้มีจิตที่น่าสรรเสริญ” โดยครานั้นตั้งใจบวชให้ยายเพียง 15 วัน แต่เหตุการณ์ผันแปร วิถีชีวิตเปลี่ยน “ยิ่งเรียนก็ยิ่งรู้ ยิ่งอยู่ก็ยิ่งชอบ” ความปรารถนาเดิมเปลี่ยนไป ประกอบกับได้เห็นวัตรปฏิบัติหลวงพ่อพูล เจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม จึงเกิดความศรัทธาปีติในใจที่ได้มาใกล้ชิดหลวงพ่อ

             จากนั้นอีกหลายสิบปีต่อมาเรามักจะได้เห็นภาพของหลวงพี่น้ำฝนรับใช้ใกล้ชิดอยู่กับหลวงพ่อพูลตั้งแต่แรกบวชจวบจนหลวงพ่อละสังขาร ฉะนั้นจึงไม่สามารถปฏิเสธตำแหน่งทายาทศิษย์เอกนี้ได้เลย

             กล่าวกันว่า ในปี พ.ศ. 2537 หลวงพี่น้ำฝน อยู่เบื้องหลังการสร้างวัตถุมงคลถวายหลวงพ่อพูล ด้วยการสร้างเหรียญหลวงพ่อพูล หนุมานเชิญธง เนื้อเงินลงยา เนื้อสตางค์ พิมพ์ทรงน้ำเต้า พุทธศิลป์ย้อนยุคแบบโบราณ เนื้อลงยา จารึกชื่อ หลวงพ่อพูล อัตตะรักโข และเหรียญหล่อเสมา หลวงพ่อเงิน-หลวงพ่อพูล

             พ.ศ.2538 อยู่เบื้องหลัง สร้างวัตถุมงคล คิดค้นออกแบบ เหรียญเจ้าสัว เหรียญเจ้าทรัพย์ พระพิมพ์เข่าลอย พระพิมพ์พะเนียงแตก โดยสร้างขึ้นเป็นเนื้อโลหะชุบทอง สร้างเหรียญหลวงพ่อพูล พิมพ์ใบโพธิ์ และรูปหล่อหลวงพ่อพูล ขนาดบูชา 5 นิ้ว

             พ.ศ. 2540 หลวงพี่น้ำฝน อยู่เบื้องหลังการออกแบบสร้างเหรียญโก๋ พระสังกัจจายน์ ขนาดจัมโบ้ สร้างเอกลักษณ์มิติใหม่ให้แก่วงการวัตถุมงคล ในมุมมองของเหรียญที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งสมัยนั้นคนไม่นิยม แต่หลวงพี่น้ำฝน สามารถเปลี่ยนแนวความคิด ให้ผู้คนมานิยมแขวนเหรียญพระสังกัจจายน์ ที่มีขนาดใหญ่ เลี่ยมแขวนอาราธนาติดกาย นิยมแพร่หลายกันถ้วนหน้า

             พ.ศ. 2541 หลวงพี่น้ำฝน สร้างรูปหล่อลอยองค์หลวงพ่อพูล พิมพ์เล็ก เนื้อนวโลหะ เนื้อทองผสม รูปหล่อจัมโบ้ เนื้อทองผสม เนื้อนวโลหะ และรูปหล่อลอยองค์แบบช่อ

             พ.ศ. 2542 หลวงพี่น้ำฝน สร้างเหรียญหลวงพ่อพูล รุ่นทานบารมี, พระกริ่ง พระชัยวัฒน์อัตตะรักโข ขนาดบูชา 1.5 นิ้ว ขันน้ำมนต์ อู่แสนสุข เงิน เพิ่ม พูล, เหรียญหลวงพ่อพูล ขวัญถุง เงิน เพิ่ม พูล และแหวน เงิน เพิ่ม พูล เนื้อกะไหล่ทอง

             กระทั่งในปี พ.ศ. 2548 วันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม วันวิสาขบูชา หลวงพ่อพูลละสังขารอย่างสงบ ท่ามกลางความเศร้าสลดของญาติโยมพุทธศาสนิกชนทั่วประเทศ ซึ่งหลังจากนั้นทำให้หลวงพี่น้ำฝนคือทายาทศิษย์เอกรูปแรกและรูปเดียวของหลวงพ่อ ที่ต้องสานต่องานรับภารธุระในบวรพุทธศาสนามากมาย ทั้งภายในวัดไผ่ล้อม และภายในวัด

             นอกจากชื่อเสียงของหลวงพ่อพูลแล้ว พิธีกรรมอย่างหนึ่งที่สามารถดึงและเรียกศรัทธาคนเข้าวัดได้เป็นอย่างดี คือ “พิธีครอบครูประจำปีที่วัดไผ่ล้อม” ซึ่งจะจัดในวันวิสาขบูชา ของทุกๆ ปี มีดาราและคนบันเทิง รวมทั้งประชาชนหลายพันคนร่วมพิธีเป็นครอบครูประจำปีวัดไผ่ล้อม

             ในแต่ละปีจะมีคลื่นมหาชนหลายพันคนจากทั่วสารทิศ ต่างเดินทางมุ่งหน้าสู่จังหวัดนครปฐม ต่อคิวยาวเหยียดจากวัดล้นสู่ถนนใหญ่ นับเป็นความอัศจรรย์ในวันวิสาขบูชารำลึกนี้เป็นอย่างยิ่ง โดยมีพุทธศาสนิกชน และบรรดาศิษยานุศิษย์จากทั่วสารทิศ

             ขณะที่การเปิด “ศูนย์ส่งเสริมอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม” วัดไผ่ล้อม ของมูลนิธิหลวงพ่อพูล ภายใต้โครงการ คอนเสิร์ตสืบสานอนุรักษ์เพลงลูกทุ่งไทย ที่กำลังสร้างความคึกคักให้แก่วงการเพลงลูกทุ่งไม่ใช่น้อย ซึ่งมีจุดเด่นตรงที่การรวบรวมเอานักร้องลูกทุ่งต้นฉบับไว้หลายคน ทำให้คนลูกทุ่งพาเหรดมุ่งตรงสู่วัดไผ่ล้อมอย่างไม่ขาดสาย หลังจากนั้นไม่นาน ศูนย์แห่งนี้ก็ให้กำเนิดคลื่นวิทยุ “ไผ่ล้อมเรดิโอ“ 91.75 โดยการประสานของ ”เสี่ยแหบ“ วิทยา ศุภพรโอภาส

             ในทางธรรม หลวงพี่น้ำฝนได้ปริวรรตบทสวดศพโดยในการสวดจบแรก หลวงพี่น้ำฝนรักษารูปแบบการสวดบาลีเอาไว้ ส่วนจบที่เหลือ แปลเป็นภาษาไทย รวมทั้งนำมาเขียนเป็นร้อยกรองใส่ทำนองเข้าไปจนกลายเป็นว่า “พิธีกรรมได้ทำหน้าที่เป็นสื่อนำคนเข้ามาสู่ธรรมได้อย่างสมบูรณ์"

             แม้ว่าจะไม่มีความรู้ด้านภาษาบาลี แต่หลวงพี่น้ำฝนพยายามค้นหาคำแปล โดยขอความรู้จากพระที่มีความสามารถในการแปลภาษาบาลี เมื่อได้ความหมายแล้วก็ให้ อ.กมล วีรวงศ์ เรียบเรียงถ้อยคำ แต่ให้คงความหมายเอาไว้ให้มากที่สุด พร้อมทั้งเชิญอาจารย์จากกรมศิลปากร มาช่วยฝึกการสวดพระลูกวัดไผ่ล้อม ในการสวดทำนองต่างๆ ซึ่งมีอยู่ 3 ทำนอง คือ สวดทำนองสรภัญญะ สวดทำนองเสนาะ และสวดทำนองล่องเรือพระนคร ซึ่งหลวงพี่น้ำฝนได้ร่วมฝึกท่องด้วย เพื่อแก้ไขทำนองสวดที่บกพร่อง รวมทั้งให้น่าฟังยิ่งๆ ขึ้น ขณะเดียวกัน ทางวัดก็ยังทำคู่มือแปลบทสวดพระอภิธรรม เพื่อให้ญาติสนิทมิตรสหายของผู้ตายได้อ่านไปพร้อมๆ กับพระสวด

             จากวันนั้นจนถึงวันนี้ ภาพคนที่เคยคุยกันระหว่างฟังสวดศพ ไม่ค่อยมีให้เห็นเลย ทุกคนตั้งใจอ่านคู่มือแปลบทสวดพระอภิธรรมไปพร้อมๆ กับการฟังพระสวด และมีอยู่ครั้งหนึ่ง ได้นำพระของวัดไผ่ล้อมไปสวดพระอภิธรรมที่วัดเทพศิรินทร์ พร้อมกับนำคู่มือแปลบทสวดพระอภิธรรมไปแจกด้วย ปรากฏว่า แขกที่มาร่วมงานท่องคลอไปตามเสียงสวดของพระ ซึ่งไม่ผิดวินัยสงฆ์ และธรรมเนียมพุทธแต่อย่างใด...