
25 ปี สู้เพื่อป่าของคนเหล่าเหนือ
28 ก.พ. 2559
รักชีวิต รักษ์สิ่งแวดล้อม : 25 ปี สู้เพื่อป่าของคนเหล่าเหนือ สู่ต้นแบบพัฒนา 'ดิน น้ำ ป่า สวัสดิการ' : โดย...รุ่งโรจน์ เพชระบูรณิน
“เมื่อก่อนชาวบ้านไปทำไร่ทำสวนต้องกางร่มกันเลย ต่างกับปัจจุบันที่ร่มรื่นป่าฟื้นคืน เป็นความภาคภูมิใจของชุมชน สิ่งที่พอใจที่สุดคือเรื่องน้ำ เป็นผลที่ชัดเจนจากการอนุรักษ์ป่า” บุญยงค์ จิตมณี เปิดฉากบอกเล่าเรื่องราวอย่างภาคภูมิใจ
บุญยงค์ จิตมณี อดีตผู้ใหญ่บ้านเหล่าเหนือ ต.บ้านกลาง อ.สอง จ.แพร่ แกนนำในการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าชุมชนบ้านเหล่าเหนือ เล่าถึงความเปลี่ยนแปลงว่า เริ่มตั้งแต่ปี 2526 ที่มีการสร้างอ่างเก็บน้ำสอง และมีการเปิดประมูลสัมปทานไม้ในอ่าง เป็นจังหวะโอกาสที่มีชาวบ้าน และนายทุนเข้ามาสวมรอยตัดไม้ทำลายป่าในเขตชุมชนบ้านเหล่าเหนือ หลังจากได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านในปี 2534 จึงเรียกประชุมคณะกรรมการหมู่บ้าน เพื่อหารือถึงสถานการณ์การบุกรุกทำลายป่าที่รุนแรงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพราะถ้าขืนปล่อยไปป่าคงหมด เมื่อไม่มีป่า ก็ไม่มีน้ำ ไม่มีแหล่งอาหารให้แก่อนาคตของลูกหลาน
กระทั่งนำมาสู่การปิดป่า โดยห้ามไม่ให้ผู้ใดใช้ประโยชน์จากป่าทุกรูปแบบ เป็นเวลา 3 ปี จากนั้นก็เชื่อมประสานเอาหน่วยงานภาครัฐ มาช่วยในการจัดการป่าชุมชน ร่วมรักษาป่าต้นน้ำในเขตป่าสงวน จนสามารถจัดตั้งป่าชุมชนได้ 2,720 ไร่ ในปัจจุบัน
“บุญยงค์” เล่าด้วยว่า ปัจจุบันเรื่องการลักลอบตัดไม้หมดไปแล้ว ป่าก็ค่อยๆ ฟื้นตัว แต่เราก็ยังทำงานอนุรักษ์ต่อไป หวังให้คนรุ่นต่อไปได้สืบสานรักษาไว้ อนาคตป่าคงจะอุดมสมบูรณ์ยิ่งขึ้น แต่ปัญหาก็คือ ที่ทำกิน กว่า 2,000 ไร่ ของชาวบ้าน เพราะเป็นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ จึงไม่มีความมั่นคงและมั่นใจในการทำกิน ซึ่งเรื่องนี้ชาวบ้านพยายามหาทางออกอยู่เหมือนกัน ทั้งต่อสู้เพื่อให้มีเอกสารสิทธิในที่ดินทำกิน ทำข้อมูลรายแปลง ข้อมูลพื้นที่ป่าชุมชน ที่อยู่อาศัย ไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณา โดยหวังว่าอย่างน้อยขอให้มีสิทธิทำกิน แม้ว่าจะไม่มีเอกสารสิทธิหรือโฉนดก็ตาม และชาวบ้านยืนยันว่าต่อไปในอนาคตจะไม่มีการบุกรุกป่าเพิ่มอีกแน่นอน

เพื่อให้เห็นป่าชุมชนของจริง อดีตผู้ใหญ่บ้าน และชาวบ้านเหล่าเหนือ ได้อาสาพาไปสำรวจเส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าชุมชนบ้านเหล่าเหนือ (ป่าห้วยป้อม) ระยะทางประมาณ 9 กิโลเมตร เป็นทางเดินเท้า ที่รถจักรยานยนต์สามารถลัดเลาะขึ้นไปได้ ซึ่งเดิมเป็นเส้นทางเข้าป่าหาอยู่หากินของชาวบ้าน อีกทั้งใช้เป็นเส้นทางลาดตระเวนรักษาป่า ต่อมาได้ช่วยกันพัฒนาเป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติ แหล่งเรียนรู้ไว้ให้ลูกหลานเยาวชน และคนที่สนใจได้ศึกษาเรียนรู้
ที่น่าสนใจ คือการสร้าง 7 ฐานเรียนรู้ คุณค่าป่าชุมชนบ้านเหล่าเหนือ โดย ชาติ สุริยา ประธานราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รษทป.) บ้านเหล่าเหนือ บอกกับเราว่า การปกป้องฟื้นฟูผืนป่าเป็นงานจิตอาสา คนที่มาทำงานนี้ไม่ได้รับค่าตอบแทน แต่คิดว่า ถ้าหากเราไม่อนุรักษ์ป่าให้มีความสมบูรณ์ ลูกหลานรุ่นต่อๆ ไป จะไม่ได้รับประโยชน์ทั้งทางตรง และทางอ้อม เมื่อก่อนน้ำไม่มี ปัจจุบันเรามีน้ำใช้ไม่ขาดก็เพราะการช่วยกันอนุรักษ์ป่า
นอกจากนี้ประธานราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า ยังพาไปดูฐานต่างๆ รวมทั้งเล่าให้ฟังถึงความสำคัญของแต่ละฐานด้วย
ฐานที่ 1 “พืชผักกินได้” ชาวบ้านอาศัยเป็นแหล่งอาหาร มีทั้งไม้ผล ไม้กินยอดและใบ พืชน้ำ หน่อไม้ หลากหลายชนิด บริเวณนี้เป็นพื้นที่ต่ำร่มเย็นจะเหมาะสำหรับพืชผักหลายชนิด ที่ขึ้นตามบริเวณแถบนี้ เช่น ผักแซ้ว จะนำมาใช้ทำแกงเห็ด หรือแกงอื่นๆ ให้รสขมนิดๆ หรือมะเดือดิน กินผลกับน้ำพริก ผักกรูด ยอดไคร้ ปลีกล้วย ฯลฯ
ฐานที่ 2 “สมุนไพรม่อนห้วยช้าง” แหล่งสมุนไพร ยารักษาโรค ยาบำรุงร่างกาย ยาฆ่าแมลง ที่นี่มีสมุนไพรหลายอย่างทั้งให้คุณและโทษ อย่าง เครือไหล ที่สามารถทำเป็นยาเบื่อได้ บางคนใช้เบื่อปลาเพื่อจับได้ง่าย หรือสมุนไพรที่ให้คุณ อย่าง รางจืด ขับพิษในร่างกาย ต้มกินขับพิษสร่างเมา สาบเสือ สมุนไพรห้ามเลือด ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ชาวบ้านได้พึ่งพาจากป่า
ฐานที่ 3 “ป่าไผ่บง ดงเถาวัลย์” แหล่งป่าไม้ใช้สอยของชุมชน เป็นแหล่งเก็บหน่อไม้ที่สำคัญ บริเวณจุดนี้มีไม้ไผ่หลากหลายชนิด ไผ่ป่า ไผ่บง ไผ่ซาง ไผ่รวก ไผ่ไร่ เป็นต้น นอกจากเก็บหน่อไปกินไปขายแล้ว ชาวบ้านที่นี่ยังนำไปใช้ทำตอกมัดข้าว หรือสานตะกร้าขาย ส่วนเถาวัลย์ จำพวกหวายก็กินได้ และใช้ทำเครื่องสานหลากชนิด ซึ่งแถบนี้ยังมีสมุนไพรอื่นๆ อีกหลายอย่าง
ฐานที่ 4 “เขตอภัยทานสัตว์ป่า” จุดนี้ชาวบ้านกำหนดเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า เพราะจะให้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าหลายชนิด อย่างร่องรอยที่เราพบเห็นก็เป็นร่องรอยของหมูป่าตามบริเวณแหล่งน้ำ บริเวณนี้มีเรื่องเล่าถึงอาถรรพณ์ป่า ผีไพร ที่ชาวบ้านที่นั่งห้างเฝ้าสัตว์พบเจอ และบอกเล่าต่อๆ กันมา ถ้าชาวบ้านทั้งในและนอกหมู่บ้านเข้ามาเขตนี้ก็ขอความร่วมมือไม่ให้ล่าสัตว์
ฐานที่ 5 “ปล่องน้ำออกรู ตามดูสัตว์น้ำ” ปล่องน้ำออกรู หรือตาน้ำ เป็นจุดที่น้ำไหลออกจากดิน ตามลำห้วยสาขาซึ่งจะไหลไปรวมกันที่ห้วยป้อม น้ำที่ไหลออกมาชาวบ้านสามารถอาศัยดื่มกิน และเป็นแหล่งที่สัตว์ป่าลงมากินน้ำอีกด้วย
ฐานที่ 6 “สวยสมอ้าง ผาพี่ ผาน้อง ผาแอว” สถานที่ในประวัติศาสตร์วรรณคดีลิลิตพระลอ เป็นหน้าผาและถ้ำปู่เจ้าสมิงพราย ถ้ำพระเพื่อนพระแพง จุดนี้มีถ้ำเป็นจุดขาย มีทั้งค้างคาว หินงอกหินย้อย หลายถ้ำให้สำรวจ
ส่วนฐานที่ 7 “ม่อนจิกจ้อง ชมวิวอ่างสอง” ฐานสุดท้ายบนยอดเขาสูง การขึ้นฐานนี้เพื่อความปลอดภัยต้องเดินเท้าขึ้นอย่างเดียวเพราะทางชันประมาณ 200-300 เมตร เมื่อขึ้นมาบนยอดเขาก็จะเป็นจุดชมวิวอ่างเก็บน้ำสอง สามารถมองสภาพพื้นที่ป่าได้โดยรอบ เป็นสถานที่พักผ่อน บางช่วงสามารถเห็นทะเลหมอกที่สวยงาม
ที่สำคัญหลังจากการรักษาทรัพยากรป่าชุมชนบ้านเหล่าเหนือประสบความสำเร็จ ก็นำไปสู่การจัดการน้ำ การจัดการที่ดิน ที่อยู่อาศัย การจัดการสวัสดิการชุมชน โดยใช้ฐานสภาองค์กรชุมชนตำบล เป็นศูนย์กลางสู่การพัฒนาในมิติอื่นๆ เช่น พัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้ของ ต.บ้านกลาง ในการบริหารโดยชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง ที่อาศัยอาคารโรงเรียนบ้านเหล่าเหนือ เปิดเป็นสำนักงานขององค์กรชุมชนตำบลในทุกงาน ซึ่งคาดหวังให้เป็นพื้นที่ต้นแบบในการเรียนรู้ของคนในตำบล และพื้นที่ใกล้เคียง

นวลฉวี คำฝั้น ประธานกองทุนสวัสดิการชุมชน และเลขานุการสภาองค์กรชุมชน ตำบลบ้านกลาง ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบัน อ.สอง จ.แพร่ เกิดสภาองค์กรชุมชนตำบล 6 ตำบล มีกองทุนสวัสดิการชุมชน 7 ตำบล ส่วนสวัสดิการชุมชนของตำบลบ้านกลางนั้น ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 1,500 คน มีเงินสะสมประมาณ 2 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังเกิดเครือข่ายการจัดการลุ่มน้ำสอง 5 ตำบล เกิดกองทุนป่าชุมชน กองทุนน้ำประปา กองทุนเพื่อซ่อมสร้างที่อยู่อาศัย ซ่อมสร้างบ้านให้แก่ผู้ด้อยโอกาส และผู้ยากไร้ในตำบล วงเงินครัวเรือนละ 3 หมื่นบาท ที่ผ่านมามีการซ่อมสร้างไปแล้ว 6 หลังคาเรือน มีกองทุนที่ดิน ส่วนหนึ่งสนับสนุนเป็นทุนทำการเกษตรและการประกอบอาชีพ ช่วยเหลือสมาชิกที่เดือดร้อน ที่ผ่านมามีการไปไถ่ถอนที่ดินที่ไปจำนองไว้กับนายทุน ให้แก่สมาชิก 1 ราย ไม่ให้ที่ดินหลุดมือ “ที่งานพัฒนาเดินหน้าอย่างเข้มแข็งก็มาจากฐานของงานอนุรักษ์ป่า”
สำหรับการร่วมมือกับหน่วยงานรัฐนั้น มีการจัดทำข้อมูลทำพิกัดรายแปลงที่ดิน นำเสนอให้แก่กรมป่าไม้ เพื่อรับรองข้อมูลที่ดินทำกิน และกำลังผลักดันให้เกิดข้อตกลงในสิทธิทำกินของชาวบ้าน โดยสภาองค์กรชุมชน ทำข้อมูลไป 900 กว่าแปลง เพื่อลงนามบันทึกข้อตกลงกับป่าไม้ ให้เป็นฐานข้อมูลที่ชัดเจนร่วมกันว่า ที่ดินตรงไหนเป็นพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน แปลงไหนของใคร ที่ใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตป่าสงวน ด้านหนึ่งก็เพื่อไม่ให้มีการบุกรุกแผ้วถางเพิ่มเติม และยังมีการลงพื้นที่สำรวจข้อมูลรายครัวเรือน ทุกหมู่บ้าน ทำแผนที่ทำมือ ทำผังชุมชน จับพิกัดจีพีเอส 900 กว่าแปลง พื้นที่ 6 หมื่นกว่าไร่
เหนืออื่นใด ชาวบ้านตระหนักว่า น้ำ และที่ดิน ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิต และการดำรงชีวิตของชุมชน เป็นปัญหาสำคัญที่สภาองค์กรชุมชนตำบลบ้านกลาง ได้ทำแผนการแก้ไขปัญหาและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยใช้ข้อมูลจากบทเรียนและความเข้มแข็งของคนบ้านเหล่าเหนือ ในการปกป้องทรัพยากรมาเป็นแนวทาง และต้นแบบในการแก้ไขปัญหาของชุมชนให้เกิดเป็นรูปธรรมอย่างที่เห็นและเป็นอยู่นั่นเอง
------------------------
(รักชีวิต รักษ์สิ่งแวดล้อม : 25 ปี สู้เพื่อป่าของคนเหล่าเหนือ สู่ต้นแบบพัฒนา 'ดิน น้ำ ป่า สวัสดิการ' : โดย...รุ่งโรจน์ เพชระบูรณิน)