ไลฟ์สไตล์

แนะวิธีสังเกต 7 สัญญาณอันตรายโรคมะเร็ง

แนะวิธีสังเกต 7 สัญญาณอันตรายโรคมะเร็ง

25 ก.พ. 2559

ดูแลสุขภาพ : แนะวิธีสังเกต 7 สัญญาณอันตรายโรคมะเร็ง

 
                      โรคมะเร็งเป็นโรคที่น่ากลัวในความคิดของคนส่วนใหญ่ แต่ในทางตรงกันข้ามโรคมะเร็งหลายชนิดสามารถรักษาให้หายขาดได้ หากเป็นมะเร็งในระยะเริ่มต้น โอกาสในการรักษาให้หายขาดก็มีมากขึ้นตามไปด้วย โรงพยาบาลวัฒโนสถ ร่วมรณรงค์ป้องกันโรคมะเร็ง “เปิดตัวนวัตกรรมช่วยในการตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งด้วยเครื่องเพทซีที สแกนรุ่นใหม่ The Opening of New PET/CT พร้อมระบบ flow motion” ที่ทันสมัย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง
 
                      ศ.พิเศษ นพ.ธีรวุฒิ คูหะเปรมะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวัฒโนสถ กล่าวว่า โรคมะเร็งมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัยด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยด้านพันธุกรรมหรือการดำเนินชีวิตที่ไม่ถูกสุขลักษณะ สำหรับสัญญาณอันตราย 7 ประการ ที่ควรรีบมาพบแพทย์ ได้แก่ มีเลือดหรือสิ่งผิดปกติออกจากร่างกาย เช่น มีตกขาวมากเกินไป, มีก้อนหรือตุ่ม เกิดขึ้นที่ใดที่หนึ่งของร่างกายและก้อนนั้นโตเร็วผิดปกติ, มีแผลเรื้อรัง, มีการถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ ผิดปกติหรือเปลี่ยนไปจากเดิม, เสียงแหบ ไอเรื้อรัง, กลืนอาหารลำบาก เบื่ออาหาร น้ำหนักลด, มีการเปลี่ยนแปลงของหูด ไฝ ปาน เช่น โตผิดปกติ ทว่าเราสามารถใช้ชีวิตอย่างมีภูมิต้านทานแบบง่ายๆ เพื่อป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง โดยเริ่มต้นจากการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เสริมสร้างความแข็งแรงด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ทำจิตใจให้แจ่มใส และสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การ ‘ลด’ ความเสี่ยงในการเกิดโรคด้วยการ ‘ค้นหา’ ให้พบสิ่งผิดปกติโดยเร็วที่สุด โดยการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งตั้งแต่อายุ 30 ปี
 
                      ซึ่งในปัจจุบันการตรวจหามะเร็ง หรือการบอกระยะของมะเร็งเพื่อการรักษาที่ถูกต้องมีหลายวิธี เช่น การตรวจทางห้องปฏิบัติการ การตรวจทางเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (ซีทีสแกน) เครื่องกำทอนแม่เหล็กไฟฟ้า (เอ็มอาร์ที) การตรวจชิ้นเนื้อ ซึ่งเป็นการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่มีข้อจำกัด คือไม่สามารถบอกตำแหน่งของโรคมะเร็งได้ ขณะที่การตรวจซีที และเอ็มอาร์ไอ เป็นการตรวจที่บอกถึงโครงสร้างทางกายภาพ และมีข้อจำกัดในการวินิจฉัยความผิดปกติของมะเร็ง จะวินิจฉัยได้เมื่อมะเร็งมีการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งจะช้ากว่า “เครื่อง เพท/ซีที” ที่เป็นการตรวจความผิดปกติของเซลล์ระดับเมตาบอลิซึม ตลอดจนเป็นเครื่องมือที่สามารถตรวจวินิจฉัยมะเร็งได้ไวตั้งแต่มีขนาดเล็กและมีความแม่นยำ จึงช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่แพทย์ผู้รักษามากยิ่งขึ้น ตลอดจนเพิ่มโอกาสในการรักษาโรคมะเร็งได้อย่างทันท่วงทีอีกด้วย อย่างไรก็ตามขณะนี้ รพ.วัฒโนสถได้มีการนำเครื่อง
 
                      เพท/ซีที รุ่นใหม่ พร้อมระบบ flow motion ถึง 2 เครื่องที่ได้รับการพัฒนาให้มีมาตรฐานสูงและความทันสมัยเพื่อรองรับอัตราที่เพิ่มมากขึ้นของผู้ป่วยมะเร็งได้ดียิ่งขึ้น
 
                      พ.อ.นพ.สามารถ ราชดารา แพทย์เวชศาสตร์นิวเคลียร์ โรงพยาบาลวัฒโนสถ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เครื่องเพท/ซีทีสแกน เป็นเครื่องตรวจทางด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์ โดยนำเครื่องมือตรวจด้านรังสี 2 ชิ้น มารวมเป็นเครื่องมือชิ้นเดียวกัน ทำให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องมือทั้งสองชิ้นคือ มีความไวสูง (sensitivity) ทำให้ข้อมูลจากเพทสแกน นั้นแพทย์สามารถอ่านผลและพบความผิดปกติของโรคที่ไม่สามารถเห็นหรือวินิจฉัยได้จากการตรวจด้วยเครื่องมืออื่น ผนวกกับการที่แพทย์สามารถกำหนดตำแหน่งของโรคนั้นได้อย่างแม่นยำด้วยภาพจากซีทีสแกน ขบวนการตรวจ เพท/ซีทีสแกน จะเริ่มจากการฉีดกลูโคสชนิดพิเศษซึ่งมีรังสีอยู่ในตัวเข้าสู่ร่างกาย
 
                      ซึ่งน้ำตาลพิเศษนี้จะซึมเข้าสู่เนื้อเยื่อต่างๆ ในร่างกายมากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่ชนิดของเนื้อเยื่อ แล้วเปล่งรังสีออกมาจากเนื้อเยื่อนั้น แพทย์จะใช้เครื่องเพทสแกน ถ่ายภาพรังสีในร่างกายดังกล่าวทำให้ได้ภาพเป็นร่างกายที่เรืองแสง ประเด็นสำคัญอยู่ที่มะเร็งชนิดก้อน (solid tumor) หลายชนิด เช่น มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ มะเร็งหลังโพรงจมูก มะเร็งเต้านม เป็นต้น สามารถจับน้ำตาลชนิดพิเศษนี้ได้มากกว่าเนื้อเยื่อปกติ ทำให้เราเห็นเป็นจุดสว่างเรืองแสงชัดเจนกว่าการเรืองแสงของเนื้อเยื่อปกติในร่างกาย ทำให้แพทย์สามารถตรวจพบมะเร็งนั้นได้
 
                      “สำหรับเครื่องเพท/ซีที สแกนรุ่นใหม่ “Biograph mCT Flow” มาพร้อมด้วยระบบ flow motion อันเป็นเทคโนโลยีที่มีความทันสมัยสูง ช่วยให้การสแกนเป็นการไปอย่างต่อเนื่องและราบรื่น นอกจากการสแกนที่จะใช้ระยะเวลาสั้นลงเมื่อเปรียบเทียบกับระบบเพทซีทีแบบเดิม ยังสามารถให้รายละเอียดภาพที่มีความคมชัดสูงในทุกระบบอวัยวะ มีความแม่นยำและถูกต้องทุกมิติ สามารถสแกนได้อย่างรวดเร็ว ให้ความรู้สึกสบายและไม่อึดอัดสำหรับผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอีกด้วย”
 
                      โดยผู้รับการตรวจจะได้รับการฉีดสารเภสัชรังสีที่เหมาะกับการวินิจฉัยโรคนั้นๆ สารเภสัชรังสี FDG ซึ่งเป็นสารเภสัชรังสีที่ใช้บ่อยจะเป็นอนุพันธ์ของน้ำตาลกลูโคสที่ติดฉลากด้วยสารกัมมันตรังสีที่สลายตัวอย่างรวดเร็ว สารเภสัชรังสีที่ใช้ในเพท/ซีที มีอัตราการแพ้ต่ำมาก หลังจากได้รับการฉีดสารเภสัชรังสีประมาณ 1 ชั่วโมง ผู้รับการตรวจจะได้รับการตรวจด้วยเครื่องเพท/ซีที ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 15-20 นาที การตรวจเพท/ซีที เป็นการตรวจที่มีความปลอดภัยสูง โดยผู้รับการตรวจเพียงแค่นอนบนเตียงตรวจอย่างผ่อนคลายเท่านั้น การเตรียมตัวก่อนการตรวจเพท/ซีทีสแกรน ขึ้นกับชนิดของโรคและสารเภสัชรังสีที่ใช้ โดยหลักการเตรียมตัวทั่วไปก่อนตรวจโดยใช้สารเภสัชรังสี FDG ได้แก่ น้ำตาลในเลือดของเช้าวันตรวจไม่ควรเกิน 200 mg/dL ไม่รับประทานอาหารหรือได้รับสารน้ำซึ่งมีองค์ประกอบของน้ำตาลอย่างน้อย 6 ชั่วโมงก่อนการตรวจ ผู้ป่วยเบาหวานควรปรึกษาแพทย์เพื่อปรับการรับยาเบาหวานก่อน การตรวจเพท/ซีที ด้วยสารเภสัชรังสีชนิดอื่นมีรายละเอียดแตกต่างกันออกไป ผู้รับการตรวจควรรับคำแนะนำในการเตรียมตัวก่อนการตรวจจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
 
 
 
 
โรงพยาบาลวัฒโนสถ