
จากที่โหล่สู่ดอกเตอร์:เป้าหมายมีไว้พุ่งชน
จากที่โหล่สู่ดอกเตอร์:เป้าหมายมีไว้พุ่งชน : สุชาดา สอนกริ่มรายงาน
ชีวิตนักเรียน...เรียนๆ ท่องๆ กับตำรากองโตแทบล้มทับตาย ชีวิตเป็นแบบนี้ทุกวัน สุดแสนเบื่อหน่าย แต่ผลสอบออกมาที่โหล่ เป็นใครบ้างจะไม่ท้อ แต่ชีวิตยังต้องดำเนินต่อไป ยังมีเพื่อน มีพ่อแม่ มีครูบาอาจารย์ มีสังคม คนรอบข้างที่คอยเพียรถาม “เรียนหนังสือจบไปทำงานอะไร” หลายคนตอบคำถามไม่ได้ “เรียนไปทำไม” แต่่ต้องเรียนไปวันๆ แบบไร้เป้าหมาย...
วันนี้เราได้พูดคุยกับ
"ดร.กุ๊ก" กานดา บุญโสธรสถิตย์ อาจารย์สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เจ้าของหนังสือ “เรียนเป็นที่โหล่ โผล่เป็นนักเรียนทุน (เมืองนอก)” ได้อย่างไร
ดร.กุ๊ก เล่าว่า สมัยเรียนเป็นเด็กที่เรียนระดับกลางๆ มาตลอดไม่ได้ตั้งใจเรียนมากนัก ตอนเรียนชั้น ม.2 โรงเรียนสุวรรณพลับพลาพิทยาคม ติดเพื่อน ไม่อยากเรียนหนังสือ และไม่รู้ว่าจะเรียนหนังสือไปทำไม จึงไม่ได้ตั้งใจเรียน ก่อนสอบไม่ได้อ่านหนังสือ จนกระทั่งได้ที่โหล่ของห้อง อาจารย์เขียนไปในสมุดพกเลยว่าได้ที่โหล่ของห้อง ตอนนั้นรู้สึกว่าอาจารย์ไม่ค่อยชอบเราแน่เลย แต่สิ่งที่แคร์มากที่สุดในเวลานั้นคือความรู้สึกของแม่ เพราะต้องเอาสมุดพกไปให้แม่เพื่อให้แม่เซ็นรับทราบ ในเวลานั้นแม่ไม่ได้ต่อว่าอะไรเลยมีเพียงคำปลอบโยน ซึ่งนั่นยิ่งทำให้เรารู้สึกผิดมากขึ้น
"ตอนเรียน ม.2 ติดเพื่อนมาก ไม่อยากเรียนหนังสือ และไม่รู้ว่าจะเรียนหนังสือไปทำไม จึงไม่ได้ตั้งใจเรียน ก่อนสอบ จึงไม่ได้อ่านหนังสือเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา จนกระทั่งได้ที่โหล่ของห้อง อาจารย์ก็เขียนไปในสมุดพกเลยว่าได้ที่โหล่ของห้อง และต้องเอาสมุดพกไปให้แม่เซ็นรับทราบ ในเวลานั้นรู้สึกผิด
มากๆ" ดร.กุ๊ก เล่าชีวิตวัยรุ่นเมื่อครั้งสอบได้ที่โหล่
จากเหตุการณ์วันนั้นกับความรู้สึกในติดตรึงในหัวใจที่ว่า “เพราะเราไม่อยากทำให้แม่ต้องเสียใจอีก” ทำให้เริ่มเปลี่ยนแปลงตัวเอง กลับมาตั้งใจเรียน ตั้งเป้าหมายในชีวิตว่า อยากจะเรียนเป็นที่ 1 ให้ได้ด้วยความรู้สึกที่ว่าในเมื่อคนอื่นทำได้ เราเป็นคนเหมือนกันก็ต้องทำได้ ไม่มีอะไรบนโลกใบนี้ที่เราทำไม่ได้ ใช้เวลาประมาณ 4 ปี ได้เป็นที่ 1 ของห้องดังที่ตั้งเป้าหมายไว้ จากนั้นได้พยายามมาโดยตลอดกระทั่งเรียน ม.ปลาย ที่โรงเรียนสตรีวัดระฆัง
“ดร.กุ๊ก” เล่าต่อว่า ในช่วงที่เรียนต่อปริญญาตรี คณะวิศวกรรมอุตสาหการ มหาวิทยาลัยมหิดล ก็สามารถคว้าเกียรตินิยมอันดับหนึ่งมาครอง และได้รับพระราชทานทุน Scholarship of His Majesty King of Thailand ระดับปริญญาโท (MEng in Industrial Engineering and Management) Asian Institute of Technology, Thailand หลังสำเร็จการศึกษา ได้ทำงานเป็นวิศวกรบ้าง เปิดสถาบันกวดวิชาบ้าง เป็นนักวิจัยบ้าง และสุดท้ายทดลองเป็นอาจารย์สอนพิเศษ และได้คำตอบกับอาชีพที่ชอบ สิ่งที่ใช่ในชีวิตคือการสอนหนังสือ
อดีตนักเรียนที่โหล่ของห้องเล่าว่า มีความสุขทุกครั้งที่ได้สอนหนังสือเด็ก มีความภูมิใจที่ทำให้พวกเขาสามารถเรียนรู้คิดวิเคราะห์จนกระทั่งมีวิวัฒนาการ และมีความสุขทุกครั้งที่สอนเสร็จในแต่ละคาบ หลังจากที่ได้ทดลองสอนจนได้คำตอบให้แก่ตัวเองแล้ว จึงได้ยึดเป็นอาชีพเรื่อยมา หลังจากนั้นได้ทุนสำนักคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) ไปเรียนต่อระดับปริญญาเอก (PhD in Manufacturing Engineering and Management) University of New South Wales, Australia เมื่อเรียนจบจะต้องกลับมาใช้ทุนเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัย 8 ปี ปัจจุบัน เป็นอาจารย์ประจำอยู่ที่สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
ปัจจุบัน “ดร.กุ๊ก” เผยเคล็ดลับที่ใช้สอนปริญญาโทว่า จะสอนทฤษฎีเสร็จแล้วก็จะเน้นทำเวิร์กช็อป เอาโจทย์มาให้นั่งทำเป็นกลุ่มและมาแลกเปลี่ยนความรู้กัน อีกวิธีหนึ่งที่สอดแทรกคือทำเป็นเกม ในเวลาเรียนจะมีเกมให้เล่น ซึ่งเกมตัวนี้ เด็กๆ จะตื่นเต้น รู้สึกท้าทายจึงทำให้มีความกระตือรือร้นที่อยากจะเรียนมากกว่า และพาไปดูของจริงเช่นไปดูโรงงานหรือสิ่งต่างๆ ตามที่เรียนมาเด็กก็จะรู้สึกว่าตนเองได้รับอะไรมากกว่าที่อยู่ในห้องเรียนและไม่น่าเบื่อ
"น้องๆ ที่กำลังสิ้นหวัง และเคยเป็นที่โหล่ของห้องเรียน สิ่งแรกของคนเราที่ต้องรู้คือเป้าหมายในชีวิต พยายามค้นหาเป้าหมายในชีวิตให้เจอก่อนแล้วจะรู้ว่าเราเรียนไปเพื่ออะไร อีกอย่างหนึ่งคือคนที่เคยพ่ายแพ้ คนที่เคยเป็นที่โหล่ ต้องรู้จักปรับทัศนคติของตัวเองว่าเราสามารถทำได้ เป็นที่ 1 ได้ และสามารถชนะคนหลายๆ คนได้ ไม่ใช่ว่าจะต้องจมจ่อมอยู่กับที่โหล่ไปตลอดชีวิต จงเชื่อมั่นและศรัทธาในตัวเองก่อน ถึงจะประสบผลสำเร็จ" ดร.กุ๊ก ฝากทิ้งท้าย