
ครู(แม่)สอนภาษาไทยลึกซึ้งผ่านสายใยครอบครัว
เนื่องในโอกาสวันภาษาไทยแห่งชาติ ปี 2552 นี้ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากรุงเทพมหานคร เขต 1 (สพท.กทม.1) จับมือคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดสถาบันกวดวิชาภาษาไทยที่บ้านพัฒนา แม่ เป็นครูสอนพิเศษ สกัดไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ 2009 ลูกหยุดเรียนอยู่กับบ้าน
ห้าองค์กรจับมือกันร่วมหุ้นเป็นเบญจภาคี ระดมทุนเปิดยุทธการแก้ปัญหาการอ่าน การเขียนภาษาแม่ของเด็กไทย ร่วมด้วยศูนย์พัฒนากลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย กรุงเทพมหานคร ซึ่งตั้งอยู่ที่โรงเรียนราชวินิต มัธยม มูลนิธิศาสตราจารย์หม่อมหลวงจิรายุ-ศาสตราจารย์ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ นพวงศ์ และสมาคมคนรักภาษาไทย
ในสภาพสังคมปัจจุบันที่เราจะเห็นพ่อแม่ขับรถพาลูกเล็กๆ ราวระดับชั้นประถมศึกษาตอนต้น ไปเรียนพิเศษที่สถาบันกวดวิชาต่างๆ ตามกระแสความนิยม บางแห่งแออัดยัดเยียด กลายเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรคต่างๆ โดยเฉพาะโรคหวัด คงจะดีไม่น้อยถ้าแม่สามารถสอนพิเศษให้ลูกได้เองที่บ้าน ไม่ต้องไปเผชิญกับโรคนอกบ้าน อนึ่งพ่อแม่ผู้ปกครองยุคนี้ก็มีความรู้และมีศักยภาพสูง สามารถช่วยครูในการพัฒนาการเรียนของลูกได้ การจัดโอกาสให้พ่อแม่ ผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการจัดการเรียนรู้ ร่วมแก้ปัญหา ร่วมพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนรู้ จึงเป็นทางเลือกหนึ่งในการแก้ปัญหาวิกฤติการอ่าน การเขียนภาษาแม่ของเด็กไทย
"ครูแม่สอนภาษา" คือแม่ที่ทำหน้าที่เป็นครูสอนภาษา ไม่ได้หมายถึงแม่ที่สอนภาษาให้ลูกตามหน้าที่แม่ ซึ่งถือว่าเป็นครูคนแรกของลูกอยู่แล้ว แต่หมายถึงแม่ที่ได้รับการพัฒนาความรู้ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับปัญหาด้านการอ่านและการเขียนของลูกและได้รับการเติมเต็มในด้านจิตวิทยาการถ่ายทอดความรู้ เทคนิควิธีการสอนภาษาที่ถูกต้อง มีบทบาทเป็นผู้ช่วยครูในการแก้ปัญหาและพัฒนาทักษะการใช้ภาษาไทยของลูก ทำหน้าที่เป็น “ครูแม่สอนภาษา” อยู่ที่บ้านอีกแรงหนึ่ง ซึ่งจะเป็นพลังเสริมที่สำคัญ
นอกจากจะช่วยสอนความรู้ ช่วยฝึกทักษะทางภาษา ช่วยแก้ปัญหาด้านการเรียนรู้แล้ว ความรักความใกล้ชิด ความเอาใจใส่ต่อกันของแม่และคนในครอบครัวจะช่วยให้เด็กมีความสุขและมีพัฒนาการทุกด้านอย่างเต็มที่ ซึ่งนับว่าได้ผลทั้งด้านวิชาการตามวัตถุประสงค์และยังมีผลพลอยได้ในด้านความสัมพันธ์ทางครอบครัว สุขภาพจิต ความฉลาดทางอารมณ์ ความอบอุ่นใกล้ชิด ได้ปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี ความรู้สึกนึกคิดและค่านิยมอันดีงามจากแม่สู่ลูกไปในตัว นับว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าและเป็นคุณูปการต่อวงการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง
อนึ่งเรื่องการแก้ปัญหาการอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ของเด็กไทยนั้น จากการสำรวจปัญหาด้านการอ่าน การเขียนของนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 และ 3 ของโรงเรียนใน สพท.กทม.1 พบว่าด้านการอ่านมีปัญหาดังต่อไปนี้ จำรูปและเสียงสระไม่ถูกต้อง อ่านคำที่มีตัวสะกดไม่ตรงตามมาตราไม่ถูกต้อง อ่านประสมคำไม่ได้ อ่านคำพ้องรูปไม่ถูกต้อง อ่านคำที่มีอักษรควบ อักษรนำไม่ถูกต้อง อ่านจับใจความไม่ได้ แบ่งวรรคตอนไม่เหมาะสม อ่านตู่ตัว อ่านตก อ่านซ้ำ อ่านสลับคำ อ่านออกเสียงไม่ชัดเจน อ่านช้า อ่านไม่คล่อง ผันวรรณยุกต์ไม่ถูกต้องและไม่มีสมาธิในการอ่าน ฯลฯ
ส่วนปัญหาด้านการเขียนพบว่านักเรียนมีปัญหา เขียนคำที่มีสระเปลี่ยนรูปไม่ถูกต้อง เขียนคำทับศัพท์ภาษาต่างประเทศไม่ถูกต้อง ใส่รูปวรรณยุกต์กำกับไม่ตรงกับเสียงอ่านเขียนคำที่มีสระลดรูปไม่ถูกต้อง เขียนคำที่มีตัวการันต์ไม่ถูกต้อง เขียนคำพ้องเสียงไม่ถูกต้อง เขียนคำ ที่ประหรือไม่ประวิสรรชนีย์ไม่ถูกต้อง เขียนคำที่มีตัวสะกดไม่ตรงตามมาตราไม่ถูกต้อง เขียนสะกดคำไม่ถูกต้องตามอักขรวิธี เขียนประสมคำไม่ได้ เขียนคำที่มีอักษรควบ อักษรนำไม่ถูกต้อง เขียนเรียบเรียงถ้อยคำเป็นเรื่องราวไม่ได้ วางตำแหน่งสระและวรรณยุกต์ไม่ถูกต้อง เขียนฉีกคำ เขียนช้า เขียนไม่คล่อง เขียนลายมือหวัดไม่เป็นตัว ฯลฯ
ปัญหาเหล่านี้ครูผู้สอนและพ่อแม่ควรให้ความสนใจ เพราะเป็นข้อมูลที่จะช่วยวินิจฉัยถึงสาเหตุของปัญหาการอ่าน การเขียนและสามารถแก้ไขได้ตรงกับสาเหตุของปัญหานั้นๆ ในโครงการเรียนรู้ภาษาไทยด้วยสายใยครอบครัวนี้ เราจะอบรมพ่อแม่ให้รู้ว่าลูกเรียนอะไรบ้างที่โรงเรียนและลูกเรียนเป็นอย่างไรบ้างและพ่อแม่จะช่วยลูกได้อย่างไรบ้าง เราจะมีเครื่องมือสำหรับช่วยให้ท่านสามารถรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการอ่าน การเขียนของลูกหลานท่านได้ด้วยตนเองโดยวิธีง่ายๆ สามารถประเมินทักษะการอ่าน การเขียนของลูก วินิจฉัยปัญหาและวางแผนแก้ปัญหาของลูกได้เอง สามารถให้คำปรึกษาแก่ลูกและให้ข้อมูลป้อนกลับไปยังครูผู้สอนที่โรงเรียน สื่อสารโต้ตอบกัน โดยจะมี “สมุดบันทึกลูกรัก” เป็นสื่อกลางการสื่อสารระหว่าง "ครูที่โรงเรียน" กับ "ครูแม่ที่บ้าน" ซึ่งจะทำงานร่วมกันตลอดทั้งกระบวนการอย่างใกล้ชิด
หากผู้ปกครองคนใดสนใจจะสมัครเป็น “ครูแม่สอนภาษา” ติดต่อขอใบสมัครได้ที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากรุงเทพมหานคร เขต 1 และศูนย์พัฒนากลุ่มสาระ การเรียนรู้ภาษาไทย กรุงเทพมหานคร โทร.0-2354-4960 และ 0-2354-4973 ทุกวันเวลาราชการ ซึ่งจะมีกำหนดจัดอบรม “ครูแม่สอนภาษา” ในเดือนกันยายน 2552 นี้
ภาษาไทยเป็นภาษาแม่ของคนไทย ฉะนั้นการให้แม่สอนภาษาแก่ลูกจึงเป็นเรื่องที่เหมาะสมสอดคล้องกับธรรมชาติอยู่แล้ว และยังมีกระบวนการพัฒนาแม่ให้เป็นครูสอนภาษาที่มีหลักวิชา มีจิตวิทยา มีเทคนิคในการถ่ายทอดความรู้ ความคิด สามารถวินิจฉัยปัญหาและแก้ปัญหาของลูกได้เอง และยังมีคำพูด สีหน้า แววตาและรอยยิ้มที่เปี่ยมไปด้วยความรัก ความเอื้ออาทร เป็นกำลังใจให้แก่ลูกได้เสมอ “ครูแม่สอนภาษา” จึงเป็นอีกความหวังหนึ่งที่จะช่วยให้นโยบายการปลอดเด็กอ่านหนังสือไม่ออก เขียนหนังสือไม่ได้ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานใกล้ความจริงขึ้นมา และเป็นที่น่ายินดีที่ครูภาษาไทยก็จะได้ “คู่สัญญา” หรือ “หุ้นส่วน” ที่มีประสิทธิภาพในการร่วมพัฒนาการเรียนรู้ภาษาไทยด้วยอีกแรงหนึ่ง
0 ศิริวรรณ์ ฉายะเกษตริน 0
ศึกษานิเทศก์เชี่ยวชาญ สพท. กทม. 1