ไลฟ์สไตล์

เปลี่ยนประเภทใบขับขี่หลังพ้นคุก 3 ปี

เปลี่ยนประเภทใบขับขี่หลังพ้นคุก 3 ปี

12 ก.พ. 2559

เปิดซองส่องไทย : เปลี่ยนประเภทใบขับขี่หลังพ้นคุก 3 ปี - จัดระเบียบของ สน.คืออะไร ?

 
                      ต้องการเปลี่ยนใบขับขี่จาก บ.3 เป็น ท.3‏ ถ้าเคยรับโทษคดียาเสพติดจะทำได้หรือไม่ และต้องพ้นโทษกี่ปีครับถึงจะทำได้
 
 
ภาณุเดช
 
 
ตอบ
 
 
                      สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครพื้นที่ 5 (สขพ.5 จตุจักร) กรมการขนส่งทางบก ชี้แจงว่า ตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 ใบอนุญาตเป็นผู้ประจำรถ แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ 1.ใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถ 2.ใบอนุญาตเป็นผู้เก็บค่าโดยสาร 3.ใบอนุญาตเป็นนายตรวจ 4.ใบอนุญาตเป็นผู้บริการ 
 
                      สำหรับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถ แบ่งออกเป็น 4 ชนิด และ 2 ประเภท ดังนี้
 
                      ชนิดที่ 1 ใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถสำหรับขับรถบรรทุกที่มีน้ำหนักรถ และน้ำหนักบรรทุกรวมกันไม่เกิน 3,500 กิโลกรัม หรือสำหรับขับรถโดยสารที่ใช้ขนส่งผู้โดยสารไม่เกิน 20 คน
 
                      ชนิดที่ 2 ใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถสำหรับขับรถบรรทุกที่มีน้ำหนักรถ และน้ำหนักบรรทุกรวมกันเกิน 3,500 กิโลกรัม หรือสำหรับขับรถโดยสารที่ใช้ขนส่งผู้โดยสารเกินกว่า 20 คน
 
                      ชนิดที่ 3 ใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถสำหรับขับรถบรรทุกหรือรถโดยสารซึ่งโดยสภาพใช้สำหรับลากจูงรถอื่นหรือล้อเลื่อนที่บรรทุกสิ่งใดๆ บนล้อเลื่อนนั้น
 
                      ชนิดที่ 4 ใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถสำหรับขับรถที่ใช้ขนส่งวัตถุอันตรายตามประเภทหรือชนิด และลักษณะการบรรทุก ตามที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
 
                      ทั้งนี้ ใบอนุญาตขับรถชนิดที่สอง, ชนิดที่สาม และชนิดที่สี่ ใช้เป็นใบอนุญาตขับรถชนิดที่หนึ่งได้ ใบอนุญาตขับรถชนิดที่สามและชนิดที่สี่ใช้เป็นใบอนุญาตขับรถชนิดที่หนึ่งและชนิดที่สองได้ ใบอนุญาตขับรถชนิดที่สี่ใช้เป็นใบอนุญาตขับรถชนิดที่หนึ่งและชนิดที่สอง และชนิดที่สามได้
 
                      ใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถแต่ละชนิด แบ่งตามประเภทการขนส่งของรถออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
 
                      1.ประเภทส่วนบุคคล สำหรับขับรถที่ใช้ในการขนส่งส่วนบุคคล (รถที่มีแผ่นป้ายทะเบียนรถ พื้นสีขาว ตัวเลขและตัวอักษรสีดำ)
 
                      2.ประเภททุกประเภท สำหรับขับรถได้ทุกประเภทการขนส่ง (รถที่มีแผ่นป้ายทะเบียนรถพื้นสีขาว ตัวเลขและตัวอักษรสีดำและรถที่มีแผ่นป้ายทะเบียนรถพื้นสีเหลืองตัวเลขและตัวอักษรสีดำ)
 
                      สำหรับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถทุกประเภท ตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก สามารถใช้แทนใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคลและใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ได้ ส่วนใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถส่วนบุคคล ตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก สามารถใช้แทนใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ได้
 
                      อย่างไรก็ตาม พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 กำหนดคุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถ ต้องไม่เป็นผู้เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดอันได้กระทำโดยประมาทที่มิใช่เกี่ยวกับการใช้รถในการกระทำผิดหรือความผิดลหุโทษ หรือได้พ้นโทษมาแล้วเกินสามปี
 
                      ดังนั้น กรณีต้องการขอมีใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถหรือเปลี่ยนประเภทใบอนุญาต หากเคยได้รับโทษจำคุก ต้องรอให้พ้นโทษเกินกำหนดสามปีเสียก่อน จึงจะดำเนินการขอมีใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถหรือเปลี่ยนประเภทใบอนุญาตได้
 
 
 
จัดระเบียบของ สน.คืออะไร ?
 
 
                      กระผมมีข้อข้องใจต้องขอรบกวนให้ลุงแจ่ม นสพ.คม ชัด ลึก เป็นสื่อกลางเพื่อให้ผู้หลักผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบและแก้ไขด้วย ดังเช่นถนนในซอยพระรามเก้า 51 ซึ่งเคยมีผู้ร้องเรียนมาหลายครั้งแล้ว ครั้งล่าสุดที่ผมอ่านคม ชัด ลึก เห็น สน.หัวหมาก แจ้งว่าได้จัดระเบียบการจอดรถในซอยดังกล่าวแล้ว (ผมเป็นอีกผู้หนึ่งที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านนี้มานานหลายสิบปี) ขอถามว่า
 
                      คำว่าจัดระเบียบของ สน.หัวหมาก คืออะไร อย่างไร จากวันนั้นถึงวันนี้ รถก็ยังจอดเต็มสองฝั่งตลอดทั้งวัน ยกเว้นวันหยุดที่อาจซาๆ ไปบ้าง การสัญจรก็ลำบาก เพราะจอดกันสองข้างซ้ายขวาเลย รถวิ่งสวนกันอีก 2 เลน ถ้าลุงแจ่มไม่เชื่อ อาจส่งผู้สื่อข่าวลงมาดูได้ ไม่เข้าใจว่า กทม.บอกไม่มีกฎหมายปักป้ายวันคู่วันคี่ แต่ สน.หัวหมากได้สินน้ำใจอะไรมาหรือเปล่าถึงได้ปัดไปแบบนี้ ชาวบ้านแถวนี้ได้รับความเดือดร้อนกันมาก อดทนมานานจริงๆ รบกวนตำรวจจราจร สน.หัวหมาก เข้ามาช่วยดูแลด่วนด้วย
 
 
อภิลักษณ์
 
 
ตอบ
 
 
                      พ.ต.ท.กฤษดา สยังกูล สารวัตรจราจร สน.หัวหมาก ชี้แจงว่า ได้รับแจ้งเรื่องร้องเรียนนี้มาหลายครั้งแล้ว ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้รวบรวมข้อมูลความเดือดร้อนที่ได้รับแจ้งจากประชาชน แล้วทำการเสนอเรื่องไปยังกองบังคับการตำรวจจราจร ให้พิจารณาการออกข้อบังคับห้ามจอด
 
                      ซึ่งการดำเนินการต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร ต้องทำเป็นลำดับขั้นตอน โดยในระหว่างนี้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการประชาสัมพันธ์กับผู้ขับขี่และร้านค้าในละแวกใกล้เคียงให้ช่วยกันประชาสัมพันธ์กับลูกค้าในเรื่องของการจอดรถ โดยให้จอดในฝั่งเดียวกันทั้งหมดจะได้ไม่ทำให้เกิดการกีดขวางการจราจร
 
                      ในส่วนของการล็อกล้อมีการดำเนินการอยู่เสมอ ซึ่งสิ่งที่จะทำให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ คือ
 
                      1.ต้องมีข้อบังคับห้ามจอด หรือกฎหมายปักป้ายวันคู่วันคี่
 
                      2.มีป้ายติดตั้งให้ผู้ขับขี่เห็นได้อย่างชัดเจน ซึ่งการจะติดตั้งป้ายต้องมีข้อบังคับที่เป็นลายลักษณ์อักษร ออกมา
 
                      ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินการติดตั้งป้ายทันที ระหว่างนี้ก็จะทำการเช็กและตรวจสอบสภาพภายในซอยอีกทีว่าเป็นอย่างไรแล้วจะเข้าไปจัดระเบียบให้เรียบร้อย