ไลฟ์สไตล์

อดีตนร.ทุนกพ.แนะปรับระบบค้ำประกัน

อดีตนร.ทุนกพ.แนะปรับระบบค้ำประกัน

09 ก.พ. 2559

“ดร.นเรศ” อดีตนร.ทุน กพ.แนะปรับระบบค้ำประกัน ไม่กระทบผู้บริสุทธิ์ แต่ให้เป็นหน้าที่ของนักเรียนที่ต้องชดใช้เอง ทันตแพทยสภาถกฟัน 11 ก.พ.

             9ก.พ.2559 จากกรณีปัญหานักเรียนทุนรัฐบาลหนีทุน จนต้นสังกัดต้องไปไล่เบี้ยกับผู้ค้ำประกัน เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ทางสังคมโลกออนไลน์และความสนใจของสื่อมวลชนตลอดจนประชาชนทั่วไป

             ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อดีตนักเรียนทุนกพ.กล่าวว่า ปัญหาการหนีทุนของนักเรียนทุนรัฐบาลนั้นยังมีอีกหลายกรณี ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังมานานเพียงแต่อาจเพิ่งถูกเปิดจากกรณีมีการฟ้องร้องเนื่องจากคดีใกล้หมดอายุความ และมีการไล่เบี้ยจากผู้ค้ำประกัน ซึ่งแม้ทางต้นสังกัดจะไม่ต้องการให้เกิดการฟ้องร้องหรือไล่เบี้ย แต่โดยกระบวนการทางกฎหมายเงินหลวงต้องมีผู้รับผิดชอบตามเงื่อนไขที่กำหนดในครั้งแรก ซึ่งทุกฝ่ายเองก็ทราบดี และไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดปัญหาในภายหลัง

             “ผมได้คุยกับเพื่อน ๆ ที่เรียนวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) หลายคนเห็นตรงกันว่า ควรปรับระบบการค้ำประกัน เนื่องจากโดยปกติแล้วคนค้ำประกันจะเป็นพ่อแม่แต่หากไม่มีหลักทรัพย์ ก็ให้อาจจะให้ญาติหรือคนรู้จักเป็นผู้ค้ำประกัน ซึ่งทุกคนก็หวังดีเพราะเด็กเองก็ตั้งใจไปเรียน แต่เมื่อเกิดปัญหานักเรียนหนีทุนไม่กลับมาใช้ทุนในประเทศ จึงเกิดการฟ้องร้องเป็นประเด็นกันขึ้นมา ผมเชื่อว่ายังมีอีกหลายรายที่จะเกิดปัญหาในลักษณะเดียวกัน ดังนั้น รัฐบาลต้องกล้ายกเลิกระบบที่ให้ผู้อื่นมารับผิดชอบโดยไม่มีความผิด แต่ให้นักเรียนทุนรับผิดชอบชดใช้ทุนเองและฟ้องร้องกันได้โดยตรงอย่าให้หนีไปได้อย่างลอยนวล โดยอาจจะต้องต่อรองกับประเทศหรือสถาบันการศึกษาที่ผู้รับทุนไปเรียนให้ร่วมผูกมัดผู้รับทุน หรือเปลี่ยนมาใช้ระบบหักใช้ทุนจากเงินเดือนหรือรายได้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตไม่ว่าจะไปทำงานอยู่ในภาครัฐหรือเอกชน” ดร.นเรศ กล่าว

             สำหรับ ดร.นเรศ ดำรงชัย รับทุน กพ.ไปศึกษาต่อประเทศญี่ปุ่นในระดับมัธยมจนจบปริญญาเอก โดยมีความตั้งใจจะศึกษาต่อทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพ เนื่องจากเป็นเทรนด์ใหม่ของโลกโดยถือต้นแบบจากกระแสบูมสตาร์ทอัพของบริษัท จีเนเทค ที่ให้ทุนนักวิจัยและมีผลผลิตออกมาจริงราวปี 1980 กว่า ๆ ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 6 ของประเทศไทยที่ได้ระบุไว้กว้าง ๆ เรื่องการพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพที่สามารถตอบได้ทุกโจทย์ตั้งแต่เกษตร พลังงาน สาธารณสุข ไบโอเทค ฯลฯ จึงตัดสินใจเลือกเรียนที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งโตเกียว สาขา ไบโอเอนจิเนียริ่ง ซึ่งเปิดเป็นรุ่นแรก จนจบปริญญาเอก และกลับมาทำงานใช้ทุนที่ประเทศไทยในหน้าที่นักวิจัยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) โดยทำวิจัยเกี่ยวกับการสร้างผิวหนังเพื่อปลูกถ่ายให้กับคนถูกไฟไหม้น้ำร้อนลวก โดยร่วมมือกับโรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลนพรัตน์ และโรงพยาบาลศูนย์ยะลา ต่อมาได้เป็นนักวิจัยเชิงนโยบายและเป็นผู้อำนวยการศูนย์คาดการณ์เทคโนโลยีเอเปค ก่อนจะมาเป็นผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นสายงานที่เจ้าตัวได้มองโอกาสการเติบโตล่วงหน้าถึง 30 ปี


ทันตแพทยสภาถกฟันทพญ.หนีทุน11ก.พ

             ทพ.ธรณินทร์ จรัสจรุงเกียรติ นายกทันตแพทยสภา กล่าวถึงกรณีทพญ.ดลฤดี จำลองราษฎร์อดีตอาจารย์คณะทันตแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หนีการใช้ทุน จนผู้ค้ำประกันต้องชดใช้เงินแทน ว่า เหตุการณ์ดังกล่าวถือเป็นการสร้างความเสียหายแก่วิชาชีพทันตแพทย์ กรณีที่เกิดขึ้นอาจต้องมีการพิจารณาด้วยว่าจะส่อไปในทางฉ้อโกงด้วยหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ในการจะดำเนินการตรวจสอบ เบื้องต้นต้องมีผู้กล่าวโทษก่อน แต่ขณะนี้ผู้เสียหายเองยังไม่มีการกล่าวโทษ ดังนั้น แนวทางที่จะดำเนินการต่อไปคือการให้กรรมการของทันตแพทยสภา ซึ่งอาจจะเป็นเลขาธิการทันตแพทยสภา หรือรองเลขาธิการทันตแพทยสภาดำเนินการกล่าวโทษ หลังจากนั้นจึงจะส่งเรื่องให้กับคณะอนุกรรมการจรรยาบรรณ ดำเนินการตรวจสอบต่อไป

             “ในการกล่าวโทษจะใช้หลักฐานข้อมูลจากทางสื่อต่างๆ รวมถึงการรวบรวมหลักฐานเพิ่มเติม ร่วมกับการเชิญผู้เสียหายที่เป็นคนค้ำประกันทั้ง 4 คน มาให้ปากคำและให้ข้อมูลเพิ่มเติม นอกจากนี้ ยังต้องมีการเรียกบิดาและญาติของทพญ.ดลฤดีมาร่วมในการให้ปากคำด้วย โดยในการพิจารณาโทษกรรมการทันตแพทยสภาจะมีการหารือในวันที่ 11 ก.พ. 2559 ซึ่งในการพิจารณาโทษจะแบ่งเป็น 4 ขั้นโทษ ได้แก่ 1.การว่ากล่าวตักเตือน 2.ภาคทัณฑ์ 3.พักใบอนุญาต และ4.เพิกถอนใบอนุญาต โดยผู้ที่จะตัดสินโทษคือกรรมการทันตแพทยสภา แต่เรื่องนี้ก็ต้องใช้เวลาในการรวบรวมข้อมูลพอสมควร”ทพ.ธรณินทร์กล่าว

 

มธ.ยอมรับมีหมอฟันเมินชดใช้ทุนจริง

            ที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) น.ส.อาภรณ์ แก่นวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา(กกอ.) กล่าวถึงกรณี ทพญ.ดลฤดี จำลองราษฎร์ อดีตอาจารย์คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล(มม.) ไม่กลับมาทำงานชดใช้ทุนรัฐบาลว่า ขณะนี้ สกอ. ได้ดำเนินการฟ้องล้มละลายไปแล้ว และคงเป็นแนวทางสุดท้ายที่จะสามารถดำเนินการเอาผิดกับ ทพญ.ดลฤดีได้ ซึ่งคงต้องว่ากันไปตามกระบวนการทางกฎหมาย ส่วนที่ทางมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา จะดำเนินการตรวจสอบเอาผิด ทพญ.ดลฤดีนั้น คงเป็นเรื่องภายในของมหาวิทยาลัย และถ้าทางมหาวิทยาลัยต้องการข้อมูลหรือเอกสาร ทาง สกอ. ก็พร้อมให้ความร่วมมือ แต่ทั้งนี้ ในส่วนของเอกสารก็ต้องดูว่าต้องการส่วนใดบ้าง อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ สกอ.ได้ดำเนินการอย่างเต็มที่ และจะพยายามฟ้องร้องให้ถึงที่สุด

            ด้าน ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวถึงกรณีที่เพจ CSI LA ได้โพสต์ข้อความระบุว่า หมอฟันหนีทุนไม่ใช่มีแค่ที่มหาวิทยาลัยมหิดล(มม.) เท่านั้น แต่มีที่คณะทันตแพทยศาสตร์ มธ. ด้วยว่า ตนได้มอบให้ฝ่ายนิติกร มธ. ตรวจสอบรายละเอียดข้อมูลเรื่องดังกล่าวแล้ว เบื้องต้นทราบว่าเป็นอาจารย์คณะทันตแพทยศาสตร์ที่ได้รับทุนไปเรียนต่อต่างประเทศตั้งแต่ปี2546 แต่ไม่กลับมาใช้ทุน โดยเวลานี้ทางฝ่ายกฎหมายอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูล รวมถึงมอบให้กองคลัง มธ. คำนวณค่าเสียหายที่เกิดขึ้นอยู่ ซึ่งน่าจะประมาณ 15 ล้านบาท ทั้งนี้ทาง มธ.ได้ลงโทษทางวินัยด้วยการไล่ออกอาจารย์คนดังกล่าวแล้ว เนื่องจากขาดราชการเกิน 15วัน และเท่าที่ทราบขณะนี้อาจารย์คนดังกล่าวได้ติดต่อกลับมาเพื่อจะขอชดใช้เงิน โดยการขอผ่อนชำระ

            โดยแต่ละปี มธ.จะส่งอาจารย์ไปเรียนต่อต่างประเทศประมาณปีละ 100 คน ใช้เงินกว่าร้อยล้านบาทต่อปี และยอมรับว่าที่ มธ. ไม่ได้มีกรณีของคณะทันตแพทยศาสตร์เพียงกรณีเดียว ยังมีของคณะอื่นๆ ด้วย แต่มีจำนวนไม่มาก ซึ่งเท่าที่จำได้เมื่อ 30 ปีที่แล้วก็มีกรณีของอาจารย์คณะศิลปศาสตร์ ที่ไม่ใช้ทุน ซึ่งเป็นเรื่องที่โด่งดังในช่วงเวลานั้นมาก

            ทั้งนี้ทุกรายที่ไม่กลับมาใช้ทุนนั้น ทางฝ่ายนิติกรได้ดำเนินการทางกฎหมายทุกกรณีแล้ว และเมื่อคนที่ได้รับทุนไม่ยอมกลับมาใช้ทุน ระบบกฎหมายก็ระบุให้ฟ้องคนค้ำประกันได้ ซึ่งความจริงแล้วไม่มีใครอยากฟ้องผู้ค้ำประกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ค้ำประกันที่เป็นอาจารย์ของเราเอง ก็ยิ่งไม่อยากฟ้อง จึงต้องมีการเจรจาต่อรองกันเรื่องชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้น

            อธิการบดี มธ.กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้กฎหมายไทยไม่สามารถตามไปเอาผิดกับคนที่อยู่ในต่างประเทศได้ ซึ่งการที่มหาวิทยาลัยไปฟ้องคดีในต่างประเทศ ต้องมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก แถมไม่รู้ว่าจะชนะคดีความหรือไม่ ทำให้มหาวิทยาลัยอาจจะเกิดความลังเลว่าการฟ้องคดีในต่างประเทศจะคุ้มค่าหรือไม่ เช่น เป็นหนี้ 10 ล้าน แต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินการฟ้องร้อง 7-8 ล้านบาท เป็นต้น สำหรับสัญญาการรับทุนในปัจจุบันมีความยุติธรรม และเหมาะสมแล้ว เพราะตั้งแต่กรณีของ ทพญ.ดลฤดี ก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงสัญญา จากเดิมที่ต้องใช้ทุน 3เท่า ก็เหลือ 2 เท่า อีกทั้งยังเปิดให้พ่อแม่หรือญาติพี่น้องสามารถค้ำประกันได้ด้วย จากเดิมซึ่งไม่สามารถทำได้

            ทั้งนี้ การที่ยังต้องให้ใช้ทุน 2 เท่านั้น เพราะต้องการให้ผู้ได้รับทุนกลับมาทำประโยชน์ให้แก่ราชการ หากกำหนดเพียงแค่ 1 เท่า ผู้รับทุนก็จะหาเงินมาคืนแล้วก็หนีไปเลย ซึ่งทุกมหาวิทยาลัยเมื่อส่งอาจารย์ไปเรียนต่อแล้ว ก็อยากได้ตัวอาจารย์กลับมาทำงานให้ ไม่มีใครอยากจะได้เป็นตัวเงินคืนแทน ส่วนกรณีของ ทพญ.ดลฤดีเป็นสัญญาการใช้ทุน 3 เท่า ซึ่งหากคิดว่าไม่เป็นธรรม ก็ไม่ควรจะหนีทุน และปล่อยให้ผู้ค้ำประกันใช้แทน