
ดูแลสุขภาพ : ภาวะแทรกซ้อนของกระดูกหัก
10 ก.พ. 2559
ดูแลสุขภาพ : ภาวะแทรกซ้อนของกระดูกหัก
ภาวะแทรกซ้อน (ทางการแพทย์) เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายหลังการรักษา เช่น ผ่าตัดแล้วเกิดแผลติดเชื้อเป็น surgical site infection เกิดเนื้อตายจากการติดเชื้อและขาดเลือด หรือจากโรคของเดิมที่มีอยู่ เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวานจะเสี่ยงต่อการเกิดแผลเรื้อรังจากโรคเบาหวาน ส่วนความเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากการผ่าตัด การติดเชื้อที่ยังไม่เกิด
ด้านต้นเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนของกระดูกหักเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นจากผู้ให้การรักษา ได้แก่ การเข้าเฝือกผิดเทคนิค เฝือกหลวมไม่สามารถดามกระดูกให้นิ่ง การยึดต่อกระดูกไม่สมบูรณ์ตั้งแต่การจัดกระดูกและการยึดกระดูกด้วยโลหะดามชนิดต่างๆ ที่ไม่เหมาะสม การผ่าตัดหลายครั้งมีผลต่อระบบไหลเวียนที่หล่อเลี้ยงกระดูก หรือจากตัวผู้ป่วยเอง ได้แก่ การเลือกวิธีการรักษาที่ไม่ได้มาตรฐาน เช่น เข้าเฝือกไม้ การถอดเฝือกออกก่อนกำหนด การเดินลงน้ำหนักเร็วกว่าที่กำหนด ผู้ป่วยที่สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า ติดยา ใช้ยาลูกกลอน (สเตียรอยด์) ผู้ป่วยที่ผอมบาง กระดูกพรุน ขาดโปรตีน ขาดอาหารเหล่านี้จะมีผลต่อการสมานของเนื้อกระดูก
รวมถึงจากชนิดของกระดูกหัก ซึ่งสามารถแบ่งได้ดังนี้ 1.แรงกระทำประเภท high velocity มีผลให้กระดูกแยกห่าง กระดูกหักหลายชิ้น มีการทำลายเนื้อเยื่อรอบกระดูกที่รุนแรง vascular supply รอบกระดูกถูกรบกวนทำลาย ทำให้เนื้อเยื่อบวม 2.Open fracture มีบาดแผลถึงกระดูก มีการปนเปื้อนสูง มีการสูญเสียเนื้อกระดูก เนื่องจากกระดูกบางส่วนหล่นหายขณะเคลื่อนย้าย หรือทำการผ่าตัด 3.กระดูกที่หักเมื่อสมานแล้วมีการหักซ้ำ (refracture) มักพบในเด็กที่กระดูกหักใส่เฝือกแล้วล้มอีกหรือผู้ใหญ่ที่ลงน้ำหนักเร็วเกินไปก่อนกระดูกติดแข็ง หรือได้รับบาดเจ็บรุนแรงขึ้นอีก
วิธีการป้องกันความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนของกระดูกหักนั้น ในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง คือ ผู้สูงอายุ ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์-พยาบาล ผู้ที่มีความเชื่อ งมงาย ผู้ป่วยที่ผอมบาง กระดูกบาง ขาดอาหาร สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า ใช้ยาสเตียรอยด์ ฉายแสง ได้ยาเคมี ผู้ป่วยที่มีบาดแผลลึกถึงกระดูก (open fracture) โดยเฉพาะการแตกหักและปนเปื้อนที่รุนแรง เช่น ถูกกระสุนปืนลูกซอง กระดูกแตกหักหลายชิ้น มีการสูญเสียเนื้อกระดูก ผู้ที่มีกระดูกหักหลายตำแหน่ง ผู้ป่วยที่ได้รับการทำผ่าตัดหลายครั้ง ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยผิดพลาด ทำให้กระดูกที่หักไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องทันการณ์
ตัวชี้วัดที่สำคัญคือจำนวนครั้งที่ผู้ป่วยมาตามนัด, จำนวนแพทย์-พยาบาล ที่มีความชำนาญ, จำนวนครั้งของหัตถการที่เกี่ยวข้องกับการดามกระดูกของแพทย์ผู้ผ่าตัด จำนวนข้อผิดพลาดที่เกิดจากการทำหัตถการ ในขณะที่ตำแหน่งที่พบบ่อย คือ กระดูกหน้าแข้ง (tibia) กระดูกส่วนปลายของขาบริเวณข้อเท้าและกระดูกต้นแขน โดยการบำรุงรักษาให้ผู้ป่วยมีสุขภาพที่ดี ควรเริ่มตั้งแต่การกินอาหารที่มีโปรตีนสูง การงดบุหรี่ งดดื่มเหล้า การเสริมด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็น ได้แก่ ธาตุเหล็ก แคลเซียมจากนม โยเกิร์ต โครเมียม สังกะสี แมกนีเซียม วิตามินชนิดต่างๆ หรือรักษาแบบ comorbidity หมายถึง การรักษาโรคอื่นที่เกิดร่วมกับกระดูกหัก เช่น โรคเบาหวาน, โรคหัวใจ, โรคไต ฯลฯ ซึ่งการรักษากระดูกตามมาตรฐานแบ่งออกเป็น 2 แบบ ดังนี้
1.กระดูกหักที่ไม่มีบาดแผล (closed fracture) ต้องรับการวินิจฉัยและดามกระดูกโดยเร็ว มีการติดตามความก้าวหน้าของการสมานกระดูก ดูแลเป็นระยะเวลาประมาณ 3 เดือน เฝือกที่หลวมต้องรีบเปลี่ยน เพื่อป้องกันชิ้นกระดูกที่หักเคลื่อนผิดที่ กรณีการผ่าตัดดามกระดูกต้องมีข้อบ่งชี้ที่ชัดเจน ภายหลังถอดเฝือกออกต้องให้คำแนะนำ เพื่อฟื้นฟูสภาพของกล้ามเนื้อแขน ขา และกระดูกให้แข็งแรง ลดการยึดติดของข้อ และการหดยึดของกล้ามเนื้อและเอ็น
การลงน้ำหนักขาข้างที่หักช้ากว่าเกณฑ์ จะมีผลให้กระดูกบางและไม่ติด ซึ่งจะมีความยุ่งยากขณะยึดดามด้วยโลหะโดยเฉพาะการยึดด้วยสกรู แต่ถ้าน้ำหนักลงเร็วเกินไปจะมีผลให้โลหะดามหัก การลงน้ำหนักต้องทำตามคำแนะนำของแพทย์โดยขึ้นกับวัสดุของโลหะดามว่าเป็นชนิด weight bearing device (แผ่นโลหะดามยึดด้วยสกรู) ควรลงน้ำหนักบางส่วนเมื่อครบ 6-8 สัปดาห์หลังผ่าตัดหรือเป็นชนิด weight sharing device (แท่งโลหะยึดดามในโพรงกระดูกด้ามยาว) สามารถลงน้ำหนักได้เร็วกว่า ประมาณ 4 สัปดาห์หลังผ่าตัด ขึ้นกับความมั่นคงของชิ้นกระดูกที่ดาม
2.กรณีมีบาดแผลต้องรีบล้างแผลภายใน 6 ชั่วโมง เพื่อขจัดสิ่งแปลกปลอม ลดการปนเปื้อน การให้ยาปฏิชีวนะทั้งเชิงป้องกันและที่เจาะจงต่อเชื้อสามารถลดการลุกลามและอุบัติการณ์การติดเชื้อของกระดูก ในเบื้องต้นอาจพิจารณาใส่ external fixator หรือ internal fixator ตามข้อบ่งชี้ กรณีที่มีการสูญหายของผิวหนังตรงตำแหน่งกระดูกหัก ต้องทำการผ่าตัดย้ายกล้ามเนื้อ หรือผิวหนังคลุมกระดูกขึ้นกับสภาพผิวหนังเนื้อเยื่อที่หุ้มกระดูกที่หัก การย้ายกล้ามเนื้อสามารถเพิ่มระบบไหลเวียนตรงตำแหน่งกระดูกที่หัก หรือเลาะกล้ามเนื้อที่ไม่รุนแรง ซึ่งจำเป็นต่อการสมานกระดูก
การเลือกใช้เทคนิคการผ่าตัดที่มีการเลาะเยื่อหุ้นกระดูก หรือเลาะกล้ามเนื้อที่ไม่รุนแรง รักษาระบบเลือดที่หล่อเลี้ยงกระดูก และเติม Bone graft บริเวณที่มีการสูญเสียกระดูก เพื่อเสริมการสมานของกระดูก นอกจากนี้การดามกระดูกที่หักตามข้อบ่งชี้และเลือกใช้วัสดุที่เหมาะสม เพื่อยึดดามดระดูกที่หักให้แข็งแรงตามเทคนิคมาตรฐาน
นพ.ธวัช ประสาทฤทธา
ศูนย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลไทยนครินทร์