ไลฟ์สไตล์

หลวงพ่อฉุยหลวงพ่อแดงเหรียญเหนียวพุทธคุณสูงแห่ง'เมืองเพชรบุรี

หลวงพ่อฉุยหลวงพ่อแดงเหรียญเหนียวพุทธคุณสูงแห่ง'เมืองเพชรบุรี

08 ก.พ. 2559

หลวงพ่อฉุยหลวงพ่อแดงเหรียญเหนียวพุทธคุณสูงแห่ง'เมืองเพชรบุรี' : เรื่องและภาพ ไตรเทพ ไกรงู

              การจัดเหรียญเบญจภาคีพระสงฆ์นั้น เดิมทีประกอบด้วย ๑.เหรียญหลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง กทม. สร้างปี ๒๔๖๗ ๒.เหรียญหลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติการาม จ.พระนครศรีอยุธยา สร้างปี ๒๔๖๙ ๓.เหรียญหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า จ.ชัยนาท สร้างปี ๒๔๖๖ ๔.หลวงพ่อฉุย วัดคงคาราม จ.เพชรบุรี สร้างปี ๒๔๖๕ และ ๕.เหรียญหลวงพ่อพุ่ม วัดบางโคล่ กทม. สร้างปี ๒๔๗๗ ซึ่งปัจจุบันนี้เหรียญเหล่านี้มีค่านิยมหลักหลายๆ ล้าน

  หลวงพ่อฉุยหลวงพ่อแดงเหรียญเหนียวพุทธคุณสูงแห่ง\'เมืองเพชรบุรี
              แต่ปัจจุบันชุดเบญจภาคีเหรียญ มีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมไปบ้าง คือ เหรียญหลวงพ่อกลั่น จากอันดับสอง เลื่อนขึ้นไปอยู่อันดับหนึ่ง แล้วเหรียญหลวงปู่เอี่ยม ก็ลดลงมาอยู่อันดับสอง และเหรียญหลวงพ่อพุ่ม ซึ่งนับวันจะหาของไม่ค่อยมี จึงมีการเอาเหรียญหลวงปู่ขาว วัดหลักสี่ เหรียญพระครูบาศรีวิชัย วัดบ้านปาง หรือเหรียญหลวงพ่อฉุย วัดคงคาราม เหรียญใดเหรียญหนึ่งเข้าไปแทน
 
              อย่างไรก็ตามแม้ว่าเหรียญเบญจภาคีพระสงฆ์จะขึ้นชื่อว่ามีค่านิยมสูง แต่มีอยู่เหรียญหนึ่งที่สูงกว่า คือ หลวงปู่ไข่ อินฺทสโรภิกฺขุ (ไข่) หรือ หลวงปู่ไข่ วัดเชิงเลน รุ่นแรกสร้าง ปี ๒๔๗๓ สันนิษฐานว่าสร้างไม่เกิน ๗๐ เหรียญ ถือว่าเป็นเหรียญเนื้อทองแดงแพงสุดๆ ที่มีค่านิยมสูงถึง ราคา ๒๕ ล้านบาท เหตุผลที่ทำให้เหรียญรุ่นนี้มีค่านิยมสูงมาตั้งแต่อดีตนั้น เนื่องจากได้รับการถ่ายทอดจากนักเลงพระยุคก่อนๆ ว่า “เหรียญหลวงปู่ไข่ เป็นเหรียญในตำนาน ใครได้ครอบครองถือว่าเป็นสุดยอดของคนเล่นพระเหรียญ”

              “เหรียญปั๊มรูปเหมือนหลวงพ่อฉุย วัดคงคาราม พ.ศ.๒๔๖๕” อดีตเจ้าอาวาสวัดคงคาราม จ.เพชรบุรี เป็นเหรียญปั๊มรูปเหมือนรุ่นแรกและรุ่นเดียวที่สร้างในช่วงที่หลวงพ่อยังดำรงชีวิตอยู่ เพื่อแจกเป็นที่ระลึกในงานฉลองมณฑป วัดคงคาราม ซึ่งเป็นที่ประดิษฐาน “พระพุทธชินราชจำลอง” “พระพุทธชินสีห์จำลอง” และ “พระศรีศาสดาจำลอง” เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๕

              ลักษณะของเหรียญเป็นเหรียญปั๊มหูเชื่อม รูปไข่ เนื้อทองแดงรมดำ แม่พิมพ์ด้านหน้า รอบเหรียญแกะลวดลายดอกไม้ และโบประดับอย่างงดงาม ตรงกลางเป็นรูปเหมือนหลวงพ่อฉุยครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ภายในโบจารึกอักษรไทยด้านบนซ้ายว่า “พ.ศ.” ด้านบนขวาว่า “65” ด้านล่างซ้ายว่า “พระสุวร” และด้านล่างขวาว่า “รณมุณี”

              ส่วนแม่พิมพ์ด้านหลังเป็น “ยันต์ห้า” คล้ายยันต์กระบองไขว้ ภายในยันต์รอบนอกเป็นอักขระขอมอ่านว่า “นะ โม พุท ธา ยะ” ตรงกลางยันต์เป็นอักขระขอมอ่านว่า “สะ” แยกออกเป็น ๒ พิมพ์ คือ บล็อกโมมีไส้และบล็อกโมไม่มีไส้ โดยสังเกตที่ตัวอักขระขอมคำว่า “โม” ถ้ามีขีดขวางตรงกลางคือ “บล็อกโมมีไส้” ถ้าไม่มีคือ “บล็อกโมไม่มีไส้”

              ด้วยพุทธลักษณะเหรียญรุ่นแรก หลวงพ่อฉุย วัดคงคารามที่งดงามและพุทธคุณเป็นเลิศปรากฏ จึงนับเป็นพระเหรียญที่ได้รับความนิยมสะสมอย่างสูง แต่ค่อนข้างจะหาดูยากพอสมควร เนื่องจากผู้มีพระเครื่องของท่านไว้ครอบครองบูชาต่างก็หวงแหนมาก

              “หลวงพ่อฉุย” เป็นพระเกจิอาจารย์ผู้มีชื่อเสียงและเป็นที่เคารพศรัทธาของพุทธศาสนิกชน โดยเฉพาะชาวเพชรบุรี เนื่องด้วยท่านเป็นผู้พัฒนาวัดคงคารามและสร้างความเจริญรุ่งเรืองมาจนเป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงมาจนถึงปัจจุบัน และวัตถุมงคลที่ท่านสร้างล้วนเป็นที่นิยมและแสวงหาทั้งสิ้น

              “วัดคงคาราม” เป็นวัดเก่าแก่สร้างมาไม่ต่ำกว่า ๒๐๐ ปี ได้รับการยกย่องและแต่งตั้งเป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร แห่งแรกของ จ.เพชรบุรี กล่าวกันว่าพระเถระชาวเพชรบุรีที่เข้ามามีชื่อเสียงในกรุงเทพฯ หลายรูป จะมีความเกี่ยวข้องกับวัดคงคาราม อาทิ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม) และพระโพธิวงศาจารย์ (ผ่อง) เป็นต้น

              ขอบคุณภาพพระจากรังของนายสุขธรรม ปานศรี หรือ “เฮียกุ่ย รัชดา” เจ้าของศูนย์พระรัชดา และเจ้าของ www.soonpraratchada.com โดยระหว่างวันที่ ๒๐-๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ ตั้งแต่ ๐๙.๐๐-๑๗.๐๐ น. “เฮียกุ่ย” จะจัดงานโชว์พระทองคำในรังทั้งหมด เหรียญพระคณาจารย์ ยุคเก่า อายุกว่า ๑๐๐ ปี และชุดเบญจภาคีเหรียญ ทองคำ ชึ่งเป็นสุดยอดของพระเครื่อง (ค่าเข้าชม ๒๐๐ บาท) พร้อมกับนำเหรียญหลวงปู่ทวด ทองคำรุ่น ๓ ออกมาให้เช่าบูชาราคาเหรียญละ ๕๙๙,๙๙๙ บาท


หลวงพ่อเเดง วัดเขาบันไดอิฐ

              “พระครูญาณวิลาศ” หรือหลวงพ่อเเดง อดีตเจ้าอาวาสวัดเขาบันไดอิฐ เป็นพระที่มีวิทยาคมขลังเป็นที่นับถืออย่างมาก ในช่วง พ.ศ.๒๔๗๙ ได้เกิดโรคระบาดอย่างร้ายแรงขึ้นที่ จ.เพชรบุรี ทำให้วัวควายล้มตายลงเป็นอันมาก ท่านได้ปลุกเสกผ้ายันต์สีแดง ขนาดเท่าผ้าเช็ดหน้า ให้ชาวบ้านนำไปผูกไว้ที่ปลายไม้ไผ่ แล้วปักไว้ที่คอกวัวควาย คอกใดที่ผ้ายันต์ของท่านมาปักไว้ วัวควายของคอกนั้นจะไม่เป็นโรคติดต่อ

              นับแต่นั้นเป็นต้นมาชื่อเสียงของหลวงพ่อเเดงจึงโด่งดังเป็นที่รู้จักมากขึ้น มีผู้คนไปขอของดีไว้ป้องกันตัวจากท่านมิได้ขาด ท่านจึงทำผ้ายันต์และตะกรุดไว้แจก ผู้ที่นำตะกรุดและผ้ายันต์ของท่านไปบูชามักจะประสบกับอิทธิปาฏิหาริย์อยู่เสมอ

              อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๐๒ ท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์พร้อมรับพระราชทานสัญญาบัตรพัดยศ ลูกศิษย์จึงฉลองสมณศักดิ์ให้ท่าน ในการนี้ท่านได้สร้างเหรียญขึ้นเพื่อแจกจ่ายแก่ผู้มาร่วมงาน นับเป็นเหรียญรุ่นที่หนึ่งของท่าน เป็นเหรียญทองแดงรมดำ จำนวน ๑๕,๐๐๐ เหรียญ และเป็นเหรียญเงินจำนวน ๘๓ เหรียญ เท่าจำนวนอายุของท่านที่ย่างเข้าปีที่ ๘๓

              ตัวเหรียญเป็นรูปวงรีคล้ายรูปไข่ ส่วนกว้างที่สุดประมาณ ๒.๖ เซนติเมตร สูงสุดประมาณ ๓.๔ เซนติเมตร เนื้อโละทำด้วยทองแดงรมดำ ด้านหน้าบนซ้ายมือมีอักษรปั๊มนูนสูงว่า “พ.ศ. ๒๕๐๓” ด้านขวามือมีอักษรเขียนว่า “อายุ ๘๒ ปี” ส่วนด้านล่างเขียนว่า “พระครูญาณวิลาศ (แดง)”

              ส่วนด้านหลังลงหัวใจพระพุทธคุณต่างๆ ไว้ด้วยภาษาขอม ตรงกลางด้านหลังลงยันต์สี่ มีหัวขมวด เป็นเหรียญที่ดังมาก พุทธคุณมีประสบการณ์สูงทาง คงกระพันชาตรี แคล้วคลาด ปัจจุบันหายากมากๆหลังจากที่เหรียญรุ่นหนึ่งสร้างประสบการณ์ต่างๆ มากมาย จนกิตติศัพท์ความศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เลื่องลือ ผู้คนต่างพากันมาขอเหรียญร่วมทำบุญ จนเหรียญรุ่นหนึ่งหมดไปจากวัด จึงมีการสร้างเหรียญรุ่นสอง สร้างขึ้นประมาณปี พ.ศ.๒๕๐๗

              ลักษณะองค์หลวงพ่อและอักขระเลขยันต์เหมือนกับเหรียญรุ่นหนึ่ง แต่ต่างกันที่คำว่า “เอ” (ซึ่งเป็นอักษรขอมตำแหน่งล่างสุด) ของรุ่นหนึ่งจะมีดูคล้าย “ฃ” แต่ของรุ่นสองดูคล้ายเลข “๘” เหรียญรุ่นสองนี้มีประสบการณ์แคล้วคลาดมากมายไม่แพ้รุ่นหนึ่งเลย ในการสร้างรุ่นที่สองนี้ท่านได้สั่งทำเหรียญขนาดเล็กด้วยอัลปาก้า เพื่อสำหรับแจกแม่ครัวเรียกว่า “รุ่นแจกแม่ครัว” อีกด้วย นอกจากนี้แล้วในงานฉลองอายุท่านเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๐ วัดได้สร้างเหรียญขึ้นใหม่ โดยใช้ข้อความและตัวอักษร เหมือนรุ่นหนึ่งทุกอย่าง แต่ใบหน้าหลวงพ่อเปลี่ยนไป ในปีเดียวกันนี้มีพ่อค้าได้สร้างเหรียญขึ้นอีกรุ่นเพื่อนำไปให้ท่านปลุกเสก คราวนี้ได้เปลี่ยนใบหน้าหลวงพ่อให้ชราภาพมากขึ้น ข้อความด้านหน้าเหรียญด้านบนปั๊มคำว่า “พ.ศ.๒๕๑๐ ที่ระลึกอายุครบรอบ ๘๙ ปี” ด้านล่างปั๊มคำว่า “พระครูญาณวิลาศ (แดง)” อักษรเลขยันต์ด้านหลังเหมือนรุ่นหนึ่ง แต่ได้ตอกภาษาจีนอ่านว่า “โจว” ไว้ที่ใต้ตัวอุ เหรียญรุ่นนี้มีเนื้อทองคำ นาค เงิน และทองแดงรมดำ เนื้อทองแดงมีจำนวน ๒,๐๐๐ เหรียญ

              พ.ศ.๒๕๑๑ ท่านมีอายุครบ ๙๐ ปี พล.ท.สำราญ แพทยกุล แม่ทัพภาคที่ ๑ ในขณะนั้น ซึ่งเป็นชาวเพชรบุรีโดยกำเนิด ได้ขอให้ท่านทำเหรียญขึ้นอีกรุ่นเป็นรูปอาร์ม โดยว่าจ้างให้กองกษาปณ์ กรมธนารักษ์ ออกแบบ แกะพิมพ์และปั๊มเหรียญรุ่นนี้ขึ้น โดยจำนวนที่สร้างคือเนื้อทองแดงมีจำนวน ๔๘,๐๐๐ เหรียญ ส่วนเนื้อเงินและทองคำ ตามจำนวนที่สั่งจอง เหรียญรุ่นนี้เรียกว่า “รุ่นแม่ทัพสร้าง” หรือ “เหรียญแม่ทัพ” และยังมีเนื้ออัลปาก้าอีกด้วย