
ชวนเที่ยว : ตะวันขึ้นที่... 'สามพันโบก'
07 ก.พ. 2559
ชวนเที่ยว : ตะวันขึ้นที่... 'สามพันโบก' : เรื่อง / ภาพ ... นพพร วิจิตร์วงษ์
แล้ง ... ใครๆ ก็ว่างั้น เพราะยังไม่ทันจะผ่านพ้นช่วงปีใหม่ ภัยหนาว ก็ได้ข่าวความแห้งแล้งที่นู่น ที่นี่ เสียแล้ว
แต่แล้งแบบนี้ พ่อเมืองอุบลฯ ดร.สมศักดิ์ จังตระกูล บอกว่า มาเถอะ ที่นี่มีแหล่งรองรับนักท่องเที่ยว ให้ได้มาหย่อนใจคลายร้อน เพราะความสวยงามบางครั้งก็ต้องอาศัยความแห้งแล้งเหมือนกัน เราเลยได้ไปเยี่ยม ไปชมความงาม ยามฤดูร้อน(แล้ง)มาเยือน จังหวะนี้ จะมีอะไรดีกว่าไปดูเกาะแก่ง และหาดทรายกว้างๆ ริมแม่น้ำโขง
จังหวัดอุบลราชธานีเป็นจังหวัดสุดท้ายของไทย ที่แม่น้ำโขงไหลผ่าน ก่อนจะลับหายผ่านไปในแผ่นดินลาว ที่นี่จึงมีแหล่งท่องเที่ยว พักผ่อนหย่อนใจคลายร้อนริมแม่น้ำอยู่หลายแห่ง โดยเฉพาะสี่อำเภอริมโขง ตั้งแต่โขงเจียม ขึ้นไปโพธิ์ไทร, นาตาล และเขมราฐ มีทั้งเกาะแก่ง ประติมากรรมหิน และหาดทรายกว้างใหญ่ จนบางทีลืมไปว่า ที่นี่ คือ ...อุบลราชธานี
วางเส้นทางท่องเที่ยวกันได้แล้ว ทริปของเราได้ไกด์กิตติมศักดิ์ นายอำเภอโพธิ์ไทร สุริยัน กิจสวัสดิ์ พาล่องไปตั้งแต่ อ.โขงเจียม จุดที่แม่น้ำมูลมาบรรจบกับแม่น้ำโขง ที่มองเห็นได้จากวัดถ้ำคูหาสวรรค์ และจุดที่แม่น้ำโขงโบกมือลาประเทศไทยเข้าแดนลาวไปที่บ้านเวินบึก
จริงๆ ในเส้นทางจากโขงเจียมเลาะขึ้นไปถึงเขมราฐ มีแหล่งท่องเที่ยวไม่น้อย สลับกันไปตามฤดูกาล ตั้งแต่ช่วงปลายฝนต้นหนาว จะมีน้ำตกสวยๆ หลายแห่ง อาทิ น้ำตกแสงจันทร์(ลงรู), น้ำตกสร้อยสวรรค์, น้ำตกทุ่งนาเมือง หรือจะแหล่งดอกไม้ดิน ที่ดงนาทาม, ภาพเขียนสีอายุนับพันปีที่ไปได้ทุกฤดูกาล ที่ผาแต้ม และช่วงฤดูร้อน น้ำในแม่น้ำโขงลดระดับลง ก็จะเป็นคิวของสามพันโบก รวมถึงน้องใหม่ที่เปิดตัวให้ชม “แก่งหินงาม หาดชมดาว” ที่อำเภอนาตาล และ หาดทรายสูง ที่ อ.เขมราฐ
แม้ที่ตั้งของ สามพันโบก จะอยู่ที่บ้านโป่งเป่า ต.เหล่างาม อ.โพธิ์ไทร แต่เราก็ไปถึงบ้านสองคอน เพื่อขึ้นเรือที่ หาดสลึง จะได้ล่องเรือไปชมจุดต่างๆ นอกเหนือจากสามพันโบกด้วย เพราะถ้าจะชมสามพันโบกอย่างเดิม จากจุดจอดรถก็สามารถเดินชมได้ แต่ถ้าจะไปยังจุดไฮไลท์อื่นๆ ก็ต้องล่องเรือ เพราะหินท้องน้ำบริเวณฝั่งประเทศไทยที่โผล่ให้เห็น ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 2.35 ตารางกิโลเมตร
ครั้งนี้ ...เราจะไปดูตะวันโผล่พ้นขอบฟ้าและคุ้งน้ำ ที่สามพันโบก เพื่อไม่ให้ต้องตื่นแต่ตี 3-4 เราเลยเลือกไปหาที่พักแถวบ้านสองคอน พอตีห้าครึ่ง ก็ออกมาขึ้นเรือที่หาดสลึง เรือที่ติดต่อไว้มารอรับอยู่แล้ว (ถ้าให้ดีเตรียมอาหารเช้าไปด้วยจะเที่ยวได้เพลินมากขึ้น)
ลงเรือตั้งแต่ฟ้ายังมืด ไม่ออกเรือได้ไม่นาน แสงขอบฟ้าก็ระบายสีชมให้ได้เห็นแล้ว ราวๆ 10 กว่านาที ก็ถึงจุดจอดเรือให้ขึ้นเที่ยวชมสามพันโบก เรือจอดเทียบกับแก่งหินขึ้นไปไม่ไกลก็เจอกับมุมถูกใจ เพราะเห็นแนวขอบฟ้าระบายสีเข้ม ขณะที่ด้านหน้าเป็น หินรูปหัวสุนัข เฝ้ารอจนฟ้าเปิด ให้ดวงอาทิตย์ดวงโตค่อยๆ โผล่พ้นขอบฟ้าขึ้นมา

ชื่อของหินหัวสุนัขไม่ได้มาง่ายๆ มีตำนานเล่าขานกันว่า สมัยก่อนมีเจ้าเมืองเป็นผู้เรืองอำนาจประทับใจความงามของสามพันโบก จึงได้ส่งเสนามาศึกษาเพิ่มเติม เมื่อมาแล้วพบขุมทรัพย์เป็นทองคำ จึงให้สุนัข เฝ้าทางเข้าจนกว่าเจ้าเมืองจะออกมา เมื่อเจ้าเมืองได้เห็นสมบัติเกิดความโลภ กลัวเสนาจะได้ส่วนแบ่งจึงได้ออกไปทางอื่น สุนัขผู้ภักดีก็เฝ้ารออยู่ตรงนั้นจนตายในที่สุด แต่ก็มีเรื่องเล่าที่ต่างออกไปว่า ลูกพญานาคที่อยู่ในลำน้ำโขง ต้องการขุดช่องระบายน้ำเพื่อให้เกิดลำน้ำอีกสายหนึ่ง และได้มอบหมายให้สุนัขเป็นผู้เฝ้าทางระหว่างการขุดจนกระทั่งสุนัขได้ตายลงกลายเป็นหินรูปสุนัขในที่สุด ก็แล้วแต่ใครจะได้ยินมาอย่างไหน
จากสามพันโบก ล่องเรือต่อไปอีกไม่เกิน 20 นาที ถึง หาดหินสี หรือ ทุ่งหินเหลื่อม เรียกตามชื่อที่ตั้งโดยท้องถิ่น จุดนี้อยู่ในเขตบ้านคำจ้าว ตำบลเหล่างาม อำเภอโพธิ์ไทร จากหาดทรายริมตลิ่ง เดินไป เจอกับทุ่งหิน บางก้อนมีผิวมันวาว เป็นสีน้ำตาล ยิ่งถ้าสะท้อนแสงอาจจะได้เห็นเป็นสีส้ม จากการศึกษา และเผยแพร่เป็นข้อมูลออกมาระบุว่า หินสีที่พบ ประกอบด้วยคาลซิโดนี จัดอยู่ในกลุ่มซิลิก้า เป็นหลัก มีความวาวแบบขี้ผึ้ง หน้าแปลกตรงที่ หินบางก้อน มีจุดสีเป็นรูปแจกัน ราวกลับว่ามีใครไปสลักไว้ บางก้อนคนก็มองว่าเปฌนรูปหัวจระเข้ก็ว่ากันไป
ตะวันเริ่มสูงขึ้น ท้องเริ่มร้องอุทรณ์ แต่มาถึงที่นี่ทั้งที พลาดไม่ได้กับ หาดหงส์ ที่เพิ่งจะเปิดตัวไปไม่นาน แต่ก็เรียกเสียงฮือฮาได้มาก เพราะเป็นเนินทรายกว้างๆ จากฝั่งเรือจอดเทียบ เดินขึ้นเนินไปถึงอีกฝั่ง ยิ่งต้องตะลึง เพราะที่นี่ราวกับเป็นทะเลทราย มีหน้าผาทราย ใครมาถึงที่นี่เป็นต้องกระโดดเล่นไม่ว่าจะเด็ก หรือผู้ใหญ่ ทรายนุ่มๆ รองรับแรงกระแทกได้ดี เล่นกันได้พักใหญ่ๆ ค่อนไปล่องเรือชมวิวให้สบายใจ แล้วเราก็เลยขึ้นไปถึงจุดที่แคบที่สุดของแม่น้ำโขง โดยฝั่งไทย-ลาว ห่างกันแค่ 56 เมตร เรียกกว่า ปากบ้อง
ระหว่างทางไปปากบ้อง ผ่าน ผาหินศิลาเลข ที่มีการสลักตัวเลขบอกระดับน้ำไว้กับหน้าผาหิน ตั้งแต่สมัยฝรั่งเศสนำเรือกลจักรไอน้ำขนส่งสินค้าระหว่าง หลี่ผี-เวียงจันทน์ เพื่อความปลอดภัยในการเดินเรือ เนื่องจากหน้าที่น้ำหลากบริเวณนี้จะมีแนวหินโสโครกจำนวนมาก ที่ปากบ้องนี่เอง โดยการจับปลาที่ว่านี้ ไม่ต้องใช้เหยื่อตกเบ็ดหรือทอดแห แต่ใช้สวิงขนาดใหญ่ด้ามยาวคล้ายสวิงจับแมลงขนาดใหญ่คอยตักปลาที่วายจากเวินน้ำกว้างจะแหวกว่ายผ่านปากบ้องทวนกระแสน้ำเพื่อขึ้นไปวางไข่ได้ร่วมกันจัดงาน"
มาขึ้นฝั่งช่วงสาย เห็นหาดสลึง กว้างใหญ่ น้ำโขงลดระดับลงไปมาก จะมีหาดทรายที่สวยงาม เหมาะแก่การพักผ่อนหย่อนใจเป็นอย่างยิ่ง มีเรื่องเล่าขานว่า ชื่อหาดสลึง เกิดจากการที่คนมาเล่นน้ำช่วงสงกรานต์นานมาแล้ว ในสมัยที่ใช้เหรียญสลึง 1 สลึงก็ซื้อควายได้ 1 ตัว พอคนมาเล่นน้ำกันมากๆ ก็เกิดการเดิมพันกันขึ้น ว่า กลางเดือนเมษายน เวลาเที่ยงวัน ถ้าใครสามารถเดินหรือวิ่งบนหาดได้ตลอดแนว (ยาว 860 เมตร) โดยไม่แวะพัก จะได้รับเงินเดิมพัน 1 สลึง (แต่ไม่เคยมีข่าวว่าใครได้รับรางวัลนี้เลย) ชาวบ้านจึงขนานนามหาดแห่งนี้ว่า “หาดสลึง”
จากสามพันโบก ไปอำเภอนาตาล ยังมีแนวแห่งหินริมแม่น้ำโขง ที่เพิ่งเปิดตัวใหม่ๆ “ แก่งหินงาม หาดชมดาว” มีแก่งหินที่เกิดจากธรรมชาติ เป็นประติมากรรมรูปต่างๆ ถึง 11 จุด ตามแนวแม่น้ำโขง ตรงนี้ไม่ต้องล่องเรือ แค่เดินไกลหน่อย เป็นแก่งหินรูปทรงแปลกตา ที่เกิดจากการกัดกร่อนของธรรมชาติ โดยเฉพาะแลนด์มาร์กของที่นี่ จุดที่ 7 แก่งหินงาม, ผาวัดใจ, ผาเดียวดาย และจุดที่ 11 หาดชมดาว ที่เป็นหาดทรายขาว สวยงาม ที่นี่ สวยทั้งยามเย็น ที่แสงแดดอ่อนทอดตัวลงจับก้อนหินใหญ่ หรือใครจะมาดูอาทิตย์ขึ้นที่นี่ก็สวยงามไม่แพ้สามพันโบก จากจุดเริ่มต้น (ลานจอดรถ) เดินไปสุดปลายหินก็จะถึงปากดบ้อง ที่ต้องล่องเรือมาชมจากฝั่งสามพันโบกเช่นกัน
ก่อนกลับ แวะไปชมแหล่งท่องเที่ยวใหม่อีกแห่ง ที่ หาดทรายสูง ของบ้านลาดเจริญ ต.นาแวง อ.เขมราฐ ที่นี่จัดเป็นแหล่งท่องเที่ยวน้องใหม่ใสบริสุทธิ์ ของอุบลราชธานีเลยก็ว่าได้ หาดทรายสูง เป็นหาดทรายน้ำจืด(น้ำโขง) ตั้งอยู่บนโค้งลำน้ำโขง ยามน้ำโขงลดจะเกิดแนวหาดทรายยาวขาวเนียนทอดตัวขนาบไปกับลำน้ำโขงยาวร่วมร้อยเมตร ก่อนจะไปบรรจบกับแก่งหิน โขดหิน ตอนนี้เริ่มทำแพริมน้ำรองรับนักท่องเที่ยว ที่นี่นอกจากธรรมชาติของหาดทราย แก่งหินแล้ว ยังมีตัวหนังสือแกะสลักที่อยู่ตามก้อนหิน เป็นทั้งอักษรจีน รูปเรือ รูปคน
รูปทรงของประติมากรรมของก้อนกินที่ถูกขัดเกลาจากธรรมชาติของท้องน้ำแม่น้ำโขงจะเปลี่ยนแปลงไปน้อยมาก แต่หากว่าไปคนละช่วงเวลา ก็ให้ความรู้สึกที่แปลกแตกต่างออกไป
----------------------
(ชวนเที่ยว : ตะวันขึ้นที่... 'สามพันโบก' : เรื่อง / ภาพ ... นพพร วิจิตร์วงษ์)