
พระกริ่งปวเรศวัดบวรฯกะไหล่ทองพิมพ์ห่มคลุมพ.ศ.๒๔๓๔
พระกริ่งปวเรศ วัดบวรฯกะไหล่ทอง พิมพ์ห่มคลุม พ.ศ.๒๔๓๔ : พระองค์ครู เรื่อง และ ภาพ ไตรเทพ ไกรงู
ประวัติการสร้างพระกริ่งปวเรศ วัดบวรนิเวศ สร้างครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.๒๔๐๔ โดยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ วัดบวรนิเวศวิหาร สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๓ โปรดให้สร้างพระกริ่งปวเรศขึ้น เพื่อทดแทน พระกริ่งปวเรศทองคำที่หายไปเมื่อ พ.ศ.๒๔๐๓ ในพระราชพิธีมุรธาภิเษกและพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์ (ร.๔) และขณะรัชกาลที่ ๕ พระชนมายุ ๙ พระชันษา เพื่อใช้ในพระราชพิธีเจริญน้ำพระพุทธมนต์ พิธีรับพระสุพรรณบัฏ (พระราชนิพนธ์สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ หน้า ๕๐-๕๑) จำนวนการสร้าง ๓ องค์
ครั้งที่ ๒ เมื่อ พ.ศ.๒๔๐๙ ในหนังสือตำนานวัดบวรนิเวศ หน้า ๑๔๗ บันทึกไว้ว่า สร้างเพื่อถวายรัชกาลที่ ๔ ในพระราชพิธีที่รัชกาลที่ ๕ ทรงผนวชเป็นสามเณร เป็นที่ระลึกถวายรัชกาลที่ ๔ และรัชกาลที่ ๕ จำนวนการสร้าง ๙ องค์ ในปีนั้นกำลังของปีตกเลข ๙ พอดี
ครั้งที่ ๓ เมื่อ พ.ศ.๒๔๑๑ ในพระราชนิพนธ์พงศาวดาร ร.๕ หน้า ๓๐-๓๔, หน้า ๔๗, และพระราชพิธีโสกันต์ หน้า ๕๔-๕๕ บันทึกไว้ว่าสร้างเพื่อเป็นอนุสรณ์ถวายรัชกาลที่ ๕ พระชนมายุ ๑๕ พระชันษา ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ขึ้นครองราชย์สมบัติ โดยมีผู้สำเร็จราชการเจ้าพระยาสีสุริยวงศ์ (ช่วง บุญนาค) กริ่งรุ่นนี้ไม่มีเส้นพระศก และไม่มีส่วนผสมของเนื้อพระพุทธชินสีห์แบบครั้งที่ ๑ และ ๒ เป็นเนื้อสัมฤทธิ์ มี ๓ ชนิด เนื้อสัมฤทธิ์เดช ออกสีแดงแก่ อ่อน, เนื้อสัมฤทธิ์โชติ ออกสีขาว หรือขาวจัด เนื้อสัมฤทธิ์เดช ออกสีเหลือง ส่วนจำนวนการสร้างไม่ได้กล่าวไว้
ครั้งที่ ๔ เมื่อ พ.ศ.๒๔๑๖ ในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวันในรัชกาลที่ ๕ พ.ศ.๒๔๑๑-พ.ศ.๒๔๑๖ คณะกรรมการเผยแพร่เอกสารประวัติศาสตร์ สำนักนายกรัฐมนตรีจัดพิมพ์เผยแพร่ พ.ศ.๒๕๑๖ หน้า ๑๒๑-๑๒๙ บันทึกไว้ว่า รัชกาลที่ ๕ ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ และบรมราชาภิเษกครองราชย์เป็นครั้งที่ ๒ กริ่งรุ่นนี้ไม่มีการบรรจุลูกกริ่งไว้ กรมพระยาปวเรศ ทรงออกแบบเป็น ๒ แบบ หล่อในคราวเดียวกัน เพื่อถวายในพระราชพิธีทรงผนวช และบรมราชาภิเษกขึ้นครองราชย์สมบัติ สันนิษฐานว่าเป็นกริ่งในเก๋งจีนอยู่ที่วัดบวรนิเวศ ส่วนจำนวนการสร้างไม่ได้กล่าวไว้
ครั้งที่ ๕ เมื่อ พ.ศ.๒๔๒๖ ในบันทึกสงครามปราบฮ่อสมัย ร.๕ ม.ร.ว.แสงโสม เกษมศรี ประวัติศาสตร์ไทย ปี ๒๕๐๓ ระบุว่า เรียกกริ่งปราบฮ่อ ร.๕ กรมพระยาปวเรศไม่ได้เป็นผู้ออกแบบ ช่างสิบหมู่และโหรหลวงเป็นผู้ออกแบบ ลักษณะ “ปราบฮ่อ” อยู่บนฐานชั้น ๒ ติดกับพระโสณี (ตะโพก) ด้านหลัง “ร.๕” ตัว “ร” หล่อติดระหว่างกลางฐาน ๑ และ ๒ ด้านซ้ายของกลีบบัวหลัง เลข “๕” หล่อติดแนวเดียวกันทางด้านขวาของกลีบบัวหลัง จำนวนการสร้างไม่ได้กล่าวไว้
สร้างครั้งที่ ๖ สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๔๓๔ ในบรรณานุกรมหอสมุดแห่งชาติ มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย หน้า ๕ วรรค ๒ บันทึกไว้ว่า กรมพระยาปวเรศไม่ได้ออกแบบ จัดสร้างเพื่อเป็นอนุสรณ์ทรงได้รับมหาสมณุตมาภิเษก ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ ๘ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ออกแบบโดยช่างสิบหมู่ บรมวงศานุวงศ์ และไวยาวัชกรวัดบวรนิเวศ สมัยนั้นจึงมีหลายแบบพิมพ์ทรง บางแบบใช้แม่พิมพ์เก่าก็มี โลหะก็ไม่เหมือนกัน บางองค์ก็แบบพิมพ์ใหม่ รวมทั้งที่อยู่ในขันน้ำมนต์ และยอดไม้เท้าของพระองค์ท่าน จำนวนการสร้างไม่ได้กล่าวไว้ (กริ่งรุ่นนี้วัดสุทัศน์ได้จัดสร้างขึ้นในปี ๒๔๔๓ เรียก “พระกริ่งคู่แฝด” จะต่างกันตรงอุดกริ่ง)
ขอบคุณภาพ “พระกริ่งปวเรศ วัดบวร กะไหล่ทอง พิมพ์ห่มคลุม พ.ศ. ๒๔๓๔” จากนายสุขธรรม ปานศรี หรือ “เฮียกุ่ย” นักสะสมพระหลวงพ่อทวดชุดทองคำมานานกว่า ๑๐ ปี เจ้าของศูนย์พระรัชดา และเจ้าของ www.soonpraratchada.com โดยระหว่างวันที่ ๒๐-๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ ตั้งแต่ ๐๙.๐๐-๑๗.๐๐ น. “เฮียกุ่ย” จะจัดงานโชว์พระทองคำในรังทั้งหมด ค่าเข้าชม ๒๐๐ บาท