ไลฟ์สไตล์

หลังข้อตกลงปารีส...ความหวังในการหยุดวิกฤติโลกร้อนอยู่ที่ไหน?

หลังข้อตกลงปารีส...ความหวังในการหยุดวิกฤติโลกร้อนอยู่ที่ไหน?

31 ม.ค. 2559

หลากมิติเวทีทัศน์ : หลังข้อตกลงปารีส...ความหวังในการหยุดวิกฤติโลกร้อนอยู่ที่ไหน? : โดย...อารียา ติวะสุระเดช และ ฝ้ายคำ หาญณรงค์ / ภาพ...ฝ้ายคำ หาญณรงค์

 
                      ข้อตกลงปารีสที่เกิดขึ้นจาก การประชุมภาคีกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ ครั้งที่ 21 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส (UNFCCC COP21) ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของโลกในการร่วมมือกันจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วยแต่ละประเทศสมาชิกต่างตระหนักว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือวิกฤติโลกร้อน เป็นปัญหาเร่งด่วนที่ไม่สามารถล่าช้าได้อีกต่อไป และจำเป็นต้องจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นเกิน 1.5-2 องศาเซลเซียส ภายในสิ้นศตวรรษนี้
 
                      ประเทศไทยเองก็ตระหนักถึงความโหดร้ายจากโลกร้อน ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เป็นตัวแทนประเทศไทยขึ้นกล่าวในช่วงผู้นำเปิดการประชุม คอป 21 เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2558 ว่า ประเทศไทยตระหนักถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นจากโลกร้อน โดยเฉพาะความสำคัญในการปรับตัวเพื่อรับมือกับน้ำท่วมในประเทศที่มีความสูงเหนือระดับน้ำทะเลต่ำ ภัยแล้งและสงครามแย่งชิงน้ำที่จะเพิ่มภาระให้ภาคเกษตรอย่างมาก
 
                      ที่น่าภาคภูมิใจคือ ไทยเองก็ได้แสดงเจตจำนงร่วมแก้ปัญหาโลกร้อน ด้วยการประกาศเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นสองช่วง คือช่วงที่หนึ่ง ก่อนปี พ.ศ. 2563 (NAMAs) ที่ 7-20% และช่วงที่สอง เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระหว่างปี พ.ศ. 2563-2573 (INDCs) ที่ 20-25% นับจากระดับที่ปล่อยปกติ (Business as Usual/BAU) และไทยก็กำลังพิสูจน์ให้เห็นว่า จะดำเนินการได้ตามเป้าหมายในระยะแรก ดังที่ ประเสริฐ ศิรินภาพร ผู้อำนวยการสำนักงานประสานการจัดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แห่งสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ส.ผ.) ชี้แจงว่า ขณะนี้ไทยสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้แล้ว 4% และคาดว่าจะลดได้มากกว่าเป้าหมายระยะแรกคือ 7% ก่อนปี 2563 นับจากนี้ไป ประเทศไทยจะสามารถช่วยลดโลกร้อนได้แค่ไหน เป็นสิ่งที่สังคมจะต้องช่วยกันกระตุ้นและจับตาต่อไป
 
                      อย่างไรก็ตาม หากถามว่าข้อตกลงปารีสจะสามารถแก้วิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในตอนนี้ได้หรือไม่ สิ่งที่เราต้องรับรู้ก็คือ แม้ข้อตกลงฯ จะเชิญชวนทุกประเทศทั่วโลกยื่นคำสัญญาว่าจะช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่าไหร่ แต่เมื่อรวบรวมเป้าหมายที่ทุกประเทศได้ให้คำมั่นสัญญาไปแล้วในขณะนี้ ก็ยังไม่เพียงพอที่จะป้องกันไม่ให้โลกร้อนขึ้นเกิน 2 องศาได้ อีกทั้งเป้าหมายของแต่ละประเทศในการลดก๊าซเรือนกระจกภายใต้ข้อตกลง ก็เป็นไปโดยสมัครใจ ซึ่งไม่สามารถบังคับใครให้ลดการปล่อยก๊าซฯ เพิ่มขึ้นได้ เราจึงยังต้องช่วยกันผลักดันให้รัฐบาลทุกประเทศเพิ่มเป้าที่ตัวเองตั้งไว้โดยเร็วก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป
 
                      ตัวแปรสำคัญที่สุดในการตอบว่า มนุษย์จะหยุดวิกฤติโลกร้อนได้หรือไม่ คือเชื้อเพลิงฟอสซิล ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีการคำนวณโดยสถาบันวิจัยและองค์กรต่างๆ ทั่วโลกในเรื่องนี้ ที่สรุปได้ว่า หากเราเผาถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ ทั้งหมดที่มนุษย์ค้นพบแล้ว จะปล่อยคาร์บอนเกินกว่าปริมาณที่ควรปล่อยเพื่อรักษาอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 2 องศาถึงประมาณ 3 เท่า นั่นหมายความว่า เราไม่สามารถพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลในการสร้างโลกอนาคตได้อีกต่อไป และนี่คือข้อเท็จจริงที่น่าเป็นห่วง เพราะเรามีเชื้อเพลิงฟอสซิลอยู่มากเกินไป และเรายังเคยชินกับการใช้มันเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมมนุษย์
 
                      ในอีกแง่มุมหนึ่ง ข้อตกลงปารีส ไม่ใช่สิ่งเดียวที่เราจะฝากความหวังในการแก้ปัญหาเรื่องโลกร้อน และเมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ เรายิ่งไม่ควรฝากความหวังไว้กับมัน แล้วเราควรฝากความหวังไว้กับอะไร ?
 
                      สิ่งที่เรามักมองข้ามไปคือ มีประชาชนจำนวนมากที่เริ่มลงมือปกป้องสภาพภูมิอากาศ ป้องกันการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมานานแล้ว ประชาชนเหล่านี้ คือประชาชนรากหญ้าที่กำลังต่อสู้เพื่อรักษาผืนดินอันเป็นบ้านและถิ่นฐานทำมาหากิน จากโครงการขุดเจาะถลุงใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เช่น เหมืองถ่านหิน เหมืองทอง โรงไฟฟ้าถ่านหิน และการบุกรุกป่าไม้ ฯลฯ พวกเขาเหล่านี้เป็นกลุ่มคนที่กำลังปกป้องธรรมชาติ หยุดการปล่อยคาร์บอนเพิ่มเติมโดยการพิทักษ์ให้ฟอสซิลยังคงอยู่ใต้ดิน พวกเขาคือ “ผู้ปฏิบัติการหยุดโลกร้อนตัวจริง”
 
 
หลังข้อตกลงปารีส...ความหวังในการหยุดวิกฤติโลกร้อนอยู่ที่ไหน?
 
 
                      ยกตัวอย่าง เช่น ชาวบ้านที่แม่เมาะ จ.ลำปาง ที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองและโรงไฟฟ้าถ่านหิน แม้โครงการจะดำเนินการมาแล้วกว่า 40 ปี แต่ชาวบ้านแม่เมาะก็ยังเดินหน้าเรียกร้องผู้รับผิดชอบต่อผลกระทบทางลบ ต่อวิธีทำมาหากิน สุขภาพ และวิถีชีวิตที่พวกเขาต้องเผชิญ โดยการฟ้องร้องหน่วยงานราชการไทยให้รับผิดชอบมากขึ้น และแม้คดีของพวกเขาจะยืดเยื้อยาวนานกว่า 10 ปี ในที่สุด ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาเมื่อปีที่ผ่านมาว่า กฟผ. ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องควบคุมการปล่อยมลพิษอากาศซึ่งทำลายสุขภาพประชาชนและสิ่งแวดล้อม
 
                      แม้ว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นตัวการสำคัญของภาวะโลกร้อน จะยังไม่ถือเป็นมลพิษอากาศตามกฎหมายไทย และไม่ถูกพูดถึงในคำฟ้องนั้น แต่การยืนหยัดต่อสู้อันยาวนานของชาวบ้านแม่เมาะ เป็นตัวอย่างและแรงบันดาลใจอันมีชีวิตและความรู้สึก ที่ทำให้ผู้คนมากมายทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน ตระหนักถึงผลกระทบจากพลังงานถ่านหิน ต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ เศรษฐกิจ และวิถีชีวิตของคนท้องถิ่น ในขณะเดียวกัน ชาวบ้านอีกหลายพื้นที่ ก็กำลังลุกขึ้นมาหยุดการเผาไหม้ถ่านหินเพิ่ม เช่น ชาวบ้านเทพา ที่ จ.สงขลา ซึ่งกำลังต่อสู้กับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาขนาด 2,200 เมกะวัตต์ ชาวบ้านที่เขาหินซ้อน จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งเคลื่อนไหวปกป้องพื้นที่เกษตรและแหล่งน้ำ จากการตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อนขนาด 600 เมกะวัตต์
 
                      รวมทั้งชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ที่ อ.วังสะพุง จ.เลย ซึ่งยืนหยัดคัดค้านการขุดเจาะเหมืองทองเพิ่มเติมในพื้นที่เกษตรและต้นน้ำแม่น้ำเลย อีกทั้งยังผลักดันให้มีการฟื้นฟูลำห้วยที่โดนมลพิษจากเหมืองทองปนเปื้อน จนสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเลยต้องออกมาประกาศห้ามชาวบ้านใช้น้ำ หลังจากกรมควบคุมมลพิษและกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ตรวจพบสารปนเปื้อนในแหล่งน้ำ อาทิ สารหนู แมงกานีส แคดเมียม สูงเกินเกณฑ์มาตรฐานน้ำผิวดินและน้ำใต้ดิน และเกณฑ์คุณภาพน้ำบริโภคกรมอนามัย แม้จะไม่ใช่การยับยั้งอุตสาหกรรมที่ปล่อยคาร์บอนมหาศาลโดยตรงอย่างโรงไฟฟ้าถ่านหิน แต่ก็เป็นการแสดงพลังอย่างแข็งขันเพื่อปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อลูกหลาน
 
                      ประเทศไทยยังโชคดีที่ยังมีทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมาก ยังมีพื้นที่ป่าและแหล่งอาหารอีกมากมายที่ชุมชนคงรักษาไว้ และมีชาวบ้านที่ตระหนักถึงสิทธิในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนที่เขารักและห่วงใย เราจึงมีความหวังที่จะเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำด้านการลดวิกฤติโลกร้อน และสามารถที่จะเป็นตัวอย่างในการปกป้องสิ่งแวดล้อมในสังคมอาเซียนเช่นกัน
 
                      ผลพวงที่สำคัญที่สุดของการขับเคลื่อนเพื่อปกป้องชุมชนและทรัพยากรธรรมชาติที่ผ่านมา คือเสียงที่ต้องการปกป้องโลก ไม่ได้หยุดอยู่แค่ในพื้นที่ แต่กำลังขยายไปถึงจังหวัดอื่นๆ และเสียงในโลกออนไลน์ ที่ผู้คนจำนวนมากเริ่มรับรู้ข้อเท็จจริงและข่าวสารมากขึ้น ส่งข้อมูลผ่านต่อให้เพื่อนฝูง รวมทั้งไปร่วมปฏิบัติการของชุมชน เช่น ไปให้กำลังใจกลุ่มชาวบ้านในการรณรงค์ เช่น เครือข่ายอันดามันที่มาแสดงจุดยืนคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่โดยการอดอาหารที่กรุงเทพฯ การร่วมลงชื่อรณรงค์ หยุดโฆษณาชวนเชื่อถ่านหินสะอาด ในโลกออนไลน์ หรือการร่วมลงชื่อไม่เห็นด้วยกับกระบวนการอีเอชไอเอ ของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อนที่จะทำลายแหล่งอาหารและเกษตรอินทรีย์
 
                      นับได้ว่า การต่อสู้อย่างยืนหยัดของชุมชนในพื้นที่ต่างๆ เป็นแนวหน้าที่ทำให้เราได้ยินเสียงสะท้อนซึ่งกำลังดังขึ้นเรื่อยๆ ของคนในสังคมไทย ว่าเราต้องการปกป้องสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และต้องการคุณภาพชีวิตที่ปลอดมลพิษสำหรับลูกหลานของเรา
 
                      กว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา แม้ว่าการประชุมเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อนภายใต้สหประชาชาติจะจัดขึ้นมาแล้วถึง 21 ครั้ง แต่ก็ยังล่าช้าเกินจะยับยั้งหายนะจากวิกฤติโลกร้อนหรือบรรเทาผลที่จะเกิดจากความวิปริตของธรรมชาติที่เกิดขึ้นแล้วได้อย่างทันท่วงที ถึงกระนั้นเราก็ยังไม่ควรสิ้นหวัง เพราะทางออกจากวิกฤติโลกร้อนอยู่ในมือเราทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สิ่งที่เราไม่ควรลืมคือ มีคนมากมายที่พร้อมจะต่อสู้เพื่อปกป้องผืนดินและชุมชน
 
                      บางที สิ่งที่ชาวบ้านซึ่งมักโดนตราหน้าว่าเป็น “พวกต่อต้านการพัฒนา” เหล่านี้กำลังทำอยู่ จริงๆ คือ “รักษาโลกให้ลูกหลานของพวกเราทุกคน”
 
 
 
 
---------------------------
 
(หลากมิติเวทีทัศน์ : หลังข้อตกลงปารีส...ความหวังในการหยุดวิกฤติโลกร้อนอยู่ที่ไหน? : โดย...อารียา ติวะสุระเดช และ ฝ้ายคำ หาญณรงค์ / ภาพ...ฝ้ายคำ หาญณรงค์)