ไลฟ์สไตล์

ทักษะอีเอฟพัฒนาสมองเด็กปฐมวัย

ทักษะอีเอฟพัฒนาสมองเด็กปฐมวัย

21 ม.ค. 2559

ทักษะอีเอฟพัฒนาสมองเด็กปฐมวัย : ภูดิศ เชื้อประดิษฐ์รายงาน

           สถาบันอาร์แอลจี (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป) ร่วมกับแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน และสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ส่งเสริมการอ่านช่วยพัฒนาทักษะสมอง EF (Executive Functions) ในเด็กปฐมวัย พัฒนาทักษะด้านสมองให้รู้จักการวางแผน การคิดวิเคราะห์ รู้จักการยับยั้งชั่งใจ รวมไปถึงการมุ่งมั่นให้ไปสู่เป้าหมายอย่างสำเร็จ การเตรียมพร้อมเด็กๆ ในศตวรรษที่ 21 ให้มีคุณลักษณะที่ดี

           สุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน กล่าวว่าอยากให้สังคม ให้พ่อแม่ หรือบุคคลที่ดูแลเด็กๆ ได้เข้าใจไปพร้อมๆ กันว่า การอ่านช่วยพัฒนาทักษะสมอง หนังสือที่ผ่านต้องเป็นหนังสือที่เด็กอ่านแล้วมีความสุข สนุก เพลิดเพลิน สมองของมนุษย์จะจดจำเฉพาะเรื่องที่กระทบผ่านอารมณ์เท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์เศร้าหมอง อารมณ์สะเทือนใจ โดยเฉพาะเรื่องของความสุขความรื่นรมย์ก็จะทำให้สมองทำงานได้ดีเป็นพิเศษ ปัจจุบันคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานของไทยอยู่อันดับที่ 7 ของอาเซียน และคุณภาพของระบบอุดมศึกษาอยู่อันดับที่ 8 การอ่านจึงเป็นการสร้างพื้นฐานให้แก่เด็กไทยให้สามารถมีคุณภาพในอนาคต

           ดร.นวลจันทร์ จุฑาภักดีกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การอ่านเพื่อพัฒนาสมอง คือทักษะที่จะคอยกำกับควบคุมตนเองไปสู่ความสำเร็จ ประกอบไปด้วย 2 ด้าน ด้านที่หนึ่งคือด้านการลงมือทำ ต้องรู้จักวางแผนก่อนเริ่มลงมือทำ และรู้จักประเมินปรับปรุงหากพบปัญหาก็สามารถหาวิธีแก้ไขจนสำเร็จได้ ด้านที่สองคือการควบคุมตนเองในเรื่องการคิด การกระทำ เพื่อให้จดจ่อกับงาน

            ทั้ง 2 ส่วนนี้เป็นทักษะที่เริ่มพัฒนาเด็กในวัยปฐมวัย เด็กจะสามารถยับยั้งความคิด ควบคุมอารมณ์ และมีการยืดหยุ่นความคิดได้ ไม่ยึดติดกับความคิดเดียวจึงมีความสำคัญมาก เด็กที่มีอีเอฟดีจะสามารถปรับตัวตามสิ่งแวดล้อมต่างๆ มีการปรับความคิดการกระทำที่จะทำให้เป้าหมายสำเร็จได้ ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคที่เกิดขึ้น และสามารถอยู่กับสังคมอย่างมีความสุข เป็นเด็กที่มีการคิดไตร่ตรองก่อน โอกาสที่จะทำผิดก็จะน้อยลง

            ส่วนเด็กที่ไม่มีอีเอฟก็จะแสดงปัญหาพฤติกรรมในชั้นเรียน เช่นจะไม่มีสมาธิในการเรียน ควบคุมอารมณ์ไม่ดีก็จะไม่มีความสัมพันธ์กับเพื่อน ทั้งหมดนี้เป็นปัญหาที่ส่งผลต่อการเรียนของเด็กและความสำเร็จในการเรียน ผลการเรียนจะไม่ค่อยดี เด็กไทยในปี 2558 มีการประเมินในเด็กอนุบาล 3-6 ปี จำนวน 243 คน ในทุนวิจัยของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข(สวรส.) สรุปได้ว่าในเด็กจำนวน 5 คน จะมี 1 คนที่มีความบกพร่องในทักษะ 5 ด้าน คือความจำ การหยุด การเปลี่ยนความคิด การควบคุมอารมณ์ และการวางแผนงาน มีปัญหามากที่สุดคือการหยุดตัวเองในด้านการกระทำ ความคิด และอารมณ์

           สิริมา ณ พัทลุง มูลนิธิดวงประทีป กล่าวว่า ปัจจุบันมูลนิธิมีเด็กจำนวน 65 คน อายุตั้งแต่ 3 ขวบ จนถึง 20 ปี ที่ผ่านมาเรามีการใช้อีเอฟทำให้เด็กมีความคิด เด็กสามารถพัฒนาความคิดต่อยอดได้ พัฒนาจนสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เพราะกระบวนในการสร้างเด็กออกสู่ภายนอกให้สามารถใช้ชีวิตสังคมภายนอกได้อย่างสมบูรณ์จะต้องเริ่มตั้งแต่เล็กๆ ให้รู้จักช่วยเหลือคนเอง โดยส่งเสริมให้เด็กฝึกฝนในทักษะด้านต่างๆ เริ่มจากการเก็บของ การซักผ้า รักษาของของตนเอง ถ้าพ่อแม่ ผู้ปกครองเข้าใจ บ่มเพาะและปลูกฝังด้วยสื่อต่างๆ ไม่เฉพาะการอ่าน แต่ยังรวมถึงการเล่นดนตรี ก็จะเป็นฐานในการสร้างกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของตนเองในทุกๆ ด้าน สิ่งที่เป็นประโยชน์มากกว่าการพัฒนาทักษะทางด้านภาษาก็คือ ความอบอุ่นของครอบครัว มันเป็นสายใยแห่งความสัมพันธ์ที่ไม่สามารถมองเห็นได้ จะส่งผลให้เด็กสามารถยับยั้งใจ จะไม่กล้าทำในเรื่องที่ส่งผลให้พ่อแม่เสียใจ ซึ่งตรงนี้จำเป็นและสำคัญมากในการสร้างรากฐานความสัมพันธ์ของครอบครัว