ไลฟ์สไตล์

'เมธี' เมล็ดมะม่วงแปรรูป ยอดของฝาก-ต้นตำรับการอบ

'เมธี' เมล็ดมะม่วงแปรรูป ยอดของฝาก-ต้นตำรับการอบ

20 ม.ค. 2559

ทำมาหากิน : 'เมธี' เมล็ดมะม่วงแปรรูป ยอดของฝาก-ต้นตำรับการอบ : โดย...ธานี กุลแพทย์

 
                      นับเป็นความสำเร็จอีกก้าวของเมล็ดมะม่วงหิมพานต์แปรรูปแบรนด์ “เมธี” นำโดย นายเมธี-นางบุญมา จตุเมธเมธี แห่งเมืองภูเก็ต ที่มุ่งมั่นพัฒนาธุรกิจครอบครัว จนก้าวสู่เบอร์หนึ่งของประเทศในสินค้าประเภทนี้ ด้วยความโดดเด่นด้านคุณภาพ รสชาติ ที่โดนใจผู้บริโภค ทั้งการเข้าร่วมโครงการของรัฐเพื่อปรับปรุงมาตรฐานสินค้า เป็นแรงผลักที่ทำให้แบรนด์ของฝากจากแดนใต้นี้บรรลุเป้าหมายยิ่งขึ้น
 
                      โดยเฉพาะการเข้าร่วมโครงการของกระทรวงอุตสาหกรรม One Province One Agro-Industrial Product (OPOAI) หรือโครงการพัฒนาขีดความสามารถการแข่งขันของอุตสาหกรรมส่วนภูมิภาค ซึ่งได้ อาภา วราภิวัฒนกุล ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เมธีภูเก็ต จำกัด หลานสาว เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญ
 
                      อาภา บอกว่า บริษัทเป็นเจ้าแรกๆ ใน จ.ภูเก็ต ที่แปรรูปเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ โดยคุณลุงและคุณป้าอดีตช่างทองได้พลิกชีวิตมาสู่อาชีพนี้เมื่อปี 2515 ด้วยแนวคิดนำมะม่วงหิมพานต์ ซึ่งปลูกมากในภาคใต้มาแปรรูปเป็นสินค้า โดยเฉพาะในโหมดของเมล็ดที่นำมาคั่วหรืออบ จากนั้นทั้งคู่ได้ต่อสู้กับปัญหาอุปสรรค กระทั่งนำมาสู้ซึ่งผลิตภัณฑ์แบรนด์ “เมธี” มีทั้งเมล็ดมะม่วงอบหลากรส น้ำมะม่วงหิมพานต์ น้ำพริกมะม่วงฯกุ้งเสียบ แกงไตปลา ฯลฯ
 
                      “ตลอดเกือบ 40 ปีที่บริษัทดำเนินธุรกิจนี้ นับว่าประสบผลสำเร็จด้วยดี ทั้งชื่อเสียงด้านคุณภาพ รสชาติความอร่อย โดยเฉพาะวิธีการแปรรูปซึ่งเราเป็นเจ้าแรกและเจ้าเดียวที่ใช้วิธีการอบ จนได้รับการกล่าวขานว่าเป็นต้นตำรับของ จ.ภูเก็ต” อาภา กล่าว
 
                      ปัจจุบันสินค้าเม็ดมะม่วงแปรรูปมียอดจำหน่ายกว่า 2.5 หมื่นกิโลกรัมต่อปี มีการตลาดกับกลุ่มนักท่องเที่ยวแบ่งเป็นสัดส่วนในประเทศร้อยละ 95 และต่างประเทศร้อยละ 5 โดยสถานที่จำหน่ายคือร้านขายของฝากเมธีในตัวเมืองภูเก็ตทั้ง 2 สาขา
 
                      ทว่า ในความสำเร็จนั้น อาภายอมรับว่าก็มีปัญหาเช่นกัน โดยเฉพาะเรื่องประสิทธิภาพการผลิต และการตลาด เหตุนี้ในปี 2558 จึงเข้าร่วมโครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมส่วนภูมิภาค (OPOAI) ใน 2 แผนงาน
 
                      เริ่มจากแผนที่ 2 คือ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ได้มีการปรับปรุง 2 ส่วน คือ 1.เพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการบรรจุอัตโนมัติ หลังปรับปรุงสามารถลดของเสียได้จาก 20% เหลือ 0% คิดเป็นมูลค่าปีละ 532,000 บาท และ 2.เพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการบรรจุอัตโนมัติแบบฟิล์มหด ก่อนปรับปรุงเกิดของเสีย 50% หลังปรับปรุงแล้วอัตราการเกิดของเสียเป็น 0 คิดเป็นมูลค่าปีละ 355,800 บาทต่อปี
 
                      และแผนที่ 6 กลยุทธ์ขับเคลื่อนการตลาด ซึ่งทีมที่ปรึกษาได้สำรวจ วิเคราะห์ ประเมิน ให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึก ทั้งศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภค แนะนำแผนกลยุทธ์การตลาดระยะสั้นเพื่อกระตุ้นยอดขาย 5% ระยะกลางเพื่อพัฒนาบรรจุภัณฑ์ ระยะยาวเพื่อพัฒนาสินค้าและเปิดช่องทางการจำหน่ายใหม่
 
                      “เราได้พัฒนาบรรจุภัณฑ์ใหม่เพื่อเพิ่มมูลค่าใน 3 รูปแบบ คือ แบบกล่อง แบบซอง แบบขวด อีกทั้งเราได้เปิดช่องทางการตลาดใหม่ในร้านคิงเพาเวอร์ ซึ่งจากการเข้าร่วมโครงการสามารถเพิ่มยอดขายได้ร้อยละ 17.57”
 
                      ทั้งนี้ อาภา ยอมรับว่า แผนการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์จนเป็นที่รู้จักกันทั่วไป นอกจากยึดหลักความพอเพียง ความเชื่อมั่นในตัวสินค้าแล้ว การใช้ระบบโซเชียลเน็ตเวิร์กเป็นอีกหนทางที่เพิ่มยอดขายได้ต่อเนื่องเช่นกัน
 
 
 
 
--------------------
 
(ทำมาหากิน : 'เมธี' เมล็ดมะม่วงแปรรูป ยอดของฝาก-ต้นตำรับการอบ : โดย...ธานี กุลแพทย์)