ไลฟ์สไตล์

ลาออกจากงานแจ้งล่วงหน้า3เดือน-จราจรติดขัดรถสองแถวจอดแช่ป้าย

ลาออกจากงานแจ้งล่วงหน้า3เดือน-จราจรติดขัดรถสองแถวจอดแช่ป้าย

15 ม.ค. 2559

เปิดซองส่องไทย : ลาออกจากงานแจ้งล่วงหน้า 3 เดือน - จราจรติดขัดรถสองแถวจอดแช่ป้าย

 
                      ดิฉันรบกวนขอคำปรึกษาเรื่องการแจ้งลาออกจากงาน ปัจจุบันดิฉันทำงานด้านบัญชีที่บริษัทแห่งหนึ่ง เป็นบริษัทที่ให้บริการทางด้านจัดทำบัญชี ตรวจสอบบัญชี จัดหางาน และให้บริการที่ปรึกษาทางด้านกฎหมาย วันที่มาเริ่มงานวันแรกมีการเซ็นสัญญากับทางบริษัท (ทางเอชอาร์แจ้งว่าใช้เฉพาะกับแผนกบัญชี ในตำแหน่งระดับผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายบัญชีขึ้นไป) ในส่วนหนึ่งของสัญญามีการระบุดังนี้ 
 
                      ลูกจ้างมีความประสงค์จะลาออกจากงานต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ไม่น้อยกว่า 3 เดือน และไม่มีการใช้การลาใดๆ ในช่วงเวลาบอกกล่าวล่วงหน้า ยกเว้นจะได้รับการอนุมัติจากผู้อำนวยการ (Director)
 
                      อยากทราบว่า ในทางปฏิบัติเป็นอย่างไร 
 
                      1.ต้องรอให้ครบ 3 เดือนหรือไม่ 
 
                      2.ถ้ารอไม่ครบ 3 เดือน จะมีปัญหาอะไรหรือไม่
 
                      3.ถ้าคุยกันแล้วขอต่อรองว่าจะเคลียร์งาน แค่ 1 เดือน หรือ 2 เดือน หากบริษัทไม่ยอมจะดำเนินการฟ้องร้อง
 
                      3.1 ทางดิฉันจะต้องทำอย่างไร 
 
                      3.2 โอกาสที่จะชนะมีหรือไม่ 
 
                      3.3 สำหรับกรณีนี้ทางบริษัทจะฟ้องชนะในกรณีใดได้บ้าง เรียกค่าเสียหายได้สูงสุดเท่าไหร่
 
                      3.4 การบอกกล่าวล่วงหน้าไม่ครบตามสัญญา คือบอกล่วงหน้าแค่ 1 เดือน หรือ 2 เดือนนี้ผิดกฎหมายด้านใดไหม
 
                      รบกวนลุงแจ่มช่วยหาคำชี้แนะให้ด้วย
 
 
กนิษฐา
 
 
ตอบ
 
 
                      กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ชี้แจงว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 กำหนดให้นายจ้างหรือลูกจ้างอาจบอกเลิกสัญญาจ้างโดยบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบ ในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวหนึ่งคราวใด เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็ได้ แต่ไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเกินสามเดือน
 
                      แปลง่ายๆ ก็คือ การจะบอกเลิกสัญญาจ้างต้องแจ้งให้อีกฝ่ายทราบล่วงหน้าก่อนถึงงวดการจ่ายค่าจ้างงวดถัดไป เช่น ค่าจ้างออกทุกวันสิ้นเดือน นายจ้างเลิกจ้าง/ลูกจ้างแจ้งลาออก ในวันที่ 30 เมษายน จะต้องแจ้งให้อีกฝ่ายทราบภายในวันที่ 30 มีนาคม เพื่อให้มีผลในเดือนเมษายน
 
                      ข้อ 1 หากแจ้งเป็นหนังสือลาออกตามกฎหมายแล้ว (ข้างต้น) ส่งมอบงานให้นายจ้างเรียบร้อยแล้วสามารถออกได้ไม่ต้องรอครบสามเดือน
 
                      ข้อ 2 ขึ้นอยู่กับนายจ้าง ถ้าติดใจอาจฟ้องศาลแรงงานได้ แต่การออกของลูกจ้างต้องไม่ทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายเท่านั้น
 
                      ข้อ 3 ลูกจ้างก็ไปแก้ต่างตามหมายศาล จะมีอัยการศาลคอยอำนวยการให้ ค่าเสียหายจะเรียกตามที่นายจ้างเสียหายจริง (ต้องมีเอกสารหลักฐานมาแสดง)
 
                      หากสงสัยต้องการสอบถามเพิ่มเติม ติดต่อสายด่วนเพื่อผู้ใช้แรงงาน 1546 ในวัน เวลาราชการ หรือกลุ่มงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการคุ้มครองแรงงาน โทร.0-2246-8994, 0-2246-2938
 
 
 
จราจรติดขัดรถสองแถวจอดแช่ป้าย
 
 
                      ผมมีปัญหาเป็นอย่างมากเนื่องจากการจราจรติดขัดตรงบริเวณถนนประชาอุทิศ ทุ่งครุ เนื่องด้วยสาเหตุมาจากการจอดรถแช่ป้ายของรถสองแถว บริเวณหน้าวัดทุ่งครุ
 
                      ทำให้การจราจรติดขัดในช่วงเร่งด่วน ตั้งแต่เวลา 06.00-09.30 น. ทุกวัน แจ้งไปทางศูนย์รับเรื่องร้องเรียนของ กทม. ก็บอกว่าจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาคอยอำนวยความสะดวกในการไล่รถให้ แต่ก็ไม่เคยเห็นมีเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรสักนาย
 
                      ทำได้เพียงแค่เอาป้ายมาติดไว้ไม่ให้จอดแช่ป้ายแล้วจะโดนเสียค่าปรับ ซึ่งก็ยังไม่เห็นจะมีผลแต่อย่างไร รบกวนเจ้าหน้าที่ตำรวจช่วยตรวจสอบด้วย เพราะชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนมาก รถติดทุกวันตอนเดินทางไปทำงาน จากประชาอุทิศ 90 ถึงวัดทุ่งครุ ทุกวัน
 
                      แต่เลยจากนั้นไปแล้วรถก็วิ่งฉิว ส่วนตอนเย็นก็จะมีรถจอดบริเวณตรงข้ามวัดทุ่งครุ และตลอดริมทางเหมือนเดิมเช่นเดียวกับช่วงเช้า จึงอยากรบกวนลุงแจ่มช่วยสอบถามไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร สน.ทุ่งครุ ให้ช่วยเข้ามาดูแลด้วย เพราะผมได้แจ้งไปที่ สน.หลายรอบ ก็ไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด
 
 
ประยูร
 
 
ตอบ
 
 
                      พ.ต.ท.บุญส่ง สืบสมบัติ สว.จร.สน.ทุ่งครุ ชี้แจงว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรได้รับการแจ้งเหตุรถจอดแช่บ่อยครั้ง ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำป้ายมาติดประชาสัมพันธ์ ไม่ให้จอดรถแช่ แต่ด้วยบริเวณหน้าวัดทุ่งครุนี้ มีผู้ใช้บริการรถสองแถวเป็นจำนวนมาก
 
                      และทางรถสองแถวเองไม่ได้มีการจอดแช่เป็นระยะเวลานาน เป็นเพียงการจอดรับผู้โดยสารเท่านั้น แต่ด้วยการที่รถสองแถวเข้ามาจอดรับส่งผู้โดยสารแต่ละครั้ง จะมาในระยะเวลากระชั้นชิดกัน โดยจะมีรถสองแถวมาจอด 4-5 คัน และมาในเวลาพร้อมๆ กัน เพราะมีประชาชนต้องการที่จะใช้บริการเป็นจำนวนมากในช่วงเวลาเช้า
 
                      ในส่วนของรถที่มีการจอดแช่จริงๆ ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจพบเห็นเมื่อไหร่จะดำเนินการจับปรับในทันที โดยมีการปรับครั้งละไม่เกิน 500 บาท และเจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการเรียกประชุมเพื่ออบรมให้ผู้ประกอบการรถสองแถวรับทราบถึงกฎจราจร และโทษทางกฎหมายต่างให้ทราบว่าสมควรทำอย่างไร ซึ่งในทุกๆ วันจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยบริการเพื่อให้รถสัญจรได้อย่างคล่องตัว และป้องกันการจอดแช่