ไลฟ์สไตล์

ครูเฮ!‘คืนครูสู่ห้องเรียน’19วันใน1ปีพลิกชีวิตเด็กไทย

ครูเฮ!‘คืนครูสู่ห้องเรียน’19วันใน1ปีพลิกชีวิตเด็กไทย

14 ม.ค. 2559

ครูเฮ!‘คืนครูสู่ห้องเรียน’19วันใน1ปีพลิกชีวิตเด็กไทย : ชุลีพร อร่ามเนตรรายงาน

            ของขวัญวันครู 16 มกราคม 2559 ปีนี้ดูจะเป็นอีกปีที่ครูไทยได้เฮอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะนโยบาย “คืนครูสู่ห้องเรียน” ของกระทรวงศึกษาธิการ ที่สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัด “สำรวจตารางชีวิตครูไทยใน 1 ปี” พบว่า ปี 2558 ที่ผ่านมา ครูได้เวลาคืนสู่ห้องเรียนมากขึ้นถึง 19 วัน คิดเป็นอัตราส่วนถึง 25% เมื่อเทียบกับปี 2557 คืนความสุขให้ครูไทยได้ใช้เวลาอยู่กับลูกศิษย์มากขึ้น

            ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้ทรงคุณวุฒิ สสค. กล่าวว่า ผลการสำรวจดังกล่าวดูจากกิจกรรมภายนอกชั้นเรียนที่กระทบต่อการจัดการเรียนการสอนของครู ระหว่างวันที่ 26 ธันวาคม 2558-5 มกราคม 2559 โดยสัมภาษณ์ครูที่ได้รับรางวัลครูสอนดีจาก สสค. ทั่วประเทศ 319 คน ซึ่งเป็นกลุ่มตัวอย่างเดิมจากการเก็บข้อมูลในปี 2557 เพื่อให้เกิดความแม่นยำในการเปรียบเทียบสถานการณ์ พบว่า ปี 2558 มีวันเปิดเรียน 200 วัน ครูต้องใช้เวลากับกิจกรรมนอกชั้นเรียนที่ไม่ใช่การสอนถึง 65 วัน คิดเป็น 32.5% ดังนี้ ประเมินโรงเรียน 19 วัน ประเมินนักเรียน 12 วัน ประเมินครู 7 วัน ประกวด/แข่งขันนอกโรงเรียน 4 วัน แข่งขันกิจกรรมทางวิชาการ 9 วัน อบรมนอกห้องเรียน 8 วัน ประเมินภายนอกโรงเรียน 3 วัน กิจกรรมอื่นๆ 3 วัน ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับปี 2557 พบว่าลดลงจากเดิมที่ครูต้องใช้เวลาถึง 84 วัน เท่ากับว่าครูได้รับการคืนเวลาสู่ห้องเรียนมากขึ้นถึง 19 วัน คิดเป็น 25% ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีมาก

            “ปัจจัยที่สามารถคืนเวลาให้ครูได้มากขึ้นนั้น เกิดจากการดำเนินนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เรื่องการปรับลดจำนวนวิชาแบบทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) การลดกิจกรรมประกวดแข่งขันและอบรมครูลง นอกจากนี้ยังมีอีกหลายเรื่องที่กำลังดำเนินการ เช่น การปรับระบบการประเมินวิทยฐานะของครูและผู้บริหาร ที่ไม่ผูกกับการแข่งขัน และการได้รางวัล รวมถึงการปรับระบบประเมินของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ซึ่งคาดว่าเมื่อเรื่องเหล่านี้ได้ข้อสรุป และนำมาใช้แล้ว จะสามารถคืนเวลาการสอนให้ครูได้เพิ่มขึ้น ในปี 2559 ถึง 50% หรือประมาณ 35-40 วัน” ดร.อมรวิชช์ กล่าว

            นอกจากนั้น อยากให้มีกลไกเข้าไปรองรับกับการที่ครูมีเวลาในชั้นเรียนเพิ่มขึ้นโดยเร็ว เพื่อให้เวลาเหล่านี้ได้นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์จริงๆ โดยเฉพาะการเตรียมการสอน และการพัฒนาขีดความสามารถของครู รวมถึงอยากให้มีการสนับสนุนนโยบายคืนครูสู่ห้องเรียน และนโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ อย่างต่อเนื่อง เพราะนโยบายดังกล่าวหากมีการสานต่อไปเรื่อยๆ จะเป็นประโยชน์ต่อครูทั้งในเรื่องการเตรียมการสอน พัฒนาขีดความสามารถของครู ซึ่งถ้าครูมีความสามารถ สร้างสรรค์นวัตกรรมการสอน ก็จะนำไปสู่การสร้างคุณภาพให้แก่เด็ก

            นโยบาย “คืนครูสู่ห้องเรียน” มาจากการรับฟังเสียงสะท้อนจากครูผู้ปฏิบัติในพื้นที่โดยตรง ทำให้แก้ปัญหาถูกจุด สามารถคืนเวลาให้ครูกลับคืนสู่ห้องเรียนได้ 19 วันใน 1 ปี  ศ.ดร.สมพงษ์  จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า นโยบายที่ดีต้องเป็นนโยบายจากล่างขึ้นบน ไม่ใช่จากบนลงล่าง เพราะวิธีการคิดเชิงนโยบายมีคุณภาพหรือด้อยคุณภาพ ข้อมูลต้องมาจากผู้ปฏิบัติ นั่นคือครู และเด็ก เพื่อทำให้เห็นปัญหาและแก้ไขปัญหาได้มากขึ้น

            “รัฐบาลต้องจริงจังกับการยกเลิกการประเมินวิทยฐานะจากวัฒนธรรมเอกสารมาเน้นที่ผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน และผมไม่เห็นด้วยกับการที่คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) ปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินวิทยฐานะ มีมติอนุโลมให้ใช้หลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้มีผลงานดีเด่นที่ประสบผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์มีวิทยฐานะหรือเลื่อนเป็นวิทยฐานะชำนาญการพิเศษและวิทยฐานะเชี่ยวชาญ ว 13/2556 และหลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีวิทยฐานะและเลื่อนวิทยฐานะ ว 17/2552 ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่เน้นรางวัลของครูไปพลางก่อนในช่วง 2 ปี โดยเกณฑ์การประเมินต้องดูผลงานเชิงประจักษ์ที่เกิดผลต่อตัวผู้เรียนเป็นหลัก และควรทำในรัฐบาลยุคนี้ ไม่ควรขยายเวลาการใช้เกณฑ์เดิมออกไป เพราะวิทยฐานะเป็นเรื่องที่เกิดประโยชน์กับเงินเดือนครูมาก แต่ไม่เกิดประโยชน์กับเด็ก เมื่อรัฐบาลมาจากการเลือกตั้งยึดผลประโยชน์ของครูเป็นหลัก และกลับไปใช้เกณฑ์เดิมอีก ดังนั้นควรเริ่มเกณฑ์ใหม่ตั้งแต่รัฐบาลชุดนี้” ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว

            กิจกรรมนอกห้องเรียนที่ครูมองว่า มีแนวโน้มลดลงและภาคนโยบายควรผลักดันให้ลดกิจกรรมเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ อันดับ 1 การประเมินต่างๆ ของโรงเรียนและครู 39.68% เนื่องจากทำให้ครูไม่ได้สอนหนังสือ เพราะต้องใช้เวลาในการเตรียมเอกสารต่างๆ อันดับ 2 กิจกรรมต่างๆ ของโรงเรียน 27.78% เพราะนักเรียนต้องเข้าร่วมกิจกรรม จัดเตรียมกิจกรรม อันดับ 3 การแข่งขันทางวิชาการต่างๆ 12.70% เนื่องจากครูต้องเตรียมความพร้อมให้นักเรียน นักเรียนบางคนไม่สามารถเข้าเรียนได้ และอันดับ 4 การอบรม 12.70% เพราะครูต้องทิ้งชั้นเรียน ทำให้จัดการเรียนการสอนไม่ทัน หรือรวบรัดตัดตอน เสียเวลาเรียน

            นายอาคม สมพามา ครูสอนดี จ.ราชบุรี กล่าวว่า ทุกวันนี้ครูไทยทำงานเยอะมาก เพราะครูไม่ได้มีหน้าที่เป็นเพียงผู้สอน ให้ความรู้แก่เด็กเท่านั้น แต่ยังสอนเรื่องคุณธรรมจริยธรรม การใช้ชีวิต ฉะนั้นครูเป็นบุคคลที่เสียสละและบางคนทำงานทั้ง 7 วัน จึงอยากให้ลดภาระงานของครูที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนลดลง เพราะอย่างในปี 2558 การประเมินโรงเรียนไม่ได้ลดลงจากปี 2557 ซึ่งยังเป็นการประเมินตามรางวัลระดับชาติที่ครูและผู้บริหารโรงเรียนสามารถนำไปยื่นประกอบวิทยฐานะได้ ทำให้เป็นการสร้างภาระงานให้ครู ดังนั้นระบบการประเมินการศึกษา วิทยฐานะควรลดลง และควรประเมินครูโดยใช้ระบบนิเทศก์ติดตามครูอย่างเป็นระบบ ทั้งนี้ นโยบายคืนครูสู่ห้องเรียน และปลดล็อกให้ ก.ค.ศ.ยกเลิกการรับรองรางวัล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประเมินวิทยฐานะเมื่อปลายปีที่ผ่านมา โดยเปลี่ยนเป็นเน้นผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้ของผู้เรียนแทน เชื่อว่าจะเกิดผลดีในการศึกษาอย่างแน่นอน

            ทุกวันนี้ครูและเด็กไทยมีความสุขมากเพียงใดกับการเรียนการสอนโดยไม่ต้องกังวลเรื่องเวลา ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา สสค. กล่าวว่า กลุ่มประเทศองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD (Organisation for Economic Co-operation and Development) ซึ่งจัดสอบโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ (Programme for International Student Assessment หรือ PISA) ได้สำรวจการใช้เวลาของครูใน 50 ประเทศ เมื่อปี 2558 พบว่า เวลาที่ใช้ในการสอนของครูแต่ละประเทศมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 694 ชั่วโมงต่อปี คิดเป็น 182 วัน โดยครูมีเวลาสอนจริงเฉลี่ย 50% ซึ่งใกล้เคียงกับประเทศไทย ส่วนกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนโดยตรง เท่ากับ 6.5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ คิดเป็น 34% แบ่งเป็นเวลาในการเตรียมการสอน 4 ชั่วโมงต่อวัน เวลาจัดการกับพฤติกรรมเด็ก 3.5 ชั่วโมงต่อวัน และเวลาที่เหลือครูนำไปพัฒนาตนเอง

            “หากดูเวลาครูไทยที่ไม่ได้ใช้ไปกับการเรียนการสอน ขณะนี้ถือว่าอยู่ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของประเทศในกลุ่ม OECD ซึ่งอยู่ในช่วงระหว่าง 15-34% แต่ก็อยากให้อยู่ในช่วงค่าเฉลี่ยที่ต่ำสุด เพื่อให้ครูได้กลับมาใช้เวลากับเด็กในชั้นเรียน เพราะรางวัลที่ยิ่งใหญ่สำหรับครูที่แท้จริง ไม่ใช่โล่รางวัล หรือกระดาษ แต่เป็นเวลาความสุขที่ครูได้อยู่กับเด็กในห้องเรียน ได้จัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพให้เกิดขึ้นแก่เด็ก”

            นอกจากนั้น OECD ได้มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายไว้ว่า 1.อยากให้มีการกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำเวลาที่ครูต้องสอน และทำกิจกรรมนอกห้องเรียน คือ ถ้ามีองค์การภายนอกเข้ามาเอาครูไปทำกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนเด็ก ถ้าเกินมาตรฐานขั้นต่ำเวลา กำหนดเพดานเวลาของการดึงครูออกไปจากห้องเรียนได้ก็ไม่สามารถกระทำได้ เพื่อช่วยให้ครูมีเวลาเต็มที่ในการเรียนการสอน 2.มีระบบเฝ้าระวังและประเมินสถานการณ์ภาระการเรียนการสอนของครู โดยคัดเลือกครูกลุ่มหนึ่งมาประเมินเวลาของครูทั้งในส่วนการเรียนการสอน การเตรียมการสอน และการทำกิจกรรมนอกห้องเรียน และสรุปในแต่ละช่วง เพื่อให้ทราบว่าครูมีทรัพยากรเวลาเหลือเท่าใด ดังนั้น หากการคิดนโยบายใหม่ๆ ขึ้นมา ต้องมาดูว่าครูเหลือทรัพยากรเวลาหรือไม่ที่จะกระทำสิ่งเหล่านี้ และ 3.ครูไทยต้องเป็นนักบริหารเวลา เช่น เวลามีภารกิจอะไรเร่งด่วนต้องสามารถจัดแบ่งเวลาได้ หรือ เวลา 19 วันที่ได้คืนไป ครูจะได้เลือกทำในสิ่งที่เหมาะสมว่าจะไปดำเนินการอย่างไร เป็นต้น