
เปิดแบบจำลองแนวคิด 'เชิงพลวัต' สู่การพัฒนาผลิตผลเกษตรยั่งยืน
12 ม.ค. 2559
ทำมาหากิน : เปิดแบบจำลองแนวคิด 'เชิงพลวัต' สู่การพัฒนาผลิตผลเกษตรยั่งยืน : โดย...พรนภา สวัสดี
ผลพวงจากประชากรมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทำให้วิกฤติในเรื่องของอาหารเป็นประเด็นสำคัญที่ประเทศต่างๆ ให้ความสนใจในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากความต้องการทางอาหารนั้นมีเพิ่มมากขึ้น ทำอย่างไรให้การผลิตสินค้าทางการเกษตรเพียงพอต่อความต้องการทางอาหาร เรียนรู้ พัฒนา ก้าวไปข้างหน้าอย่างยั่งยืน
รศ.ดร.ศุภวัจน์ รุ่งสุริยะวิบูลย์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เจ้าของผลงานวิจัยแบบจำลองเชิงพลวัตสำหรับวัดประสิทธิภาพและการเติบโตผลิตภาพทางการเกษตร พยายามคิดค้นผลงานวิจัยแบบจำลองในเชิงแนวคิดพลวัตขึ้นมาเพื่อให้เกษตรกรและอุตสาหกรรมผลิตอาหารและหน่วยงานภาครัฐสามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อมีให้มีการพัฒนาไปในทิศทางที่เหมาะสมและยั่งยืน
“ที่จริงแล้วงานวิจัยชิ้นนี้มีการพัฒนาต่อยอดมาจากงานวิจัยชิ้นก่อนๆ ที่เคยทำขึ้นมา ระยะเวลาในการดำเนินงานกว่า 2 ปี ตั้งแต่ปี 2555 จนมาเสร็จสิ้นเมื่อปี 2557 ที่ผ่านมาจากความสนใจว่าจะสร้างตัวชี้วัดอย่างไรเพื่อให้แต่ละภูมิภาคมีการพัฒนาสินค้าทางการเกษตรและสามารถผลิตได้เพียงพอต่อความต้องการอาหารของโลก”
นักวิจัยคนเดิมเผยต่อว่า ก่อนหน้านี้วิธีหรือแนวคิดที่ถูกนำมาใช้กับแบบจำลองไม่มีเรื่องของเวลาเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้ตัวชี้วัดที่ออกมาอาจจะเกิดความคลาดเคลื่อนแบบจำลอง ที่อาศัยแนวคิดเชิงพลวัต จะคำนึงถึงเวลาในการปรับตัวของเกษตรกรหรือการปรับตัวของพื้นที่ต่างๆ ตัวชี้วัดที่ได้จากแบบจำลองที่ทำขึ้นไม่ใช่เฉพาะแค่ภาคการเกษตรที่จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ แต่ส่วนของอุตสาหกรรมการผลิตอื่นๆ ก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ถ้ามีข้อมูล ซึ่งส่งผลให้ภาครัฐสามารถนำไปกำหนดแผนเชิงนโยบาย พัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตแต่ละตัวให้เป็นไปในทิศทางที่เหมาะสมและเกิดความยั่งยืนมากขึ้น
“อย่างเรื่องของเทคโนโลยีการใช้ปัจจัยการผลิตและเรื่องขนาดทางการเกษตรที่ยังไม่เหมาะสม ซึ่งถ้าประเทศสามารถแก้จุดบอดตรงจุดต่างๆ ผลเสียต่างๆ ที่ศึกษาได้จากกลุ่มประเทศเปลี่ยนผ่านแล้วสามารถที่จะวางกลยุทธ์ของประเทศไทยให้เหมาะสมเพื่อทำให้เกิดการเติบโตไปในทิศทางที่ถูกต้อง ด้วยทรัพยากรทางการเกษตรที่มีศักยภาพและจำนวนประชากรที่มากกว่าครึ่งของโลก ข้อมูลของกลุ่มประเทศเปลี่ยนผ่านจึงมีความน่าสนใจที่จะนำมาใช้ในงานวิจัย” รศ.ดร.ศุภวัจน์ แจง
อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.ศุภวัจน์ ยังย้ำด้วยว่าสำหรับกลุ่มประเทศเปลี่ยนผ่านนั้นเป็นกลุ่มที่เคยอยู่ในระบบสังคมนิยมแล้วเปลี่ยนมาเป็นระบบกลไกตลาดเสรี ถ้าสามารถเข้าใจภาพรวมได้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับภูมิภาคนี้จะเกิดประโยชน์ต่อคนทั้งโลก เช่นประเทศไทยเป็นประเทศทางการเกษตรที่สามารถศึกษาเรียนรู้ได้ว่าปัจจัยอะไรที่ทำให้กลุ่มประเทศเหล่านี้ยังพัฒนาได้ไม่ดีพอ อาทิ เทคโนโลยีทางด้านการเกษตรยังไม่มีความทันสมัยหรือเกษตรกรบางประเทศอาจจะยังไม่ได้รับการอบรมที่เพียงพอ เมื่อเทียบกับเทคโนโลยีที่ปรับตัวไป ถ้าประเทศไทยสามารถแก้จุดบอดที่ศึกษาจากกลุ่มประเทศเปลี่ยนผ่านได้จะทำให้การวางกลยุทธ์ของประเทศไทยมีความเหมาะสมและเกิดการเติบโตไปในทิศทางที่ถูกต้อง
“ในอนาคตมองว่าแบบจำลองที่พัฒนาขึ้นมา อาจจะนำไปประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมการผลิตอื่นๆ ของประเทศไทยได้ เพราะที่จริงแล้วอุตสาหกรรมต่างๆ เป็นจุดที่นำเงินเข้ามาให้ประเทศค่อนข้างเยอะ ฉะนั้นถ้าแบบจำลองนี้ ถูกนำไปประยุกต์ใช้กับฐานข้อมูลในอุตสาหกรรมอื่นๆ ประเทศไทยจะสามารถกำหนดกลยุทธ์ต่างๆ ที่เหมาะสม และจะเป็นตัวสำคัญที่ดึงเม็ดเงินเข้ามาในประเทศได้อีกด้วย” รศ.ดร.ศุภวัจน์ กล่าวทิ้งท้าย
นับเป็นอีกก้าวของงานวิจัยในการนำผลสำเร็จจากการสร้างแบบจำลองแนวคิดเชิงพลวัตมาประยุกต์ใช้กับนโยบายรัฐและทุกส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรของไทยเพื่อให้การพัฒนาไปในทิศทางที่เหมาะสมและเกิดความยั่งยืน
----------------------
(ทำมาหากิน : เปิดแบบจำลองแนวคิด 'เชิงพลวัต' สู่การพัฒนาผลิตผลเกษตรยั่งยืน : โดย...พรนภา สวัสดี)