ไลฟ์สไตล์

ศิลป์แห่งแผ่นดิน:'ท้าวน้อย'

ศิลป์แห่งแผ่นดิน:'ท้าวน้อย'

03 ม.ค. 2559

'ท้าวน้อย' : คอลัมน์ ศิลป์แห่งแผ่นดิน โดย... ศักดิ์สิริ มีสมสืบ

 
          ใครๆ ก็รัก “เจ้าชายน้อย” ผมก็คนหนึ่งละ แม้จะไม่ใช่คนที่รู้จักเขาดีพอ เคยอ่านมาเมื่อวัยเยาว์ จำได้ก็แค่ “งูเหลือมกินช้าง” นะแหละ
 
          มีเพื่อนสองสามคนที่รักเจ้าชายน้อยเอามาก ๆ ประมาณแฟนพันธุ์แท้ น่าจะถึงขั้นสนิทสนม
 
          เพราะท่องประโยคสำคัญๆ ในเรื่องได้ ผมเองจำเจ้าชายน้อยได้แค่ “หมวก” น่ะแหละ แต่พอเวลาถูกถามถึง 10 หนังสือในดวงใจ
 
          ผมก็ดันเอ่ยชื่อ “เจ้าชายน้อย” ไปด้วยเสมอแล้วก็ต้องอาย เมื่อคราวไปที่ร้านหนังสือ B612 ผมถามเพื่อนว่า B612 ที่เป็นชื่อร้านน่ะ มีความหมายอย่างไร ผมจำไม่ได้ว่าเป็นชื่อ ดาวเจ้าชายน้อย
 
          เพื่อนบางคนรักเจ้าชายน้อยมาก ซื้อหนังสือเจ้าชายน้อยไว้แทบครบทุกปก มีเสื้อ ตุ๊กตา และอะไรต่อมิอะไรที่เกี่ยวข้องกับเจ้าชายน้อยเก็บเป็นของสะสมสุดรักสุดหวง ขณะที่ผมแทบจะจำหน้าตาเจ้าชายน้อยไม่ได้ ลืมไปด้วยซ้ำว่าดาวดวงนั้น ชื่อ B612
 
          จนเมื่อต้นเดือน ผมได้ไปพบ “ท้าวน้อย” ที่เวียงจันทน์ สปป.ลาว ในร้านหนังสือของพี่สาว “ร้านดอกเกด”
 
          นั่นเพราะน้องสาวที่รักคนหนึ่งฝากซื้อ เจ้าชายน้อย ภาคภาษาลาว เมื่อรู้ว่าผมจะเดินทางไปเวียงจันทน์เพื่อรับรางวัล แม่โขงอวอร์ด (รางวัลวรรณกรรมประเทศลุ่มน้ำโขง)
 
          ผมซื้อ “ท้าวน้อย” ที่ร้านดอกเกด 5 เล่ม พอกลับมาถึงโรงแรมที่พัก (ซึ่งมี ไว-ไฟ) ผมก็โพสต์ลงเฟซบุ๊ก เท่านั้นเอง มีพี่ๆ น้อง ๆ ที่เมืองไทย แสดงความประสงค์ จำนงหมาย อยากได้ เจ้าชายน้อย ภาษาลาว อีกหลายคนผมจึงไปที่ร้านหนังสือแห่งหนึ่ง เมื่อผมรับใบส่งของก็ต้องตาเหลือกถลนมองตัวเลขราคา...
 
          ผมซื้อที่ร้าน “ดอกเกด” ราคาเล่มละ 100 บาท แต่ “ท้าวน้อย” ปกเดียวกันของอีกร้านหนึ่งราคาเล่มละ 600 บาท 10 เล่มก็เท่ากับ 6,000 บาท
 
          พอเห็นราคาหฤโหดขนาดนั้น ผมก็เลยเศร้า ตามด้วยความขุ่นข้องน้อง ๆ คับแค้นจนควบคุมเด็กชายในตัวเองไม่อยู่ เด็กชายก็เลยกลายเป็นเด็กเกเร หวิดจะก้าวร้าวเขา แต่รู้ตัวว่าเป็นคนตัวเล็ก ก็เลยลดความโกรธลง
 
          ได้แต่ปลงว่า หนอ “ท้าวน้อย” ของลาวนี่ไม่น่ารักเลย ฉวยโอกาสโก่งราคาอย่างน่าโมโหจริงๆ
 
          ผมไปเวียงจันทน์ครั้งแรก เมื่อประมาณปี พ.ศ.2512 หรือ 2513 ครั้งก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2558 และครั้งนี้เวียงจันทน์ดูเจริญขึ้นผิดหูผิดตา การจราจรติดขัดเอาเรื่อง แสดงว่ามีรถรามากขึ้น ของก็แพงพอกับกรุงเทพฯ เรา ค่าตุ๊กตุ๊กยังแพงเลย นั่งจากประตูไชยไปโรงแรมริมโขงโดนเรียก 40,000 กีบ แต่ก็นั่นแหละคงไม่ได้แพงไปทุกคัน อาหารก็คงไม่ได้แพงไปทุกร้าน
 
          เด็กนักเรียนลาว เด็กหญิงยันเด็กสาว ยังคงนุ่งซิ่นแบบลาว ดูเจริญตาดี นั่งรอรถเป็นกลุ่มๆ หน้าโรงเรียนก้มหน้าเล่นโทรศัพท์กันแทบทุกคน ผมมองดูเด็กๆ แล้วสบายใจวัยเยาว์อันสดใส เด็กๆ ที่ไหนก็เหมือนกัน ทางการรณรงค์ให้คนใช้เงินกีบแต่คนสาวก็เรียกร้องขอเงินบาท คนไทยอย่างผมไปลาวก็เคยชินใช้เงินบาท ก็เลยเป็นไปเช่นนั้น
 
          คนไทยอ่านหนังสือลาวได้ไม่ยาก (น่าจะง่ายกว่าคนลาวอ่านหนังสือไทย) ผมอ่านท้าวน้อย อย่างมีความสุข นึกเสียดายที่ไม่ได้ซื้อ “ท้าวน้อย” เล่มละ 600 มาฝากเพื่อนๆ อีกหลายคน