
เรียนรู้มรดกล้ำค่าในบ้านปาร์คนายเลิศ
31 ธ.ค. 2558
ศิลปวัฒนธรรม : เรียนรู้มรดกล้ำค่า ใน บ้านปาร์คนายเลิศ
คนไทยรู้จักชื่อเสียงเรียงนาม “นายเลิศ” ในฐานะคหบดีผู้มั่งคั่ง ด้วยมีธุรกิจการค้าหลากหลาย โดยเฉพาะกิจการเดินรถโดยสารประจำทางสายแรกของกรุงเทพฯ กิจการเดินเรือ นำเข้ารถยนต์ยุโรปและอเมริกา รวมถึงโรงน้ำแข็งจนถูกขนานนามว่า “นายเลิศปั้นน้ำเป็นตัว” ความที่เป็นผู้มีความคิดก้าวหน้านำสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “พระยาภักดีนรเศรษฐ” หรือ “เศรษฐีผู้มั่งคั่ง” ซึ่งหนึ่งมรดกชิ้นสำคัญที่ฝากไว้เป็นที่ระลึกแก่ทายาทนั่นคือ “บ้านปาร์คนายเลิศ” ที่ได้สร้างขึ้นมื่อปี 2458 ภายในปาร์คหรือสวนสาธารณแบบฝรั่งริมถนนวิทยุ
จากวันนั้นถึงวันนี้ บ้านปาร์คนายเลิศ มิได้เป็นเพียงชื่อเรือนไม้สักหลังใหญ่อายุ 100 ปีบนผืนดิน 34 ไร่อันร่มรื่นกลางกรุงซึ่งเดิมเป็นอู่จอดรถเมล์ขาวของนายเลิศ หากที่นี่ยังหมายถึงวิถีการใช้ชีวิตและวิธีคิดที่ผสมผสานทั้งเก่าและใหม่ จนเกิดเอกลักษณ์ในการดำเนินชีวิตร่วมสมัย ซึ่งได้สืบทอดมาสู่รุ่นหลานและเหลนของนายเลิศในปัจจุบัน ในโอกาสครบหนึ่งศตวรรษลูกหลานได้ช่วยกันบูรณะปรับปรุงให้กลับมามีสภาพสมบูรณ์เหมือนเมื่อแรกสร้าง และได้เปิดเป็นบ้านที่อนุรักษ์เป็นมรดกตกทอดเพื่อระลึกถึง และถ่ายทอดวิถีแห่งนายเลิศผู้ไม่เหมือนใคร ในวันเปิดบ้านให้เข้าชมเป็นครั้งแรกเมื่อวันก่อน หนึ่งในทายาทรุ่นเหลน “หนูเล็ก” ณพาภรณ์ โพธิรัตนังกูร พร้อมด้วย วุฒิชัย วงษ์เกิด มัคคุเทศก์ประจำบ้านได้พาเที่ยวชมทุกส่วน โดยเหลนทวด “หนูเล็ก” ณพาภรณ์ เล่าที่มาของการปรับบ้านเป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อการเรียนรู้ว่า 4 ปีก่อนคุณยาย (ท่านผู้หญิงเลอศักดิ์ สมบัติศิริ บุตรสาวคนเดียวของนายเลิศ) ซึ่งเป็นคนสุดท้ายที่ใช้ชีวิตอยู่ในบ้านหลังนี้เสียชีวิตลง ทางครอบครัวจึงหารือกันน่าจะทำอะไรเพื่อตอบสนองที่ทวด (นายเลิศ) สร้างมา สุดท้ายคุณแม่ (สัณหพิศ โพธิรัตนังกูร) จุดประกายไอเดียว่าเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์น่าจะดี เนื่องจากคุณยายและคุณทวด ต่างอุทิศตนทำงานเพื่อสังคมมาเกือบทั้งชีวิต ถือเป็นการถ่ายทอดวิถีชีวิตของคนรุ่นก่อนให้ได้รับรู้ และเป็นมรดกของประเทศต่อไป
"เริ่มจากจ้างช่างจากอยุธยามาดีดบ้านให้สูงขึ้น 2 ฟุตเพราะสร้างมานานเกิดการทรุด แล้วปรับปรุงและตกแต่งเพิ่ม จริงๆ บ้านเป็นทรงบังกาโลตากอากาศใช้ไม้จากอู่ต่อเรือมาสร้าง มีสองหลังสร้างเชื่อมกัน หลังแรกที่หันหน้าออกถนนเพลินจิตใช้เป็นเรือนรับแขก ซึ่งสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เคยโดนระเบิดลง 22 ลูก บ้านพลิกเลย ส่วนหลังในเป็นเรือนนอนและห้องครัว ในส่วนของห้องรับแขกเคยใช้รับแขกระดับเชื้อพระวงศ์ ทูต ก่อนหน้านี้เคยแบ่งครึ่งเป็นห้องทำงานของคุณตา (พินิจ สมบัติศิริ) ห้องนี้มีของจัดแสดงน่าสนใจมากมาย เช่น ขวดน้ำมะเน็ด (น้ำเลมอนเนด) ยุคแรกๆ ที่นายเลิศได้มาจากสิงคโปร์แล้วนำมาทำน้ำมะเน็ดขายอย่างเอิกเกริก ตู้เก็บเหรียญและเครื่องราชฯ ของนายเลิศ, ท่านผู้หญิงเลอศักดิ์ และคุณตาพินิจ ที่ผนังด้านหนึ่งมีไม้สักแผ่นใหญ่ประดับอยู่เขียนเป็นภาพบรรยากาศเมืองไทยสมัยก่อนผลงานของสุวรรณี สุคนธา ในตัวเรือนเดียวกันยังมีห้องจัดแสดงเครื่องแต่งกายของท่านผู้หญิงเลอศักดิ์ สะท้อนว่าท่านเป็นแฟชั่นนิสต้าตัวยงคนหนึ่งของเมืองไทย เช่นเดียวกับของสะสมของคุณตาพินิจ ที่เป็นนักเดินทางและนักชิมจึงมีขอสะสมจำพวกมีด ปืน และที่มีไม่น้อยคือที่เขี่ยบุหรี่แม้ท่านจะไม่สูบแต่นิยมชมชอบในงานดีไซน์จึงสรรหามาเก็นไว้เป็นคอลเลกชั่น" เหลนทวดคนที่ 2 ในจำนวน 4 คนของบ้านปาร์คนายเลิศ เล่าอย่างอารมณ์ดี
ความจริงวัตถุจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์ซึ่งเป็นมรดกตกทอดจากคน 3 รุ่นมีกว่า 3 หมื่นชิ้น ทว่าด้วยพื้นที่มีจำกัด เจ้าของบ้านจึงทยอยนำออกมาให้ได้ชมเป็นชุดๆ อาจใช้เวลาแสดงชุดละ 2-3 เดือนก่อนจะเปลี่ยนชิ้นใหม่จนครบ วุฒิชัย วงษ์เกิด บอกว่า วัตถุจัดแสดงส่วนใหญ่มาจากแนวความคิดล้ำๆ ของนายเลิศ อย่างที่ใส่ข้าวสำหรับตักบาตรของคุณหญิงสิน ภรรยาของท่านก็ทำจากไม้มีขนาดใหญ่มากเพราะรู้ว่าภรรยาชอบทำบุญและตักบาตรแต่ละครั้งมักนิมนต์พระร่วมร้อยรูป พื้นบ้านเป็นปาเก้ได้จากเศษไม้แผ่นเล็กๆ มาต่อกันเรียกว่า “ปาเก้นายเลิศ” ห้องรับประทานอาหารที่แสดงรายการอาหารสูตรเฉพาะของบ้านอย่าง ห่อหมกปลา ห่อหมกข้าว ที่เอาน้ำเหลือจากห่อหมกมาคลุกข้าวแล้วทำเป็นห่อหมก ห้องครัวที่มีที่นั่งประจำของคุณหญิงสินสำหรับบัญชาการแม่ครัว มีห้องน้ำสไตล์ตะวันตกเสริมคอนกรีตอยู่ในบ้านไม้
ที่น่าสนใจไม่แพ้ตัวบ้านคืออาณาบริเวณโดยรอบจัดแสดงโรงจอดเรือ ลำแรกเป็นเรือเลียบชายฝั่งทะเลสร้างก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 ชื่อ “สมันเตา” หรือดีเลิศไม่เหมือนใคร เคยใช้ล่องไปเกาะสีชังมาแล้ว อีกลำเป็นเรือเดินคลองแสนแสบ เมื่อปี 2460 เคยใช้ขนวัวควายชาวบ้านไปไว้บนบกตอนเกิดน้ำท่วมใหญ่ที่มีนบุรี ใกล้ๆ กันเป็นที่จอดรถเมล์ขาวสมัย ร.5 (2450) ยี่ห้อออสติน เดินรถสายพระโขนง-กษัตริย์ศึก ยังมีศาลนายเลิศที่เสียชีวิตเมื่อปี 2488 บ่อน้ำที่เคยเป็นหลุ่มระเบิดสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 รวมถึงห้องนิทรรศการใต้ถุนบ้าน
เป็นที่สังเกตว่าตามจุดต่างๆ ของบ้านหรือบนเรือและตัวรถจะมีตราวงกลมและเครื่องหมายบวกตรงกลาง นั่นคือเครื่องหมายการค้าที่นายเลิศคิดขึ้นมาซึ่งหมายถึงพรหมวิหาร 4 เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา เป็นหลักในการดำเนินชีวิตของตนที่ส่งผ่านทายาทจากรุ่นสู่รุ่น...
สำหรับผู้สนใจบ้านปาร์คนายเลิศ เปิดให้เข้าชมทุกวันพฤหัสบดีและวันศุกร์ วันละ 2 รอบ เวลา 11.00 น.และ 14.00 น. สอบถามเพิ่มเติมโทร.0-2655-4775-6