ไลฟ์สไตล์

เทรนด์การศึกษาปี 2559 เด็ก=โจทย์ เน้นเชื่อมโยง กระจายอำนาจ

เทรนด์การศึกษาปี 2559 เด็ก=โจทย์ เน้นเชื่อมโยง กระจายอำนาจ

31 ธ.ค. 2558

เทรนด์การศึกษาปี 2559 เด็ก=โจทย์ เน้นเชื่อมโยง กระจายอำนาจ : โดย...ชุลีพร อร่ามเนตร

 
                      เดินหน้าเข้าสู่ศักราชใหม่ ปี 2559 “ปฏิรูปการศึกษาไทย” ก็ยังคงเป็นประเด็นฮอตที่สังคมกำลังจับตามอง เพราะหากย้อนดูบทเรียนจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกและปฏิิรูปการศึกษาไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อาจเรียกว่าเป็นเรื่องเก่าคร่ำครึเลยก็ว่าได้ ใครไปใครมาในแวดวงการศึกษามักหยิบยกสานต่อเรื่องนี้ตลอด บางยุคนำเรื่องเก่ามาปัดฝุ่นเปลี่ยนชื่อใหม่ หรือจัดทำเรื่องใหม่ก็ว่ากันไป
 
                      ยุครัฐบาลปัจจุบัน “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี” ซึ่งมี “พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ เป็นรมว.ศึกษาธิการ” ปฏิิรูปการศึกษาเช่นกัน โดยได้เตรียมแต่งองค์ทรงเครื่องไว้เรียบร้อย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโครงสร้าง ปรับหลักสูตร ผุดนโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ เพียงแต่ยังไม่เห็นเป็นชุดที่พร้อมสวมใส่ได้ทันที ด้วยเหตุทุกเรื่องต้องใช้เวลา..
 
 
เทรนด์การศึกษาปี 2559 เด็ก=โจทย์ เน้นเชื่อมโยง กระจายอำนาจ
 
 
                      ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เทรนด์การศึกษาต้องเป็นการศึกษาที่ภาคประชาชน ดึงทุกภาคส่วน เช่น องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ปราชญ์ชุมชน คนในท้องถิ่น โรงเรียน ผู้บริหาร ครู เข้ามาร่วมจัดการศึกษา เพื่อทำให้เกิดสังคม ชุมชนการเรียนรู้ และการจัดการศึกษาที่ดีต้องเน้นเรื่องคุณภาพเด็ก โรงเรียน ผู้บริหาร ครูต้องสร้างห้องเรียนแห่งการเรียนรู้ ออกแบบจัดการสอน กิจกรรมการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับเด็กตามศักยภาพ และความเป็นชุมชน ท้องถิ่นของพวกเขา ต้องกระจายอำนาจการเรียนรู้ให้ความสำคัญกับโรงเรียนมากขึ้น รวมถึงพัฒนาหลักสูตร สมรรถนะพลเมืองประชาธิปไตยของไทย ควบคู่ไปกับความเป็นท้องถิ่นให้เกิดขึ้นในห้องเรียน
 
 
เทรนด์การศึกษาปี 2559 เด็ก=โจทย์ เน้นเชื่อมโยง กระจายอำนาจ
 
 
                      “การศึกษาจะปรับเปลี่ยนอย่างใจร้อนไม่ได้ ต้องมีการวางแผนและดำเนินการตามแผนอย่างชัดเจน ต่อเนื่องถึงจะเห็นผลเป็นรูปธรรม ดังนั้น นโยบายกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ขณะนี้ถึงยังไม่เป็นรูปธรรมชัดเจน แต่หลายเรื่องเป็นนโยบายที่ดีหากทำสำเร็จ และมีความต่อเนื่องถึงจะเปลี่ยนรัฐบาล โดยทิศทางพัฒนาการศึกษาไทย ต้องคำนึงการประเมินโรงเรียน ครูอิงกับคุณภาพเด็กไม่ใช่อิงตามผลงาน เอกสารของครู และนโยบายการศึกษาควรเกิดจากภาคประชาชน สังคมไม่ใช่นักการเมือง”
 
 
เทรนด์การศึกษาปี 2559 เด็ก=โจทย์ เน้นเชื่อมโยง กระจายอำนาจ
 
 
                      นโยบายการศึกษามีทั้งโดนใจ และขัดใจผู้ปฏิบัติคละเคล้ากันไป แต่สิ่งที่ต้องทำ คือ กระจายอำนาจไปสู่โรงเรียนให้ได้จริงๆ นายศุภณัฎฐ์ ศศิวุฒิวัฒน์ นักวิจัยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า การกระจายอำนาจไปสู่โรงเรียนให้มากขึ้นจะสามารถช่วยเพิ่มคุณภาพของโรงเรียนและเด็กได้ เพราะครู โรงเรียนน่าจะรู้จักเด็กได้ดี และโรงเรียนมีความหลากหลายถ้าจะพัฒนาระบบการศึกษา ต้องให้คนในพื้นที่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแต่ละแห่งเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาตามบริบท ศักยภาพเด็ก อยากให้ ศธ.กระจายอำนาจเปิดโอกาสให้โรงเรียนเอกชนมีส่วนร่วมการศึกษา จัดสรรเงินอุดหนุนรายหัวต้องเหมาะกับสภาพครอบครัวของเด็ก เด็กในเมืองกับต่างจังหวัด เด็กชายขอบจะให้เงินอุดหนุนรายหัวเท่ากันทุกโรงเรียนไม่ได้ ต้องหาวิธีการที่จะให้งบประมาณไปถึงโรงเรียนและเด็กอย่างแท้จริง นอกจากนั้น ต้องปรับให้อิสระแก่โรงเรียนมากขึ้น การพัฒนาห้องเรียนต้องไม่สร้างภาระให้ครู ครูควรทำหน้าที่สอน เตรียมการสอนไม่ใช่ทำงานธุรการ
 
                      เด็กรุ่นใหม่ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศไทย ต้องเป็นเด็กที่มีความสามารถในการวิเคราะห์ มีความคิดสร้างสรรค์ รู้จักการทำงานเป็นทีม และมีความรับผิดชอบ ศ.ดร. อัญชนา ณ ระนอง ผู้อำนวยการหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวปิดท้ายว่า ทิศทางพัฒนาการศึกษาของไทย ควรเน้นด้านคุณภาพ ไม่ควรเน้นด้านเนื้อหา (content) อย่างที่เป็นอยู่ โดยต้องฝึกให้นักเรียน นักศึกษามีความสามารถในการคิดและวิเคราะห์ ตั้งแต่ระดับประถมจนถึงบัณฑิตศึกษา รวมถึงไม่ปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์ของเด็ก
 
 
เทรนด์การศึกษาปี 2559 เด็ก=โจทย์ เน้นเชื่อมโยง กระจายอำนาจ
 
 
                      “เด็กไทยปัจจุบันใช้การเรียนพิเศษเป็นเครื่องมือในการเพิ่มโอกาสการสอบเข้าเรียนต่อในสถาบันที่มีชื่อเสียงแทบทุกระดับ โดยในการเรียนพิเศษเน้นสอนเทคนิค วิเคราะห์เพื่อให้ได้คำตอบที่ถูก ซึ่งไม่ใช่เป้าหมายของการศึกษา อีกทั้งการวัดผลการศึกษาก็เป็นส่วนหนึ่งที่ต้องปรับปรุง เพราะถ้าการวัดผลการศึกษาไม่เปลี่ยน สถานศึกษาก็คงไม่ต้องปรับตัวอะไร หรือถ้าปรับตัวก็ไปในทางที่จะทำอย่างไรคะแนนผลสอบจะได้สูง หรือเด็กจะสอบเข้าได้มาก ถ้าจะปฏิรูปการศึกษาต้องเปลี่ยนทั้งระบบให้มีความสอดคล้องกัน ตั้งแต่เป้าหมายที่ชัดเจนว่าเด็กแต่ละระดับต้องมีความรู้และทักษะในการวิเคราะห์อะไรบ้าง เนื้อหา กิจกรรม และวิธีการสอนก็ต้องสอดคล้องตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ การวัดผลก็ต้องวัดผลตามเป้าหมายนั้น”
 
                      โลกหมุนเวียน ผลัดเปลี่ยนตลอดเวลาเฉกเช่นเดียวกับทิศทางพัฒนาการศึกษาไทยที่ต้องปรับเพื่อพัฒนา ผลิตเด็กไทยอนาคตของชาติให้เท่าทัน พร้อมต่อการแข่งขันกับนานาประเทศ และคงไม่ใช่หน้าที่ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของภาคประชาชน สังคมที่ต้องร่วมด้วยช่วยกันดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
 
 
 
--------------------
 
(เทรนด์การศึกษาปี 2559 เด็ก=โจทย์ เน้นเชื่อมโยง กระจายอำนาจ : โดย...ชุลีพร อร่ามเนตร)