ไลฟ์สไตล์

'ร่างพ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน' ถึงคิวรัฐจัดระเบียบที่เพื่อคนยากไร้

'ร่างพ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน' ถึงคิวรัฐจัดระเบียบที่เพื่อคนยากไร้

29 ธ.ค. 2558

เปิดเวทีถก 'ร่าง พ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน' ถึงคิวรัฐจัดระเบียบที่เพื่อคนยากไร้ : โดย...สุรัตน์ อัตตะ

 
                      ด้วยสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) หรือบจธ. ซึ่งตามมาตรา 7(1) แห่งพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) หรือบจธ. พ.ศ.2554 มีกำหนดให้สถาบันจัดตั้ง “ธนาคารที่ดิน” ให้สำเร็จลุล่วงตามร่าง พ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน พ.ศ.... ก่อนที่พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ได้สิ้นสุดลงในกลางปี 2559 ตามที่ระบุในบทเฉพาะกาลมีระยะเวลาในการดำเนินการ 5 ปี (2554-2559) ทั้งนี้เพื่อเป็นหน่วยงานทำหน้าที่ในการจัดสรรที่ดินให้แก่ผู้ยากไร้โดยไม่ต้องเป็นกรรมสิทธิ์ แต่รับรองสิทธิร่วมกันในการจัดการที่ดินของชุมชนเพื่อให้เป็นกลไกสำคัญในการนำทรัพยากรที่ดินมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดให้ตามคำแถลงนโยบายของรัฐบาลข้อ 9.3 เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2557 หลังจากที่สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) หรือบจธ. ได้ดำเนินการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน พ.ศ....เสร็จสิ้น จึงได้มีการจัดสัมมนาเพื่อระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนต่อร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ก่อนจะมีการเสนอเข้าสู่คณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาและสภานิติบัญญัติแห่งต่อไป 
 
                      พล.ท.ชาญชัย ภู่ทอง ประธานกรรมการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน กล่าวตอนหนึ่งระหว่างเป็นประธานในพิธีเปิดงานสัมมนาครั้งนี้ว่า เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนต่อร่างพระราชบัญญัติธนาคารที่ดินพ.ศ... โดยสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) หรือบจธ.นั้น เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่หลักในการจัดตั้งธนาคารที่ดิน ซึ่งจะเป็นกลไกใหม่ทีี่มีความสำคัญและมีภารกิจหลักในการลดความเหลื่อมล้ำกระจายการถือครองที่ดิน ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ในที่ดินอย่างเต็มศักยภาพ เป็นหน่วยงานในการจัดหาและประสานการใช้ประโยชน์ในที่ดินระหว่างหน่วยงานต่างๆ และเจ้าของที่ดินเพื่อให้ผู้มีความต้องการจะใช้ประโยชน์ในที่ดิน ผู้ไร้ที่ดิน เกษตรกร กลุ่มเกษตรกรและผู้ยากจนได้มีที่ดินทำกินและอยู่อาศัย ซึ่งจะทำให้สามารถพัฒนาวิถีชีวิตและชุมชนได้อย่างมั่นคงแข็งแรง อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป 
 
                      “วันนี้จะทำให้ทุกท่านได้เข้าใจความจำเป็นของประเทศไทยที่ต้องเร่งจัดตั้งธนาคารที่ดิน ประโยชน์ที่เกษตรกรผู้ยากจนและประโยชน์ประเทศที่ได้รับจากการจัดตั้งธนาคารที่ดิน ในส่วนของ บจธ.ก็จะได้รับข้อมูลจากการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอะแนะต่างๆ ไปปรับปรุงแก้ไขร่างพระราชบัญญัติให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น พ.ร.บ.ฉบับนี้มันเกี่ยวข้องกับการเงินการคลังจะเกี่ยวข้องกับหน่วยงานต่างๆ ฉะนั้นจึงต้องเข้า ครม.จะใช้เงินอย่างไรเพื่อไม่ใช่กระทบระบบการเงินและงบประมาณของประเทศ” ประธานกรรมการ บจธ.กล่าวและว่า หลังรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนแล้วนำข้อเสนอแนะต่างๆ มาแก้ไขปรับปรุงเพิ่มเติมแล้ว จากนั้นก็จะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือนมกราคม 2559 จากนั้นก็เข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งขณะนี้มีร่าง พ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน พ.ศ....ที่เสนอโดยสภาปฏิรูปแห่งชาติรออยู่แล้ว ซึ่งจะได้พิจารณาควบคู่กันไป
 
                      สถิตย์พงษ์ สุดชูเกียรติ ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) กล่าวเสริมว่า สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) หรือบจธ.นั้น เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกา พ.ศ.2554 มีภารกิจในการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืนส่งเสริมการใช้ประโยชน์ในที่ดินอย่างเต็มศักยภาพและภารกิจที่สำคัญของ บจธ.ตามความในมาตรา 7(1) แห่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวคือ การจัดตั้งธนาคารที่ดิน ซึ่งบจธ.ได้ศึกษาการจัดตั้งธนาคารที่ดินในหลากหลายรูปแบบและได้ร่างพระราชบัญญัติธนาคารที่ดิน พ.ศ....ขึ้น โดยได้รับความร่วมมือและความอนุเคราะห์จากผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ อาทิ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมที่ดิน กรมธนารักษ์ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ส.ป.ก. เป็นต้น นอกจากนี้ บจธ.ยังได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมให้ความเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2558 ที่ผ่านมา โดยได้ปรับแก้ไขร่างพระราชบัญญัติธนาคารที่ดิน ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำ กระจายการถือครองที่ดินและส่งเสริมการใช้ประโยชน์ในที่ดิน ซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีค่าและมีอยู่อย่างจำกัดให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มศักยภาพเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป
 
                      “การจัดสัมมนาในวันนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทำความเข้าใจและระดมความคิดเห็นอันเป็นประโยชน์ต่อการจัดตั้งธนาคารที่ดิน ซึ่งมีความเหมาะสมสอดคล้องกับบริบทของประเทศต่อไป” สถิตย์พงษ์กล่าว และย้ำวัตถุประสงค์ของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ว่า จะมุ่งเน้นการบริหารจัดการที่ดินของรัฐและเอกชนเพื่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการกระจายการถือครองที่ดินให้แก่เกษตรกรและผู้ยากจนตามนโยบายรัฐบาลให้มีที่อยู่อาศัยและที่ทำกินเป็นของตนเองอย่างพอเพียง เป็นธรรมเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีโดยไม่เป็นการแข่งขันกับเอกชนและยังเป็นการพัฒนาที่ดินเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและให้มีการใช้ประโยชน์ในที่ดินอย่างเหมาะสมและยั่งยืน นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการบริหารจัดการที่ดินให้ชุมชนบริหารจัดการที่ดินร่วมกัน ทั้งที่ดินทำกินและที่ดินสำหรับการอยู่อาศัย ไม่เพียงเท่านั้นยังเป็นกลไกของรัฐในการสำรองที่ดินเพื่อสร้างประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจหรือเพื่อช่วยเหลือ สนับสนุนการดำเนินการตามนโยบายการพัฒนาชนบทหรือเมืองหรือพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ
 
                      ในส่วนเนื้อหารายละเอียดของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้นั้น ผอ.บจธ.เปิดเผยว่าได้มีการกำหนดทุนเรือนหุ้นของธนาคารไว้ 6,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 60 ล้านหุ้น มีมูลค่าหุ้นละ 100 บาท โดยใช้ธนาคารขายหุ้นให้แก่กระทรวงการคลังหรือสถาบันการเงินอื่นของรัฐ ส่วนที่เหลือให้ขายให้แก่สถาบันการเงินเอกชน เกษตรกร สถาบันเกษตรกร หรือบุคคลอื่น โดยความรับผิดชอบของผู้ถือหุ้นให้จำกัดเพียงมูลค่าหุ้นที่ตนถือครอง โดยใช้นำบทบัญญัติว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัดมาบังคับใช้แก่ธนาคารโดยอนุโลมเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งต่อร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้และให้กระทรวงการคลังซื้อหุ้นของธนาคารได้ตามสมควร แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 51 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด 
 
                      ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ที่ปรึกษาคณะกรรมการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดินและสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศมองถึงความจำเป็นในการจัดตั้งธนาคารที่ดินของประเทศไทยว่าจะต้องระวัง เพราะเป็นเรื่องที่เชื่อมโยงกับหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็น ธ.ก.ส. พอช. สหกรณ์ กฟก. กรมธนารักษ์ และโครงข่ายชุมชน ดังนั้นการจัดตั้งธนาคารที่ดินจะต้องพิจารณาถึงสิ่งต่างๆ เหล่านี้ โดยระยะแรกจะต้องช่วยเกษตรกรในเรื่องที่ดินติดจำนองก่อน จากนั้นก็มาสู่การบริหารจัดการที่ดินของรัฐที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์มาสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยการบริหารจัดการองค์กรจะต้องมีอิสระปลอดการเมืองเข้ามาครอบงำ
 
                      “แนวทางการบริหารธนาคารที่ดินน่าจะมุ่งเป้าไปที่ 3 ประเด็น คือ การบริหารจัดในรูปแบบของกลุ่ม การบริหารหนี้เกษตรกรและการจัดการหนี้ของเกษตรกร ซึ่งทั้ง 3 อย่างนี้ถือเป็นหัวใจหลักในการเพื่อปัญหาที่ดินทำกินของเกษตรกร” ดร.กอบศักดิ์ย้ำชัด
 
                      ส่วนเกษตรกรและผู้ยากจนจะได้อะไรจากการจัดตั้งธนาคารที่ดิน ประยงค์ ดอกลำไย ในฐานะตัวแทนเกษตรกรและองค์กรชุมชนมองว่า ธนาคารที่ดินจะก่อเกิดการกระจายที่ดินอย่างเป็นธรรม โดยมุ่งเป้าไปที่ผู้ถือครองที่ดินเสนอให้รัฐเก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า เรื่องจากที่ดินส่วนใหญ่ปัจจุบันตกอยู่ในกลุ่มผู้ครองเพียงไม่กี่รายและไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ จึงสมควรให้มีการเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้าเพื่อจะนำรายได้มาช่วยเหลือเกษตรกรผู้ยากไร้ในการจัดหาที่ดินทำกินต่อไป
 
                      “ผมมองว่าธนาคารที่ดินต้องมาควบคู่กับภาษีในอัตราก้าวหน้า เช่นเดียวกับภาษีเหล้าบุหรี่ หากใครถือเกิน 50 ไร่ ก็ต้องจ่ายภาษีที่แพง มันถึงจะเป็นธรรม ประเด็นต่อมาธนาคารจะต้องช่วยคนที่ดินกำลังหลุดมือกับคนที่ที่ดินหลุดมือไปแล้วก่อน เปรียบเทียบให้เห็นภาพ มีคนอยู่ 3 จำพวก คนที่จมน้ำ คนที่ลอยคออยู่ในน้ำกับคนที่ยืนริมตลิ่ง คนที่ยืนโบกมืออยู่บนบก เราต้องช่วยคน 2 พวกแรกเพื่อให้เขาขึ้นมาอยู่บนบกก่อน ถ้าไม่ช่วยเขาจมน้ำตายนะ” ประยงค์กล่าวทิ้งท้าย
 
                      ร่าง พ.ร.บ.ในการจัดตั้งธนาคารที่ดิน นับเป็นแนวทางในการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ยากไร้ให้มีที่ดินทำกินเพื่อความมั่นคง ยั่งยืนและเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจชาติในอนาคต
 
 
 
 
-------------------
 
(เปิดเวทีถก 'ร่าง พ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน' ถึงคิวรัฐจัดระเบียบที่เพื่อคนยากไร้ : โดย...สุรัตน์ อัตตะ)