ไลฟ์สไตล์

การศึกษา 58 'คุณภาพไม่ชัด'

การศึกษา 58 'คุณภาพไม่ชัด'

29 ธ.ค. 2558

การศึกษา 58 'คุณภาพไม่ชัด' : โดย...ชุลีพร อร่ามเนตร / เกศกาญจน์ บุญเพ็ญ

 
                      แวดวงการศึกษาตลอดปี 2558 เกิดเหตุการณ์มากมาย หลายเรื่องถูกจับจ้องจากสังคม โดยเฉพาะ “ปมทุจริต-ฉ้อโกง” กลายเป็นประเด็นร้อนแรง แซงหน้า ผลงานสะท้อนยกระดับคุณภาพการศึกษา
 
 
1.ประเดิม “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้”
 
                      ถือเป็นผลงานชิ้นแรกของ พล.อ.ดาว์พงษ์  รัตนสุวรรณ เมื่อเข้ารับตำแหน่ง รมว.ศึกษาธิการ ที่ประกาศให้ตั้งแต่ช่วงเวลา 14.00 น.เป็นต้นไป เป็นช่วงเพิ่มเวลารู้แทน เริ่มนำร่องตั้งแต่เปิดภาคเรียนที่ 2/2558 ในโรงเรียนทุกสังกัดทั่วประเทศ 4,100 โรง กับผู้เรียนระดับประถมและมัธยมต้น ได้รับการพัฒนาที่เหมาะสมตามช่วงวัย เรียนรู้อย่างมีความสุข แต่ด้านวิชาการก็ยังได้ความรู้ครบถ้วนและให้ในเมนูกิจกรรมกว่า 300 เมนู ที่ใช้พัฒนาผู้เรียนต้องยึดตามหลัก 4 เอช คือ สมอง (HEAD) จิตใจ (Heart) ทักษะการลงมือปฏิบัติ (Hand) และสุขภาพ (Health) ซึ่งแม้นโยบายนี้จะเป็นที่น่าพอใจ แต่ยังมีข้อห่วงใยของผู้ปกครองว่าเด็กอาจไม่ได้ความรู้วิชาการที่เข้มข้น ขณะที่ครูแม้มีความสุขกังวลว่ามีภาระงานเพิ่มขึ้น
 
 
2.ปรับโครงสร้างศธ.สลาย5แท่ง
 
                      เรียกเสียงฮือฮาส่งท้ายปี 2558 กับข้อเสนอปรับโครงสร้าง ศธ.รูปแบบ “ซิงเกิล คอมมานด์” มี รมว.ศึกษาธิการดูแลนโยบายภาพรวม ส่วน 5 แท่งของ ศธ.เหลือเพียงสำนักงานปลัด ศธ. ขณะที่ สพฐ.และสอศ.ถูกแยกการทำงานเป็นกรม คล้ายในอดีตก่อนมีการโครงสร้างครั้งใหญ่ในปี 2547 ส่วนที่คาดว่าต้องแยกตัวไปคือ สภาการศึกษา ไปสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) แยกตัวไปตั้งกระทรวงอุดมศึกษา แต่เฉพาะหน้าในส่วนโครงสร้างที่ต้องการปรับเร่งด่วน ศธ.เล็งเสนอนายกรัฐมนตรีใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาดำเนินการ คือการควบรวมอาชีวศึกษารัฐและเอกชน ที่ต้องเห็นภาพการทำงานทันทีในปี 2559 และจัดตั้งกรมวิชาการให้อยู่ในกำกับสำนักปลัด ศธ.
 
 
3.คสช.โละ3บอร์ดฉาวเคลียร์ทางปราบทุจริต
 
                      หลังจาก คสช.มีคำสั่งสำคัญ 3 ฉบับ เริ่มจากฉบับแรก เป็นคำสั่งโยกย้ายผู้บริหารระดับสูงของ ศธ.ทั้งซี 10-11 โดยให้ รศ.นพ.กำจร ตติยกวี นั่งเก้าอี้ปลัด ศธ. เพื่อมาสะสางปัญหาทุจริตใน ศธ. ฉบับที่สอง สั่งโละบอร์ด 3 องค์กรยกชุด ได้แก่ คณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) คณะกรรมการบริหารองค์การค้าของ สกสค. และคณะกรรมการคุรุสภา เพื่อเคลียร์ทางให้ รมว.ศึกษาธิการ ที่ในเวลานั้นคือ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย เข้ามากุมบังเหียนสะสางขยะที่ซุกใต้พรมของทั้ง 3 องค์กรได้เต็มที่ ก่อนที่จะเปลี่ยนมือเป็น พล.อ.ดาว์พงษ์ มารับไม้ต่อ และฉบับที่ 3 มีคำสั่งให้ผู้บริหาร 3 องค์กร นายสมศักดิ์ ตาไชย อดีตเลขาธิการ สกสค. นายสมมาตร์ มีศิลป์ อดีตผู้อำนวยการองค์การค้าฯ และนายอำนาจ สุนทรธรรม อดีตเลขาธิการคุรุสภา ยุติการปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราว ต่อมาทั้ง 3 ราย ถูกยกเลิกสัญญาจ้าง
 
                      ปมทุจริตมัดใหญ่ของ สกสค.หนีไม่พ้นกรณี สกสค.ซื้อตั๋วสัญญาใช้เงินกับบริษัท บิลเลี่ยน อินโนเวเท็ด กรุ๊ป จำกัด มูลค่ากว่า 3,000 ล้านบาท ที่ยิ่งสาวยิ่งเจอความไม่ชอบมาพากล ตั้งแต่หลักฐานการค้ำประกันจากบริษัทที่นำมาวางไว้ก็เป็นของปลอม โดยล่าสุดผู้ตรวจการแผ่นดินชี้มูลความผิดฐานฉ้อโกงกรณีดังกล่าวแล้ว ขณะที่ สกสค.ได้แจ้งความกับกรรมการบริษัทบิลเลี่ยนฯ จำนวน 9 คน ในข้อหายักยอกทรัพย์และข้อหาฉ้อโกง และแจ้งความดำเนินคดีนายเกษม และนายสมศักดิ์ ในข้อหาเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและยักยอกทรัพย์
 
                      รวมทั้งสอบสวนทางวินัยเจ้าหน้าที่ สกสค. 6 ราย ขณะที่การตรวจสอบโดย ป.ป.ช.คืบหน้าไปกว่า 80% ส่วนองค์การค้าของ สกสค.ก็มีเรื่องซุกซ่อนไม่ต่างกัน ทั้งปัญหาหนังสือตำราเรียนที่หายไป 5.3 แสนเล่ม ยังไม่มีคำตอบชัดเจน ส่วนปัญหาขาดทุนก็เรื้อรังมายาวนาน และขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนหยุดเลือด ซึ่งต้องจับตาดูว่า “นายธเนศพล ธนบุณยวัฒน์” กุนซือคู่ใจ พล.อ.ดาว์พงษ์ จะเข้ามาเคลียร์ได้หรือไม่
 
 
4.ข้อสอบคัดผอ.-รองผอ.โรงเรียนผิดพลาด
 
                      สั่นคลอนความเชื่อมั่นที่มีต่อสถาบันอุดมศึกษาไม่น้อย กับการออกข้อสอบคัดเลือก/แข่งขันรอง ผอ.-ผอ.สังกัด สพฐ.ที่ออกโดยมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) และพบว่าเฉลยผิดพลาดถึง 6 ข้อ เป็นในส่วน ผอ. 4 ข้อ และรอง ผอ. 2 ข้อ จนต้องให้คะแนนฟรีแก่ผู้เข้าสอบทุกราย ทำให้มีรายชื่อขึ้นบัญชีเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 400 คน นอกจากนี้ยังมีกรณีจัดสอบครูผู้ช่วยกรณีทั่วไปที่ สพฐ.ให้ 7 มหาวิทยาลัยออกข้อสอบและมีผู้สอบผ่าน 19,940 คน จากผู้เข้าสอบกว่า 1 แสนคน คิดเป็น 19.12% ซึ่งค่อนข้างน้อย จึงมีการตั้งคำถามว่า เพราะมหาวิทยาลัยออกข้อสอบยาก หรือเพราะเกิดปัญหาตั้งแต่กระบวนการผลิตครูว่ามีคุณภาพหรือไม่
 
 
5.อภิมหาโกงพันล้าน“เทคโนฯลาดกระบัง”
 
                      “1,600 ล้านบาท” ยอดเงินโกงจากบัญชีกลางของ “สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)” ที่อื้อฉาวมาตั้งแต่ปลายปี 2557 จวบจนปี 2558 กว่าจะกวาดล้างกลุ่มขบวนการคนในคนนอกรวมหัวกินแบบเนียนๆ มาปีกว่าได้ เล่นเอาเหนื่อยกันเลยทีเดียว โดยคดีโคตรโกงครั้งนี้ แม้จะสามารถจับผู้บริหารและขบวนการเกือบทั้งหมดได้ แต่มีหนึ่งธนาคารถูกสังคมเคลือบแคลงใจจนก่อเกิดกระแสถอนเงินออกจาก “ธนาคารไทยพาณิชย์” จำเลยในฐานะผู้รับเงินจนธนาคารต้องออกมาแถลงสื่อว่าจูบปากกับ สจล. ทำข้อตกลงยอมเยียวยาค่าเสียหายที่เกิดจากธนาคาร ปิดฉากอย่างแฮปปี้เอนดิ้ง
 
 
6.สางปม“เอแบค”ฟัดกันชุลมุน
 
                      “เครื่องบินจำลอง” เหตุชนวนความขัดแย้งภายในของกลุ่มคนระดับปัญญาชน “มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอแบค)” แบ่งฝักแบ่งฝ่าย ขาดสามัคคีจนกลิ่นฟุ้งกระจายออกสู่สาธารณชน แถมยังพ่วงนักศึกษากว่า 3,000 คน สุ่มเสี่ยงไม่ได้เข้ารับปริญญาบัตร ไร้อธิการบดีลงนามในใบรับรองปริญญา เมื่อฝ่ายหนึ่ง (ดร.สุทธิพร ปทุมเทวาภิบาล) เข้านั่งรักษาการอธิการบดีเอแบค แทนอธิการบดีเดิม (ภราดาบัญชา แสงหิรัญ) ถูกพักการปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราว ทว่า เรื่องจบไม่สวย เมื่อต่างฝ่ายต่างใช้กฎหมายยันสิทธิ์อธิการบดี ร้อนถึง “บิ๊กหนุ่ย” พล.อ.ดาว์พงษ์ รมว.ศึกษาธิการ ตั้ง 8 อรหันต์ตรวจสอบข้อเท็จจริงขจัดปมความขัดแย้ง สางปมได้เร็วๆ วัน ก่อนที่ “เอแบค” จะกลายเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งแรกที่หาอธิการบดีตัวจริงไม่เจอ
 
 
7.ฉาวโฉ่!อุดมฯ“ธรรมาภิบาล”เสื่อม
 
                      พวกใครพวกมัน ผลประโยชน์พวกพ้องกลายเป็นสโลแกนของเหล่าผู้บริหารแทนที่หลัก “ธรรมาภิบาล” การบริหารงาน ส่งผลให้มหาวิทยาลัย 5 แห่ง ไร้หัวเรือใหญ่อย่าง “อธิการบดี” ตกค้างอยู่ที่ สกอ. รอการตรวจสอบ อย่าง 1.ม.เกษตรศาสตร์ (มก.) 2.ม.วลัยลักษณ์ 3.ม.มหาสารคาม (มมส.)  4.ม.นครพนม และ5.ม.บูรพา โดยมี 2 แห่งที่ส่งรายชื่ออธิการบดี แต่กลับถูกทวงติงเรื่องคุณสมบัติ คือ มก. “นายบดินทร์ รัศมีเทศ” นั่งกรรมการบริษัทเอกชนหลายแห่ง และ มมส. “รศ.ดร.ศุภชัย สมัปปิโต” เคยถูกสอบวินัยร้ายแรง ส่วนอีก 3 แห่ง ยังไม่มีการส่งรายชื่อของผู้จะดำรงตำแหน่งอธิการบดี คงได้รอคอยผู้บริหารมีหลักธรรมาภิบาลเข้ามาบริหารมหาวิทยาลัยให้เจริญก้าวหน้า
 
 
8.“สอบอัตนัย”ปิดจ๊อบ“ประเมินฯรอบสี่”
 
                      หลังจากถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงแนวข้อสอบมาอย่างต่อเนื่อง ปีที่ผ่านมา สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) หน่วยงานจัดสอบวัดระดับการศึกษาของเด็กไทย เช่น ตระกูลเน็ต โอเน็ต วีเน็ต บีเน็ต แกต แพต 7 วิชาสามัญ ฯลฯ ได้มีการพัฒนามุ่งเพิ่มสัดส่วนข้อสอบอัตนัยมากขึ้น โดยนำร่องจากการสอบโอเน็ตชั้น ป.6 ปรับรูปแบบข้อสอบอัตนัย 20% ก่อนคุยฟุ้งขยายสู่การจัดสอบอัตนัยมากขึ้น ส่วนการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ ประเมินออนไลน์ บทบาทหน้าที่ของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประกันคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ถูกชะลอให้กลับไปแต่งตัวให้พร้อมการปฏิรูปการศึกษาก่อนเดินหน้าต่อ
 
 
9.พาเหรด“ม.นอกระบบ”ปี58
 
                      ตัดเสื้อตัวใหม่กันทุกปี สำหรับมหาวิทยาลัยที่ปรับเปลี่ยนสถานภาพจาก มหาวิทยาลัยของรัฐ มาเป็นมหาวิทยาลัยนอกระบบ หรือมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ซึ่งปี 2558 นี้ มีมหาวิทยาลัยรัฐ 7 แห่ง ที่ออกนอกระบบ ได้แก่ ม.เกษตรศาสตร์, ม.สวนดุสิต (มรภ.สวนดุสิต) , ม.ธรรมศาสตร์, ม.ขอนแก่น, ม.ศิลปากร, ม.สงขลานครินทร์ และม.ศรีนครินทรวิโรฒ ซึ่งนอกจากเปลี่ยนสถานภาพแล้ว บางแห่ง อย่าง ม.สวนดุสิต ยังก้าวกระโดดออกมาจากกลุ่มราชภัฎฏกันเลยทีเดียว
 
 
10.“กล้วยทับ” รับน้องอนาจาร
 
                      สนุกกันจนเป็นเรื่อง เมื่อคลิปรับน้องมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา (มร.สส.) ว่อนในโลกโซเซียล ภาพการจับคู่เต้น “กล้วยทับ” เลียนแบบท่าร่วมรักระหว่างนักศึกษาชายและนักศึกษาสาวประเภทสอง มีกองเชียร์ยืนปรบมือ ชื่นชมอย่างสนุกสนาน เดือดร้อนถึง อ.ฤาเดช เกิดวิชัย อธิการบดี รีบออกมาขอโทษสังคม พร้อมตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยนักศึกษาที่เกี่ยวข้องทั้ง 53 คน ก่อนสั่งพักการเรียนรุ่นพี่ 3 คน พร้อมตัดคะแนนความประพฤติ 50 คะแนน ส่วนรุ่นน้อง 5 คน ที่ปรากฏในคลิปถูกภาคทัณฑ์ และตัด 30 คะแนน ขณะที่กองเชียร์อีก 45 คน ถูกตัด 20 คะแนน ก่อนนำไปอบรมปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
 
 
 
-------------------
 
(การศึกษา 58 'คุณภาพไม่ชัด' : โดย...ชุลีพร อร่ามเนตร / เกศกาญจน์ บุญเพ็ญ)