ไลฟ์สไตล์

Thailand Countdown 2016 วัดอรุณฯ

Thailand Countdown 2016 วัดอรุณฯ

28 ธ.ค. 2558

Thailand Countdown 2016 วัดอรุณฯ 'อุษาอัสลิ' รวมใจนักดนตรีอาเซียน บรรเลง 'มหากาพย์นิทานแผ่นดิน' เปิดประตูสู่ศักราชใหม่

 
                      บรรยากาศงานเคานท์ดาวน์ปีนี้เป็นไปอย่างยิ่งใหญ่ ทั่วโลกต่างเฉลิมฉลองการนับถอยหลังสู่ศักราชใหม่กันอย่างคึกคัก ปีนี้ประเทศไทย โดย ททท.นำเสนอแลนด์มาร์คแห่งใหม่ที่ทั่วโลกรู้จักกันดี นั่นคือ พระปรางค์วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อสื่อถึงเอกลักษณ์ความเป็นไทยให้นักท่องเที่ยวได้รู้จัก พร้อมฉลองการเปิดศักราชใหม่การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
 
                      ในงานจัดให้มีการแสดงแสงสีเสียงชุด “มหากาพย์ นิทานแผ่นดิน” (The Chronicle of Land) ด้วยเทคนิคตระการตาฉายภาพลงบนพระปรางค์ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ผ่านเทคนิค Projection Mapping เล่าถึงตำนานการสร้างโลกตามปรัมปราคติไทยโบราณ ต่อเนื่องถึงการสร้างชาติพันธุ์ในดินแดนสุวรรณภูมิและการสร้างชาติไทยจากอดีตถึงปัจจุบัน ภายใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารแห่งธรรมราชา ผสานกับเสียงดนตรีออเคสตรา โดยวง “มหานคร ฟิลฮาร์โมนิก ออเคสตรา” ร่วมด้วยวงดนตรี “อุษาอัสลิ” และนักดนตรีรับเชิญกลุ่มประเทศอาเซียน รวมเกือบร้อยชีวิต ที่พร้อมใจบรรเลงเพลงจากเวทีกลางแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณหน้าวัดอรุณฯ ที่สร้างขึ้นเป็นพิเศษบนลำน้ำเจ้าพระยา ภายใต้การเรียบเรียงเรื่องราวและดนตรี โดย พงศ์พรหม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา
 
 
Thailand Countdown 2016 วัดอรุณฯ
 
 
                      "ครั้งนี้เป็นโอกาสอันดีที่วงอุษาอัสลิ วงดนตรีผสานวัฒนธรรมอาเซียน พร้อมศิลปินรับเชิญอาเซียนจาก 7 ประเทศ และวงซิมโฟนี ออเคสตรา มหานคร ฟิลฮาร์โมนิก ได้เล่นดนตรีด้วยกัน เพื่อนำเสนออัตลักษณ์ของดนตรีอาเซียน และตรงวาระที่ไทยและอาเซียนเปิดประตูเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอย่างเป็นทางการในวันที่ 30 ธันวาคมนี้ด้วย" พงศ์พรหม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้ประพันธ์ดนตรีและเรื่องราว “มหากาพย์นิทานแผ่นดิน” เล่าถึงความตั้งใจ
 
                      โดย วงอุษาอัสลิ นั้น เป็นผลพวงจากโครงการวิจัยดนตรีชาติพันธุ์อุษาคเนย์ ในชื่อโครงการ “อุษาอัสลิ สายเลือดเดียวกัน สายพันธุ์นาฏดนตรี” (Usa Asli Genomusic Project) ที่พงศ์พรหมสนใจและเดินทางสำรวจทางดนตรีชาติพันธุ์ทั่วเอเชียตั้งแต่ 7 ปีก่อน มุ่งมั่นตั้งใจสืบค้นร่องรอยและชี้ให้เห็นความเชื่อมโยงของพันธุกรรมทางศิลปวัฒนธรรมในหมู่ชาวอุษาทวีปที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในดนตรีและนาฏศิลป์แต่ละที่แต่ละแห่ง โดยมีเป้าหมายเพื่อเผยแพร่ความรู้ ทั้งด้านวิชาการดนตรีและนำพามาซึ่งความเข้าใจและทัศนคติที่ถูกต้องต่อกัน ซึ่งจะมีผลให้ลดละความคิดแบ่งแยก แตกแยก เกลียดชัง และอคติต่างๆ ระหว่างเชื้อชาติทั้งหลายในเอเชีย หรือแม้แต่ในโลก ซึ่งล้วนแล้วเป็นที่เราสมมุติ
 
                      ยิ่งเดินทาง ยิ่งได้ข้อมูลทางดนตรีชาติพันธุ์มากขึ้น มิตรภาพกับเพื่อนนักดนตรีหลายเชื้อชาติในเอเชีย โดยการริเริ่มของกลุ่มนักดนตรีร่วมสมัยชาวไทยจึงเติบโตขยายวงกว้างขึ้นด้วย ต่อมาจึงได้รวมตัวกันเป็นวงดนตรี “อุษาอัสลิ” บรรเลงเพลงแนวเวิลด์มิวสิก โดยหลอมรวมดนตรีและนาฏศิลป์พื้นบ้านหลากหลายรูปแบบของเอเชียผนวกเข้ากับดนตรีร่วมสมัย อีกทั้งมีส่วนผสมของดนตรีพื้นบ้านไทยเป็นแกนหลัง และผสานสีสันอันน่าตื่นตาตื่นใจของดนตรีเอเชียในแบบต่างๆ เข้ามาแล้วหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียว ในฐานะ เสียงและจิตวิญญาณแห่งเอเชีย
 
                      “พอได้เดินทางก็ได้พบกับเพื่อนนักดนตรีในระหว่างภาคสนามโดยบังเอิญ จึงเป็นเพื่อนกันโดยอัตโนมัติ ไม่ว่าจะเป็นยูนนาน, เวียดนาม และที่อื่นๆ นอกจากสะสมข้อมูลก็เป็นการสะสมเพื่อนนักดนตรีขึ้นตามลำดับ ที่สุดก็เกิดการรวมตัวกันเล่นดนตรีเพื่อความสนุกสนานเกิดขึ้น จากนั้นก็มีความคิดขยายวงนี้เป็นอุษาอัสลิอย่างจริงจัง เพราะถ้าทำแต่งานวิชาการผลงานก็จะอยู่แต่ในตู้ ก็ไม่สนุก และไม่ช่วยให้งานวิชาการเติบโตด้วย แต่พอมาเล่นดนตรีทำให้ต่อยอดงานวิชาการออกไปได้” พงศ์พรหม เล่าถึงความเป็นมาของวงดนตรีที่เกิดจากมิตรภาพของคนดนตรี
 
 
Thailand Countdown 2016 วัดอรุณฯ
 
 
                      “ต่อไปอาจจะมีผลงานรวมอัลบั้มหรือกิจกรรมอื่นๆ ตามมาที่ช่วยหลือในวงการดนตรีชาติพันธุ์ ดนตรีพื้นบ้านพื้นเมืองด้วยกัน เพื่อไปทำงานวิจัย หรือสนับสนุนในเด็กรุ่นหลังๆ ที่สนใจมาเล่นดนตรีแนวนี้ ก็มองเห็นว่าวงนี้จะก่อประโยชน์ได้อีกมาก”
 
                      พงศ์พรหม เล่าถึงผลพวงที่เกิดจากมิตรภาพทางดนตรีจากรุ่นต่อรุ่น ซึ่งนอกจากระดับอาจารย์ดนตรีที่ได้มารวมตัวกันในวงอุษาอัสลิ ซึ่งเล่นแนวเวิลด์มิวสิกแล้ว ยังขยายไปสู่การเล่นดนตรีในระดับเยาวชนอาเซียนที่สนใจแนวดนตรีพื้นเมืองพื้นบ้านอีกด้วย ในชื่อ “ซี อาเซียน คอนโซแนนท์” โดยมีการคัดเลือกนักดนตรีรุ่นเยาว์ 10 คน 10 ประเทศทดลองเล่นดนตรีด้วยกัน
 
                      “เริ่มต้นจากตรงนี้ ต่อไปนักดนตรีเยาวชนกลุ่มนี้ก็อาจจะเติบโตไปเป็น "ออเคสตรา อาเซียน“ ก็เป็นได้ เพราะเท่าที่เห็นฝีมือการเล่นแล้วถือว่าค่อนข้างมีแวว ซึ่งกลุ่มนี้ถ้าได้รับการปลูกฝังและเรียนรู้ร่วมกันก็สามารถพัฒนาเป็นระดับอาจารย์และก้าวเขามาเล่นในวงอุษาอัสลิได้ วิธีนี้ก็จะทำให้ดนตรีพื้นบ้านมีชีวิตของมันต่อไป” พงศ์พรหมกล่าวถึงความมุ่งหวัง อย่างน้อยในปัจจุบันก็ขับเคลื่อนมาถึง 2 วง 2 แนวดนตรี 2 รุ่นแล้ว โดยเยาวชนส่วนหนึ่งได้มาเล่นในงานเคานท์ดาวน์ครั้งนี้ด้วย
 
                      พงศ์พรหมให้ความสำคัญกับ “ความเป็นหนึ่งเดียว” ของอาเซียนโดยไม่แบ่งแยกประเทศใดประเทศหนึ่ง งานครั้งนี้จึงไม่มีใครเป็นพระเอกทั้งสิ้น แต่มีความสำคัญเสมอเหมือนกันทุกประเทศ
 
                      “การที่จะทำอะไรสักอย่าง เราต้องมีเป้าหมาย ที่สำคัญคนกลุ่มนี้มีความเป็นตัวตนของตัวเอง และเป็นตัวแทนของประเทศของเขา อย่างนักดนตรีชาวบรูไนมา ก็มาในฐานะตัวแทนของบรูไน ไม่ใช่มาเป็นตัวแทนบรูไนเพื่อมาประดับวงดนตรีไทย แต่มาแล้วต้องเป็นตัวแทนของบรูไนอย่างแท้จริง เพื่อมาพูดเรื่องราวของบรูไนด้วย เพราะคนไทยพูดคนเดียวไม่พอ ต้องชวนคนบรูไนมาพูดพร้อมกัน” พงศ์พรหมเน้นย้ำถึงแนวทางการรวมใจเป็นหนึ่งเดียวของนักดนตรีแต่ละประเทศ
 
 
Thailand Countdown 2016 วัดอรุณฯ
 
 
                      “ทำไมเราต้องมีวงเพื่อทำอะไรแบบนี้ เราต้องยูนิตบางอย่าง ความเป็นนักดนตรีเราก็มารวมกันในกิจกรรมด้านนี้ เพื่อยกอะไรบางอย่างที่เป็น วอยซ์ ออฟ เอเชีย แล้วอะไรคือเสียงของเอเชีย ก็คือดนตรีนี่แหละ ภารกิจไม่ใช่แค่เป็นดนตรี แต่ควรก่อให้เกิดพลวัตบางอย่างด้วย”
 
                      สำหรับ “อุษาอัสลิ” มาจากคำว่า “อุษา” แปลว่า รุ่งอรุณ เป็นอีกชื่อหนึ่งที่เรียกทวีปเอเชีย และคำว่า “อัสลิ” แปลว่า “เก่าแก่ ดั้งเดิม รากเหง้า” เป็นคำมาเลย์เก่าที่ถือว่าบนสาแหรกทางพันธุกรรมของชาวอุษาทวีคนมาเลย์โบราณคือ Orang Asli ถือเป็นพี่ชายที่เก่าแก่ที่สุดในภูมิภาคนี้ รวมแล้วมีความหมายว่า “รากแห่งเอเชีย” นั่นเอง
 
                      งานนี้มีนักดนตรีอาเซียน 7 ประเทศ โดยเป็นเพื่อนสมาชิกอาเซียนของไทย 6 ประเทศ ได้แก่ Jacques Rivas Dufourt (ฟิลิปปินส์), Aung Pyiat Sone (เมียนมาร์), Dadang Supriatma (บรูไน), Le Thiy Limb (เวียดนาม), Pandian Niranjan (สิงคโปร์) และ Itet Asep Camat Ajab (อินโดนีเซีย) แต่ละคนมาพร้อมเครื่องดนตรีพื้นบ้าน และเครื่องดนตรีคู่ใจอันเป็นความภาคภูมิใจของต่ละประเทศ แต่เมื่อมาถึง “มหากาพย์นิทานแห่งแผ่นดิน” ทุกคนหลอมรวมบรรเลงเพลงเดียวกัน ผสานกับวงออเคสตราเป็นครั้งแรกบนเวทีกลางน้ำเจ้าพระยา
 
                      “ผมตื่นเต้นและภูมิใจกับงานครั้งนี้มาก เพราะไม่เคยมีงานอย่างนี้มาก่อน ตอนก่อนมาก็เลยซ้อมทุกวัน วันละ 3 ชั่วโมง” อ่อง มือพิณหนุ่ม จากเมียนมาร์กล่าวด้วยรอยยิ้ม
 
 
Thailand Countdown 2016 วัดอรุณฯ
 
 
                      ทางด้าน อ.ดาดัง จากบรูไน มีความรู้สึกไม่ต่างกัน
 
                      “ผมมีความสุขกับการมาเล่นดนตรีในงานนี้มาก ผมมาเล่นดนตรีที่เมืองไทยหลายครั้ง แต่งานนี้มีความเป็นพิเศษอย่างมาก และเป็นแรงบันดาลใจในการจัดทำโครงการดนตรีแบบนี้ในประเทศของผมบ้าง โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน” อ.ดาดัง กล่าวไปยิ้มไปก่อนไปซ้อมกลองชุดอีกรอบ
 
                      ในด้านวงออเคสตรา มี "แจ๊ค" อภิสิทธิ์ วงศ์โชติ คอนดักเตอร์รุ่นใหม่ไฟแรง ที่สร้างสรรค์งานกับ พงศ์พรหม หลายวาระ มาทำหน้าที่อำนวยเพลง ร่วมกับดนตรีฝีมือคุณภาพ 57 ชีวิต ในนามมหานคร ฟิล ฮาร์โมนิก
 
                      ส่วนระบบเสียงและระบบภาพ Mapping Projector ที่จะฉายภาพบนพระปรางค์อย่างตระการตานั้น พงศ์พรหมเชื่อมั่นและไว้วางใจ บริษัท มิสเตอร์ทีม โปรดักชั่นส์ จำกัด บริษัทระบบเสียงชั้นแนวหน้าของวงการโปรดักชั่นเมืองไทย หลังจากที่ได้ทำงานร่วมกันมาแล้วมากมายหลายงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแสดงสด “พระมหาชนก เดอะ ฟีโนมีนอน ไลฟ์ โชว์” เมื่อปลายปี 2557 ก็เป็นปรากฏการณ์งานดนตรีที่ได้ทำงานร่วมกัน ครั้งนี้ พงศ์พรหม และสุทัศน์ ก่อเกียรติ บิ๊กบอสของมิสเตอร์ทีมฯ จึงได้พบกันและพร้อมสร้างสรรค์งานร่วมกันอีกครั้ง
 
                      สำหรับการแสดงเทิดพระเกียรติ “มหากาพย์นิทานแผ่นดิน” เป็นการแสดงที่มีเนื้อหาบอกเล่าความเป็นมาของคำว่า “ธรรมราชา”, “พระเจ้าอยู่หัว” และ “พระเจ้าแผ่นดิน” ว่ามีที่มาเป็นอย่างไร ควบคู่ไปกับการเล่าเรื่องราวกำเนิดของบ้านเมืองและผู้คนพลเมืองย้อนไปนับแต่ครั้งโบราณ จวบจนกระทั่งก่อร่างสร้างเป็นนครรัฐ ขยายเป็นราชอาณาจักรสยามและประเทศไทยในที่สุด วิธีการเล่าเรื่องอุปมาดังนิทาน เผยให้เห็นถึงเรื่องราวและวีรกรรมของบูรพกษัตริย์ที่เป็นดังหัวใจของบ้านเมืองมาโดยตลอด ทรงนำพาบ้านเมืองให้อยู่รอดมาได้ โดยผ่านพ้นวิกฤติที่รุมเร้า ทั้งศึกสงครามเภทภัยโรคร้ายอันตรายนานา รวมทั้งนักล่าอาณานิคมที่จ้องจะกลืนชาติ นำเราผ่านยุคสมัยต่างๆ มาได้อย่างปลอดภัย ประชาชนทั้งหลายอยู่ดีร่มเย็นเป็นสุข จึงมีความรักความผูกพันกับพระเจ้าแผ่นดินมายาวนานนับพันปี
 
 
Thailand Countdown 2016 วัดอรุณฯ
 
 
                      ประกอบด้วย 9 องค์ ดังนี้ ได้แก่ หนึ่ง ตำนานสร้างโลก (The Origin), สอง ตำนานน้ำเต้าปุง (The Creation), สาม สายธารแห่งสีสัน (Rivers of Color I), สี่ สายน้ำ สายโลหิต (Rivers of Color II), ห้า-หก สุวรรณภูมิ (Suvarnabhumi), เจ็ด วิถีแห่งบูรพา (Spirit Of The East), แปด รุ่งอรุณแห่งรัตนโกสินทร์ (The Dawn of The New Era), เก้า มหาธรรมราชา (Maha Dhamaracha/ The Righteous king) ปิดด้วยบทเพลง นิทานแผ่นดิน (The Chronicle of Thailand) ซึ่งเป็นการปิดท้ายด้วย “นิทานแผ่นดิน” (The Chronicle of Thailand) การแสดงทั้งหมดใช้เวลา 45 นาที ในการเล่าเรื่องราวทั้งหมด
 
                      และเมื่อ บทเพลง “นิทานแผ่นดิน” (The Chronicle of Thailand) จบลง ถือว่าการเปิดประตูสู่ศักราชใหม่แห่งอาเซียนได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว พร้อมปรากฏการณ์ทางดนตรีครั้งพิเศษที่เปี่ยมด้วยมิตรภาพในค่ำคืนสำคัญแห่งปี
 
                      ไทยแลนด์ เคานท์ดาวน์ 2016 ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร!!
 
 
 
-------------------
 
(Thailand Countdown 2016 วัดอรุณฯ 'อุษาอัสลิ' รวมใจนักดนตรีอาเซียน บรรเลง 'มหากาพย์นิทานแผ่นดิน' เปิดประตูสู่ศักราชใหม่ : เรื่อง...ภาวินี อินเทพ / ภาพ...ณัฐพล ปุญปาสาณ)