
10 ข่าวเด่นสาธารณสุขปี 58 โรค-โยก-รื้อ-ล้อม-เน่า-แพง !
28 ธ.ค. 2558
10 ข่าวเด่นสาธารณสุขปี 58 โรค-โยก-รื้อ-ล้อม-เน่า-แพง ! : พวงชมพู ประเสริฐ ... รายงาน
ตลอดปี 2558 ในแวดวงสาธารณสุขมีข่าวฮอต ประเด็นร้อนเกิดขึ้นมากมาย ตั้งแต่ข่าวเกี่ยวกับ “โรค” ที่มีการพบผู้ป่วยรายแรกของโรคที่ไม่เคยพบในประเทศไทย รวมถึงการระบาดของโรคประจำถิ่น และปัญหาทางสุขภาพจิต, “โยก” นายกรัฐมนตรีและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่งโยกย้ายข้าราชการระดับสูง, “รื้อ” มีการตรวจสอบและรื้อระบบหน่วยงานตระกูล ส., “ล้อม” ด้วยการออกกฎหมายเพื่อป้องกันหรือล้อมคอกปัญหาต่างๆ, “เน่า” จากการที่พบว่านมโรงเรียนมีปัญหาเน่าเสียและ “แพง” เกิดการสะท้อนค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนที่มีราคาแพง

1.ไทยพบผู้ป่วยเมอร์สรายแรก
ประเทศไทยพบผู้ป่วยติดเชื้อทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือ โรคเมอร์ส รายแรก เป็นชายชาวโอมาน อายุ 75 ปี ที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย โดยเข้ารับการรักษาเบื้องต้นที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง อาการเข้าข่ายผู้ต้องสงสัยติดเชื้อเมอร์ส จึงเก็บตัวอย่างเชื้อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ (ห้องแล็บ) ก่อนผลจะยืนยันว่าติดเชื้อเมอร์ส และส่งต่อเข้ารับการรักษาที่ห้องปลอดเชื้อความดันต่ำ สถาบันบำราศนราดูร รักษาจนหายจากโรคแล้วเดินทางกลับประเทศโอมาน หลังจากผู้ป่วยรายแรกประเทศไทยยังไม่พบผู้ป่วยโรคเมอร์สเพิ่มขึ้น

2.ไข้เลือดออกระบาด
โรคไข้เลือดออกจัดเป็นโรคประจำถิ่นของประเทศไทย เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี มี 4 สายพันธ์ 1, 2, 3, และ 4 มียุงลายเป็นพาหะ ผู้ที่เคยป่วยจากการติดเชื้อสายพันธุ์ใดแล้วจะไม่ป่วยซ้ำจากไวรัสสายพันธุ์นั้นอีก แต่จะมีโอกาสป่วยด้วยสายพันธุ์อื่น ดังนั้นแต่ละคนจะมีโอกาสป่วยเป็นไข้เลือดได้ 4 ครั้ง และการป่วยครั้งที่ 2 มีโอกาสที่อาการจะรุนแรง สำหรับปี 2558 พบคนไทยป่วยกว่า 1 แสนราย เสียชีวิตกว่า 100 ราย โดยคนไทยตื่นตัวในการป้องกันโรคไข้เลือดออกมากขึ้น เมื่อปรากฏว่า “ปอ" ทฤษฎี สหวงษ์ นักแสดงชายป่วยโรคนี้แล้วมีอาการรุนแรงต้องเข้ารับการรักษาในห้องซีซียู โรงพยาบาลรามาธิบดี
3.ปัญหาสุขภาพจิต
ในปี 2558 เกิดเหตุการณ์จากการที่ผู้มีปัญหาสุขภาพจิตไม่เข้ารับการรักษา และไม่ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องหลายกรณี อย่างเช่น นักร้องหนุ่มกระโดดตึกฆ่าตัวตาย ซึ่งคาดว่าอาจเกิดขึ้นจากภาวะของโรคซึมเศร้า หรือกรณีนักแสดงหญิงพยายามฆ่าตัวตายและออกมาให้ข้อมูลภายหลังว่าป่วยเป็นโรคซึมเศร้า โดยโรคซึมเศร้ารักษาได้ แต่ถ้าเป็นมากแล้วไม่ได้รับการรักษา หรือรักษาไม่ต่อเนื่อง จะมีแนวโน้มสู่การฆ่าตัวตายได้สูงถึง 30% แต่หากเข้ารับการรักษาจากจิตแพทย์จะลดอัตราการฆ่าตัวตายได้มากเหลือเพียงไม่ถึง 2% นอกจากนี้ยังเกิดเหตุการณ์ทำร้ายชายคนหนึ่งที่ย่านลาดพร้าว ก่อนที่มีการระบุว่า ชายที่ทำร้ายเป็นผู้ป่วยจิตเวช แต่ขาดการรักษาต่อเนื่อง ซึ่งหากผู้ป่วยรักษาต่อเนื่องมีโอกาสหายและอยู่ร่วมในสังคมได้ปกติ

4.โยก“หมอณรงค์”พ้นปลัดสธ.
เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2558 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงนามในคำสั่งนายกรัฐมนตรีให้ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ไปปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ด้วยเหตุผลไม่สนองนโยบาย ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมกับตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง นั่งอยู่นานกว่า 4 เดือน เมื่อตรวจสอบไม่พบอะไรนายกฯ จึงลงนามคำสั่งอีกครั้งเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2558 ให้กลับมาดำรงตำแหน่งปลัดสธ. ก่อนจะเกษียณอายุราชการเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2558
5.เด้งเลขาฯสปสช.
เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2558 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งย้ายเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบ ซึ่งมีชื่อ นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้ไปปฏิบัติราชการในตําแหน่งประจําสํานักงานปลัด สธ. ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้มีผลการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ระบุว่า สปสช.มีการใช้งบประมาณบางส่วนที่ขัดวัตถุประสงค์ของกฎหมาย
6.รื้อสสส.ลดผลประโยชน์ทับซ้อน
คตร.เปิดเผยผลการตรวจสอบสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยระบุว่า มีการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์และมีผลประโยชน์ทับซ้อน ทำให้ศูนย์อำนายการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ที่มี พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธาน เข้ามาตรวจสอบการใช้เงิน และสธ.ตั้งคณะกรรมการพิจารณาเสนอความเห็นในการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายลำดับรองที่อยู่ในความรับผิดชอบของกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ มี นพ.เสรี ตู้จินดา ที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุข เป็นประธาน ซึ่งเห็นว่าจะต้องมีการแก้ข้อบังคับของ สสส. เพื่อแก้ปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน เรื่องนี้ส่งผลให้ ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการ สสส.ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่ง โดย ดร.ทพ.สุปรีดา อดุลยานนท์ รองผู้จัดการ สสส. รักษาการในตำแหน่งผู้จัดการแทน
7.ออกประกาศคุมเหล้า(เพิ่มเติม)
ตลอดปี 2558 มีการออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งออกตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 จำนวน 6 ฉบับ ประกอบด้วย ประกาศ กำหนดเวลาห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ให้ขายได้ตั้งแต่เวลา 11.00-14.00 น. และตั้งแต่เวลา 17.00-24.00 น. ยกเว้นในอาคารท่าอากาศยานนานาชาติ และขายในสถานบริการที่กำหนดเวลาเปิดปิดตามกฎหมายสถานบริการ ประกาศกำหนดสถานที่หรือบริเวณห้ามขายหรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวม 3 ฉบับ ได้แก่ บนทางรถไฟ ในท่าเรือโดยสารสาธารณะ และในสถานีขนส่ง รวมถึงประกาศกำหนดวันห้ามขาย คือ วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา และวันออกพรรษา และประกาศ เรื่อง กำหนดสถานที่หรือบริเวณห้ามขายรอบสถานศึกษา โดยห้ามขายในสถานที่หรือบริเวณใกล้เคียงสถานศึกษาและหอพักบริเวณใกล้เคียงสถานศึกษา
8.คลอด 2 กฎหมายใหม่
กฎหมายด้านสาธารณสุขที่มีผลบังคับใช้ในปี 2558 มี พ.ร.บ. 2 ฉบับ ได้แก่
พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2558 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2558 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน 2558 โดยมีสาระสำคัญ คือ ผู้ผลิต นำเข้าเพื่อขายเครื่องสำอางต้องจดแจ้งรายละเอียดของเครื่องสำอางต่อผู้รับจดแจ้ง ต้องจัดให้มีฉลากของเครื่องสำอางที่ใช้ข้อความที่เป็นความจริง ใช้ภาษาไทยบอกชื่อเครื่องสำอาง ชื่อและที่ตั้งผู้ผลติ ปริมาณ วิธีใช้ คำเตือน วันผลิตและวันหมดอายุ เป็นต้น และห้ามโฆษณาด้วยข้อความที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค และพ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2558 โดยจะมีผลบังคับใช้ 180 วันนับจากวันที่ประกาศในราชกิจจาฯ โดยมีการกำหนดนิยามโรคใหม่ จากเดิมมีโรคติดต่อ โรคติดต่ออันตราย และโรคติดต่อต้องแจ้งความ เป็นโรคติดต่ออันตราย โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังและโรคระบาด
9.นมโรงเรียนเน่า
ปัญหานมบูด เน่าเสีย เริ่มที่ จ.น่าน และในอีกหลายจังหวัด โดยพบทั้งนมเปลี่ยนรูปและมีเชื้อรา ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งตรวจสอบ ทั้งการแก้ปัญหาทุจริตนมโรงเรียน และตรวจคุณภาพนม ซึ่งผลการตรวจสอบจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์พบแบคทีเรียในนมจำนวนมาก แต่ไม่สามารถสรุปได้ว่าเกิดจากกระบวนการผลิตขั้นตอนใด จนมีคำสั่งให้โรงงานผลิตที่ จ.ลำปาง ระงับการผลิตจนกว่าจะปรับปรุงโรงงานให้เป็นไปตามมาตรฐานการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ดี (จีเอ็มพี) และมีการลุยตรวจมาตรฐานโรงงานนม 82 แห่งจาก 40 จังหวัด พร้อมเพิ่มมาตรฐานจีเอ็มพี ให้ต้องผ่านมาตรฐานพื้นฐานมากขึ้น
10.ร้องค่ารักษาพยาบาลแพง
เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ล่า 3 หมื่นรายชื่อ ตั้งคณะกรรมการควบคุมราคาโรงพยาบาลเอกชน หลังมีการร้องเรียนเรื่องค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนที่แพงกว่าโรงพยาบาลรัฐหลายเท่าตัว โดย สธ.ร่วมกับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ แก้ปัญหาเรื่องนี้ ซึ่งอำนาจที่มีตามกฎหมายไม่สามารถตั้งคณะกรรมการควบคุมราคาได้ ทำได้เพียงใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล 2541 ให้โรงพยาบาลเอกชนติดป้ายให้สอบถามราคาค่ารักษาพยาบาล ค่ายา รวมถึงเปิดสายด่วนรับแจ้งปัญหา และใช้พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ควบคุมไม่ให้จำหน่ายยาเกินราคา ทั้งนี้ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ขึ้นเว็บไซต์รวมอัตราค่ารักษาพยาบาลในโรคที่ต้องมีการนัดผ่าตัดล่วงหน้าราว 77 รายการ
-------------------
(10 ข่าวเด่นสาธารณสุขปี 58 โรค-โยก-รื้อ-ล้อม-เน่า-แพง ! : พวงชมพู ประเสริฐ ... รายงาน)