ไลฟ์สไตล์

สะท้อนความจริงการทำไร่ยาสูบ พืชเศรษฐกิจหลังนาที่ใช้น้ำน้อย

สะท้อนความจริงการทำไร่ยาสูบ พืชเศรษฐกิจหลังนาที่ใช้น้ำน้อย

28 ธ.ค. 2558

ทำมาหากิน : สะท้อนความจริงการทำไร่ยาสูบ พืชเศรษฐกิจหลังนาที่ใช้น้ำน้อย : โดย...ดลมนัส กาเจ

 
                      ท่ามกลางกระแสที่มีการรณรงค์ให้คนเลิกบุหรี่มากขึ้นจากทั่วโลก หากย้อนกลับมาดูห่วงโซ่ต้นน้ำของอุตสาหกรรมแปรรูปใบยาสูบที่กระจัดกระจาย 120 ทั่วโลก พบว่า การปลูกยาสูบนั้นไม่เพียงแต่จะสร้างรายได้ให้แก่ประเทศชาติอย่างมหาศาล หากแต่ยังสร้างได้ให้แก่เกษตรกรชาวไร่ยาสูบได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะประเทศไทย มีเกษตรกรปลูกถึง 43,724 ราย ผลิตใบยาสูบได้ปีละ 49,716 ตัน สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรฤดูกาลละ 1,300 ล้านบาท
 
                      นอกจากนี้มีการสร้างงานที่เป็นแรงงาน 138,734 ราย ผู้พึ่งพิง จำนวน 165,722 ราย รวมจำนวนผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 348,180 ราย ขณะที่รัฐบาลเก็บภาษีสรรพสามิตจากธุรกิจปลายน้ำของอุตสาหกรรมใบยาสูบกว่า 6.2 หมื่นล้านบาท ในปี 2558
 
                      สำหรับยาสูบที่นิยมปลูกในประเทศไทยมี 3 สายพันธุ์ คือ พันธุ์เวอร์จิเนีย หรือฟลูเคียวร์ นิยมปลูกมากที่สุดในภาคเหนือ, พันธุ์เบอร์เลย์ นิยมปลูกในภาคกลาง และภาคเหนือตอนล่าง รวมถึงบางพื้นที่ในภาคอีสาน และอีกสายพันธุ์คือ พันธุ์ไทยโอเรียนทอล หรือเตอร์กิช ที่นิยมปลูกในภาคอีสาน โดยใบยาสูบที่เกษตรกรปลูกทั้งหมดส่วนหนึ่งใช้ในอุตสาหกรรมภายในประเทศ และอีกส่วนหนึ่งส่งออก โดยเฉพาะส่งออกผ่านบริษัทอดัมส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้ซึ่งรับซื้อใบยาสูบพันธุ์เตอร์กิช จากภาคอีสานเพื่อส่งออกทั้งหมดมีมูลค่าปีละกว่า 1,906 ล้านบาท ไปยัง 30 ประเทศทั่วโลก
 
 
สะท้อนความจริงการทำไร่ยาสูบ พืชเศรษฐกิจหลังนาที่ใช้น้ำน้อย
 
 
                      นายธงไชย สำเภา เกษตรกรวัย 56 ปี จาก ต.พระกลางทุ่ง อ.พระธาตุพนม จ.นครพนม บอกว่า มีที่ทำกินอยู่ 7 ไร่ สำหรับทำนาปีไว้บริโภคในครัวเรือน หากเหลือจะขายบ้าง มีรายได้ปีละ 2-3 หมื่นบาท เมื่อก่อนหลังจากทำนาปีจะปลูกพืชผักสวนครัว เน้นพริกสวน เพื่อหารายได้เสริม ซึ่งในแต่ละปีจะมีรายได้ราว 2 หมื่นบาท กระทั่งเมื่อ 6 ปีก่อน พี่ภรรยาซึ่งอยู่คนละตำบล แนะนำให้ปลูกยาสูบพันธุ์เตอร์กิช โดยให้เหตุผลว่า มีรายได้ดี โดยมีบริษัทอดัมส์ อินเตอร์เนชั่นแนลฯ จะเป็นผู้รับซื้อทั้งหมด และออกค่าใช้จ่ายก่อน
 
                      “ผมเห็นว่าเราไม่ต้องลงทุน จึงตัดสินใจปลูกยาสูบ เริ่มก่อน 1 ไร่ รุ่นแรกผมมีกำไรกว่า 2 หมื่นบาท เท่ากับทำนา 7 ไร่ ที่สำคัญการปลูกยาสูบพันธุ์เตอร์กิชเหมาะกับภาคอีสาน เพราะใช้น้ำน้อย เพียงรดน้ำอาทิตย์ละ 1 ครั้งเท่านั้น ตอนนี้เลิกปลูกพริกแล้ว หันมาทำไร่ยาสูบ ถือเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด ปลูก 2.5 ไร่ มีรายได้กว่า 4 หมื่นบาท ดีกว่าการทำนาและปลูกพริกหลายเท่าตัว” นายธงไชย กล่าว
 
                      เช่นเดียวกับ นายตะวัน ชนะเคน เกษตรกรรุ่นใหม่วัย 31 ปี จาก ต.เรณู อ.เรณูนคร จ.นครพนม บอกว่า มีที่มรดก 30 ไร่ ทำนาปีปลูกข้าวหอมดอกมะลิ 105 หลังจากทำนาทำไร่ยาสูบ มาตั้งแต่รุ่นคุณพ่อแล้ว เห็นว่ามีรายได้ดีจึงสืบทอดกันมา เพราะคำนวณแล้วไม่มีพืชอย่างอื่นที่จะมีรายได้ดีกว่านี้
 
                      “ผมเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ที่ได้รับการถ่ายทอดการทำนาต้นทุนต่ำ อย่างปุ๋ยผมเลี้ยงวัว ใช้ขี้วัวทำปุ๋ยหมัก ยากำจัดศัตรูพืชใช้สารชีวภาพบ้าง ทำให้ต้นทุนตกไร่ละ 3,000-4,000 บาท เมื่อเก็บเกี่ยวแล้วจะมีกำไรไร่ละไม่เกิน 5,000 บาท แต่ปลูกยาสูบเพียง 4 เดือน ได้กำไรไร่ละกว่า 2 หมื่นบาท ผมถือว่าเป็นรายได้กว่าพืชอื่น” นายตะวัน กล่าว
 
 
สะท้อนความจริงการทำไร่ยาสูบ พืชเศรษฐกิจหลังนาที่ใช้น้ำน้อย
 
 
                      สอดคล้องกับข้อมูลของ น.ส.มนัสชื่น โกวาภิรัติ ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์ยาสูบและผู้รับซื้อใบยาสูบรายใหญ่จากประเทศไทยเพื่อการส่งออก ที่อ้างข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ว่า เกษตรกรที่ทำไร่ยาสูบในประเทศไทยจะมีรายได้เฉลี่ยไร่ละ 29,838 บาท หักต้นทุนมีกำไรไร่ละ 21,577 บาท รัฐมีรายได้จากการเก็บภาษีสรรพสามิตในธุรกิจปลายน้ำของยาสูบในปี 2558 จำนวน 62,734 ล้านบาท
 
                      ด้าน นายพงศธร อังศุสิงห์ ผู้อำนวยการแผนกบรรษัทสัมพันธ์ บริษัท ฟิลลิป มอร์ริสฯ ระบุว่า ยาสูบสายพันธุ์เตอร์กิช ถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีการปลูกในกว่า 14 จังหวัดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หลังฤดูทำนา ถือเป็นอาชีพเสริมที่สร้างงานสร้างรายได้ให้แก่เป็นอย่างดี โดยบริษัทฟิลลิป มอร์ริสฯ จะซื้อใบยาสูบจากเกษตรกรไทยผ่านบริษัทอดัมส์มาตั้งแต่ปี 2523 โดยมีมูลค่าการรับซื้อใบยาสูบระหว่างปี 2553-2557 อยู่ที่ประมาณ 4,330 ล้านบาท และในปี 2558 อยู่ที่ 773 ล้านบาท
 
                      “เราได้ผนวกเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของชาวไร่ยาสูบเข้าไว้เป็นส่วนหนึ่งในเรื่องการสร้างความยั่งยืนในระยะยาวของเราอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส อินเตอร์เนชั่นแนล อิงค์ (พีเอ็มไอ) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ เริ่มนำเอาหลักปฏิบัติที่ดีด้านแรงงานเกษตร หรือเอแอลพี มาใช้ตั้งแต่ปี 2552 มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมพัฒนาสภาพการทำงานในไร่และความเป็นอยู่ของชาวไร่ยาสูบ ครอบครัว และแรงงานในไร่กว่า 30 ประเทศที่เราซื้อใบยา ส่วนประเทศไทยเริ่มเมื่อปี 2555 ครอบคลุมการทำงานในไร่ยาสูบหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะการป้องกันปัญหาการใช้แรงงานเด็กและการบังคับใช้แรงงาน รวมถึงการสร้างความปลอดภัยในการทำงานในไร่ยาสูบด้วย” นายพงศธร กล่าว
 
 
สะท้อนความจริงการทำไร่ยาสูบ พืชเศรษฐกิจหลังนาที่ใช้น้ำน้อย
 
 
                      ขณะที่ นายสุโรจน์ เหล่าอรรคะ รองผู้จัดการฝ่ายไร่ของบริษัทอดัมส์ฯ กล่าวว่า ได้ส่งเสริมเกษตรกรชาวไร่ยาสูบปลูกยาสูบสายพันธุ์เตอร์กิชในภาคอีสานราว 2 หมื่นราย เฉพาะที่ จ.นครพนม กว่า 2,700 ราย โดยทางบริษัทได้นำโครงการเอแอลพีมาใช้ ครอบคลุมถึงกิจกรรมการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ไร่ ซึ่งเป็นผู้ที่ทำงานใกล้ชิดกับชาวไร่มากที่สุด มีการเก็บข้อมูลและประวัติชาวไร่เพื่อให้เห็นภาพรวมและนำมาวิเคราะห์การรับรู้ในเรื่องแรงงานของชาวไร่ เพื่อวางแผนแก้ปัญหาให้ตรงจุด
 
                      “ปัญหาการใช้แรงงานที่ไม่ถูกต้องในภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรมเป็นปัญหาสำคัญที่รัฐบาลไทยกำลังดำเนินการอย่างจริงจัง ทางเราได้นำเอแอลพีมาใช้ในประเทศไทย เพื่อจะช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ เพราะเราเล็งเห็นว่าจะเป็นประโยชน์สำคัญในการช่วยสร้างความยั่งยืนให้แก่อาชีพชาวไร่ยาสูบของไทย” นายสุโรจน์ กล่าว
 
                      นับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของเกษตรกร ที่สร้างรายได้หลังทำนา โดยเฉพาะในยุคที่ประเทศไทยกำลังประสบกับภาวะแล้ง และกำลังส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกที่ใช้น้ำน้อยอย่างปัจจุบัน
 
 
 
 
-------------------
 
(ทำมาหากิน : สะท้อนความจริงการทำไร่ยาสูบ พืชเศรษฐกิจหลังนาที่ใช้น้ำน้อย : โดย...ดลมนัส กาเจ)