ไลฟ์สไตล์

นักวิจัยมก.เจ๋งพบยีนความหอมในข้าว

นักวิจัยมก.เจ๋งพบยีนความหอมในข้าว

28 ก.ค. 2552

นักวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ค้นพบยีนควบคุมความหอมในข้าว มีประโยชน์อย่างยิ่งต่อประเทศไทยในการปกป้องการนำยีนความหอมไปใช้ประโยชน์ในเชิงการค้า และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการควบคุมการผลิตสารหอมในข้าว ซึ่งนำไปสู่การปรับปรุงพันธุ์ข้าว

 ผลงานการค้นพบที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาพันธุ์ข้าวดังกล่าวนี้ เป็นของ รศ.ดร.อภิชาติ วรรณวิจิตร และคณะวิจัยจากหน่วยปฏิบัติการค้นหาและใช้ประโยชน์ยีนข้าว ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ร่วมกับศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

 รศ.ดร.อภิชาติ วรรณวิจิตร เผยว่า การวิจัยค้นหายีนความหอมของข้าวขาวดอกมะลิ เริ่มทำการทดลองในปี 2537 ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ขั้นตอนแรก การหาตำแหน่งยีนข้าวว่าอยู่โครโมโซมแท่งที่เท่าไร โดยใช้เวลาในการวิจัยประมาณ 4 ปี เพราะตำแหน่งที่อยู่ของยีนตัวนี้คือโครโมโซมแท่งที่ 8 มีอาณาเขตที่ยีนตัวนี้อยู่ที่ประมาณ 4.5 ล้านเบส ซึ่งก็กว้างมาก จากนั้นได้ดำเนินการต่อเนื่องอีก 3 ปี โดยร่วมกับนานาชาติในการถอดรหัสจีโนมของข้าวญี่ปุ่น ทำให้ได้ข้อมูลของสาธารณะเข้ามาในการวิจัย จึงลดขนาดพื้นที่การทำงานลงได้มาก

 "เราได้แสดงให้เห็นว่าชิ้นส่วนของสารพันธุกรรม ซึ่งมีขนาดไม่กี่ร้อยเบสที่อยู่ในข้าวที่ไม่หอม เช่น ข้าวนิปปอนบาร์เลย์ หรือข้าวญี่ปุ่น ก็ผลิตสารหอมได้ปริมาณเท่ากับข้าวหอมมะลิ แต่รับประทานอร่อยไม่เหมือนกัน เป็นการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ว่า ชิ้นส่วนของสารพันธุกรรมชิ้นนี้มีความสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสารหอม เราก็มาศึกษาในองค์ความรู้ว่ามันทำอย่างไร มีปฏิกิริยาเคมีอย่างไร ขั้นตอนการผลิตอย่างไร”

 รศ.ดร.อภิชาติ เผยต่อว่า การถอดรหัสพันธุกรรมของข้าวขาวดอกมะลิ 105 โดยพบยีนควบคุมความหอมในข้าวที่มีความโดดเด่น คือมีกลิ่นหอมคล้ายใบเตย หรือกลิ่นข้าวโพดคั่ว โดยสารที่ทำให้เกิดความหอมในต้นและเมล็ดข้าว เรียกว่า 2 AP หรือ CS 2 AP ซึ่งเป็นสารที่ยังไม่เคยมีผู้ใดค้นพบมาก่อน โดยกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ไทยชุดนี้ ได้ค้นพบยีนความหอมเป็นครั้งแรกในเดือนสิงหาคม 2547 ซึ่งได้ยื่นจดสิทธิบัตรและได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการจากสำนักงานสิทธิบัตร และเครื่องหมายการค้าแห่งสหรัฐอเมริกา เมื่อวันจันทร์ที่ 15 มกราคม 2551 ที่ผ่านมา

  "การค้นพบยีนความหอมในข้าวนี้จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย เพราะทำให้เข้าใจสิ่งที่เราไม่เข้าใจมาก่อนว่าทำไมปลูกข้าวในสภาพนี้ถึงไม่หอม เราประสบปัญหานี้มาตลอด การวิจัยครั้งนี้เราจะได้รู้ว่ายีนตัวนี้มันทำงานตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมที่เครียด เช่น อากาศเย็น ดินเค็มมาก ความแห้งแล้ง ยีนนี้ก็จะทำงานมากขึ้น ถ้าควบคุมการทำงานตรงนี้ได้ก็ทำให้ข้าวมีกลิ่นหอมมากขึ้น" 
 
 หัวหน้าทีมวิจัยคนเดิมยังระบุด้วยว่า เทคโนโยลีการควบคุมการทำงานของยีนควบคุมความหอม CS 2 AP นี้ สามารถนำไปใช้ปรับปรุงข้าวที่ปราศจากกลิ่นหอมสายพันธุ์อื่นๆ ได้ รวมถึงสามารถนำยีนตัวนี้ไปใช้ผลิตสารหอมกับพืชอื่นๆ ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ และมีกลไกการทำงานของยีนที่คล้ายคลึงกันกับข้าวได้ เช่น ข้าวสาลี ข้าวโพด และมะพร้าว เป็นต้น การค้นพบนี้จะช่วยป้องกันไม่ให้มีการพัฒนาข้าวหอมแปลงพันธุ์ (Genetically Modified Organism) ขึ้นอีก ซึ่งจะช่วยให้ข้าวหอมไทยสามารถดำรงพันธุ์อยู่ได้อีกยาวนาน

 ความสำเร็จในการวิจัยของทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสวทช.ในครั้งนี้  จึงนับเป็นการเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของวงการวิจัยด้านข้าวของประเทศไทยให้เป็นที่ประจักษ์ในระดับโลกและส่งเสริมให้เกิดการวิจัยที่ก้าวหน้ายิ่งขึ้นไป