
งานปรับปรุงพันธุ์ต้องฝันให้ใหญ่สูตรสำเร็จนักวิจัย(ข้าวโพด)
งานปรับปรุงพันธุ์ต้องฝันให้ใหญ่สูตรสำเร็จนักวิจัย(ข้าวโพด)มือหนึ่ง'ดร.ทวีศักดิ์ ภู่หลำ' : คมคิดจิตอาสา สุรัตน์ อัตตะ เรื่องและภาพ
“งานปรับปรุงพันธุ์หรือเอสเอ็มอีนั้นต้องฝันให้ยิ่งใหญ่ จะทำได้หรือไม่ ต้องพยายาม” คำกล่าวสั้นๆ แต่ได้ใจความของนักปรับปรุงสายพันธุ์ข้าวโพดมือหนึ่งของเมืองไทยในยุคนี้ "ดร.ทวีศักดิ์ ภู่หลำ” บอสใหญ่แห่งสวีทซีดส์ ผู้ริเริ่มธุรกิจเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดหวานลูกผสมในประเทศไทย ส่งให้บริษัทค้าเมล็ดพันธุ์ยักษ์ใหญ่ระดับโลกมาอย่างยาวนาน
ทวีศักดิ์ ถือเป็นบุคคลแรกๆ ในเมืองไทยที่มาจับงานวิจัยข้าวโพด เมื่อเกือบ 40 ปีที่แล้ว ก่อนหน้านี้มีเพียง ศ.ดร.สุจินต์ จินายน เท่านั้น (ปัจจุบันเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร) นักปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดที่มีชื่อเสียง ในฐานะผู้คิดค้นข้าวโพดลูกผสมสุวรรณ 1 จนเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในเวลาต่อมา
“ด้วยเหตุผลเดียวต้องกลับมาสอนพันธุศาสตร์ในประเทศไทย ณ วันนั้นสาขาพันธุศาสตร์เป็นสาขาที่ขาดแคลนมาก แล้วนักปรับปรุงพันธุ์พืชบ้านเราก็มีไม่กี่คน ตอนนั้นก็มีดร.สุจินต์ (จินายน) ดร.สุทัศน์ (ศรีวัฒนพงษ์) ที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับของนักวิจัยต่างชาติ”
หลังจบปริญญาตรีปฐพี คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จากนั้นก็สอบชิงทุนอีสเวสต์ เซ็นเตอร์ไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทด้านฟิสิกส์ที่มหาวิทยาลัยฮาวาย สหรัฐอเมริกา ก่อนย้ายมาเรียนด้านปรับปรุงพันธุ์พืช จนจบปริญญาเอกมหาวิทยาลัยเดียวกัน
“พอไปเรียนได้เทอมเดียวเขาก็ให้เรียนปริญญาเอกเลย เพราะว่าปีนั้นมีนักเรียนปริญญาโทประมาณ 10 กว่าคน แล้วอเมริกานั้นจะมีเงื่อนไขว่าทดลองเรียน พอทดลองเรียนไปได้เทอมเดียวก็มีการสอบควอลิฟาย ปีนั้นที่ฮาวายผมได้คะแนนสูงสุด เขาก็เลยให้เรียนเอกเลย ผมเป็นคนไม่จบปริญญาโท มีแค่ปริญญาตรีกับปริญญาเอก จบปี 1977 ก็ไปใช้ทุนเป็นอาจารย์ที่คณะวิทย์ ม.สงขลานครินทร์”
ทว่าดวงไม่สมพงษ์กับวิชาชีพอาจารย์ หลังสอนได้เพียงแค่สองอาทิตยก็ต้องลาออก เนื่องจากผู้บริหารมอบหมายวิชาให้สอนไม่ตรงกับสาขาที่ร่ำเรียนมา ก่อนย้ายมาเป็นอาจารย์ที่ภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขนในช่วงสั้นๆ
จากนั้นก็ลาออกมารั้งตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายวิจัย รับผิดชอบภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก บริษัท ไพโอเนีย ไฮ-เบรด (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์โพดใหญ่ที่สุดในโลก มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่สหรัฐอเมริกา หลังไปประจำอยู่ที่ฟิลิปปินส์ประมาณ 13 ปี ก่อนถูกบังคับให้ลาออกแล้วมาตั้งบริษัทของตัวเองในปี 1991 ภายใต้ชื่อ บริษัท สวีทซีดส์ จำกัด เพื่อทำการวิจัยเมล็ดพันธุ์และปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดอย่างจริงจัง โดยเน้นข้าวโพดหวานโดยเฉพาะ
“ตอนนั้นอายุเกือบ 40 ปี ก็ล่องลอยอยู่พักหนึ่ง ทำให้เข้าใจชีวิตของคนไม่มีงานทำ ก็มีผู้ใหญ่หลายท่านแนะนำให้เราไปทำงานอื่นที่ใช้ภาษาอังกฤษหรือสอนหนังสือ แต่ก็ได้ตอบท่านเหล่านั้นไปว่า ไม่ทำอย่างอื่นหรอก จะทำข้าวโพดนี่แหละ ให้รู้ไปว่าจะอดตายกับข้าวโพด ที่คิดเช่นนั้นก็เพราะว่าเราทำงานอยู่กับข้าวโพดมาตลอด 18 ปี ถ้าทำเรื่องข้าวโพดไม่รอดแล้วไปทำอย่างอื่นจะรอดได้อย่างไร”
ระหว่างปี 1980-1990 นั้นถือเป็นช่วงที่ประเทศไทยกำลังเริ่มใช้พันธุ์ข้าวโพดลูกผสมซึ่งให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์ผสมเปิด โดยผู้ที่คุมธุรกิจเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดลูกผสมในประเทศไทยตอนนั้นเป็นบริษัทเมล็ดพันธุ์รายใหญ่ระดับต้นๆ ของโลกทั้งสิ้น
อาจกล่าวได้ว่าพันธุกรรมของธุรกิจเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดไร่ที่มีมูลค่ากว่า 2,000 ล้านในขณะนั้นอยู่ในกำมือบริษัทต่างชาติโดยสิ้นเชิง เมื่อคิดได้เช่นนั้นเขาก็เลิกทำข้าวโพดไร่หันมาปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดหวานแทน ซึ่งข้าวโพดหวานนี้ขณะนั้นยังไม่มีใครสนใจ มีนักวิชาการ อาจารย์และบริษัททำเมล็ดพันธุ์จำหน่ายอยู่บ้าง แต่เป็นพันธุ์ผสมเปิดและไม่มีการพัฒนาพันธุ์อย่างจริงจัง
เมื่อเริ่มทำข้าวโพดหวานก็มีเสียงพูดในวงการว่า "ดร.ทวีศักดิ์ สงสัยจะบ้า ใครจะไปซื้อเมล็ด” แต่ความคิดเขาในตอนนั้นขอทำแค่อยู่รอดก็พอ หลังเริ่มงานปรับปรุงพันธุ์ได้เพียง 2 ฤดู จึงรวบรวมเมล็ดพันธุ์ ภายใต้ชื่อข้าวโพดหวาน ATS1 จากนั้นเอาไปให้เกษตรกรทดลองปลูก เมื่อผลผลิตออกมาปรากฏว่า ฝักเล็กเกินไป รสชาติไม่อร่อย
จากนั้นได้มุ่งมั่นพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ต่อไปจนได้ข้าวโพดหวาน ATS2 พร้อมขยายงานวิจัยพัฒนาพันธุ์ให้มากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันมีการสร้างเครือข่ายข้าวโพดหวานบรรจุกระป๋อง ซึ่งเป็นธุรกิจที่เกิดขึ้นใหม เพราะการกำเนิดของพันธุ์ ATS2 จนผู้ซื้อต่างประเทศเริ่มให้ความมั่นใจต่อคุณภาพข้าวโพดหวานจากประเทศไทยและความสามารถในการผลิต จนกล่าวได้ว่าประเทศไทยเป็นอุตสาหกรรมข้าวโพดหวานของโลกที่สามารถผลิตได้และซื้อได้ทั้งปี
ความสำเร็จของอุตสาหกรรมข้าวโพดหวานเกิดจากความร่วมมือที่ลงตัวของเกษตรกร ผู้รวบรวมผลผลิต โรงงานแปรรูปอาหารและบริษัทเมล็ดพันธุ์ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อยกระดับผลผลิตของเกษตรกร ซึ่งทำได้จาก 1 ตันต่อไร่เป็น 4 ตันต่อไร่ในปี 2556 นับเป็นความสำเร็จที่เขาภาคภูมิใจ
“อยากให้ทุกคนนึกถึงข้าวโพด นึกถึงเรา” เป็นสโลแกนที่ทวีศักดิ์ท่องขึ้นใจอยู่ตลอดเวลา เมื่อธุรกิจพันธุ์ข้าวโพดหวานเริ่มมีรายได้เข้ามาพออยู่ได้ จึงเริ่มปรับปรุงพันธุ์ลูกผสมข้าวโพดเหนียว โดยมีบริษัท ซินเจนทา (ประเทศไทย) จำกัด ดูแลการผลิตและจำหน่าย ภายใต้ชื่อ WAX22 ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวโพดเหนียวลูกผสมพันธุ์แรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้วพัฒนามาเป็นพันธุ์ WAXX44 ไปจำหน่ายในเวียดนาม จากนั้นก็หันมาทุ่มเทให้งานวิจัยสร้างพันธุ์ชุดใหม่คือพันธุ์ขาวม่วงแต้มหรือ SweetWax254 ซึ่งปัจจุบันปลูกกันมากในทางภาคอีสานและสปป.ลาว
“ผมเริ่มธุรกิจจากไม่มีเงิน ก็เริ่มทำข้าวโพดหวานหาเงินเอาเงินจากข้าวโพดหวานมาทำข้าวโพดเหนียว ข้าวโพดหวานปีนี้ (2558) ขายอยู่ 4 สายพันธุ์ มีหวาน 54 หวาน 56 หวาน 1351 และหวาน 57 ส่วนข้าวโพดเหนียวมี 2 สายพันธุ์คือขาวม่วง 254 กับขาวเหนียวแดง ข้าวโพดเหนียววันนี้ซินเจนทาเป็นคนขาย ประมาณ 80 ตัน/ปี ส่วนอีสท์ เวสท์ ซีดอยู่ที่ 200-300 ตันต่อปี” ทวีศักดิ์เผยข้อมูล พร้อมยอมรับว่า ธุรกิจเมล็ดพันธุพืชนั้นจะต้องใช้เวลาในการทดสอบพันธุ์และการขยายตัวของตลาด อาจไม่รวดเร็วเหมือนบางอุตสาหกรรม
กล่าวสำหรับดร.ทวีศักดิ์ ภู่หลำ ที่คร่ำหวอดอยู่กับการปรับปรุงพันธุ์พืชมาค่อนชีวิต แม้วันนี้เลยผ่านวัยเกษียณมาหลายปีแต่ก็ยังทุ่มเทงานวิจัยเพื่อความสุขของเกษตรกรที่ได้ใช้ข้าวโพดพันธุ์ดี มีผลผลิตต่อไร่สูง พร้อมวาดฝันอนาคตไว้ที่โรงเรียนเกษตรกรข้าวโพดหวานเพื่อเป้าหมายที่ท้าทายคือทำอย่างไรให้เกษตรกรรวย
ย้อนอดีต“ข้าวโพด”ในประเทศไทย
ไม่เป็นทราบแน่ชัดว่าบรรพบุรุษของไทยเรารู้จักปลูกข้าวโพดมาตั้งแต่เมื่อใด ถึงแม้นักค้นคว้าบางท่านสันนิษฐานว่าได้รับข้าวโพดมาจากอินเดีย แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัด มีแต่เอกสารเก่าแก่ที่พบเป็นจดหมายเหตุของลูแบร์ (Monsieur De La Loubere) ชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาเมืองไทยในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชระหว่างปี 2230-2231 โดยได้เขียนไว้ว่า “คนไทยปลูกข้าวโพดแต่ในสวนเท่านั้น และต้มกินหรือเผากินทั้งฝักโดยมิได้ปอกเปลือกหรือกะเทาะเมล็ดเสียก่อน” ต่อมามีการบุกเบิกแนวใหม่ของการกสิกรรมในประเทศไทย ม.จ.สิทธิพร กฤดากร อดีตอธิบดีกรมเพาะปลูก (กรมวิชาการเกษตรในปัจจุบัน) ซึ่งได้ลาออกไปทำฟาร์มส่วนตัวที่ต.บางเบิด อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ ในปี 2463 จึงได้ทดลองสั่งพันธุ์ข้าวโพดไร่ชนิดหัวบุบ (dent corn) จากสหรัฐอเมริกา และทดลองปลูกเป็นครั้งแรกในประเทศไทยจำนวน 2 พันธุ์ คือ พันธุ์นิโคลสันเยลโลเดนต์ (เมล็ดสีเหลือง) และพันธุ์เม็กซิกันจูน (เมล็ดสีขาว) โดยได้ทดลองปลูกที่ฟาร์มบางเบิดเพื่อใช้เมล็ดเลี้ยงไก่ไข่ขายส่งตลาดกรุงเทพฯ และเลี้ยงสุกรขายตลาดปีนัง นอกจากนี้ยังได้ส่งไปขายเป็นอาหารไก่ในประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย อย่างไรก็ตามม
ีการรายงานไว้ว่าข้าวโพดทั้ง 2 พันธุ์นี้เจริญเติบโตได้ดีมาก ต่อมาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ปี 2486 ปริมาณการปลูกข้าวโพดได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในระยะหลังจากปี 2498 เป็นต้นมา เนื้อที่และผลิตผลของข้าวโพดเพิ่มขึ้นหลายร้อยเท่าและในปี 2508 นับว่าเป็นปีแรกที่ประเทศไทยผลิตผลข้าวโพดได้เพิ่มขึ้นถึงระดับ 1 ล้านเมตริกตันและผลิตผลยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน
ที่มา:โครงการสารานุกรมไทยฯ