
'แกะหนังตะลุง' ขายนักท่องเที่ยว เลี้ยงชีพครอบครัว 'ชูวิจิตร'
24 ธ.ค. 2558
หนักเอาเบาสู้ : 'แกะหนังตะลุง' ขายนักท่องเที่ยว เลี้ยงชีพครอบครัว 'ชูวิจิตร'
จบการศึกษาแค่ชั้น ป.6 ไม่ใช่ปัญหาสำหรับ “กวีศักดิ์ ชูวิจิตร” หรือช่างเจี๊ยบ ซึ่งยึดอาชีพแกะหนังตะลุงขายนักท่องเที่ยวเลี้ยงชีพมากว่า 2 ทศวรรษ ฝึกฝนจากผู้เป็นพ่อจนมีวิชาติดตัว สร้างรายได้เดือนละเกือบ 2 หมื่นบาท
การแกะรูปหนังตะลุงเป็นศิลปหัตกรรมพื้นบ้านของชาวใต้ที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นมานานนับร้อยปี เพื่อใช้แสดงหนังตะลุง ซึ่งการแกะจะอยู่ในกรอบของชีวิต สังคม วัฒนธรรมท้องถิ่น
กวีศักดิ์ ชูวิจิตร หรือ "ช่างเจี๊ยบ" วัย 37 ปี เป็นหนึ่งในร้อยที่ได้วิชาความรู้จากผู้เป็นพ่อแกะตัวหนังตะลุงขายช่วยเลี้ยงครอบครัว หลังจบขั้น ป.6 ที่บ้านบ่อน้ำร้อน อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง เขาใช้เวลาฝึกฝีมือกับพ่อทั้งเดินสายขายตั๋วหนังตะลุง สาธิตวิธีการแกะในพื้นที่จังหวัดภาคใต้อยู่ 15 ปี ก่อนย้ายทำเลไปอยู่ จ.กระบี่ ที่ 110/29 ซอยสิบสองพี่น้อง หมู่ 8 ต.ทับปริก อ.เมือง โดยเปิดเป็นร้านชื่อ "ช่างเจี๊ยบ
“ช่วงตระเวนแกะหนังตะลุง และตระเวนขายของตามงานต่างๆ ก็คิดอยู่ในใจว่าหนังตะลุงเป็นศิลปะที่สวยงาม มีเอกลักษณ์ น่าจะขายในรูปของที่ระลึก ของฝากให้นักท่องเที่ยวได้ ผมจึงเดินทางเข้ามาที่กระบี่ในปี 2550 เพราะมองว่าที่นี่เป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีความเคลื่อนไหวทางด้านเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โอกาสที่จะหารายได้หรือสร้างผลงานมีมากกว่าที่ จ.พัทลุง” ช่างเจี๊ยบ เล่า
พร้อมบอกถึงเส้นทางอาชีพที่กระบี่ว่า แรกๆ ขายตามงานในจังหวัด ทั้งที่จัดโดยเอกชน หน่วยงานรัฐ ซึ่งได้รับการยอมรับเป็นอย่างดีเนื่องจากเป็นงานฝีมือ ที่ทำให้เห็นกันจริงๆ สาธิตให้ลูกค้าเห็นกันด้วยตา ทั้งงานแกะหนังตะลุง รูปตราสัญลักษณ์ รูปรามเกียรติ์ และหนังใหญ่
ส่วนสนนราคาขึ้นอยู่กับขนาด โดยขนาด 2-3 นิ้ว ราคา 180 บาท ขนาด 10-12 เซนติเมตร ราคา 4,500 บาทต่อชิ้น และขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้า โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติทั้งยุโรป เอเชีย ให้ความสนใจซื้อเป็นของฝากกลับบ้าน ทำให้แต่ละเดือนทำรายได้ให้ช่างเจี๊ยบเกือบ 2 หมื่นบาท
“การเปิดอาเซียนปลายปีนี้ เราต้องมีการปรับปรุงผลงานหนังตะลุงให้หลากหลายมากขึ้น ฝีมือเราสู้ได้ แต่เรื่องรูปแบบคงต้องมีการปรับปรุง อย่างผลิตภัณฑ์บรรจุสินค้าเป็นต้น” ช่างเจี๊ยบกล่าวทิ้งท้าย
อย่างไรก็ตามพบกับผลงานของเขาได้ที่ถนนคนเดิน ซ.8 ต.ปากน้ำ อ.เมือง จ.กระบี่ ทุกวันศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ ตั้งแต่ 17.00 น. เป็นต้นไป