ไลฟ์สไตล์

ลดเจ็บป่วยด้วยการรักษาตรงจุด

ลดเจ็บป่วยด้วยการรักษาตรงจุด

24 ธ.ค. 2558

ไลฟ์สไตล์ : ลดเจ็บป่วยด้วยการรักษาตรงจุด

 
     ปัจจุบันเราได้ยินข่าวอุบัติเหตุที่เกิดบนท้องถนนอยู่เป็นประจำทางทีวี หนังสือพิมพ์ หรือสื่อต่างๆ โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดยาวหรือเทศกาลสำคัญ ที่มีผู้คนสัญจรใช้รถใช้ถนนกันมากมาย จากสถิติที่ผ่านมาพบว่าอุบัติเหตุบนท้องถนนเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของประเทศไทย เมื่อเหตุที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้นแต่ละวินาทีที่ผ่านไปอาจหมายถึงชีวิต หรือความพิการของผู้บาดเจ็บ โรงพยาบาลกรุงเทพ จึงจัดงาน “ทรัวมา เดย์ : บี อะแวร์ ออฟ โรด ทราฟฟิค แอคซิเด้นท์” เพื่อร่วมรณรงค์ลดอุบัติเหตุบนท้องถนน พร้อมแนะวิธีการช่วยเหลือปฐมพยาบาลและเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจากอุบัติเหตุบนท้องถนนอย่างถูกวิธี ช่วยเพิ่มโอกาสรอดชีวิตและลดความสูญเสียได้
 
     พญ.สมจินตนา เอี่ยมสรรพางค์ แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน ศูนย์อุบัติเหตุกรุงเทพ รพ.กรุงเทพ ให้ข้อมูลว่า องค์การอนามัยโลก เผยผลการรายงานสถานะความปลอดภัยทางถนนโลก ประจำปี 2015 ยกประเทศไทยเป็นอันดับที่ 2 ของประเทศที่มีอุบัติเหตุทางถนนมากที่สุดในโลก รองจากประเทศลิเบีย โดยข้อมูลเมื่อปี 2012 ระบุว่า มีจำนวนผู้เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุบนท้องถนนกว่า 14,059 ราย คิดเป็นอัตราผู้เสียชีวิต 36.2 คน ต่อประชากร 100,000 คน
 
     “ก่อนที่ทีมรถพยาบาลฉุกเฉินจะไปถึงที่เกิดเหตุ จะต้องประเมิน 2 เรื่องด้วยกัน เรื่องแรก คือ ที่เกิดเหตุมีความปลอดภัยหรือไม่ เช่น เมื่อรถชนกันมีคนบาดเจ็บอยู่ในรถ โดยทั่วไปหมอจะแนะนำไม่ให้เคลื่อนย้ายผู้ป่วยมากเพราะอาจจะเกิดการบาดเจ็บเพิ่มขึ้นได้ แต่ในกรณีที่ในที่เกิดเหตุไม่ปลอดภัย เช่น มีน้ำมันเชื้อเพลิงรั่วไหล มีประกายไฟ ซึ่งอาจจะเกิดการระเบิดหรือเพลิงไหม้ในรถได้ ถ้าดูแล้วตอนนั้นยังสามารถเข้าไปให้การช่วยเหลือได้ให้รีบเข้าไปนำคนเจ็บออกมายังที่ปลอดภัย แต่ถ้ามีความเสี่ยงให้รอทีมฉุกเฉินมาช่วย โทรฯ เข้าสายด่วนจะได้รับคำแนะนำว่า ในการช่วยเหลือกู้ชีวิตเบื้องต้นต้องทำอย่างไร” ผู้เชี่ยวชาญแนะ
 
     ด้าน นพ.วัชระ พิภพมงคล ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ ศูนย์กระดูกและข้อกรุงเทพ รพ.กรุงเทพ กล่าวว่า ในกรณีที่เกิดการบาดเจ็บที่เห็นได้ชัด เช่น กระดูกหัก ข้อเคลื่อน การช่วยเหลือ คือพยายามไม่ให้บาดเจ็บเพิ่มขึ้น แต่หลายครั้งคนที่อยู่ใกล้เคียงเห็นคนไข้กระดูกหักงออย่างชัดเจน แล้วหวังดีดัดให้เข้าที่โดยขาดความรู้ อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บเพิ่มเติมกับเส้นเลือด ฉะนั้นสิ่งที่ควรทำ คือ ประคองให้อยู่นิ่งที่สุด หากจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายผู้ป่วยก็ขอให้มีการประคองส่วนที่หักหรือเคลื่อนไหวให้มีการเคลื่อนตัวน้อยที่สุด ชการบาดเจ็บที่สำคัญอย่างยิ่งอีกชนิดหนึ่งคือการบาดเจ็บของกระดูกสันหลัง คนเจ็บจะมีอาการปวดหลังหรือคอ ถ้าเคลื่อนย้ายไม่ถูกวิธีจะทำให้กระดูกสันหลังเคลื่อนมีการกดเบียดไขสันหลังหรือเส้นประสาท ส่งผลให้เป็นอัมพาตถาวรได้
 
     นพ.เอกกิตติ์ สุรการ ผู้อำนวยการศูนย์อุบัติเหตุกรุงเทพ รพ.กรุงเทพ กล่าวทิ้งท้ายว่า อุบัติเหตุแต่ละครั้งย่อมไม่เหมือนกัน ไม่มีสูตรสำเร็จว่าวิธีไหนจะลดความเสียหายและอาการบาดเจ็บได้ดีที่สุด ก็ต้องใช้วิจารณญาณและอย่าให้มันเกิดขึ้นจะดีที่สุด แต่หากเกิดอุบัติเหตุก็ขอให้ตั้งสติ นึกถึงความปลอดภัยของตัวเองเป็นหลักก่อน