
3 ส.สัตวแพทย์ชี้แจงข้อเท็จจริง
23 ธ.ค. 2558
เปิดซองส่องไทย : 3 ส.สัตวแพทย์ชี้แจงข้อเท็จจริง
หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก ฉบับวันจันทร์ที่ 14 ธันวาคม 2558 ได้นำเสนอบทความ เซลส์กลับใจ...เผยกลยุทธ์ “ยา-ฮอร์โมน” ขายส่ง “เล้าหมู” นั้น
ในนามของสมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกรไทย, สมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสัตว์ปีก และสมาคมสัตวบาลแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ขอชี้แจงต่อกรณีบทความที่ลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ “คม ชัด ลึก” ที่กล้าวอ้างถึง “วารี” (นามสมมุติ) นักเทคนิคการสัตวแพทย์ ที่เปิดเผยถึงชีวิตที่เคยเป็นเซลส์ขายยาส่งเล้าหมูทั่วไทยก่อนกลับใจมาทำฟาร์มหมูปลอดภัย ซึ่งเนื้อหาบิดเบือนความเป็นจริงในหลายประเด็น ทำให้ผู้อ่านมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน ทั้งยังส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของสัตวแพทย์และนักสัตวบาล โดยที่ผู้เขียนไม่ได้ทำการตรวจสอบข้อมูลให้รอบด้าน จึงขอชี้แจงในประเด็นต่างๆ ดังนี้
1.พนักงานขายเวชภัณฑ์สำหรับสัตว์ ของบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายยาและเวชภัณฑ์ฯ นั้น จะต้องเป็นนายสัตวแพทย์ หรือนักสัตวศาสตร์ ที่มีความรู้ความชำนาญและได้รับการฝึกอบรมด้านการรักษาสัตว์ และการบริบาลสัตว์มาโดยเฉพาะ ไม่ใช่นักเทคนิคการสัตวแพทย์ (ในประเทศไทยมีเพียงเฉพาะมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่เปิดสอนสาขาวิชาการเทคนิคการสัตวแพทย์ และเป็นหลักสูตรที่ผลิตบุคลากรเพื่อเป็นผู้ช่วยสนับสนุนงานของสัตวแพทย์ ภายใต้การควบคุมของนายสัตวแพทย์ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ชั้น 1 เท่านั้น โดยไม่สามารถประกอบอาชีพด้านการตรวจรักษาและจ่ายยา สำหรับสัตว์เช่นเดียวกับสัตวแพทย์ และไม่สามารถดูแลสัตว์ได้เช่นเดียวกับนักสัตวบาลได้)
2.พนักงานขายเวชภัณฑ์ของบริษัท ไม่สามารถขายเวชภัณฑ์ใดๆ ที่เข้าสู่ฟาร์มสุกรของบริษัทหรือคอนแทรคฟาร์มได้โดยตรง โดยผู้ที่สามารถอนุมัติการใช้เวชภัณฑ์ฯ คือนายสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มเท่านั้น ซึ่งในกรณีที่เป็นธุรกิจการเลี้ยงสุกรขนาดใหญ่แล้วทั้งฟาร์มสุกรของบริษัท และคอนแทรคฟาร์ม จะมีนายสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มดูแลการใช้ยาสำหรับสุกรอย่างใกล้ชิด
3.นายสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มจะเป็นผู้ที่รับผิดชอบดูแลและกำหนดการใช้ ยา เวชภัณฑ์ และวัคซีนสำหรับสัตว์ภายในฟาร์มที่ตนเองดูแล ตามกฎหมายของกรมปศุสัตว์ โดยจะมอบหมายให้ผู้จัดการที่ดูแลฟาร์มหรือโครงการคอนแทรคฟาร์ม เป็นผู้สั่งซื้อเวชภัณฑ์ตามที่กำหนดให้เท่านั้น และทีมงานจัดซื้อจะทำรายการให้สั่งซื้อเวชภัณฑ์ ผ่านระบบจัดซื้อที่เปิดโค้ดให้สั่งซื้อได้เฉพาะเวชภัณฑ์ที่นายสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มเป็นผู้กำหนดให้อีกเช่นกัน ดังนั้นจึงมั่นใจได้ว่าเวชภัณฑ์ที่จะนำไปใช้ในฟาร์มสุกรและคอนแทรคฟาร์ม ของบริษัทจะต้องมีทะเบียนและถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น ที่สำคัญฟาร์มที่ได้รับมาตรฐานการเลี้ยงสัตว์ของกรมปศุสัตว์จะต้องใช้ยาตามข้อกำหนดของนายสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์ม อย่างไรก็ตามเนื้อหาในบทความดังกล่าว บ่งชี้ว่าเป็นการเลี้ยงสุกรของผู้เลี้ยงรายย่อยมีการเลี้ยงที่ไม่ได้มาตรฐานที่อาจมีการลักลอบใช้ยาที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายเพื่อลดต้นทุนการเลี้ยง ซึ่งที่ผ่านมา กรมปศุสัตว์ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบและดำเนินการปราบปรามอย่างจริงจังและต่อเนื่อง
4.บริษัทที่จำหน่ายเวชภัณฑ์ จะไม่สามารถขายเวชภัณฑ์ หรือฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโตที่เป็นสารต้องห้ามตามที่กฎหมายกำหนดได้ ที่สำคัญเวชภัณฑ์ทุกชนิดที่จำหน่ายต้องมีทะเบียน และมีนายสัตวแพทย์ลงชื่อรับรองเท่านั้น และด้วยระบบการจัดซื้อดังได้กล่าวแล้ว จะสามารถยืนยันได้ว่าฟาร์สุกรจะไม่สามารถซื้อยาหรือสารต้องห้ามใดๆ ที่ผิดกฎหมายได้
5.สำหรับรูปแบบการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงสัตว์ในระบบคอนแทรคฟาร์มนั้น ปัจจุบันมีบริษัทหรือผู้ประกอบการจำนวนมากที่นำระบบไปใช้อย่างแพร่หลาย เพื่อขยายกำลังการผลิตสัตว์ให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาด และสามารถป้อนวัตถุดิบให้บริษัทนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งในบทความระบุว่าบริษัทเป็นผู้ออกคำสั่งกับเกษตรกรหากใคร ไม่เชื่อฟังจะถูกกลั่นแกล้ง เรื่องนี้ถือเป็นคำกล่าวที่เกินจริง หรืออาจเกิดจากความเข้าใจผิดของผู้ให้ข้อมูล เนื่องจากโดยปกติการทำธุรกิจร่วมกันทั้งฝ่ายบริษัทและเกษตรกรก็ต้องมุ่งสร้างความสำเร็จร่วมกันมากกว่า และการกลั่นแกล้งกันจะทำไปเพื่อเหตุผลใด เพราะมีแต่จะส่งผลเสียให้แก่ทั้งสองฝ่าย กล่าวคือ เมื่อเกษตรกรไม่สามารถผลิตสัตว์ได้ตามเป้าหมาย บริษัทก็ไม่ได้ผลผลิตสัตว์ตามที่ได้กำหนดไว้ จึงขาดวัตถุดิบที่จะนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ตามแผนการผลิตที่วางไว้ แล้วบริษัทจะกลั่นแกล้งเกษตรกรเพื่อวัตถุประสงค์ใด
6.การอ้างอิงข้อมูลของเครือข่ายเกษตรพันธสัญญา ที่ระบุว่าจากการสำรวจพบเกษตรกรในระบบคอนแทรคฟาร์มมีโอกาสขาดทุนมากกว่ากำไรนั้น หากเป็นเช่นนั้นจริงก็คงไม่มีคนเข้ามาทำธุรกิจนี้ และเข้ามาในระบบนี้เพิ่มขึ้น ที่เป็นเช่นนี้เพราะเห็นว่าธุรกิจที่ทำจะสามารถสร้างความสำเร็จให้ตนเองได้นั่นเอง
7.สำหรับการกล่าวอ้างว่าบริษัทมีเทคนิคบังคับให้ใช้สารเคมี ยาปฏิชีวนะ ฮอร์โมนในปริมาณที่เกินกว่ามาตรฐานทำให้มีการตกค้างของยาปฏิชีวนะหรือสารเคมีในสัตว์เลี้ยง ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเกษตรกรหรือลูกจ้างผู้อยู่ใกล้ชิดสัตว์นั้น ข้อมูลส่วนนี้ยังขาดการยืนยันในเชิงวิทยาศาสตร์ ที่ว่ามากเกินนั้นคืออะไร พิสูจน์อย่างไร แล้วนักเทคนิคคนที่ว่านั้นคืออะไรและใช้ด้วยเหตุผลอะไร
8.กรณีที่กล่าวว่าเกษตรกรต้องแบกรับต้นทุนทุกอย่าง ค่าไฟ ค่าสถานที่ ค่าแรง โรงเรือน วัสดุ และค่าอาหาร ซึ่งในกรณีนี้ น่าจะเป็นเกษตรกรรายย่อยที่ซื้ออาหารจากบริษัทหรือพ่อค้าคนกลางมาขุนสุกรเอง และอาจตกลงให้บริษัทเป็นผู้หาตลาดให้หรือเป็นผู้รับซื้อไว้เอง ซึ่งโดยปกติรูปแบบของคอนแทรคฟาร์ม ที่ดำเนินการโดยบริษัทใหญ่ๆ นั้น จะทำในรูปแบบที่เรียกว่าการส่งเสริมการเลี้ยงสุกร โดยเกษตรกรไม่ต้องจ่ายเงินซื้ออาหาร เนื่องจากบริษัทจะจัดส่งพันธุ์สัตว์ อาหาร ยา วัคซีน สัตวบาล และสัตวแพทย์ เข้ามาดูแล และจะจ่ายผลตอบแทนเมื่อสิ้นสุดการเลี้ยงตามสัญญาที่ตกลงร่วมกัน ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้สูงที่กรณีที่กล่าวอ้างนี้น่าจะเป็นเพียงบริษัทรายเล็กที่มีกระบวนการบริหารจัดการที่ไม่มาตรฐาน และเป็นการทำตลาดในพื้นที่ของพ่อค้าคนกลางเท่านั้น
9.ในประเด็นที่กล่าวอ้างว่าบริษัทร่วมกับนายทุนรุมซ้ำเติมเกษตรกรนั้น ถือว่าเป็นความเข้าใจผิดเพราะคงไม่มีธนาคารใดที่จะมีนโยบายเข้าข้างนายทุนแล้วมากลั่นแกล้งเกษตรกรซึ่งถือเป็นลูกค้าและผู้กู้โดยตรง เพราะเท่ากับหนี้เสียที่จะตามมาของธนาคาร เรื่องนี้จึงน่าจะเป็นความเข้าใจผิดส่วนบุคคลมากกว่า
ข้อมูลดังกล่าวนอกจากจะบิดเบือนแล้ว ยังก่อให้เกิดความเข้าใจผิดต่อผู้บริโภคในวงกว้าง รวมทั้งเป็นการทำลายภาพลักษณ์ของอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรและการเลี้ยงสัตว์ปีกโดยรวม ที่ตลอดเวลาที่ผ่านมาต่างร่วมกันพัฒนาตลอดกระบวนการผลิตให้มีมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง เพื่ออาหารปลอดภัยสู่ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ
นายสัตวแพทย์ปราโมทย์ ตาฬวัฒน์
นายกสมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกรไทย
นายสัตวแพทย์สุเมธ ทรัพย์ชูกุล
นายกสมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสัตว์ปีก
นายสุเทพ วงศ์รื่น นายกสมาคมสัตวบาลแห่งประเทศไทย
ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดฯ สยามบรมราชกุมารี