
'ควันบุหรี่ เป็นเหตุให้เกิดโรคหัวใจ'
21 ธ.ค. 2558
ควันบุหรี่ เป็นเหตุให้เกิดโรคหัวใจ : คอลัมน์ ดูแลสุขภาพ
ในอดีต ธรรมเนียมของการสูบบุหรี่และการมอบบุหรี่ให้แก่กัน ถือเป็นมารยาททางสังคม โดยเฉพาะกับผู้ที่รักใคร่ชอบพอ แต่ในปัจจุบัน ความคิดเช่นนี้ลดลง แต่จำนวนหรือประชากรที่สูบบุหรี่ นอกจากจะไม่ลดลงแล้วยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้จำนวนผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบและโรคอื่นๆ ที่เกิดจากการสูบบุหรี่มีมากขึ้นเช่นกัน ทั้งนี้เป็นเพราะสาเหตุที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ คือ “การสูบบุหรี่” ควันที่เกิดจากการเผาไหม้บุหรี่มีผลทำให้เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
คาดคะเนว่าในควันบุหรี่จะมีสารเคมีรวมแล้วอาจมากถึง 4,000 ชนิด สารเคมีที่สำคัญและพบว่ามีผลเสียต่อสุขภาพ ตัวอย่างเช่น สารนิโคติน น้ำมันดินหรือทาร์ คาร์บอนไดออกไซด์ ไนโตรเจนไดออกไซด์ แอมโมเนีย สารกัมมันตรังสี (สารโพโลเนียม 210) สารส่วนใหญ่เป็นสาเหตุสำคัญทำให้เกิดโรคมะเร็งในอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย เช่น มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งหลอดลม มะเร็งปอด มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งไตและกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นมะเร็งชนิดร้ายแรง ผู้ป่วยที่เป็นมีความทุกข์ทรมานและเสียชีวิตภายในระยะเวลาสั้น ส่วนสารที่มีผลต่อหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดส่วนปลายทั่วไป ได้แก่ สารนิโคติน
สารนิโคติน จากการสูดควันบุหรี่เข้าสู่ร่างกาย ในเบื้องต้นจะเข้าไปกระตุ้นประสาทส่วนกลางภายในเวลาไม่เกิน 10 วินาที ซึ่งเร็วมาก ทำให้ผู้สูบรู้สึกกระปรี้กระเปร่าทันที แต่จะตามมาด้วยการกดประสาทเหล่านั้น ทำให้มีอาการมึน ตื้อ คล้ายกับว่าสามารถลดความเครียดได้ การที่สารนิโคตินซึมเข้ากระแสโลหิตได้ก็จะไปกระตุ้นต่อมหมวกไตให้หลั่งสารอีพิเนฟริน (หรืออะดรีนาลีน) ทำให้ชีพจรเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูงขึ้น และอาจมีผลต่อระบบไฟฟ้าในหัวใจได้ด้วย ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะได้ ผลของอีพิเนฟรินยังทำให้หลอดเลือดส่วนปลายซึ่งเป็นหลอดเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจและอวัยวะอื่นๆ ทั่วร่างกาย เกิดการตีบและเกร็งตัวอันเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดการเกาะตัวของไขมัน โคเลสเตอรอลชนิดเลว บนผนังหลอดเลือดและพอกพูนไปเรื่อยๆ จนหลอดเลือดเหล่านั้นตีบตัน ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจและอวัยวะต่างๆ ได้รับเลือดไปหล่อเลี้ยงไม่เพียงพอ เรียกว่า “โรคหัวใจขาดเลือด (Ischemic Heart Disease) หรือโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน (Coronary Artery Disease)” เกิดอาการแน่นจุกหน้าอกเวลาออกกำลังกาย เหนื่อยง่ายขึ้น สมรรถภาพในการทำงานลดลง เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรือหัวใจขาดเลือด ต้องได้รับการรักษาด้วยวิธีการต่างๆ จากแพทย์ เช่น การรับประทานยา การขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูน การผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจ และยังมีโอกาสเสียชีวิตกะทันหันสูงด้วย
มักมีคำถามว่า “ผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ แต่ได้รับควันบุหรี่บ่อยๆ จะมีผลเสียด้วยหรือไม่” ตามสถิติจากการวิจัยหลายๆ สถาบัน สรุปได้ว่า ผู้ที่ได้รับควันบุหรี่โดยที่ไม่ได้สูบเอง หรือเรียกว่า “ผู้สูบบุหรี่มือสอง” ซึ่งได้แก่ บุคคลในครอบครัว เพื่อนร่วมงาน ของผู้ที่สูบบุหรี่ ก็ได้รับผลเสียไม่น้อยกว่าผู้ที่สูบบุหรี่มากนัก จึงถือว่าควรจะร่วมมือกันระหว่างผู้สูบบุหรี่มือสองและผู้สูบบุหรี่มือหนึ่ง ในการเลิกสูบบุหรี่โดยสิ้นเชิง
๐ การเลิกสูบบุหรี่ มีวิธีการต่างๆ โดยเริ่มตั้งแต่
1.ตั้งใจแน่วแน่ในการที่จะเลิกสูบบุหรี่ แล้วแจ้งให้ผู้ใกล้ชิดทั้งหลายทราบ เพื่อความเข้าใจและให้กำลังใจ เพราะในช่วงแรกๆ ของการเลิกบุหรี่จะมีอาการหงุดหงิดง่าย วิธีการคลายความหงุดหงิด คือให้ดื่มน้ำมากๆ อาจต้องใช้ยาลดความเครียดบ้าง อาบน้ำบ่อยๆ หรือทำกิจกรรมต่างๆ ให้มากขึ้น
2.ปรึกษาคลินิกเลิกบุหรี่ ซึ่งมีในสถานพยาบาลบางแห่ง หรือหาข้อมูลจากเว็บไซต์
3.การใช้สารนิโคตินทดแทนชั่วคราวในระยะแรกของการเลิกสูบบุหรี่ ซึ่งมีทั้งชนิดแปะที่ผิวหนัง และชนิดที่เป็นหมากฝรั่ง
4.การฝังเข็ม เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง
แต่การเลิกบุหรี่ให้ได้ผลมากที่สุดอยู่ที่ใจและความคิดของตนเอง มีตัวอย่างจำนวนหนึ่งที่เลิกบุหรี่ได้อย่างเด็ดขาดและยั่งยืน โดยการตั้งคำถามกับตนเองว่า “จะสูบบุหรี่ไปทำไม?” ประกอบกับข้อมูลถึงผลเสียต่างๆ จากการสูบบุหรี่ ทำให้มีสติและสามารถเลิกสูบบุหรี่ได้อย่างเด็ดขาดและตลอดไป
๐ ประโยชน์ของการเลิกสูบบุหรี่ มีหลายอย่าง เช่น
- สุขภาพตนเอง และสุขภาพคนรอบข้าง โดยเฉพาะสมาชิกในครอบครัวดีขึ้น และยังมีความเสี่ยงต่อโรคที่อาจเกิดจากการสูบบุรี่น้อยลงด้วย
- ลดหรืองดค่าใช้จ่ายจากการซื้อหามาสูบรวมทั้งอาจต้องรักษาโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่
- สภาพแวดล้อม โดยเฉพาะสถานที่และอากาศรอบตัวในบ้าน รวมทั้งที่ทำงานก็จะดีขึ้นด้วย
ดังนั้นจึงไม่ควรริเริ่มสูบบุหรี่ และควรเลิกสูบบุหรี่สำหรับผู้ที่กำลังสูบอยู่แล้ว เพราะมีข้อเสียจากการสูบบุหรี่มากมาย ขอแนะนำว่าการตั้งคำถาม ถามตนเองเสมอๆ ทุกครั้งที่จะสูบบุหรี่ว่า “จะสูบบุหรี่ไปทำไม?” น่าจะเป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้ท่านสามารถเลิกสูบบุหรี่ ได้เด็ดขาดและยั่งยืน สำหรับผู้ที่จะเริ่มต้นสูบบุหรี่ก็จะเป็นการเตือนสติ และยั้งคิด ไม่ให้เริ่มต้นสูบบุหรี่ได้
ศ.พิเศษ นพ.เศวต นนทกานันท์
โรงพยาบาลไทยนครินทร์
.......................................
(หมายเหตุ ควันบุหรี่ เป็นเหตุให้เกิดโรคหัวใจ : คอลัมน์ ดูแลสุขภาพ)