
ดูสหกรณ์จังหวัดต้นแบบ ชิมสตรอเบอร์รี่-ชมวิธีปลูกมันฝรั่ง
20 ธ.ค. 2558
ท่องโลกเกษตร : ตามชุมชนชสท. ดูสหกรณ์จังหวัดต้นแบบ ชิมสตรอเบอร์รี่-ชมวิธีปลูกมันฝรั่ง : โดย...สุรัตน์ อัตตะ
อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ ได้ชื่อเป็นแหล่งปลูกสตรอเบอร์รี่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย ถั่วเหลืองส่วนใหญ่อยู่ใน อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ขณะที่มันฝรั่งคุณภาพปลูกกันมากใน อ.สันทราย ผลผลิตเหล่านี้ส่วนใหญ่อยู่ในกำมือของสมาชิกสหกรณ์การเกษตรเกือบทั้งสิ้น “ท่องโลกเกษตร” อาทิตย์นี้ยังวนเวียนอยู่แถวภาคเหนือตามคณะผู้บริหารชุมชนสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย (ชสท.) นำโดยประธานกรรมการบริหาร “ศิริชัย ออสุวรรณ” เยี่ยมชมกิจกรรมของสหกรณ์การเกษตรในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ตามโครงการ “ชุมชนสหกรณ์การเกษตรจังหวัดต้นแบบ” โดยชุมชนสหกรณ์การเกษตรเชียงใหม่ ร่วมกับ ชสท.จัดขึ้นเพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานของสหกรณ์แต่ละแห่ง
เช้าตรู่ของวันต้นหนาว หลัังรับประทานอาหารเช้าที่โรงแรมโบทานิค (ตรงข้ามสวนพฤกษศาสตร์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์) อ.แม่ริม ขบวนรถตู้ของคณะก็มุ่งสู่จุดหมายแรกสหกรณ์การเกษตรสะเมิง จำกัด ต.สะเมิงใต้ อ.สะเมิง แหล่งปลูกสตรอเบอร์รี่คุณภาพของ จ.เชียงใหม่ เราใช้เวลาเดินทางประมาณ 45 นาทีถึงที่ทำการสหกรณ์ก่อนรับฟังบรรยายสรุปการดำเนินงานจากประธานกรรมการสหกรณ์ “ฉลอง โปทา” สมาชิกของสหกรณ์ที่นี่ส่วนใหญ่มีรายได้หลักจากการปลูกสตรอเบอร์รี่และกระเทียม โดยเฉพาะสตรอเบอร์รี่นั้นจัดเป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมมากจึงได้รับการขนานนามว่า “เมืองหลวงของสตรอเบอร์รี่” สตรอเบอร์รี่ที่นี่จะปลูกได้ปีละครั้งตั้งแต่เดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์ของทุกปี
“รายได้หลักของสมาชิกส่วนใหญ่มาจากสตรอเบอร์รี่และกระเทียม สตรอเบอร์รี่ที่นี่ไม่มีปัญหาเรื่องตลาด มีการสั่งจองล่วงหน้า ส่วนกระเทียมมีปัญหาทุกปี เพราะเจอกระเทียมจากจีนเข้ามาแย่งตลาด” ฉลองเผย สำหรับสตรอเบอร์รี่นั้นนอกจากจำหน่ายผลสดแล้วสหกรณ์ยังนำผลผลิตมาแปรรูปเป็นไวน์สตรอเบอร์รี่เพื่อเพิ่มมูลค่าสตรอเบอร์รี่ตกเกรดอีกด้วย
จากนั้นลงพื้นที่ดูแปลงปลูกของ ลุงมนัส สุวินต๊ะ เกษตรกรสมาชิกที่ปลูกสตรอเบอร์รี่และกระเทียมมากว่า 40 ปี โดยสตรอเบอร์รี่ที่ปลูกจะเป็นพันธุ์พระราชทาน 80 เนื่องจากขายได้ราคาดีกว่าพันธุ์อื่นและมีตลาดรองรับแน่นอน โดยผลผลิตส่วนใหญ่จะส่งจำหน่ายให้สหกรณ์สะเมิง นอกจากนี้ยังเจียดพื้นที่ส่วนหนึ่งสำหรับปลูกกระเทียมและข้าวสำหรับไว้รับประทานเองที่บ้านด้วย หลังพูดคุยกับลุงมนัสเจ้าของสวนเสร็จ จากนั้นก็แวะดื่มน้ำสตรอเบอร์รี่ปั่น กาแฟสดและอีกหลากหลายเมนูที่ร้านกาแฟแม่อุ้ยแก้ว ออกแบบเรือนไม้สไตล์ล้านนาของ คุณธวัลรัตน์ ศิริกูลอนันตญา ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรสะเมิง อยู่ในตลาดสะเมิงก่อนกลับ
หลังอิ่มอร่อยมื้อเที่ยงที่ร้านคุ้มเสือจากนั้นมุ่งหน้าสู่สหกรณ์การเกษตรสันทรายตั้งอยู่ริม ถ.สันทราย-พร้าว ต.สันทรายหลวง อ.สันทรายเพื่อรับฟังบรรยายสรุปจากประธานกรรมการสหกรณ์ คุณรจเรศ ณ ลำปาง ในอดีตสหกรณ์แห่งนี้มีการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพจนได้รับรางวัลสหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติหลายครั้ง จนกระทั่ง 4-5 ปีที่ผ่านมามีปัญหาการดำเนินงานโดยคณะกรรมการชุมเก่าจนกระทั่งถูกฟ้องจากสถาบันการเงิน จนคณะกรรมการชุดปัจจุบันภายใต้การนำของคุณรุจเรศ ณ ลำปาง และคุณนิโลบล วิชัยพันธ์เข้ามาแก้ไขฟื้นฟูจนสหกรณ์การเกษตรแห่งนี้กลับมาเป็นที่พึ่งของสมาชิกได้อีกครั้ง ก่อนกลับชุมชนสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทยและชุมชนสหกรณ์การเกษตรเชียงใหม่ได้มอบเครื่องทำน้ำเย็นให้แก่สหกรณ์แห่งนี้จำนวน 1 เครื่องไว้สำหรับบริการน้ำดื่มแก่สมาชิกที่มาใช้บริการ

ช่วงบ่ายวันเดียวกันเดินทางต่อไปยังสหกรณ์การเกษตรแม่ริม ตั้งอยู่ริม ถ.เชียงใหม่-ฝาง ต.แม่ริมใต้ อ.แม่ริม สมาชิกของสหกรณ์แห่งนี้มีอาชีพหลักคือการปลูกถั่วเหลืองส่งให้ไวตามิ้ลค์ ทำให้รายได้หลักของสหกรณ์ มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 50 ตันต่อปี นอกจากนี้ยังมีผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองเพื่อจำหน่ายอีกด้วย นอกจากผลผลิตถั่วเหลืองแล้วยังมีรายได้หลักจากค่าเช่าปั๊มน้ำมันเดือนละ 3 หมื่นบาทอีกด้วย ปัจจุบันสหกรณ์การเกษตรแม่ริมมีสมาชิกจำนวนทั้งสิ้น 3,872 ราย มีเงินทุนสำรอง (ณ 3 ธ.ค.58) อยู่ประมาณ 11.12 ล้านบาท ถือเป็นสหกรณ์ที่มีการบริหารจัดการค่อนข้างดีและมีประสิทธิภาพอีกสหกรณ์หนึ่ง
เช้าวันสุดท้ายของการรตระเวนดูงานสหกรณ์จังหวัดต้นแบบ มุ่งหน้าไปยังสหกรณ์ผู้ปลูกมันฝรั่งเชียงใหม่ จำกัด ตั้งอยู่ที่ ต.แม่แฝกใหม่ อ.สันทราย เป็นสหกรณ์เฉพาะพืชก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2530 ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 1 พันราย มีอาชีพปลูกมันฝรั่งเป็นรายได้หลัก โดยสหกรณ์จะดูแลด้านการตลาดให้สมาชิก สำหรับสายพันธุ์มันฝรั่งที่นำมาปลูกนั้นมี 2 ชนิดคือสายพันธุ์แอตแลนติกและสปูนต้า ซึ่งทั้งสองสายพันธุ์นี้นำเข้าจากต่างประเทศเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี โดยปีนี้ (2558) นำเข้ามาประมาณ 125 ตัน แบ่งให้ 4 สหกรณ์ในประเทศไทยที่สมาชิกที่มีอาชีพปลูกมันฝรั่ง
อินทร โปทาเจริญ ประธานกรรมการสหกรณ์ผู้ปลูกมันฝรั่งเชียงใหม่ จำกัด ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่ามันฝรั่งสายพันธุ์แอตแลนติก (เนื้อขาว) นั้น เกษตรกรสมาชิกจะปลูกส่งโรงงานอย่างเดียว โดยปลูกตามคำสั่งซื้อจากโรงงานเท่านั้น จึงทำให้ไม่ค่อยมีปัญหาด้านการตลาด ส่วนสายพันธุ์สปูนต้า (เนื้อเหลือง) เป็นสายพันธุ์ที่สามารถนำมาบริโภคได้ทันที ทำให้ตลาดค่อนข้างกว้างไม่มีความแน่นอนในเรื่องราคา โดยราคารับซื้อ (ราคาประกัน) แอตแลนติกอยู่ที่ 20 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนสปูนต้าเฉลี่ยอยู่ที่ 40-50 บาท โดยเกษตรกรสามารถปลูกได้ปีละครั้งเท่านั้นในช่วงฤดูหนาวมีระยะการปลูกจนถึงการเก็บเกี่ยวประมาณ 90-100 วัน หรือเริ่มปลูกตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนและเก็บเกี่ยวผลผลิตในกุมภาพันธ์ของปีถัดไป จากนั้นเกษตรกรก็จะปลูกข้าวโพดต่ออีกแล้วจะกลับมาปลูกมันฝรั่งอีกครั้งในช่วงปลายปี
สำหรับผู้สนใจผลิตภัณฑ์เด่นของสหกรณ์ทั่วประเทศหรือแวะสนับสนุนสินค้าสหกรณ์สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ชุมชนสหกรณ์การเกษตรแห่งประทศไทย (ชสท.) โทร.0-2561-4590-6 ทุกวันในเวลาราชการ
--------------------
(ท่องโลกเกษตร : ตามชุมชนชสท. ดูสหกรณ์จังหวัดต้นแบบ ชิมสตรอเบอร์รี่-ชมวิธีปลูกมันฝรั่ง : โดย...สุรัตน์ อัตตะ)